๘๙๓. บทเรียน..ใหม่


ขอบคุณทุกบทเรียนที่ผ่านเข้ามา ทำให้ผมเรียนรู้ไม่สิ้นสุด สู้กับงาน มิใช่แข่งขันชิงดีชิงเด่นกับใคร แต่เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีขององค์กร

                 ผมไม่เคยเสียความรู้สึกที่ต้องเป็นครูใหญ่ ครูน้อยและภารโรง..ในวันเดียวกัน..ชีวิตเลือกแล้วที่จะไขว่คว้าหาความสุขแบบนี้ มีโอกาสได้ทำงานทุกวัน ได้เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง..และองค์กรเล็กๆ

            ลืมไปบ้างเรื่อง “หัวโขน” ก็ทำให้งานคล่องตัว ราบรื่น และเรียบร้อย

                อยู่กับโรงเรียนขนาดเล็ก ก็ดีไปหลายอย่าง ความเรียบง่ายและพอเพียงทำให้ยั้งคิด..ว่าอะไรควรทำ..ไม่ควรทำ..โดยมากแล้วจะไม่ทำตามแบบใครและมีเหตุผลมากพอว่าเหตุใดถึงไม่ทำ..

                ปลายปีการศึกษา..เห็นโรงเรียนทั่วไปจัดนิทรรศการวิชาการ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า OPEN HOUSE  แต่ผมไม่เคยจัดและไม่รู้สึกว่าอยากจัดแต่ประการใด..?

                เพราะ ทุกวันก็เห็นว่าครูเร่งรัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนอ่านคล่องเขียนคล่องและคิดคำนวณได้..ยังไปไม่ถึงผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็อยู่ในขอบข่ายที่ผมและผู้ปกครองพอใจ...

               แต่ถ้าจะจัด..ก็จะไม่เชิญใครมาเปิด จัดแบบที่นักเรียนคิดเองทำเองมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษา “ออกนอกกรอบ” ไม่ต้องท่องจำนำเสนอใคร แค่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองก็น่าจะพอ..

               ผมไม่เคยจัด “งานประจำปี” วันสุดท้ายของการเรียนจะประชุมผู้ปกครองแล้วมอบทุนการศึกษา แค่นี้พอแล้ว..ที่ไม่จัดเพราะไม่มีปัญญาจริงๆ จัดแล้วต้องขอรับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง..ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน..ผมรู้สึกสงสาร

              ดังนั้น..จัดการศึกษาแล้วต้องจบอย่างเรียบง่ายที่สุด..ไม่มีใครต้องเบียดเบียนใคร..เงินทองหายาก ประหยัดไว้เพื่อใช้ในยามขัดสน...

             เงินกองทุนและเงินรายได้สถานศึกษาที่คุณบุญชู ลิ่มอติบูลย์ มอบให้ทุกปียังมีอยู่หลายแสนบาท..บอกครูว่าเราต้องไม่ประมาท อย่าใช้เงินเกินตัว สักวันเราต้องใช้เงินจ้างครูพิเศษ..โรงเรียนเล็กๆ ขาดครูไม่ได้

             ก็ไม่รู้สินะ..ผมคิดและทำแบบนี้มานานนับ ๑๐ ปี มีแต่คนมาศึกษาดุงานและเด็กก็เพิ่มขึ้น..มันคงไม่ใช่ต้นแบบของโมเดลการบริหาร..แต่นี่คือบริบทในแบบฉบับของผมจริงๆ

             ขอบคุณทุกบทเรียนที่ผ่านเข้ามา ทำให้ผมเรียนรู้ไม่สิ้นสุด สู้กับงาน มิใช่แข่งขันชิงดีชิงเด่นกับใคร แต่เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีขององค์กร

             ขอบคุณ “คุณธนัช” เถ้าแก่น้อยเจ้าของสวนผักทุ่งดินดำ..ให้เกียรติไปเยี่ยมโรงเรียน เพราะดูจากในเฟสเห็นว่าโรงเรียนสวย พอเดินทางเข้าสู่โรงเรียน..สวยและสะอาดกว่าในภาพถ่ายเสียอีก (ฮา)

             คุณธนัช..ชอบไอเดียเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ของผม..แต่แนะนำให้ทำเป็นระบบกว่านี้..เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถจำหน่ายได้..

             ที่สำคัญ..โรงเรียนยังไม่มีจุดขาย..หรือจุดชมวิว แบบว่าเดินเข้ามาแล้วต้องประทับใจทันที คุณธนัชแนะนำให้จัดบรรยากาศริมสระน้ำ ด้วยเหตุผลที่ว่าบรรยากาศดี ไม่มีวันที่น้ำในสระจะแห้ง..

             โดยจะต้องปลูกมะพร้าว..ปลุกต้นเตยหอม และปลูกตะไคร้เยอะๆ ๒ – ๓ เดือนริมสระน้ำของโรงเรียนจะสวยงามไปด้วยต้นไม้สีเขียว..ส่วนชั้นบนของสระก็ปลูกไม้ดอกประเภท..เฟื่องฟ้า..จะช่วยให้งดงามอลังการ..

             ผมฟังคุณธนัชแนะนำ..ด้วยใจที่สั่นๆและเต้นระรัว..ดีใจที่ได้ความคิดใหม่ ได้บทเรียนที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนดำเนินการ..ตั้งแต่บัดนี้เป็นไป...

             วันนี้เริ่มปลูกต้นเตยหอม..ปลูกได้หลายกอ..รดน้ำใส่ปุ๋ยก็ง่าย..รู้สึกแปลกใจนิดหนึ่ง..ทำไม?ผมจึงคิดไม่ถึง..ในเมื่อผมนั่งมองสระน้ำอยู่ทุกวัน..

             ขอบคุณคุณธนัชมากนะครับ..ขอบคุณที่ให้พันธุ์ต้นเตยหอมอย่างมากมาย..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒



หมายเลขบันทึก: 660067เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2019 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2019 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โรงเรียนสีเขียวจะยิ่งเขียวสวยงามเพิ่มขึ้น … ชื่นชมมาก ๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท