ประภาภัทร นิยม สถาปนิกการศึกษาเพื่อสันติภาพ


วิจารณ์ พานิช

................

       การศึกษาหรือการเรียนรู้เป็นศักยภาพพิเศษของมนุษย์    และด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้เอง มนุษย์จึงประกอบสร้าง “ระบบการศึกษา” ขึ้นมา เป็นเครื่องมือสร้าง “ทรัพยากรมนุษย์” ของประเทศ และของโลก    

                  มนุษย์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในเรื่องการเรียนรู้     นำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากมาย    ก่อความสะดวกสบายแก่มนุษย์อย่างก้าวกระโดด   ยิ่งนับวัน การสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็ยิ่งพัฒนาเร็วขึ้น ก้าวหน้ายิ่งขึ้น    จนเกิดปรากฏการณ์ disruption ในหลากหลายมิติของสังคม  

                 เหยื่อของ disruption อย่างหนึ่งคือ ระบบการศึกษาเอง    ระบบการศึกษาของประเทศค่อนโลกล้าหลัง ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม    ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบการศึกษาล้าหลัง

                 ความอ่อนล้าของระบบการศึกษาไทย เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด “นวัตกร” หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย     และ รศ. ประภาภัทร นิยม เป็นหนึ่งในแกนนำการเปลี่ยนแปลงนั้น    ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดเวลา ๒๒ ปี    เปลี่ยนทั้งเป้าหมายและวิธีการจัดการเรียนรู้    ดำเนินการในทุกระดับการศึกษา คือตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก จนถึงระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัย    ด้วยการก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์

                 ลักษณะจำเพาะของการจัดการสถาบันทั้งสองคือ เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ตามด้วยโยนิโสมนสิการ (critical reflection) ทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง  คือรู้ลึกและกว้างในเวลาเดียวกัน    รวมทั้งเกิดการเรียนรู้องค์รวม (holistic)    ซึ่งเป็นลักษณะของการศึกษาแนวพุทธ    และสอดคล้องกับการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่ต้องพัฒนาสามด้านไปพร้อมๆ กันคือ จิตใจ (heart)  ทักษะ (hand)  และความรู้ (head)

                ผมตีความว่า ท่านอาจารย์ประภาภัทร ก่อตั้งสถาบันทั้งสองขึ้นเป็นสถาบันเล็กๆ เพื่อทำงานใหญ่    คือเพื่อใช้ขับเคลื่อนภาพใหญ่ของระบบการศึกษาไทย และขณะนี้ได้เข้าไปร่วมขบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาโลกด้วย    จากจุดแข็งของ “ไตรสิกขา” แนวพุทธ    

                 “การเรียนรู้ที่แท้” นำไปสู่สันติภาพ อิสรภาพ และภราดรภาพ   จึงเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) มอบรางวัล การส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๑   แก่ รศ. ประภาภัทร นิยม ในครั้งนี้    

                 ผมขอแสดงมุทิตาจิต ต่อ รศ. ประภาภัทร นิยม สถาปนิกการศึกษาเพื่อสันติภาพ ในโอกาสที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ในครั้งนี้    ขอให้ท่านมีกำลังใจ กำลังกาย กำลังสติปัญญา ทำงานให้แก่วงการศึกษา เกิดผลดียิ่งๆ ขึ้นไป   ตามปณิธานของท่าน

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มกราคม ๒๕๖๒  

หมายเลขบันทึก: 659970เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2019 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2019 07:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Congratulations to อาจารย์ประภาภัทร นิยม.

อนุโมทนา.

“…การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยโยนิโสมนสิการ (critical reflection) ทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง คือรู้ลึกและกว้างในเวลาเดียวกัน รวมทั้งเกิดการเรียนรู้องค์รวม (holistic) ซึ่งเป็นลักษณะของการศึกษาแนวพุทธ และสอดคล้องกับการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่ต้องพัฒนาสามด้านไปพร้อมๆ กันคือ จิตใจ (heart) ทักษะ (hand) และความรู้ (head) …” จากจุดแข็งของ “ไตรสิกขา” แนวพุทธ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท