การศึกษาเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (๔): ข้าราชการครูผู้ทำงานให้แผ่นดิน จะพออยู่พอกิน แต่จะไม่รวย


การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเีพียง (ปศพพ.) ไม่ใช่ลาออกจากงาน แล้วกลับบ้านไปเป็นเกษตรกร การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรผสมผสาน เป็นตัวอย่างของการนำหลัก ปศพพ. ไปใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ในชนบทเท่านั้น เราอยากจะมีอาชีพอะไร ๆ ก็เป็นไป ทำไปตามความฝัน ความถนัดและศักยภาพของตนเองไป อาชีพอะไร ๆ ก็สามารถนำหลัก ปศพพ. ไปใช้ได้ทั้งหมด .... คุณคิดว่า คุณครูที่อยู่ในโรงเรียน เข้าใจตามสิ่งที่ผมเขียนไว้ ๓ บรรทัดข้างต้นนี้ทุกคนหรือไม่ ... (หรือส่วนใหญ่เข้าใจว่า "พอเพียง" คือ "ยากจน")

คุณสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ทำงานรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มายาวนาน เคยให้สมภาษณ์ไว้ครั้งหนึี่งว่า (อ่านที่นี่) ว่า ข้าราชการ จะไม่รวย ถ้าอยากรวยต้องลาออกไปประกอบอาชีพอื่น และเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยมีรับสั่งกับข้าราชบริพาลว่า "ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกัน ในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น" 

ผมเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นพนักงานราชการ มีเงินเดือนไม่น้อย และได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งบริหารด้วย มีค่าประจำตำแหน่งบริหาร แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ด้วยรายจ่ายและค่าครองชีพแบบนี้ ไม่มีวันเลยที่จะรวยเป็นล้าน การศึกษาหลัก ปศพพ. ตลอดมาหลายปี  ทำให้เข้าใจว่า "เส้นพอเพียงของอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย" น่าจะอยู่ในระดับล้านบาทตลอดชีวิต ... คำถามคือ ข้าราชการที่มีเงินรวยเป็น "สิบล้าน" "ร้อยล้าน" "พันล้าน" หรือเป็น "หมื่น แสนล้าน" เป็นข้าราชการประเภทไหน? 

ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไทย ไม่มีทางที่ข้าราชการจะรวยขนาดนั้นได้ เขาเหล่านั้นที่รวยขึ้นได้ เพราะจิตใจเขาไม่ได้พอใจในอาชีพข้าราชการ เพราะอยากรวย จึงได้ทำอาชีพอื่น ๆ พร้อม ๆ กันไปกับการเป็นข้าราชการ  หรือไม่ก็ใช้เวลานอกราชการทำงานอันเป็นที่มาของเงินตราเหล่านั้น ... อาชีพครู ไม่น่าจะทำแบบนั้นได้ เพราะเมื่อใดใจเป็นครู ย่อมเป็นครูทั้งวันทั้งคืน ไม่มีเวลานอกหรือในราชการ  อาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่ไม่มีวันรวย

ขออัญเชิญพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาเป็นแนวทางเตือนสติตนเองและเพื่อนครู ให้สู้กันต่อไปครับ (อ้างอิงที่นี่ครับ)

“ ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และ  ห่วงรายได้กันมากเข้า ๆ แล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหน มาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงในสิ่งเหล่านั้น ก็จะค่อย ๆ บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป ” (พระราชทานแด่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ เสาร์ ที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๑)

“......ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ…...” (พระราชทานแด่ครูอาวุโส ในโอกาสเข้าเฝ้า ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓)

ผมสรุปว่า 

  • อาชีพครู ไม่รวย 
  • อาชีพครู "พอเพียงได้" เพราะ 
    • มีเงินเดือนไม่น้อย 
    • มีสวัสดิการในฐานะข้าราชการดีมาก พ่อ แม่ ลูก ตนเอง ป่วยรักษาฟรี ฯลฯ 
    • มีเกียรติศักศรี เป็นอาชีพแห่งความดี ที่ทุกคนให้ความเคารพยกย่อง 
  • ครูที่ดี จะไม่อยากรวย (เป็นสิบล้าน ร้อยล้าน ...)  เพราะถ้าอยากรวยจะไม่มาเป็นครู 
  • ครูที่ดี จะไม่สอนให้คนอยากรวย ไม่สอนให้นักเรียนเอาความรวยคือเป้าหมายชีวิต
  • ครูทีดี คือครูเพื่อศิษย์ เอาศิษย์เป็นตัวตั้ง
  • เราควรยกย่องครูดีที่ไม่รวย เพราะครูดีที่ไม่รวยนั้น เพราะต้องช่วยนักเรียนและเพียรเสียสละอย่างยิ่ง 
  • เราควรยกย่องครูดีที่อยู่บ้านพักครู มากกว่าครูที่อยู่บ้านหลังใหญ่โต 
  • เราควรยกย่องครูดีที่รถยนต์ราคาธรรมดา มากกว่า ครูที่ขี่รถหรูหราราคาแพง
    หมายเลขบันทึก: 660047เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2019 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2019 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท