บอร์ดเกมกับการสอนประวัติศาสตร์


เกริ่นนำ

การจัดการศึกษาภายใต้ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) มีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือโดยตรงสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เน้นให้ความสำคัญกับการสร้างผู้เรียนให้มีความเป็นพลเมือง ที่มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการจัดกิจกรรมการเรียนที่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมนั้น มีหลากหลายรูปแบบเเละหลากหลายเทคนิค วิธีการ ขึ้นอยู่ที่ครูผู้สอนจะเลือกใช้ในการพัฒนาผู้เรียน

รูปแบบการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game-Based Learning) หรือใช้คำย่อว่า GBL เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบที่ช่วยพัฒนาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการนำจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเเรงจูงใจมาใช้เป็นฐานของเกมโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสื่อสารทางมการศึกษาด้วยการเล่นเเละมีรูปแบบไม่ตายตัว โดย ทิศนา แขมมณี ได้ให้ความหมายของการใช้เกมเพื่อการเรียนรู้ไว้ว่า เป็นกระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้นักเรียนเล่นตามเกมกติกา เเละเนื้อหาเเละข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น และผลของการเล่นเกมของนักเรียนมาใช้ในการสรุปการเรียนรู้โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างสนุกสนานเเละท้าทายความสามารถ โดยนักเรียนเป็นผู้เล่นเอง ทำให้ได้ประสบการณ์ตรง เป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมสูง

อนึ่ง เกมที่ใช้กับการเรียนรู้หรือการศึกษานั้น จะแตกต่างจากเกมทั่วไป เกมทั่วไปจะเน้นให้ความสำคัญกับความสนุก ความเพลิดเพลิน เเละความสำพันธ์ เเต่เกมเพื่อการเรียนรู้หรือการศึกษา จะเน้นให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคล เเละนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายนอกนั่นเอง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่ใช้รูปแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ มีหลายประเภท เช่น เกมกระดาน(บอร์ดเกม) เกมนำเข้าสู่บทเรียน เกมทดสอบ และเกมสันทนาการ เป็นต้น  ซึ่งรูปแบบเเละวิธีการจะแตกต่างกันออกไปอย่างหลากหลาย

บอร์ดเกม หรือ อาจเรียกว่าเกมกระดาน (Board Game) เป็นเกมที่ผู้เล่นจะต้องวางหรือเคลื่อนย้ายตำแหน่งของชิ้นส่วนต่างๆ บนกระดาน ซึ่งหมายถึงพื้นผิดใดๆ ที่มีการทำสัญลักษณ์ไว้แล้ว โดยมีกติกากำกับ  โดยในปัจจุบันในด้านการศึกษา มีการใช้บอร์ดเกมในชั้นเรียนมากขึ้น จะเห็นได้จากกระแสบอร์ดเกมเพื่อการศึกษาในสื่อออนไลน์  ซึ่งบอร์ดเกมมีหลายประเภท ได้แก่ เกมแนวครอบครัว เกมวางแผน ปาตี้เกม เกมนามธรรม เเละเกมที่มีธีม นอกจากนี้อาจมีรูปแบบอื่นๆ เเละมีการบูรณาการที่หลากหลายโดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน

การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา เเละวัฒนธรรม เป็นรายวิชาการสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจในอดีต เเละความเป็นมาของตนเองเเละมนุษย์ชาติ ในมิติของกาลเวลา ซึ่งตามหลักสูตรแกนกลางปี ๒๕๕๑ วางตัวชี้วัดอย่างครอบคลุมการเรียนรู้ ส่วนวิธีการนำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้น ครูเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ศิษย์เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเรียนรู้ในศตวรรษปัจจุบันที่ต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน ให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิต ทักษะการทำงานและการแก้ปัญหา และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร

จากการวิเคราะห์ข้อมูล อาจสรุปนิยามได้ว่า การจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ด้วยการใช้บอร์ดเกม คือ การศึกษาอดีตขอสังคมมนุษย์ ในมิติของกาลเวลา โดยเน้นศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลุ่มคนหรือบุคคลในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ช่วงมิติเวลา เเละสำนึกร่วมของกลุ่มคน  ผ่านการจำลองสถานการณ์บนกระดานที่มีการเคลื่อนย้ายวัตถุ สิ่งของต่างๆ ที่มีการทำสัญลักษณ์ไว้เเล้ว มีกติกากำกับ ทำให้ได้ประสบการณ์ จนนำไปสู่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่คาดหวัง

แนวทางการนำบอร์ดเกมเพื่อจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ (ผู้เขียนมีประสบการณ์น้อยจึงขอเสนอเกมง่ายๆ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา เพื่อการนำไปปรับใช้ได้ง่ายครับ)

๑. หากเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับมิติเวลาบอร์ดเกมง่ายที่สุด คือ บันไดงู ที่ต้องการสร้างบอร์ดเกมเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจลำดับช่วงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์  อาจประยุกต์ใช้เกมบันไดงูที่ธรรมดา กลายเป็นเกมที่สามารถเรียนรู้มิติเวลาทางประวัติศาสตร์ได้ เช่น เริ่มตั้งแต่ยุคการอพยพเคลื่อนย้ายคนไทมาสู่บริเวณประเทศไทยในปัจจุบัน จากนั้นเริ่มมีอาณาจักรเกิดขึ้น เช่น อาณาจักรทวราวดี อาณจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรธนบุรี เเละยุครัตนโกสินทร์ มีการทอยลูกเต๋าเพื่อเดินทางจากปัจจุบันย้อนไปอดีตเพื่อตามหาว่า "คนไทมาจากไหน" ระหว่างการเดินทางจะผ่านอาณาจักรต่างๆของไทยเเละในบริเวณประเทศไทย ซึ่งครูจะบรรยายเพิ่มเติมไปทีละขั้นๆ ซึ่งอาจเพิ่มเงื่อนไขหรือการ์ดเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อสร้างพลังในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น (ดังภาพตัวอย่าง)

๒. หากเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเกมที่ช่วยให้เห็นภาพ คือ การ์ดภาพ  โดยครูจะต้องสร้างการ์ดภาพที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม เช่น เนื้อหาเรื่อง อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติต่อสังคมไทย มีประเทศอินเดีย ลาว จีน กัมพูชา มอญ โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอื่นๆ ควรทำการ์ดภาพวัฒนธรรม วิธีการเล่นอาจประยุกต์การเล่นแบบไพ่ เพื่อช่วยให้กระบวนการต่อเนื่องมากขึ้น เช่น การสร้างการ์ดเเคงวัฒนธรรม ที่เล่นเหมือนไพ่แคง โดยทุกคนจะได้การ์ดคนละ ๑ ชุด (การ์ดวัฒนธรรม) เเละครูจะมีการ์ดอีก ๑ ชุด (การ์ดสถานการณ์ ธงชาติเเต่ละประเทศ) โดยครูจะวางการ์ดธงชาติก่อน จากนั้นให้นักเรียนวางการ์ดวัฒนธรรมให้ตรงตามโจทย์ประเทศที่ครูกำหนดให้ การ์ดคนไหนหมดก่อน คนนั้นชนะ

หากสนใจเรื่องการ์ดเเคงข้ามวัฒนธรรม สามารถเรียนรู้ได้ที่ บันทึกนี้ (การ์ดแคงข้ามวัฒนธรรม)

๓.หากเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับองค์ประกอบหรือระบบอาจใช้ การ์ดภาพโดมิโน่  โดยเฉพาะครูสังคมสอนประวัติศาสตร์ที่ต้องการจะสอนเนื้อหาเกี่ยวกับระบบชนชั้นสมัยอยุธยาหรือสมัยอดีต ชนชั้นศักดินาเป็นสภาพเเละระบบของสังคมอยุธยาสมัยอดีต ที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ โดยจะมี ๖ ชนชั้นได้แก่ กษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง ไพร่ ทาส เเละชนชั้นพิเศษ คือ พระสงฆ์ สามารถให้การ์ดภาพได้เช่นเดียวกัน หรือ อาจใช้รูปแบบอื่นๆก็ได้ หรืออาจใส่เงื่อนไข สถานการณ์เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มพลังการเรียนรู้ ขึ้นอยู่กับความถนัดของครูผู้สอน เช่น การ์ดโดมิโน่ชนชั้น ที่ต้องให้นักเรียนเรียงตัวเลขในการ์ดแบบโดมีโน่ พระสงฆ์หมายเลข ๐ กษัตริย์หมายเลข ๑ เจ้านายหมายเลข ๒ ขุนนางหมายเลข ๓ ไพร่หมายเลข ๔ และทาสหมายเลข ๕ ให้เขาเกิดการจดจำว่า "ลำดับศักดินา" เรียงตามลำดับอำนาจ ด้านบนที่เป็นชนชั้นปกครอง เเละด้านล่างเป็นชนชั้นผู้ถูกปกครอง ส่วนพระสงฆ์ที่เป็นหมายเลข ๐ เพราะเป็นชนชั้นพิเศษทุกชนชั้นให้ความเคารพ จึงให้เป็นหมายเลข ๐ (ดังภาพตัวอย่าง) ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนเข้าใจลำดับศักดินา เพื่อเข้าใจสภาพสังคมอยุธยา เป็นหลัก


๓ เกมนี้เป็นเพียงตัวอย่างการประยุกต์ให้แบบง่าย ซึ่งลักษณะเเละประเภทของบอร์ดเกมยังมีอีกจำนวนมาก

การออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์

การออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ สามารถออกแบบได้อย่างหลากหลาย โดยการออกแบบบอร์ดเกมนั้น อาจเริ่มจากการเลียนแบบ ต่อยอด สร้างสรรค์ จนนำไปสู่นวัตกรรม ซึ่งทุกคนจะเติบโตมาด้วยลักษณะเกมที่คล้ายกันหรือแตกต่างกันออกไป เช่น เกมเศรษฐี เกมกระดานบันไดงู เกมการ์ด ยุทธวิธี เป็นต้น กล่าวคือ เราล้วนมีประสบการณ์การเรียนบอร์ดเกมมาเเล้ว ไม่มากก็น้อย เเต่เรายังไม่ได้ประยุกต์เพียงเท่านั้นเอง

ในการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้นั้น สามารถทำได้หลายวิธีการ โดยในที่นี้อธิบายจากการถอดบทเรียนระหว่างการทำวิจัยในชั้นเรียนของผู้เขียน เรื่อง การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านโนนศรีสวัสดิ์โนนสวรรค์ ด้วยการเรียนรู้รูปแบบบอร์ดเกม ซึ่งมีวิธีการออกแบบ ดังนี้

๑. ศึกษาปัญหาเเละวิเคราะห์ปัญหาผู้เรียน  เป็นการศึกษาปัญหาของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งปัญหาของนักเรียนแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไป เช่น ปัญหามีความสนใจในระยะสั้น ปัญหาขาดเเรงจูงใจในการเรียนรู้ ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และปัญหาขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล่วนเกี่ยวเนื่องกับทักษะหรือเนื้อหาการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่การเลือกประเด็นปัญหา หรือประเด็นที่อยากพัฒนาทักษะบางอย่างของนักเรียนให้ดีขึ้น โดยเลือกเอาประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาผู้เรียน

๒. ตั้งจุดมุ่งหมาย  ตั้งจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานักเรียน โดยเลือกประเด็นปัญหา ๑ ปัญหามาตั้งจุดมุ่งหมาย เช่น ปัญหานักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ อาจตั้งจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยจุดมุ่งหมายจะสอดคล้อง เชื่อมโยงไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของครูผู้สอน

๓. วิเคราะห์ขอบเขตและองค์ประกอบของเนื้อหา โดยการนำเนื้อหามาวิเคราะห์ขอบเขตอย่างละเอียด เนื้อหาเรื่องอะไร จะสอนจากเรื่องไหนถึงเรื่องไหน มีเรื่องย่อยอะไรบ้าง ในเนื้อหานั้นมีองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้าง อาจจับประเด็นสำคัญ เช่น หลักฐาน คน เวลา และเหตุการณ์ เพื่อช่วยให้การเลือกรูปแบบเกมง่ายขึ้น  

๔. คัดเลือกรูปแบบเกม  เลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของเนื้อหา โดยประเภทหลักๆ ของบอร์ดเกมมี ๕ ประเภท ได้แก่  ในรายวิชาประวัติศาสตร์ มีเกมแนวครอบครัว เกมวางแผน ปาตี้เกม เกมนามธรรม เเละเกมที่มีธีม นอกจากนี้ครูก็สามารถเลือกประยุกต์ บูรณาการได้อย่างอิสระ สร้างชุดเกมเเละเงื่อนไขด้วยตนเอง ในลักษณะอื่นๆ เช่น การประยุกต์เกมบันไดงูมาเป็นเกมเรียนรู้ช่วงเวลาอดีตถึงปัจจุบัน การประยุกต์อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติมาเป็นไพ่ เเละการประยุกต์โดมิโน่มาเป็นการ์ดเรียนรู้ชนชั้นศักดินาในอดีต เป็นต้น จะเห็นได้ว่าบอร์ดเกมจะไม่มีรูปแบบที่เเน่นอนตายตัว เเต่ขึ้นอยู่กับการประยุกต์เเละการสร้างเงื่อนไข ที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ที่ต้องการ

๕. ออกแบบกระบวนการของเกมและแผนการจัดการเรียนรู้  เป็นการมองภาพรวมทั้งหมดของการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากบอร์ดเกมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้หรือแผนการจัดการเรียนรู้ เกมอาจเป็นช่วงสอน เเต่ยังขาดอีกสองช่วง คือ ช่วงนำเข้าสู่บทเรียน เเละสรุปบทเรียน ซึ่งต้องมาออกแบบว่าจะนำเข้าสู่บทเรียนอย่างไร เเละสรุปอย่างไร ให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ที่คาดหวัง โดยในการนำเข้าสู่บทเรียนนั้นสามารถทำได้หลายวิธีการ เช่น การตั้งคำถามนำให้คิดคล่อง การเปิดวิดีโอ การเปิดภาพ และอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาการเรียนรู้ได้ เเละการสรุปบทเรียนก็สามารถทำได้หลายวิธีการเช่นกัน เช่น การให้นักเรียนเขียนสะท้อนผล(AAR) ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้นักเรียนนำเสนอชิ้นงานอย่างสร้างสรรค์  ให้นักเรียนร่วมตอบคำถามอภิปรายกับครูผู้สอน เป็นต้น

๖. ออกแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้  ควรเน้นการประเมินผลย่อย(Formative Evaluation) โดยเป็นปการประเมินผลเพื่อมุ่งปรับปรุงพัฒนาการสอนของครูเเละการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเป็นการประเมินระหว่างการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาในคาบเรียนถัดไป ในช่วงที่ครูสอนผ่านบอร์ดเกม ที่นักเรียนเป็นผู้เล่นด้วยตนเอง ครูอาจถอยออกมานอกวงเพื่อสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ อาจใช้แบบสังกตพฤติกรรม แบบประเมินผลงาน เเละแบบอื่นๆ ให้ครูมีจังหวะการประเมินผลระหว่างการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเครื่องมือการวัดผลจะไม่ยากจนเกินไป ใช้สถิติเชิงพรรณาง่ายๆ ที่เหมาะสมกับการจัดการหลังการสอนของครู 

บทเรียนจากการใช้บอร์ดเกมกับการสอนวิชาประวัติศาสตร์
(กลุ่มเป้าหมายนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านโนนศรีสวัสดิ์โนนสวรรค์)

  • การสอนผ่านบอร์ดเกมช่วยให้เด็กเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น  จากวิธีการสอนแบบเดิมของวิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นบรรยาย เปิดวิดีโอ เปิดภาพ กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กที่เรียนผ่านครูตู้ เพราะสิ่งเหล่านี้การเรียนผ่านโทรทัศน์สามารถเติมเต็มให้เด็กลุ่มนี้อยู่เเล้ว จึงถือเป็นเรื่องที่คุ้นชินสำหรับเด็กๆ เเต่การใช้บอร์ดเกมในการจัดการเรียนรู้ พบว่า เขามีความสนใจเรียน ตั้งใจเรียนเพิ่มมากขึ้น ในทุกๆคาบเขาจะตั้งความคาดหวังว่า "วันนี้ครูจะมีบอร์ดเกมอะไรมากให้เล่น" ซึ่งบอร์ดเกมทั้งหมดเป็นเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ ทำให้เขาเกิดความสนุก มีทัศนคติที่ดีต่อรายวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้น ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
  • สอนผ่านจอเด็กไม่สนใจเท่าสอนผ่านเกม เเม้ครูจะมีกิจกรรมสันทนาการคั่นระหว่างการสอน เเต่เมื่อติดจอ เด็กก็พร้อมจะออกจากบทเรียนทุกครั้ง แต่เมื่อเขาได้เล่นเกม เขาจะได้เล่นไปด้วย เรียนไปด้วยซึ่งมันจะไม่แยกขาดออกจากกัน อาจเรียกได้ว่า "เป็นเกมเพื่อการเรียนรู้" ซึ่งตัวของผมเองคุ้นชินแต่กับเกมเพื่อความสนุก พอมาทดลองสอนจริงๆจึงรู้ว่า "เกมเพื่อความสนุกพลังมันไม่เพียงพอ ต่อการเอาเด็กให้อยู่" เพราะการเล่นมันแยกขาดออกจากการเรียนรู้ เเต่เมื่อเรามาออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ จึงรู้ว่า "เด็กไปเรียนแบบไม่รู้ตัว" เล่นไปด้วย จดจำข้อมูลไปด้วย จากการสอบถามเด็กจะสะท้อนว่าไม่รู้สึกเบื่อเลย ยิ่งทำให้กระบวนกรอย่างผมมั่นใจเเล้วว่ามาถูกทาง 
  • เกมจำเป็นต้องมีเงื่อนไขเยอะ การสอนในครั้งนี้เปลี่ยนทัศนคติของผมไปเยอะมาก แต่ก่อนมองว่าเกมมันต้องมีเงื่อนไขเยอะถึงจะสนุก จริงๆเเล้วไม่น่าจะใช่ เพราะเกมนี้เงื่อนไขน้อยมากแต่ทำให้เด็กสนุกได้ เเสดงว่าเกมเพื่อการเรียนรู้ที่สนุกไม่เป็นจำต้องมีเงื่อนไขเยอะหรือยาก เเต่เป็นเกมง่ายๆที่สามารถเข้าใจได้ง่ายเเละทำให้นักเรียนได้แข่งขันกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมหรือเดี่ยว ก็สามารถทำได้หมด ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกประสบการณ์ยังน้อย ต้องทดลองทำบอร์ดเกมอีกเรื่อยๆ ครับ
  • สอนผ่านเกมให้ครูกลายเป็นผู้สังเกตการณ์  โดยครูมีบทบาทในการอธิบายกติกา  ลองเล่นเป็นตัวอย่างให้กับนักเรียนได้เห็นภาพร่วมกัน จากนั้นให้นักเรียนลองเล่นเอง ซึ่งโดยมักจะมีผู้นำตามธรรมชาติ คือ ผู้นำในชั้นเรียนคอยเป็นคนควบคุมวงโดยอัตโนมัติ เเต่ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็นบางอย่างที่ผิดกติกา ทำให้เกมสามารถดำเนินไปได้ด้วยการเคารพกติกาของทุกคน เมื่อนักเรียนเล่นเอง เรียนเอง ครูที่ถอยออกมาจะมีเวลาในการเฝ้าสังเกตการณ์ผู้เรียน ในขณะเดียวกันครูก็อาจมีส่วนเล็กๆในการคุมวงด้วย เช่น เพิ่มกติกาให้นักเรียนใช้ภาษาสุภาพพูดคุยกัน เพิ่มกติกาให้นักเรียนเคารพในลำดับคิว ห้ามลัดคิวกัน เป็นต้น

บรรณานุกรม

หนังสือ

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. (๒๕๕๕). แนวคิดและแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. มหาสารคาม: สำนักพิมพ์อิลทนิล.

ประสาท เนืองเฉลิม. (๒๕๖๑). หลักการศึกษาเบื้องต้น. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

ภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (๒๕๕๙). การวัดและประเมินผลทางการศึกษา. มหาสารคาม: ตักศิลาการพิมพ์.

บทความสารวาร

ณัฐญา นาคะสันต์ และ ชวณัฐ นาคะสันต์. (๒๕๕๙). เกม : นวัตกรรมเพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์. วารสารร่มพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกริก, ๑๗๓.

วิจัย

รักชน พุทธรังษี. (๒๕๖๐). การประยุกต์ให้บอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะสื่อสารการแสดง. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 659998เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2019 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2019 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สุดยอดมากค่ะ คุณครูรุ่นใหม่ ครูแก่ๆคนนี้สนใจอยากเรียนรู้ในวิธีสอนแบบนี้ทำอย่างไรดีคะ

อยากทำบอร์ดเกมแต่ออกแบบไม่เป็นอยากทำสาระเศรษฐศาสตร์ พอจะชี้แนะได้หรือเปล่าคะ ขอบคุณคร้า

อยากทำบอร์ดเกมแต่ออกแบบไม่เป็นอยากทำสาระเศรษฐศาสตร์ พอจะชี้แนะได้หรือเปล่าคะ ขอบคุณคร้า

อยากเปลี่ยนการสอนผ่านเกมส์อย่างนี้บ้างทำอย่างไรขอคำแนะนำและชี้แนะหน่อยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท