สรุปสาระสำคัญเรื่อง "สถานะบุคคล" หรือ เรื่อง "สัญชาติ"


สรุปสาระสำคัญเรื่อง "สถานะบุคคล" หรือ เรื่อง "สัญชาติ"

19 กุมภาพันธ์ 2562

ด้วยเรื่องสถานะบุคคล หรือเรื่องสัญชาติ เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่อง "สิทธิในสถานะบุคคล" ของคนในรัฐ หรือ รัฐที่เป็นเจ้าของตัวบุคคล ที่ต้องให้การรับรอง และจัดทำทะเบียนบุคคลไว้ ซึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้การรับรองเรื่อง "สัญชาติ" ตามมาตรา 39 ว่า "การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้

การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้"

และในอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้ กฎหมายทะเบียนราษฎร ฉบับใหม่ ก็ได้ให้สิทธิแก่ "บุคคลไร้รากเหง้า" (Rootless) ที่จะมีสิทธิได้สัญชาติไทย คือ ตาม

ตามบทบัญญัติ พรบ.การทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 มาตรา 19/2 (ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระที่ 3 แล้ว รอประกาศราชกิจจานุเบกษา)

"... ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ..."

บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนได้เขียนไว้เมื่อปีที่แล้ว (เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561) สรุปเรื่องราวไว้สั้น ๆ พอเข้าใจง่าย เพราะ มักมีความถามเกี่ยวกับเรื่อง "สถานะบุคคล" มากมาย ในหลาย ๆ คำถาม จะซ้ำ ๆ กัน หรือ ถามแบบวน ๆ กัน หรือ ถามแบบไม่เข้าใจ คนตอบก็ตอบไม่ถูก หรือตอบไม่ได้ วินิจฉัยไม่ได้ เพราะ ข้อเท็จจริงที่ถามมา (ให้มา) ไม่ครบถ้วน ขาดข้อเท็จจริงบางอย่างไป ทำให้ ตอบไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น


ขอตั้งหลักอธิบายเรื่อง "สถานะบุคคล" หรือ เรื่อง "สัญชาติ" กันสักหน่อย ... เอาแบบย่อ ๆ ง่าย ๆ ไปก่อนนะ คือว่า การดูสถานะบุคคลของคนใดคนหนึ่ง ให้ดูดังนี้

... ขั้นตอนแรก ต้องดู ณ ขณะที่เกิด "ต้องเกิดในประเทศไทย"

... ขั้นตอนที่สอง ต้องดูว่า ณ ขณะที่เกิด พ่อแม่มีสถานะใด เช่น เป็นไทย หรือเป็นต่างด้าว

... ขั้นตอนที่สาม ตามกฎหมายต้องแยกเป็น 2 ส่วน 2 อย่าง ห้ามนำมาปนกันอย่างเด็ดขาด คือ

(1) กรณีเป็นคนไทย หรือ ที่ถือว่าเป็นคนไทย เพราะ อยู่ในพื้นที่อาณาเขตประเทศไทยมานมนาน เช่น ชาวเขา และ ชาวมันนิ เป็นต้น กรณีนี้ ให้ยึดถือตามหลัก พรบ. การทะเบียนราษฎร

(2) กรณีเป็นลูกหลานของบุคคลต่างด้าว (ต้องทั้งพ่อและแม่ทั้งสองคนเป็นต่างด้าว) กรณีนี้ให้ มาดูที่ พรบ. สัญชาติ

... รายละเอียด ปลีกย่อยมีมากมาย การตั้งคำถาม ขอให้ถามมาทีละอย่าง อย่าถามแบบเหมารวม... สรุปให้ถามทีละขั้นตอน อย่าถามข้ามขั้น... เพราะ ลูกต่างด้าวเลข 0-00 เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ยังไม่มีชื่อใน ทร. 13 หรือ ทร. 14 เลย และยังไม่รู้เลยว่าตนเองเกิดไทย หรือเกิดต่างประเทศ คงไปขอลงรายการสัญชาติ หรือ ขอแปลงสัญชาติไม่ได้

... คือ ในภาษากฎหมายสถานะบุคคล ต้องมีการ "พัฒนาสถานะบุคคล" เสียก่อน ค่อย ๆ ไปทีละอย่าง เช่น ไม่มีชื่อไม่มีเลข 13 หลัก ก็ขอให้มีเลขก่อน เมื่อมีเลขแล้วก็ต้องดูว่า เกิดที่ไหน เกิดไทยหรือเกิดต่างประเทศ และขณะเกิดพ่อแม่มีสถานะใด ... ให้ไล่เรียงกันทีละเปลาะ ๆ ไป ห้ามข้ามขั้นตอน ...

ตามคำถามว่า... ราษฎรไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติ เชื้อชาติ บิดามารดา เลข 0-89 ไม่สามารถมีชื่อใน ท.ร.13 แต่มีชื่อใน ท.ร.38 ได้อย่างเดียวใช่ไหมค่ะ

ปัจจุบันบรรลุนิติภาวะแล้ว ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบอาชีพรับจ้าง แต่สถานที่รับจ้างคนละจังหวัดกับที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ (ได้ไหมค่ะ)

เขาสามารถขอสัญชาติไทยตาม พรบ.สัญชาติ มาตรา 10 ได้หรือไม่ค่ะ

... แนวคำตอบ ... ดู โจทย์คำถามนี้ ดู เหมือนว่า คนนี้อาจจะเป็น "คนไร้รากเหง้า" หรือ “คนไร้รากเหง้าเทียม” คือไม่สามารถพิสูจน์สถานะของพ่อแม่ได้ หรือ "เป็นคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานที่เกิดว่าเกิดในประเทศไทยได้" เพราะ หากพิสูจน์ หรือ ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าเกิดในประเทศไทย ในกรณีลูกต่างด้าว ก็จะไม่สามารถขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านได้ ไม่ว่ามาตรา 23 หรือ มาตรา 7 ทวิวรรคสอง ... ส่วนกรณีที่ถามว่า ใช้มาตรา 10 นั้นเป็นเรื่องของ "คนต่างด้าวที่มีสถานะถิ่นที่อยู่ถาวร" (ปกติจะเป็นบุคคลเลข 8 ที่มีชื่อใน ทร. 14) ขอ "แปลงสัญชาติเป็นไทย"

ข้อสังเกต

(1) กรณีไร้รากเหง้า เป็นหน้าที่ของ พม. เฉพาะ มาตรา 7 ทวิวรรคสอง แต่ มาตรา 23 ไม่ได้ว่าไว้ ลองไปดูหลักเกณฑ์การรับรองคนไร้รากเหง้าของ พม. เพราะ การยื่นมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง กรณีคนไร้รากเหง้า ต้องมีหนังสือรับรอง พม.ด้วย

(2) ปัญหาตอนนี้คือ คนที่ถือเลข 0-00 (ที่ไม่ใช่เลข 0-00 จากสูติบัตร ทร. 031) และ คนที่ถือเลข 00 (แรงงานต่างด้าว ที่ไม่ใช่ เลข 00 จากสูติบัตร ทร. 03) ... อันนี้จะมีปัญหามากมาย ... ใครเจอประเด็นปัญหาลองถามมา (3) สำหรับคนที่ถือเลข 0-89 อันนี้ปัญหามีน้อยหน่อย เพราะว่าเลข 0-89 เป็นกลุ่มบุคคล "เป้าหมาย" ในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลตามมติ ครม. 18 มค. 2548

อธิบายเพิ่ม

(1) กรณีคนเกิดในประเทศไทย ก็คือ คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด เพียงแต่การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยอาจมารับรองในภายหลัง ตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย คือ การมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และมีการรับรองสิทธิในบัตรประจำตัวประชาชนว่ามี "สัญชาติไทย"

(2) มีคำศัพท์มากมาย ที่เรียกกันต่าง ๆ หลายคำเป็นศัพท์เทคนิต ศัพท์กฎหมาย ศัพท์วิชาการ (Terminology; Technical Terms)

คำเหล่านี้มีความหมายหรือแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร อาทิเช่นคำว่า

(1) ได้สัญชาติ (2) ไม่ได้สัญชาติ (3) ถอนสัญชาติ หรือ ถูกถอนสัญชาติ (4) มีสัญชาติ (5) ไม่มีสัญชาติ (6) ไร้สัญชาติ (7) ไม่ระบุสัญชาติ (8) ไม่มีสถานะ (9) ผู้ลี้ภัย (10) ผู้อพยพ (11) ผู้หลบหนีเข้าเมือง ... จงอธิบาย???...

... และ ในคำภาษาอังกฤษ เหล่านี้ หมายความว่าอย่างไร มีความหมายเหมือนกัน หรือ แตกต่างกันอย่างไร ...

(1) nationality-nationalityless (2) stateless persons (3) documented-undocumented persons (4) registered-unregistered persons (5) citizenship (6) alien (7) no status persons (8) immigrant (9) refugee (10) exodus (11) fugitive (12) rootless...


อ้างอิง

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... มาตรา 19/2, ใน ศิวนุช สร้อยทอง,

https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 659997เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2019 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2019 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท