ว่าที่นายกคนใด? เข้าใจ "เศรษฐกิจพอเพียง" มากที่สุด


สิ่งที่จะเขียนตีความไว้ในบันทึกต่อไปนี้ ไม่ใช่ "ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์"  เป็นเพียงสิ่งที่ผมสังเคราะห์คิดจากการวิเคราะห์ข้อมูล (ซึ่งได้อ้างอิงไว้ให้ท่านคลิกไปอ่านเองได้) โดยใช้ความเข้าใจเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของตนเองเป็นกรอบ ... ชอบหรือใช่อย่างไร น่าจะเป็นเรื่องที่เราควรจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์กันให้กว้างขวางกันให้มาก ในช่วงเวลาใกล้จะเลือกตั้ง ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ นี้ 


ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไรในความเข้าใจของผม

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) คือ หลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ต้องใช้ความรู้คู่คุณธรรม (ดูสมการความพอเพียงที่นี่) ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานให้คนไทยทุกระดับ ...(ตั้งแต่คนรักษาม้า คนรักษาช้าง อุปราช ตลอดจนพ่อค้า อามาตย์) หมายถึงใช้ได้กับทุกคนทุกฐานะอาชีพ 

อย่างไรก็ดี...ขอนำหลักคิดที่ทรงแบ่งลำดับขั้นของการนำ "ทฤษฎีใหม่" ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำเอา ปศพพ. ไปใช้ในทางการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทรงแบ่งระดับการนำไปใช้เป็น ๓ ระดับ ...ถ้านำมาจับกับการนำ ปศพพ. ไปใช้จะได้ดังนี้ 

  • ระดับบุคคล/ครอบครัว  ปศพพ. เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการประกอบอาชีพ ภายใต้เงื่อนไขแห่งการใช้ความรู้และคุณธรรม (๒ เงื่อนไข) และตัดสินใจด้วยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง
    • รอบรู้ รู้จักตนเอง/ครอบครัว รู้จักศักยภาพของตนเองและครอบครัว ... พอประมาณกับตนเอง
    • รอบคอบ...มีเหตุผลบนความถูกต้อง
    • ระมัดระวังต่อผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้น... การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเอง
  • ระดับชุมชน/สังคม  ปศพพ. คือหลักคิดและหลักปฏิบัติแห่งการอยู่ร่วมกันอย่าง "รู้ รัก สามัคคี" และมีความ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" อย่างต่อเนื่อง
    • รู้ คือ รู้จักจักชุมชน/สังคมของตนเอง เข้าใจ ใช้ความรู้ ใฝ่รู้ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ 
    • รัก คือ เข้าถึง รู้จริง จริงใจ หวังดี เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน รักและภูมิใจในท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของท้องถิ่น 
    • สามัคคี คือ ร่วมมือ ร่วมใจกัน (เน้นระบบสหกรณ์)
  • ระดับประเทศ ปศพพ. คือ หลักคิดและหลักปฏิบัติในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้เกิดความยั่งยืน สมดุลพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางวัตถุ/เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม 
    • วัตถุ/เศษฐกิจ -> ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พัฒนาประเทศให้มีระเศรษฐกิจพแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง"
    • สังคม -> สามัคคี ร่วมเย็น พออยู่ พอกิน เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน 
    • สิ่งแวดล้อม -> เห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
    • วัฒนธรรม -> เห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในวัฒนธรรม เกิดการรักษาและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ 
ว่าที่นายกแต่ละท่านที่สำคัญ ๆ

ลองอ่านประวัติหรือความคิดอ่านจากประวัติ/บทสัมภาษณ์ของผู้ถูกเสนอเชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคที่สำคัญ ๆ  ดังต่อไปนี้ พลเอกประยุทธ จันโอชา (ที่นี่) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ที่นี่) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ที่นี่) คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ที่นี่) และคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ที่นี่)  แต่ละท่านมีลักษณะเด่น ๆ 
  • พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 
    • เป็นคนตั้งใจเรียน มีระเบียบวินัยสูงตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียน ขยันอ่านหนังสือ(เรียน) เป็นคนสม่ำเสมอ 
    • อยากเป็นทหารบกเหมือนพ่อตั้งแต่ยังเด็ก 
    • จงรักภักดี มีวินัยสูง 
    • ท่านบอกว่า จะนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา มาใช้ในการพัฒนาประเทศตามแผน ๒๐ 
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
    • อยากเป็นนักการเมืองตั้งแต่ตอนอายุเพียง ๙ ขวบ เพราะสะเทือนใจจากข่าว ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  เป็นลูกหมอ  ชอบติดตามข่าวสาร อ่านมาก 
    • เรียน จบ ป.ตรี ด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ป.โท เศรษฐศาสตร์ เป็นคนเรียนเก่งมาก
    • ท่านบอกว่า จะเน้นที่การพัฒนาคน ปฏิรูปการศึกษา พัฒนาอย่างยั่นยืน 
  • คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 
    • จบ ป.ตรี ด้านพาณิชย์ศาสตร์และบัญชี จบ.โท MBA จบ ป.เอก ด้านพระพุทธศาสนา เป็นลูกสาวคนเดียว ทำธุรกิจเกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณสื่อสาร 
    • ทำงานการเมืองมายาวนาน หลากหลายตำแหน่ง เริ่มตั้งแต่การเข้าพรรคพลังธรรม โดย พล.ตรี จำลอง ศรีเมือง 
    • ท่านเน้นว่าประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นไปทาง "กระเป๋าตุง"
  • คุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ 
    • เรียนเก่งมาก จบ ป.ตรี  ป.โท ป.เอก วิศวกรรมโยธา เรียนเก่งมาก ๆ (ดูที่นี่) เชี่ยวชาญเรื่องการคมนาคม ขนส่ง ลอจีสติก  และเศรษฐกิจ
    • เป็นนักอ่าน โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ความก้าวหน้า
    • เป็นนักธุรกิจ เคยเป็นอาจารย์ 
    • ท่านเน้นเรื่อง Sense of urgency จะปฏิรูปการทำงานของระบบราชการ 
  • คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
    • เรียนจบ ป.ตรี ป.โท วิศวกรรม (แบบแทบไม่ได้เข้าเรียน) เป็นลูกเศรษฐีที่มีจิตใจอยากจะทำงาน NGO 
    • เป็นนักกิจกรรม เป็นอุปนายกนักศึกษาที่ ม.ธรรมศาสตร์ และเคยไปลุยต่อสู้กับม๊อบคนจนต่าง ๆ
    • เป็นนักอ่านหนังสือ อ่านมาก ก่อนจะมาทำธุรกิจด้วยความจำเป็น ได้ศึกษาและศรัทธางานของมาร์กซิส เลนิน งานฝ่ายซ้ายจัด 
    • ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอาไหล่รถจักรยนต์ รถยนต์ 
    • เน้นเรื่องประชาธิปไตยและการสร้างรายได้ในระบบทุนนิยมโลก
วิเคราะห์ความเข้าใจของนายกแต่ละท่าน

หลังจากอ่านศึกษาอยู่หลายชั่วโมง ผมสรุปว่า ไม่มีใครเลยที่ "อิน" และศรัทธา หรือเข้าใจในเจตนารมณ์การเกิดมาของ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ตามความหมายที่ผมกำหนดกรอบไว้เบื้องต้น  แม้แต่พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นเพียงท่านเดียวใน ๕ ท่านนี้ ที่พูดถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ว่า จะพัฒนาประเทศโดยนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนา แต่อ่านดูแล้วท่านเองก็คงจนปัญญากับการทำให้ประเทศไทยหนีจากกระแส "ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี" ของโลก กลับมาสู่ "ระบบเศรษฐกิจำพอเพียง" ตามพระราชดำริของในหลวง ร.๙ ได้.... 

....อืม...... ท่านว่าไงครับ

หมายเลขบันทึก: 659975เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2019 02:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2019 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ เพราะถ้าเข้าใจหลักปศพพ.จริง รัฐบาลก็คงไม่ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงขนาดนี้ (แถมกู้เขามาอีกต่างหาก)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท