ฉลากทางเลือกสุขภาพ สำหรับผู้บริโภคฉลาดซื้อ


“จากการสัมภาษณ์หรือการวิจัยต่างๆ เรื่องของอาหาร ปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจะเลือกผลิตภัณฑ์อาหารพบว่า คุณค่าทางโภชนาการมาเป็นอันดับต้นแน่นอนทีสุด ต่อรสชาติ สุขภาพ ความต้องการของแต่ละช่วงวัย และลักษณะเฉพาะของผู้บริโภค เราจึงต้องมีสินค้าขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเหล่านี้ เช่นเดียวกับตราสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพซึ่งต่อไปจะมาคู่กับเรื่องราวการประชาสัมพันธ์ การสร้างตราสินค้าและคุณประโยชน์แต่ละด้านเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นถึงข้อดี”


วิถีรักสุขภาพ บริโภคของดี มีเวลาออกกำลังไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คำถามคือจะทำอย่างไรให้พฤติกรรมที่ว่าเป็นกิจวัตรธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่เพียงเทรนด์ของคนฉลาดเลือก


ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า คนไทยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน (ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด) ซึ่งจำนวนนี้ถือเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และปัญหาของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ว่านี้ไม่เพียงเป็นปัญหาก่อความเดือดร้อนกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศจากค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องสนับสนุนในการรักษาพยาบาล

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของสินค้าสุขภาพทางเลือกใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันอาหาร เครื่องดื่ม ของคบเขี้ยว ที่เต็มไปด้วยไขมัน โซเดียมและน้ำตาลยังมีอยู่เกลื่อนตลาด นำมาสู่การรณรงค์ติดฉลากทางเลือกสุขภาพ หรือ Healthier Choice เพื่อให้ผู้บริโภคคำนึงถึงการเลือกซื้ออาหารและสร้างการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหารที่เอื้อต่อสุขภาพ

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บอกว่า ฉลากทางเลือกสุขภาพไม่ใช่การโฆษณาสินค้าหรือจัดอันดับอาหารว่าดีหรือไม่ แต่เป็นการมุ่งให้ความรู้กับผู้บริโภคในการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ในอดีตแม้จะมีฉลากที่บ่งบอกถึงส่วนผสมของอาหารอยู่แล้วอาทิ ฉลากจีดีเอ (GDA) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจคุณค่าโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารแสดงปริมาณค่าของพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในหน่วยเมตริก แต่ก็ดูเข้าใจยาก การรณรงค์ให้มีสัญลักษณ์โภชนาการจึงต้องเอาสัดส่วนผสมของการสร้าง รส หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมาไว้ด้านหน้า พร้อมคำแนะนำว่าในแต่ละวันเราควรบริโภคส่วนสารอาหารเหล่านี้ในระดับเท่าใด

"สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจะช่วยทำให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณสมบัติทางโภชนา อย่างเหมาะสม ซึ่งฉลากตราสัญลักษณ์จะถูกนำมาไว้ด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีก็จะสามารถรู้ได้ว่าควรเลือกซื้อหรือไม่ ผู้บริโภคไม่ต้องมานั่งอ่านข้อมูลมากเกินไป เพียงแค่เห็นตราสัญลักษณ์ก็เลือกซื้อได้อย่างมั่นใจ เช่น ในกลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 900 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร) ซอสปรุงรส ซีอิ๊วจะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 750 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ อาหารแต่ละกลุ่มจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป เน้นโภชนาการที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค” ผอ.สำนักอาหาร อย. กล่าว

ทั้งนี้ฉลากทางเลือกสุขภาพยังไม่ได้หมายถึงสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์และวางขายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังหมายถึงร้านเครื่องดื่ม ร้านอาหาร เช่น กาแฟสูตรหวานน้อย น้ำเต้าหู้หวานน้อย ข้าวแกงเค็มน้อย

นายไชยงค์ สกุลบริรักษ์ ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์นมและโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประกาศใช้ เพราะมองเห็นประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค เมื่อ อย.ตั้งเกณฑ์เพื่อให้ผู้ผลิตใช้มาตรฐานเดียวกันในการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นมันก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว พอกฎกติกาต่างๆได้สร้างขึ้นมาเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ได้มาโดยสัญลักษณ์เพื่อสุขภาพทางเนสท์เล่เองก็พยายามพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ให้ตรงกับเกณฑ์ต่างๆ และตรงตามวัตถุประสงค์ หรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมา

“จากการสัมภาษณ์หรือการวิจัยต่างๆ เรื่องของอาหาร ปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจะเลือกผลิตภัณฑ์อาหารพบว่า คุณค่าทางโภชนาการมาเป็นอันดับต้นแน่นอนทีสุด ต่อรสชาติ สุขภาพ ความต้องการของแต่ละช่วงวัย และลักษณะเฉพาะของผู้บริโภค เราจึงต้องมีสินค้าขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเหล่านี้ เช่นเดียวกับตราสัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพซึ่งต่อไปจะมาคู่กับเรื่องราวการประชาสัมพันธ์ การสร้างตราสินค้าและคุณประโยชน์แต่ละด้านเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นถึงข้อดี” นายไชยงค์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้บริโภคจะเป็นคนตอบได้ดีที่สุดว่าต้องการอะไร และเชื่อว่าการสื่อสารฉลากทางโภชนาการที่ลดความซับซ้อนลงให้กับผู้บริโภคอาจเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าและผลิตภัณฑ์ให้ความร่วมมือแล้วจำนวน 500 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่ม เพราะทำง่ายที่สุด ขณะนี้ผู้บริโภคเริ่มมองหาตราสัญลักษณ์เพิ่มขึ้น การร่วมมือกับเอกชนทำให้การประชาสัมพันธ์มีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ เพราะจะติดเรื่องงบประมาณ เรื่องศักยภาพในการสื่อสาร

หมายเลขบันทึก: 660868เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท