ตลาดทางเลือกเพื่อเศรษฐกิจท้องถิ่น


“เวลาจะทำตลาดทุกแห่ง มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็บริหารจัดการเรื่องเฉพาะหน้าร่วมกันจริงๆ ถ้าจะทำตลาดอินทรีย์ เราก็ต้องพยายามให้ความรู้แลกเปลี่ยนกันกับผู้ค้ารายใหม่ๆ ต้องหาเอกลักษณ์ของตัวให้เจอ เช่น รสชาติ ควรมีการแนะนำให้ลดความเค็ม ความหวาน เพื่อให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ ลดการทอดน้ำมัน หรือการเติมสารกันบูดที่เป็นอันตราย การติดตลาดอินทรีย์แต่ละแห่งขึ้นมา สิ่งที่ได้มากกว่าการระบายขายสินค้า อาจคือการเปิด “พื้นที่ทดลองจริง” ที่จะปรับใช้ชีวิตแบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันระหว่างคน สิ่งของ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อม เป็นการทดลองใช้สิทธิ์ใช้เสียง การยอมรับผู้อื่น”


        สถานการณ์​ความไม่ปลอดภัยและความเสี่ยงในการบริโภคอาหารของคนไทยปัจจุบันมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น จากการบริโภคอาหารปนเปื้อน​สารเคมีและยาฆ่าแมลง ​จากผลการสำรวจของมูลนิธิชีววิถี พบว่า เกษตรกรไทยมีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงถึง30% แต่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคือ กลุ่มผู้บริโภคมีปริมาณสารเคมีตกค้างในเลือดสูงถึง 36% โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีนโยบายด้าน​การพัฒนาระบบและกลไกลสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้​ร่วมกับ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด และ และเครือข่าย จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือก เพื่อพัฒนาต้นแบบตลาดทางเลือก เชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อทำให้กระบวนการเกษตรอินทรีย์ มีความยั่งยืน เกษตรกรมีตลาดในการขายผลผลิต ร่วมไปถึงผู้บริโภคมีทางเลือก

            วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เรื่องของความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญของโลก ปัจจุบันพบว่าฐานของทรัพยากรที่เป็นตัวสนับสนุนเรื่องระบบอาหารเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราไม่สามารถที่จะผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความปลอดภัยได้เพียงพอ ฉะนั้นหากเราไม่ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายอย่างที่เคยเป็นมา การผลิตอาหารที่มีคุณภาพก็เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ปัญหาเรื่องอาหารในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ซับซ้อน สิ่งที่น่าตกใจก็คือการพบปัญหากลุ่มประชากรบริโภคเกิน หรือบริโภคไม่เหมาะสมมากกว่าจำนวนประชากรที่ขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ประเทศไทยมีสัดส่วนของประชากรที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกินสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

“ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพเองได้ การผลิตเพื่อการบริโภคเองสามารถทำได้ทุกคนแม้แต่คนในเมือง เห็นได้จากโครงการสวนผักคนเมืองของทาง สสส. ที่มีการแพร่หลายเป็นอย่างมาก ทั้งในพื้นที่อยู่อาศัย โรงเรียน หน่วยงานต่างๆ มีการให้ความสนใจในเรื่องการทำเกษตรในเมืองมากขึ้น หรือแม้ว่าเราไม่สามารถเป็นผู้ผลิตอาหารได้ เราก็สามารถเลือกบริโภคอาหารจากการผลิตที่ปลอดภัยซึ่งเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านอาหารในแง่ของการส่งออกหากเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าสินค้าทั่วไปกว่า 30 % โดยเฉลี่ย รวมถึงลดปัญหาในเรื่องของการใช้ต้นทุนและปัจจัยการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกันผู้บริโภคในประเทศก็จะได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยอีกด้วย แม้ว่าเกษตรอินทรีย์จะได้รับความนิยมและมีการพูดถึงเป็นจำนวนมากแต่ในประเทศไทยยังคงมีปริมาณของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่สูงมาก ซึ่งทุกฝ่ายทุกหน่วยงานยังคงต้องทำงานอย่างหนักในการรณรงค์เพื่อให้เกษตรอินทรีย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารคุณภาพต่อไป” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

วิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตเชิงนิเวศ คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ การผลิตจากท้องถิ่น เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นอินทรีย์ ก็ไม่สามารถเชื่อถือได้เท่ากับท้องถิ่นตรวจสอบกันเอง รวมไปถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การใช้ถุง การผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อคนในท้องถิ่น การนำไปสู่การขยายเศรษฐกิจที่ไม่เพียงแต่เฉพาะพื้นที่ แต่รวมไปถึงพื้นที่รอบๆ ตลาดมันพิสูจน์ได้ว่าเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในแง่ของมาตรฐานการจัดตั้งตลาดทางราชการ นับว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นก็ว่าได้ เช่น ตลาดสาวไห้ ที่ จ.อุทัยธานี มาจากออร์แกนิค แต่พอไปปรับใช้ในพื้นที่จริงตลาดออร์แกนิคยังไม่โตเต็มที่ ผู้บริโภคก็ยังน้อย และอาหารการกินแบบชุมชนมันเยอะอยู่แล้ว ไม่ได้อิงเกณฑ์ตลาดมาตรฐานของราชการ ตลาดจึงนับได้ว่าเป็นความมั่นคงทางอาหาร คนที่จับจ่ายใช้สอย และได้ประโยชน์ก็คือคนในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียงในส่วนใหญ่ และตอบสนองต่อชุมชนเป็นหลัก ฉะนั้นการสร้างความเข้มแข็งและขยายตัวตลาดเดิมที่เรามีอยู่ คือ การขยายไปจากตลาดต้นแบบ เกษตรกรผู้ผลิตก็ขยายด้วย ผู้บริโภคก็ขยายด้วยแม้ว่าเกษตรอินทรีย์จะได้รับความนิยมและมีการพูดถึงเป็นจำนวนมากแต่ในประเทศไทยยังคงมีปริมาณของการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่สูงมาก ซึ่งทุกฝ่ายทุกหน่วยงานยังคงต้องทำงานอย่างหนักในการรณรงค์เพื่อให้เกษตรอินทรีย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารคุณภาพต่อไป

ด้านสุพจน์ สิงห์โตศรี ผู้จัดตั้งพื้นที่ศูนย์สร้างสุขเกษตรชนบท ต.ดอนแร่ ราชบุรี หรือ ตลาดวิถีธรรมชาติ เล่าว่า ราชบุรีนั้นเป็นจังหวัดที่มี “ตลาด” หลายแห่ง หลายลักษณะ ตั้งแต่ตลาดศูนย์รวมสินค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ อย่างตลาดศรีเมือง ตลาดท่องเที่ยวแบบโบราณที่คึกคักอย่างตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือแบบเงียบๆ บรรยากาศเก่าๆ เช่น ตลาดเจ็ดเสมียน ตลอดจนตลาดห้องแถวโบราณที่ตัวอำเภอโพธาราม แต่ตลาด “อินทรีย์” แบบองค์รวมที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ แห่งอย่าง ตลาดสุขใจ สวนสามพราน นครปฐม ก็ยังไม่มีให้เห็นชัดเจน การเกิดขึ้นของ “ตลาดวิถีธรรมชาติ” ครั้งนี้ จึงน่าจะตอบสนองความต้องการสินค้าอินทรีย์ของผู้บริโภคชาวเมืองราชบุรีได้ดี เพราะ พื้นที่ จ.ราชบุรี มีกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานเกษตรอินทรีย์ไม่น้อย เช่น ไร่ปลูกรัก หรือสวนมะพร้าวออร์แกนิค หลายแห่งในแถบบ้านบางป่า อ.เมือง

“เวลาจะทำตลาดทุกแห่ง มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ แล้วก็บริหารจัดการเรื่องเฉพาะหน้าร่วมกันจริงๆ ถ้าจะทำตลาดอินทรีย์ เราก็ต้องพยายามให้ความรู้แลกเปลี่ยนกันกับผู้ค้ารายใหม่ๆ ต้องหาเอกลักษณ์ของตัวให้เจอ เช่น รสชาติ ควรมีการแนะนำให้ลดความเค็ม ความหวาน เพื่อให้ส่งผลดีต่อสุขภาพ ลดการทอดน้ำมัน หรือการเติมสารกันบูดที่เป็นอันตราย การติดตลาดอินทรีย์แต่ละแห่งขึ้นมา สิ่งที่ได้มากกว่าการระบายขายสินค้า อาจคือการเปิด “พื้นที่ทดลองจริง” ที่จะปรับใช้ชีวิตแบบเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันระหว่างคน สิ่งของ พฤติกรรม และสภาพแวดล้อม เป็นการทดลองใช้สิทธิ์ใช้เสียง การยอมรับผู้อื่น”นายสุพจน์ กล่าว

นอกจากนี้ตลาดที่สำคัญที่สุด คือตลาดใกล้ตัว ผู้บริโภคในท้องถิ่นที่สำคัญที่สุด เพราะทุกๆตลาด จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองคนในท้องถิ่น อาจจะยกเว้นตลาดวัฒนธรรมหรือตลาดเชิงท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนข้างนอกมาด้วย แต่นั่นก็ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เมืองขยายตัว ชนบทลด นักท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องทำตลาดให้เป็นของชุมชน เป็นตลาดที่เกิดขึ้นจากเกษตรกร คนในท้องถิ่นเองเป็นเจ้าของ ทำให้ได้ประโยชน์จากระบบตลาด แทนที่จะเป็นผู้ใช้บริการในระบบตลาด ก็กลับกลายเป็นเจ้าของ ตัวตลาดท้องถิ่นจะทำให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืน ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วคนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์ แต่ต้องเกื้อกูลคนในเมือง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญหลักของ “ตลาด”

หมายเลขบันทึก: 660865เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท