ชีวิตที่พอเพียง 3389. สอง Care Giver พาผู้ป่วยโรคหลงลืมไปหาหมอผ่าตัดสมอง


  

เช้าวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ผมต้องลางานพิธีลงนามความร่วมมือ R2R ประเทศไทยกระทันหัน    เพื่อพาผู้ป่วยโรคหลงลืมไปหาประสาทศัลยแพทย์ คือ นพ. ศรัณย์ นันทอารี ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช  

ตอนไปเที่ยวจันทบุรี (๑) นพ. เกตุ สายเพชร เพื่อนของสาวน้อยที่เป็นหมอทางสมอง ทักว่า อาการคล้ายจะมีน้ำในสมอง    แนะให้ไปทำ MRI ซ้ำ    เพราะไม่ได้ทำมา ๘ ปีแล้ว   ประกอบกับอาการหลงลืม  เดินและเคลื่อนไหวไม่ถนัด  และปวดศีรษะบ่อย รุนแรงขึ้น    ผมจึงปรึกษา รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์ ประสาทแพทย์ประจำตัวสาวน้อย    อ. หมอยงชัยรีบนัดไปตรวจเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒    แล้วสั่งตรวจ MRI สมอง    ให้ทางหน่วย R2R ช่วยหาคิว

อ. หมออัครินทร์ นิมมานนิตย์ อดีตผู้อำนวยการหน่วย R2R  และเวลานี้เป็นผู้อำนวยการหน่วย SiCORE-M    เข้ามาช่วยหาคิว    ช่วงเช้าวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ในงาน PMAC อ. หมออัครินทร์บอกผมว่าคิวตรวจ MRI ที่ศิริราชอาจยาวเป็นปี    ตามปกติ ๖ เดือน    หากไปตรวจที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกที่ศาลายาเอาไหม    ผมบอกว่าเอา

เวลาประมาณ ๑๕ น. วันเดียวกัน อ. หมออัครินทร์ โทรศัพท์มาบอกว่าได้คิว MRI แล้ว คือวันนั้น เวลา ๑๗.๓๐ น.   ให้ไปถึงศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกเวลา ๑๗ น.   ผมรีบโทรศัพท์ไปบอกลูกสาวสองคน ที่เพิ่งพาแม่กลับจากโรงแรมเซนทารา แกรนด์ กลับถึงบ้าน   ให้รีบพาแม่ออกไปศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกทันที     

เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. ผมโทรศัพท์ไปถามลูกสาวว่าเป็นอย่างไรบ้าง    ได้คำตอบว่า เพิ่งตรวจเสร็จ ได้รับบริการดีมาก รองผู้อำนวยการศูนย์ ชื่อ นพ. สมชาย ดุษฎีเวทกุล มาให้บริการและอยู่เป็นเพื่อนตลอด เพราะเป็นศิษย์ มอ.   สาวน้อยและผมเคยสอน    ผู้ให้บริการบอกว่าจะส่งผลไปให้ทางศิริราชโดยตรง  

เย็นวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ผมโทรศัพท์ไปถาม อ. หมอยงชัยว่าเห็นผล MRI หรือยัง    ท่านตอบว่ายังแต่จะดูให้เดี๋ยวนั้น และจะโทรกลับภายในหนึ่งชั่วโมง    ไม่ถึงชั่วโมงท่านก็โทรศัพท์มาบอกว่าผล MRI มีน้ำในช่องสมอง น่าจะเป็นโรค Normal Pressure Hydrocephalus () ต้องปรึกษาประสาทศัลยแพทย์   ท่านจะนัดให้   หลังจากนั้นอีกครูเดียวท่านก็โทรมาใหม่ว่า นัด อ. หมอศรัณย์ ได้แล้ว    ท่านออก OPD วันพุธ คือวันรุ่งขึ้น    นัดไปตรวจที่หอผู้ป่วยนอกศัลยศาสตร์ เวลา ๙.๓๐ น. วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ 

เช้าวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ เราไปถึง โอพีดี ศิริราช เวลา ๙.๑๐ น.   ไปกัน ๓ คน โดย “เลขา” (นส. มุทิตา พานิช - ต้อง) ไปด้วย    สาวน้อยลงจากรถยนต์ขึ้นรถเข็นนั่งของโรงพยาบาล    ไปรอ ๕ จุดก่อนได้ตรวจเวลา ๑๑.๓๕ น.      

จุดแรกคือจุดแจ้งความประสงค์ต่อพยาบาลว่าไปตรวจอะไร กับใคร ที่ไหน นัดอย่างไร   พร้อมแสดงบัตรประชาชน    เขาเอาบัตรประชาชนสอดเข้าเครื่อง แล้วบอกว่าใช้สิทธิ์ข้าราชการกรมบัญชีกลาง    เขียนสลิปเล็กๆ ให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยเอาไปติดป้ายแขวนที่รถเข็น    แล้วเข็นไปรอหน้าลิฟท์ ที่ติดป้ายไว้ว่าเฉพาะรถนั่งและเปลผู้ป่วย    แปลว่าให้ญาติไปขึ้นบันไดเลื่อน   เจ้าหน้าที่คนที่เข็นรถนั่งผู้ป่วยไปรอหน้าลิฟท์เข็นรถทีเดียว ๒ คัน    และเมื่อลิฟท์มาก็จะมีพนักงานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอีกคนหนึ่งมาจัดการเข็นรถเข้าลิฟท์  

ออกจากลิฟท์ เขาเข็นสาวน้อยไปรอที่หน้าลิฟท์ กับผู้ป่วยรถเข็นคนอื่น    แล้วมีคนมาเข็นไปรอที่โถงระหว่างห้องตรวจหลายแผนก   ตรงหน้าทางเข้าแผนกศัลย์    สักครู่ก็มีทีมพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลหน่วยเคลื่อนที่มาวัดอุณหภูมิและความดันโลหิต    และลงผลในแผ่นกระดาษที่ติดอยู่กับป้าย    จากนั้นก็เข็นสาวน้อยไปรอในห้องตรวจโรคศัลยศาสตร์   ตรงบริเวณที่มีผู้ป่วยนั่งบนรถเข็นประมาณสิบกว่าคน    โดยเรียงเป็นสองแถว   

ทุกบริเวณมีคนนั่งรอยืนรอเต็มและเดินกันพลุกพล่าน   นั่งรอสักชั่วโมงเศษๆ สาวน้อยขอไปเข้าห้องน้ำ    มีเจ้าหน้าที่มาเข็นไป ต้องตามไปด้วย   สักครู่ต้องเข็นแม่กลับมา    พบว่าไม่มีที่ให้เข็นรถไปเข้าแถวเสียแล้ว    และระหว่างนั้นก็มีผู้ป่วยบนเตียงนอนมาเข้าแถวในบริเวณเดียวกันด้วย  

รออยู่บริเวณนั้นจนเกือบ ๑๑ น. ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้ตรวจ โดยที่เราเข้าใจว่าหมอนัด ๙.๓๐ น.   ผมเมื่อยจึงขอออกไปนั่งนอกห้อง   ซึ่งมีเก้าอี้ไม้โบราณตั้งแต่ผมทำงานที่ศิริราชเมื่อ ๕๐ ปีก่อน และยังอยู่ในสภาพดี วางเรียงอยู่   และพอมีที่ว่างบ้างแล้ว    ผมไปนั่งพิมพ์บันทึกนี้ พอหายเมื่อยก็เดินกลับไปสมทบกับทีม   จึงทราบจากต้องว่า มิ้ว (เจ้าหน้าที่ R2R) โทรมาถามข่าว    เมื่อทราบว่ายังไม่ได้เข้าตรวจ จึงบอกคุณเนี้ยว นักวิชาการของ R2R ที่มีเพื่อนเป็นหัวหน้า โอพีดีศัลย์    แล้วชวนกันมาให้บริการ    สักครู่ก็มาถึง และสาวน้อยก็ได้ไปนั่งรอหน้าห้องตรวจหมายเลข ๒๐   ที่มีป้ายบอกว่ามีการสอนนักศึกษาแพทย์ด้วย  เมื่อเวลา ๑๑ น. เศษ    และรอจนถึงราวๆ ๑๑.๓๐ น. จึงได้ตรวจ   

ทั้งผมและต้องเข้าไปในห้องตรวจซึ่งแคบมาก   อ. หมอศรัณย์ถามปัญหา  แล้วดูผล MRI สมองที่จอคอมพิวเตอร์    แล้วบอกว่าอาการและผล MRI บอกว่ามีโอกาสเป็นโรค Normal Pressure Hydrocephalus 70%   โรคนี้ไม่มีทางวินิจฉัยให้แม่นยำได้    วิธีที่ช่วยคือลองเจาะน้ำหล่อสมองออก ที่เรียกว่า  Tap Test   หากอาการดีขึ้นความมั่นใจว่าเป็นโรคนี้ก็เพิ่มเป็น 90%   รักษาโดยทำท่อระบายน้ำหล่อสมองไปเข้าช่องท้อง    ซึ่งเพียงร้อยละ ๙๐ ที่อาการดีขึ้น (มาก)    แต่ก็ยังมีอีกร้อยละ ๑๐ ที่อาการไม่ดีขึ้น และไม่มีทางรักษาอื่น  

ท่านบอกว่าในการทำ Tap Test  จะต้องมีการประเมินผลว่าอาการดีขึ้นไหมโดย ๒ วิธี   วิธีแรกเป็นการทดสอบทางเทคนิค ท่านเป็นผู้ทำและตัดสิน   วิธีที่สองใช้การสังเกตโดยสองคน คือตัวท่านเองกับญาติหนึ่งคน   ท่านถามว่าใคร ต้องรีบตอบว่าตนเองจะเป็นผู้ทำ    นัดทำ ๒๗ กุมภาพันธ์   โดยให้ไปเข้าพักที่โรงพยาบาลก่อน ๑ คืน   ท่านถามเรื่องยาที่ทำให้เลือดลดการแข็งตัว    เราเอารายชื่อยาให้ท่านดู   ท่านสั่งว่าก่อนไปโรงพยาบาล ๑๐ วัน ให้งดยา Apoline ซึ่งเป็นยาลดการแข็งตัวของเลือด

ท่านถามอาการว่ามีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ไหม   นอนมากขึ้นไหม   ความสนใจเรื่องต่างๆ ลดลงไหม   พูดน้อยลงไหม   คำตอบคือใช่   สำลักบ่อยไหม ตอบว่าไม่บ่อย    ท่านให้เดินให้ดู และตรวจอีกนิดหน่อย  

ออกมาจากห้องตรวจ ๑๒.๐๕ น.   คุณเนี้ยวอกว่าทีหลังจะมาโรงพยาบาลให้บอก อย่าเกรงใจ    จะได้ไม่รอนานอย่างนี้    แล้วไปจัดการขอใบนัดเข้าโรงพยาบาล    และแนะนำคุณสมพร ดาวนักวิจัย R2R   ที่ทำให้โอพีดีมีวิธีทำงานที่เป็นระบบมาก   ซึ่งผมจำชื่อได้    

ผมบอกต้องว่า ไปโรงพยาบาลกันเอง ได้ประสบการณ์ว่าคนทั่วไปเขาได้รับบริการกันอย่างไร    และการไปรอ ทำให้ได้เห็นระบบบริการ เป็นความรู้    ซึ่งระบบของศิริราชมีการพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย    และได้ทราบว่าเป็นผลของการทำวิจัย R2R    แม้ว่า ประสบความไม่สะดวกในการไปรอตรวจ    แต่ผมก็ได้ความสุขใจที่การไปร่วมงาน R2R ที่ศิริราช ก่อผลดีต่อผู้คนมากมาย ที่ไปรับการรักษา                        

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.พ. ๖๒



1 ที่หน้า OPD ศัลยศาสตร์

2 สาวน้อยนั่งรอบนรถเข็นอย่างนี้ประมาณ ๒ ชั่วโมง

3 โดนย้ายไปอยู่แถวหลัง

4 ป้ายให้ข้อมูลดีมาก

5 คำประกาศสิทธิ์และข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย

หมายเลขบันทึก: 660452เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2019 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2019 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท