(172) 'พายุถล่มบ้านปะอาว' วิกฤตในโอกาสของชาวปะอาว (ตอนที่ 1)


"ลมสีแดงๆ มันหมุนๆ มา พักเดียว เดี๋ยวก็เข้ามา พัดวนๆ ม้วนเข้ามาถึงต้นมะม่วง .. กลัวก็กลัว ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยยกมือไหว้"

บ้านปะอาว ชุมชนจำลองของคนไกลบ้าน

ดิฉันมาพักที่บ้านปะอาวทุกวันหยุด (หากไม่ติดกิจกรรมใดๆ) พักค้างคืนกับครอบครัวผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ซึ่งมีคุณยายสำราญ แม่ยายผู้ใหญ่บ้านเป็นประมุขอย่างไม่เป็นทางการของครอบครัวนี้ โดยจะมีของกินเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากพ่อเฒ่าแม่เฒ่าบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสม่ำเสมอ (มีเพื่อนบ้านเป็นผู้เฒ่าวัยใกล้กัน)

ครั้งนี้ วันศุกร์ 29 มีนาคม 2562 ก็เป็นเช่นเคย หลังเลิกงาน เราเตรียมสเบียงที่จะไปประกอบอาหาร (ของหวาน) เลี้ยงผู้เฒ่า 'กลุ่มจักสาน' ซึ่งรวมตัวกัน ณ วัดเรียบ ประมาณ 1 เดือนก่อน 'บุญผะเหวด' ของทุกปี ผู้เฒ่าเหล่านี้จะช่วยกันจักสานกระบุง ตะกร้า กระจาด ฯลฯ เป็นรางวัลการ 'จกไห' กิจกรรมอาสาหาเงินเข้าวัดปีละครั้ง

ระหว่างที่ลูกและสามีกำลังขนสเบียงขึ้นรถ ดิฉันก็เขียนไลน์แจ้งให้เจ้าของบ้านทราบว่ากำลังจะเดินทางแล้วนะ อันที่จริงก็ 'เป็นที่รู้กัน' ว่าเป็นการ confirm ว่าต้องการสิ่งใดเพิ่มเติมหรือไม่ จงรีบตอบกลับมา เพราะถ้าขับรถผ่านตลาดหนองแกแล้ว จะไม่แวะกลับไปหาซื้อให้นะ

'อาโด๋วๆ จะไปละนะ .. คนเด้อ ไม่ใช่ฝน'

(ฮา) เขียนลงไปแล้วก็อดขำไม่ได้ หันมาอ่านสิ่งที่เขียนให้สามีฟัง แล้วคุยกันว่าคนทางโน้นคงอยากให้เป็น 'ฝน' มากกว่าคน เพราะเทวดาบนฟ้าสาดฝนข้ามเขตพื้นที่ตำบลปะอาว อ.เมือง จ.อุบลฯ แบบคร่อมไปคร่อมมาเป็นเช่นนี้ทุกปี บ้านปะอาวจึงแล้งต่อเนื่อง เป็นภาวะปกติ 

Surprise !! ฝนแรกของปี มาเป็นห่าน้ำแข็งก้อน

ครอบครัวเราแวะซื้อผักและอาหารสดที่ตลาดหนองแก ขับรถเข้าเขตตำบลปะอาวประมาณ 18 นาฬิกา มาทราบภายหลังว่ามีพายุลูกเห็บตกที่ปะอาวประมาณ 17 นาฬิกา จึงได้เห็นสภาพความเสียหายก่อนการเก็บกวาด

เลี้ยวรถเข้ามา ขับผ่านหมู่ 8 ทุ่งนาเพียง ก็ปกติดี พอเข้าเขตหมู่ 4 ก่อนถึงศาลปู่ตา มีต้นไม้หักระเนระนาดในลักษณะฉีกขาดหลุดลุ่ย พาดขวางถนนเป็นระยะ บางจุดรถผ่านไปไม่ได้ ร้านรวงในตลาดสดถูกรื้อกระจุยกระจาย บ้านเรือนสองข้างทางสภาพหลังคาเปิด ข้างฝาบ้านแหว่งหายไป มีสังกะสี ถ้วย กาละมัง ฯลฯ ตกอยู่ตามท้องนา ก็คุยกันในรถว่าต้องมีพายุเข้าแน่เลย!

ขับรถผ่านสวนมะละกอริมทาง มองเห็นยอดมะละกอขาดหายไปแถบหนึ่ง เหมือนมีคนมาเด็ดก้าน-ใบออกด้านหนึ่ง เหลือไว้ด้านหนึ่ง เด็ดแบบยับเยินแบบนี้ทุกต้น รู้สึกประหลาดใจ ทำไมทำลายแค่ครึ่งต้นในแนวตั้ง ต่างจากที่เคยเห็นว่าต้นไม้จะหักลงกลางต้นในแนวตัดขวางขวาง น่าเห็นใจเจ้าของต้นมะละกอนะคะ  แต่ก็อดขำไม่ได้

เลยศาลปู่เข้ามา ดิฉันเริ่มขำไม่ออก เมื่อพบว่ามีต้นไม้ล้มทับอาคารบ้านเรือน ทับรถยนต์ ชาวบ้านจับกลุ่มพูดคุยกันเสียงดัง ท่าทางตื่นเต้นตกใจ

ขับรถถึงบ้านที่มาพัก สองเฒ่าสามีภรรยาบ้านใกล้ (ใช้รั้วบ้านร่วมกัน) พ่อเฒ่าอายุประมาณ 80 กว่าๆ  ส่วนแม่เฒ่าอายุไม่น่าจะเกิน 60 ปี แต่ดูชรามากทั้งคู่  ปกติเวลาสองเฒ่าที่หูตึงคู่นี้พูดคุยกันแต่ละทีก็เหมือนคนร้องตะโกนคุยกันจากสองฝั่งถนนอยู่แล้ว วันนี้สองเฒ่าแข่งกันเล่าเรื่องพายุหมุนให้ฟังอย่างตื่นเต้น ซ้ำไปซ้ำมา จับใจความได้บ้างไม่ได้บ้าง และยังพูดซ้ำทุกครั้งที่มีคนแวะเวียนเข้ามาทักทายหรือร้องทักมาจากถนน (บ้านสองเฒ่ามีรั้วบ้านด้านหนึ่งติดถนน) กว่าจะคลายความตกใจได้ก็พูดระบายจนเหนื่อยไปหลายรอบ

ดิฉันเดินทางไปถึงได้ครู่เดียวก็ค่ำมืดแล้ว ทุกคนในบ้านคุณยายสำราญยังอยู่ในสภาพตื่นตกใจ คืนนั้นไฟดับนะคะ พวกเรา หมายถึง คุณยายสำราญ ลูกสาวคุณยายสองคน รวมทั้งครอบครัวดิฉันอีก 3 คน ช่วยกันเดินสำรวจความเสียหายได้ไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ช่วยกันเก็บกวาด ไล่น้ำออกจากบ้าน เฉพาะส่วนที่จะใช้หลับนอนพักผ่อนได้เสียก่อน สามีดิฉันออกปากชวนให้กลับไปนอนที่บ้าน รุ่งเช้าค่อยกลับมาใหม่ เพื่อลดความกังวลห่วงใยของคุณยายเจ้าของบ้าน ที่อยู่ในอาการงง สับสน พูดไม่ออก แต่ก็ยังร้องบอกให้ลูกสาวจัดห้องให้ 'คุณหมอ' พักให้เสร็จก่อนเก็บกวาดอย่างอื่น 

กลับมาใหม่ในบทบาทผู้เยียวยา

เช้าวันที่ 30 มีนาคม ดิฉันกลับมาใหม่พร้อมเสบียงอาหารพร้อมรับประทานสำหรับทุกคนในครอบครัวนี้ รวมผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นคนของประชาชน ไม่มีโอกาสดูแลครอบครัวตนเองซึ่งเสียหายกว่าใครๆ  เราคาดการณ์ว่าทุกคนจะห่วงเก็บกวาดซ่อมแซมสิ่งต่างๆ จนลืมกินข้าวกินน้ำ ซึ่งสถานการณ์ก็เป็นไปตามคาด

ประมาณ 11 นาฬิกา ดิฉันมาถึงบ้านปะอาว ได้แวะไปที่ 'เถียงนา' ของผู้ใหญ่บ้าน ตั้งใจจะนำอาหารไปส่ง ได้พบสภาพความเสียหายยับเยินเกินบรรยาย แต่ไม่พบผู้ใหญ่บ้านและภรรยา จึงขับรถเข้ามาในหมู่บ้าน พบคุณยายและน้องสาวของภรรยาผู้ใหญ่บ้าน สอบถามทราบว่านายอำเภอมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจชาวบ้าน เวลานี้ผู้นำชุมชนกำลังรวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารกลางวันที่ 'บ้านน้อย' กลางทุ่ง

เราจะผ่านวิกฤตไปได้.. ด้วยการเยียวยาตนเอง

"เออ เออ มันมาแต่ทางนี้ละ .. เออ เออ บ่ทันได้ไปเก็บแล้ว .. ชาวบ้าน .. บ่เป็นหยังดอก" "นายอำเภอเพิ่นก็ออกมา มากินข้าวอยู่เฮือน เฮือนอยู่ทุ่งนั่นละ" "เออ โชคดีลูก โชคดีๆ จ้าๆ"

เสียงคุณยายสำราญคุยกับลูกชายซึ่งเป็นเจ้าของ 'บ้านน้อย' หรือ 'เฮือนอยู่ทุ่ง' ที่คุณยายกล่าวถึง ปัจจุบันไปทำงานอยู่ต่างถิ่น มีแผนจะพาครอบครัวกลับมาอยู่บ้านเกิด เพิ่งจะสร้างบ้านแล้วเสร็จ 

บ้านปะอาว หรือตำบลปะอาว มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน หมู่ที่ 1, 2 เรียกรวมกันว่าบ้านข่าโคม หมู่ 7 บ้านสร้างหมากแข้ง หมู่ 8 บ้านทุ่งนาเพียง ทั้ง 4 หมู่บ้านปลอดภัยจากพายุครั้งนี้ มีเพียงหมู่ 3, 4, 5 และ 6 ชื่อบ้านปะอาวเหมือนกันทั้ง 4 หมู่บ้าน ได้รับความเสียหายมากน้อยต่างกันไปด้วยเหตุว่าใกล้ศูนย์กลางพายุแค่ไหน

ดิฉับปลอบใจคนในบ้านว่า คนปะอาวเป็นชุมชนของคนดี มีน้ำใจ เป็นชุมชนที่มีเครือข่ายทางสังคมกว้างขวาง พี่น้อง คนรู้จักในแดนไกลที่ได้ข่าวต่างก็โทรศัพท์มาถามข่าวและแสดงความห่วงใย จะสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ต่างก็ได้รับโทรศัพท์ ได้เล่าเรื่องซ้ำๆ เป็นการได้ระบาย ได้ลดความตื่นเต้น หวาดกลัว หรือวิตกกังวลลงเรื่อยๆ ณ เวลานี้ทุกคนเล่าเรื่อง ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คุณยายสำราญเองก็ตอบคำถามลูกชายด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ปลอบประโลมลูกชายที่แสดงความห่วงใยกลับไปว่า "บ่เป็นหยังดอก"

คุณยายสำราญปรับตัวได้เร็วมาก .. ก่อนหน้านี้ 1 ชั่วโมง หลังจากได้นอนพักพอสมควร จากอาการหวาดกลัวจนพูดอะไรไม่ออก คุณยายเพิ่งจะเล่าให้ดิฉันฟังว่า

"มองออกไปช่องนี้ (ทำท่าทางประกอบ) มันมีแสงสว่างๆ มาก่อน แล้วมันก็มีลม หมุนๆ น่ากลัว" "เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็น" "ก่อนนี้เคยเห็นครั้งหนึ่ง ไม่แรงเท่านี้ ยายยังเป็นเด็ก ได้แต่ยืนกอดต้นไม้ หมุนไปมารอบต้นไม้ เพราะกลัวลม"

"เมื่อวานยายกลัวมาก ตัวสั่นไปหมด ก็วิ่งไปหาพร้า หามีดมาตีกันให้เสียงดังๆ จนมันผ่านไป" "ยายบ้านโน้นแกอยู่คนเดียว แกวิ่งมา ช่วยกันเคาะมีดเคาะพร้าเสียงดังๆ"

ฟังถึงตรงนี้ได้ยินเสียงสองเฒ่าเล่าเรื่องน่ากลัวให้คนผ่านไปมาฟังด้วยเสียงสูงต่ำอย่างตื่นเต้น แต่มีอารมณ์สนุกสนานว่า

"ลมสีแดงๆ มันหมุนๆ มา พักเดียว เดี๋ยวก็เข้ามา พัดวนๆ ม้วนเข้ามาถึงต้นมะม่วง(ข้างบ้าน)" "ห่วงถุงข้าวก็ห่วง จะเอามาเก็บก็ไม่ทัน กลัวก็กลัว ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยยกมือไหว้"

"ตาเฒ่า แกไหว้อะไร ต้นมะม่วงหรือลมพายุ" "ลมพายุซิ" (ฮา)

ชุมชนบ้านปะอาวมีเครือข่ายคนรู้จักอยู่ต่างถิ่นมากมาย เมื่อคืนเมื่อมีข่าวว่าบ้านปะอาวถูกพายุถล่ม ก็มีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามแสดงความเป็นห่วงกันมากมายถ้วนทั่วทุกหลังคาเรือน ดิฉันรู้สึกได้ถึงบรรยากาศเอื้ออาทร เช้านี้ยังเปรยกับสามีว่า พายุเมื่อคืนเป็นวิกฤตที่เปิดโอกาสให้สังมได้แสดงความมีน้ำใจต่อกัน

ครอบครัวที่ไม่ได้รับผลกระทบบางคนก็มาให้กำลังใจ มาช่วยซ่อมแซมบ้านที่ได้รับผลกระทบ และบริเวณที่สาธารณะ  แม้แต่สองเฒ่าบ้านใกล้กัน นอกจากตื่นเต้นตกใจแล้วก็ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ แกยังมีน้ำใจต้มน้ำมะตูมมาแบ่งให้ แกมายืนเกาะรั้วบ้านด้านที่ติดกัน ร้องเรียก คุณหมอๆ แล้วส่งขวดน้ำมะตูมให้

"น้ำมะตูมค่ะ หวานพอดี แต่ต้องใส่น้ำแข็งสักหน่อยนะ ไม่งั้นจะหวานไป" (ฮา)

ดิฉันยกมือไหว้แสดงความขอบคุณ รับขวดน้ำมะตูมมา แล้วหันหลังกลับ แต่แกไม่ปล่อยให้กลับ รีบเล่าเรื่องเสียงดังอย่างตื่นเต้นว่า คนปะอาวที่รู้จักกันผ่านมา มองมาที่บ้านพบว่าหลังคาบ้านของแกอยู่ในสภาพดี ข้าวของไม่เสียหาย ถึงกับออกปากว่า 

"ยาย.. แกกล้ารอดมาได้ยังไง ช่างกล้านักนะ" (ฮา)

แล้วแกก็เล่าเรื่องที่มีคนมาทักทายพูดคุยด้วยหลายคน หลายรอบ ดิฉันแอบนึกในใจว่าได้ยินหมดแล้ว ทุกรอบด้วย (ฮา) แต่ก็นั่นละนะ ปล่อยให้แกเล่าเพื่อเยียวยาผู้คนและเยียวยาตนเองไปพร้อมกันจะดีกว่า

ตอนที่ 2 ดิฉันจะเล่าถึงความช่วยเหลือที่ชาวบ้านปะอาวได้รับ บนพื้นฐานความต้องการและความคาดหวังของชาวปะอาวนะคะ

ขอบคุณค่ะ

หมายเลขบันทึก: 660827เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2019 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2019 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท