ชี้งบประมาณ 50 เอาใจทหาร ระบุสับสนไม่สะท้อน แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


ชี้งบประมาณ 50 เอาใจทหาร ระบุสับสนไม่สะท้อน แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ชี้งบประมาณ 50 เอาใจทหาร ระบุสับสนไม่สะท้อน แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการในร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. และกำลังนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานนั้น  หลายฝ่ายเริ่มกังวลใจกับทิศทางการบริหาร การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในปีหน้าว่า จะออกมาเป็นอย่างไร แม้จะมีลักษณะขาดดุล แต่ก็ยังสับสนไม่แน่ใจว่าต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงเพียงใด เพราะวงเงินขาดดุลต่ำ ขณะที่ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้หนี้ จึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า คงไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้มีแรงขับเคลื่อนโดยไม่มีอาการสะดุดไม่ได้ 

สำหรับงบประมาณปี 2550 ที่รัฐบาลกำหนดกรอบการจัดเก็บรายได้ไว้ 1,420,000 ล้านบาท แต่มีรายจ่าย 1,566,200 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 146,200 ล้านบาทนั้น  รายจ่ายส่วนหนึ่งได้กันไว้เพื่อชดใช้หนี้ให้กับ
หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจากการดำเนินงานของรัฐบาลชุดเก่า โดยเฉพาะการแทรกแซงพืชผล
การเกษตรที่มีจำนวนสูงถึง
80,000 ล้านบาท ซึ่งเดิมได้มีการตั้งรายจ่ายจากงบกลางแล้ว 40,000 ล้านบาท และอีก 40,000 ล้านบาท จะมาจากงบประมาณในส่วนที่ตั้งขาดดุลเพิ่ม จึงเท่ากับว่า งบประมาณขาดดุลที่จะ  อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมีเพียง 100,000 ล้านบาทเท่านั้น 

นักเศรษฐศาสตร์ยังมีความเป็นห่วงว่า การกำหนดกรอบวงเงินรายได้ต่ำ แต่กลับตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ทำให้ขาดดุลถึง 146,200 ล้านบาท ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงทำให้เชื่อว่ารัฐบาลพยายามซ้อนเร้นความเปราะบางของเศรษฐกิจในปีหน้าที่คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเพียง 4-5% เนื่องจากกรอบวงเงินรายได้ 1,420,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 4.4% จากเดิมในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล      จะตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยจะตั้งประมาณรายได้เติบโตที่ 6-7% ต่อปี เพราะภาวะเศรษฐกิจดี จะทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรและเสียภาษีมากขึ้น 

ส่วนการกำหนดวงเงินรายจ่าย 1,566,200 ล้านบาท ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ และยิ่งเจาะลึกลงไปจะพบว่า มีรายจ่ายประจำสูงถึง 1,136,060 ล้านบาท หรือ 72.5% แต่มีงบลงทุน 374,648 ล้านบาท หรือ 24% และมีงบชำระคืนต้นเงินกู้ 55,490 ล้านบาท หรือ 3.5% สำหรับงบลงทุนซึ่งแต่ละปีกระทรวงการคลังพยายามจัดสรรให้มีสัดส่วน 25% นี้ สะท้อนให้เห็นว่า มีปริมาณเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในโครงการลงทุนต่าง ๆ ลดลง เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว และเมื่อเทียบกับปีก่อนจะพบว่า รัฐให้ความสำคัญกับการลงทุนเพิ่มขึ้น 12.4% แต่ปีนี้กลับมีงบลงทุนเพิ่มขึ้นเพียง 4.6%

ขณะที่ไส้ในของงบประมาณยิ่งชี้ชัดลงไปว่า มีการจัดสรรรายกระทรวงเอาใจคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และทหารเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อจัดเป็นกลุ่มภารกิจออกมาจะพบว่า กระทรวง กลาโหมมีอัตราการเพิ่มของปีงบประมาณเกือบสูงสุดถึง 33.8% จากปีก่อน 85,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 115,000 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงคมนาคม  กระทรวงพาณิชย์  และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 16.4% รวมเป็นเงิน   ที่ได้รับ 330,277 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 25.3% รวมเป็นเงิน 282,667 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขได้รับ 62,305 ล้านบาท  

ส่วนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯและกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้รับงบประมาณลดลงจากปี 2549 ถึง 18.7% และ 1.5% รวมเป็นเงินงบประมาณที่ได้รับ 13,922 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2542 จนถึงปีนี้พบว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมในปีนี้ มีอัตราก้าวกระโดดมากที่สุด โดยปี 2542 ลดลงจาก ปี 2541 คิดเป็น 4.9% หรือได้รับงบทั้งหมด 77,067 ล้านบาท, งบปี 2543-2547 เพิ่มขึ้น 0.2-1.8%   ส่วนปี 2548 ได้รับเพิ่มขึ้น 3.4% หรือ 81,241 ล้านบาท   ปี 2549 ได้เพิ่มขึ้น 5.8% หรือ 85,936 ล้านบาท และงบปี 2550 ได้รับเพิ่มขึ้น 33.8%    การตั้งงบประมาณแบบก้าวกระโดดนี้ อาจจะมีภาวะเสี่ยงที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าในอนาคตมากขึ้น เพราะงบทหารก้อนโต ๆ ส่วนใหญ่น่าจะถูกใช้ในเรื่องของการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และงบลับ โดยเฉพาะการซื้ออาวุธซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้น นักเศรษฐศาสตร์ทางด้านการคลังชี้ว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย

                                                                   ไทยรัฐ  8  ธ.ค.  2549

คำสำคัญ (Tags): #งบประมาณ
หมายเลขบันทึก: 66043เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท