รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๑ (๒) พระราชดำรัสฯ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐


ผ่านไปแล้วกว่า ๒๐ ปี สำหรับเหตุการณ์ "วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐" แต่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นยังคงสำคัญและจำเป็นที่ต้องนำมาศึกษา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในการพัฒนาสังคมประเทศชาติสำหรับคนรุ่นใหม่  

ต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ

มีการวิเคราะห์ต้นเหตุแห่งวิกฤตเศรษฐกิจจากนักวิชาการจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนักวิชาการอิสระอื่น ๆ มากมาย (เช่น ที่นี่, ที่นี่, และ ที่นี่) เกือบทั้งหมดมองลึกลงไปในทางเศรษฐศาสตร์ มองต้นเหตุในเชิงวิชาการ  คือ "คิดยาก"  ... ผู้อ่านต้องใช้ความคิดมากในการทำความเข้าใจ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ทรงกล่าวถึงต้นเหตุแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐ ครังนั้นไว้อย่างชัดเจน ในพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เฉลิมพระชนมายุ ๗๐ พรรษา ไว้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และเป็นรากเหง้าของปัญหาจริง ๆ  โดยทรงบอกผ่านเรื่องเล่าพระราชประสบการณ์การช่วยเหลือข้าราชการใกล้ชิด  (อ่านได้พระราชดำรัสฯ ได้ที่นี่)

ก่อนจะมีพระราชดำรัสฯ ถึงต้นเหตุแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ ทรงเกริ่นว่า "...เราเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ และเราก็ได้ชื่อว่ากำลังก้าวหน้าไปสู่เมืองที่เป็นมหาอำนาจทางการค้า ทำไมเกิดวิกฤตการณ์  ความจริงวิกฤตการณ์นี้ เห็นได้มานานแล้วสี่สิบกว่าปีมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัว ... " และทรงยกตัวอย่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อไปนี้ 

ตัวอย่างที่ ๑ มาขอกู้เงิน 

๔๐ กว่าปีก่อน มีข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอกู้เงิน ทรงให้เงินกับข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง โดยมีข้อแม้ว่าต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทรงพบว่า มีรายการเขียนว่า "ค่าแชร์" จึงทรงถาม ทราบว่า เงินที่ต้องจ่ายให้เจ้ามือแชร์ทุกเดือน ๆ ละ ๑๐๐ บาทนั้น  ๑ ปีควรจะได้เงิน ๑,๒๐๐ บาท ซึ่งน่าจะดี แต่คนที่ต้องการจะใช้เงินต้อง "ประมูลแชร์" ทำให้ไม่ได้ ๑,๒๐๐ บาท คนมีเงินเขาจะไม่ประมูล ทิ้งไว้ในแชร์นั้น ถึงเวลาจึงได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยพร้อมดอกเบี้ย แต่คนที่ประมูลแชร์ต้องเสียดอกเบี้ยและเสียค่าประมูลแชร์ 

ทรงตรวจพบว่ามีการเขียนค่าแชร์อยู่อีกที่หนึ่ง จึงทรงถาม ทราบว่า เพื่อจะนำเงินไปส่งแชร์รายเดือน ข้าราชการท่านนั้น ต้องไปเล่นแชร์รายสัปดาห์ด้วย ส่งทุกเจ็ดวันเพื่อนำเงินที่ประมูลได้นั้นมาส่งรายเดือน คิดว่าตนเองฉลาด แต่แท้จริงเป็นการกู้เงิน จึงทรงแนะนำให้เลิกแชร์ และให้ทำบัญชีต่อไป มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเขา ต่อมาพบว่าสามารถมีเงินพอใช้

ตัวอย่างที่ ๒ เอาหัวเข็มขัดมาให้ ขอกู้เงิน 

มีรายหนึ่งเอาหัวเข็มขัดมาถวายพระองค์ สอบถามจึงทราบว่าต้องการขอกู้เงิน แต่ไม่ทรงให้กู้เพื่อรู้ว่าถ้าให้ไปจะไม่เอาใช้คืน และจะเอาเงินไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุ่ยแฉก และจะไม่มีผลเหมือนอย่างที่ขอกู้ไปสำหรับนทำอาชีพ จะกลายเป็นทำให้คนยิ่งเสียใหญ่

ตัวอย่างที่ ๓ ขอกู้เงินไปแต่งงาน

ข้าราชการผู้น้อยคนหนึ่งมาขอกู้เงินจะไปแต่งงาน ทรงเห็นว่าทำงานดี จึงให้เหมือนเป็นรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท เมื่อแต่งงานเรียบร้อยก็ไม่ได้คืนเงิน  ในหลวงก็ไม่ทรงว่าอะไร เข้าใจว่ามีความสุขดีก็ดีแล้ว จะได้ทำงานได้ดี  แต่หารู้ไม่ว่าภายหลังมาสองปี มาขอกู้เงินอีก ๓๐,๐๐๐ บาท ทรงถามจึงได้ความว่า ตอนแต่งงานเงินไม่พอจึงไปขอกูเเงินที่อื่นมา ใช้หนี้ไม่ได้ และต้องเสียดอกเบี้ย จำนวนทั้งหมดรวมตั้งต้นดอกสามหมื่นบาท ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้จะฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีทางออก จึงทรงเห็นว่าจะช่วยเหลือ สุดท้ายก็สามารถมีชีวิตต่อไปได้ เหมือนเป็นการช่วยชีวิต 

ตัวอย่างที่ ๔ 

เป็นคนข้างนอกพระราชวัง มาขอกู้เงินไปรักษาตาของลูกชาย หากไม่ได้ตาจะบอด จึงให้เงินไปสามหมื่นบ้านด้วยทรงสงสาร แต่ไม่ได้มารายงานใด ๆ ผ่านไปนาน วันหนึ่งบอกว่า่เรียบร้อยแล้ว แต่ขอบ้านอยู่ โดยไปสืบมาเรียบร้อยว่าบ้านหลังนั้นว่าง ขออยู่ฟรี ๆ  ทรงพิจารณาว่า ควรจะมีฐานะที่ควรจะเพิ่งตนเองได้ และหากให้ไปก็คงต้องมาขอค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านอีก 

ตัวอย่างที่ ๕

มีพ่อค้าคนหนึ่ง มาเปิดโรงงานสับปะรดกระป๋องอยู่ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี สร้างโรงงานขนาดใหญ่ เมื่อสร้างเสร็จไม่นาน ปรากฎว่าสับปะรดที่บ้านบึงไม่พอ จึงต้องไปรับมาจากปราณบุรีซึ่งต้องเสียค่าขนส่งมาอีก ทำให้โรงงานต้องล้มไป ทรงยกตัวอย่างการทำโรงงานขนาดเล็กที่ทรงเคยทำที่ภาคเหนือ ลงทุนเพียงสามแสนบาท คอยรับผลผลิตจากชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ซึ่งได้ผลดีมาก ... ทรงแนะนำว่าการจะทำโครงการหรือโรงงานอะไรนั้น จะต้องคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสมกับอัตภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย 

ตัวอย่างที่ ๖

พ่อค้าตั้งโรงงานสำหรับแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่ข้าวโพด อยู่ที่จังหวัดลำพูน ต้องการเฉพาะข้าวโพดที่มีคุณภาพ ไม่รับซื้อข้าวโพดที่ "ฟันหลอ" ทรงแนะนำว่า ทางโรงงานน่าจะรับซื้อเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือให้ชาวไร่สามารถปลูกข้าวโพดอย่างมีคุณภาพ โรงงานจะได้เจริญขึ้น แต่ทางโรงงานบอกไม่ได้ เพราะเครื่องจักรที่มีต้องใช้ข้าวโพดที่เหมาะสม ทรงไม่ได้คิดจะแช่งทางโรงงาน แต่ทรงระลึกในใจว่าโรงงานนั้นคงอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็ล้มไปจริง ๆ  

ทรงสรุปว่า "...จะทำโครงการอะไรจะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป... ถ้าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดเหมาะสม อาจจะดูไม่หรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไปก็เสียหายไม่มาก..." 

จากพระราชดำรัสฯ ในช่วงตอนนี้ สรุป ต้นเหตุแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ ได้ ๒ ประการหลัก ๆ คือ ๑) การก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และ ๒) การทำโครงการหรือการลงทุนที่ไม่รอบคอบและเกินตัว(ตาโต)

ช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลายปี ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลายปีติดต่อกัน สื่อมวลชนต่างพยากรณ์ว่า ประเทศไทยจะเป็น "เสือตัวที่ ๕" แห่งเอเชีย ต่อจาก ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์  คาดกันว่าประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค เม็ดเงินลงทุนมหาศาลจะย้ายฐานจากฮ่องกงที่สหราชอาณาจักร (อังกฤษ)กำลังจะส่งมอบคืนแก่จีนในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจเปิดเสรีทางการเงิน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจในอีก ๘ ปีต่อมา

เศรษฐกิจแบบพอเพียง

ในพระราชดำรัสฯ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยแนวทางการพัฒนาประเทศด้วย "เศรษฐกิจพอเพียง" และ เป็นครั้งแรกที่ทรงใช้คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ทรงอธิบายความหมายและชี้แนะแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน 

"...การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตนเองได้ ให้พอเพียงกับตนเอง..." 

ทรงขยายความและยกตัวอย่างให้เข้าใจความหมายให้เข้าใจ ดังนี้ว่า

  • ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอเสื้อผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป 
  • บางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก ...อย่างน้อยในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร 
  • อย่างการปลูกข้าว บริโภคข้าวอะไรก็ควรจะปลูกข้าวนั้น เก็บไว้ในยุ้งเล็กให้พอกินตลอดปี มีที่เหลือนั้นก็สามารถปลูกขายได้ เช่น ชาวนาในภาคอีสาน ปกติกินข้าวเหนียว ก็ให้ควรปลูกข้าวเหนียว ...  แต่คนอื่นกลับบอกว่าคนปลูกข้าวเหนียวโง่ บอกว่าต้องปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อเอาไว้ขายเพราะขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้วพอจะบริโภคเองต้องซื้อ ต้องซื้อจากใครไม่รู้... 
  • ข้าวที่ปลูกไว้บริโภคเองไม่ต้องเสียค่าขนส่งใด ๆ  แต่ข้าวที่ซื้อต้องจ่ายค่าขนส่งด้วย แม้ไม่ได้มาจากต่างประเทศ แต่อาจมาจากต่างจังหวัด ราคาข้าวก็จะต้องบวกค่าขนส่งด้วย ทำให้ต้องซื้อข้าวราคาแพงกว่าปลูกเอง 
  • ในทางกลับกัน การปลูกข้าวหอมมะลิไปขาย อาจจะขายทั่วโลก ยิ่งจะต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปในราคาข้าว ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการค้าขายก็บวกเข้าไปในราคาข้าว  แต่จะไปขายราคาแพงมากเกินไปก็ขายไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมาตัดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกรให้ถูกลง เพื่อที่จะได้มีกำไรในการขาย  สรุปแม้ว่าข้าวหอมมะลิจะราคาแพง แต่เกษตรกรต้นทางก็ไม่ได้ค่าตอบแทนมากนัก 
  • ผู้ที่ได้ค่าตอบแทนมากคือพ่อค้า เพราะไม่ว่าจะไปซื้อข้าวที่ไหนก็ต้องจ่ายราคาตลาด เช่น หากเกิดภัยธรรมชาติที่เชียงราย จะซื้อข้าวไปช่วยเหลือต้องซื้อราคากรุงเทพฯ ข้าวอาจจะมาจากที่เชียงราย เพราะเชียงรายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่ง ต้องบวกราคาทั้งทั้งขนมาขนไป แต่ที่จริงซื้อข้าวที่กรุงเทพฯ แต่พ่อค้าจ่ายข้าวที่เชียงราย แต่ซื้อในราคา "เดินทาง" คือพ่อค้านำข้าวมาในนาม-ในเอกสาร เอกสารสั่งข้าวเท่านั้นที่เดินทางไป แต่พ่อค้าก็ยังบวกค่าขนส่งข้าวด้วย ... นี่คือลักษณะของ "เศรษฐกิจแบบค้าขาย" หรือ ฝรั่งเรียกว่า Trade Economy  ไม่ใช่ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง"  ที่ฝรั่งเรียกว่า Self-Sufficient Economy 
ทรงชี้แนะว่า "...ถ้าสามารถเปลี่ยนไปทำให้กลับไปเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งหนึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้ การแก้ไขอาจไม่ใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ ...ถ้าทำตั้งแต่ตอนนี้ก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้..." 

ทรงย้ำอีกครั้งว่า ในเมืองไทยนี้มีที่ดินกว้างขวางพอสมควร ภูมิประเทศยังเอื้อ ยังเหมาะสม แม้จะมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้นมากก็ยังมีที่ดิน แต่ที่ดินส่วนมากเป็นที่ดินที่แร้นแค้น ที่ไม่ดี บางแห่งก็เปรี้ยว บางแห่งเป็นด่าง บางแห่งเค็ม บางแห่งก็ไม่มีดินคือเป็นดินดาน  ต้องมีการลงทุนสำหรับวิจัยและลงทุนสำหรับช่วยเกษตรกร คือต้องพยายามอุ้มชูประชาชนให้มีงานทำ ให้มีที่ทำกิน ให้มีรายได้ ก็จะเป็นผลให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ได้ 

ทรงเน้นย้ำในช่วงท้ายของพระราชดำรัสฯ ว่า สำคัญคือต้องสามัคคีกัน ต้องทำงานด้วยการเห็นอกเห็นใจกัน และทำด้วยความขยันหมั่นเพียร จะต้องให้ทุกคนได้มีโอกาสทำงาน ทำงานตามหน้าที่ และต้องหวังดีต่อผู้อื่น 

หมายเลขบันทึก: 660368เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2019 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2019 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท