๗๖๑. บทเรียนการทำนา..ปี ๒๕๖๑


จริงๆแล้ว..การทำนาในเดือนไหน จะขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศ ซึ่งแต่ละปีจะมีฝนตกไม่สม่ำเสมอและมีช่วงเวลาที่คลาดเคลื่อน..การที่ฝนมาช้ามาเร็วนั่นแหละ จะเป็นข้อมูลของการตัดสินใจของชาวนา..

        ที่โรงเรียนมีพื้นที่มากมายและเหมาะสมที่จะทำเกษตรอินทรีย์ ผมเองก็ได้ใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าและสมประโยชน์ ทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ทำเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในบ้านเล็กแบบผสมผสาน บูรณาการให้เข้ากับการเรียนการสอน..

    กิจกรรมที่ลงท้ายด้วยสระอา..ดูเหมือนว่าจะทำได้ต่อเนื่องและได้ผลดี ทั้งการปลูกงา ทำนาและเลี้ยงปลา ยังคงดำเนินการต่อไป.

        วันนี้..การทำนาประจำปีการศึกษา ๒๕๖๑ เดินทางมาถึงวันสุดท้ายแล้ว นักเรียนช่วยกัน “นวดข้าว” ให้เป็นข้าวเปลือกเก็บไว้ในกระสอบ เพื่อสีเป็นข้าวสารต่อไป..

        เดิมทีเดียวการทำนาจะ “ดำนาวันพ่อและเก็บเกี่ยววันแม่” ต่อมาไม่สามารถทำได้ในวันดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลายประการที่ต้องดูจังหวะเวลาและโอกาส

        ปราชญ์ชาวบ้านแนะนำให้ดูผู้คนในชุมชนเป็นหลัก โรงเรียนควรทำไปพร้อมๆกันกับชุมชน ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเพลี้ยกระโดดจะได้ไม่มารบกวน..

        ผมก็เลยสงสัยว่า..เกี่ยวข้องอย่างไรกับเพลี้ยวกระโดด เขาก็เลยบอกพอให้ขำๆว่า..เพลี้ยจะงุนงง ไม่รู้ว่าจะลงที่แปลงนาไหนดี..เพราะปลูกพร้อมกันหมด..

        จริงๆแล้ว..การทำนาในเดือนไหน จะขึ้นอยู่กับลมฟ้าอากาศ ซึ่งแต่ละปีจะมีฝนตกไม่สม่ำเสมอและมีช่วงเวลาที่คลาดเคลื่อน..การที่ฝนมาช้ามาเร็วนั่นแหละ จะเป็นข้อมูลของการตัดสินใจของชาวนา..

        ในช่วงฤดูน้ำหลากก็สำคัญ..ถ้าน้ำมามากไหลหลากรุนแรง ก็ไม่ควรทำนา จะพาเมล็ดข้าวและต้นกล้าไหลไปกับน้ำหมด ต้องรอให้น้ำลดเสียก่อน นี่คือ..ท้องถิ่นเลาขวัญบ้านผมที่ทำนาได้ปีละครั้ง
        ผม นักเรียน และผู้ปกครองช่วยกันดำนา เมื่อเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ซึ่งรวงข้าวก็แก่เต็มที่ไม่มีอะไรเสียหาย..

        ข้าวออกรวงดีแต่ไม่สวยเหมือนปีก่อน..อันเนื่องมาจากต้นข้าวถี่ห่างไม่เท่ากัน ตอนดำนามีผู้ปกครองบางคนดำนาแบบรีบเร่ง ไม่เหมือนนักเรียน ป.๖ ที่ได้รับคำชื่นชมว่าดำนาได้เรียบร้อยสวยงาม ดำถี่และเป็นระเบียบ..

        วันนั้น..ทำให้ได้บทเรียนความรู้ว่าพันธุ์ข้าวไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นต้นกล้าแล้วนำไปดำในนา ความถี่ความห่างก็มีผลต่อการออกรวงและผลิตผลที่จะได้รับ..

        ปีหน้าฟ้าใหม่ยังจะต้องปรับแต่งผืนนาเวลาไถ เพราะด้านทิศเหนือของแปลงมองดูแล้วเป็นที่ดอน น้ำที่วิดเข้านามักจะไหลมาไม่ถึงอยู่เสมอ

        อย่างไรก็ตาม..ยังคงไม่ใช้ปุ๋ยเคมีอยู่เช่นเดิม ปุ๋ยน้ำที่ใช้จะใส่เป็นช่วงๆ เป็นน้ำหมักชีวภาพที่โรงเรียนทำเองใช้เอง..ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาดินให้สมบูรณ์

        วันนี้..ถึงช่วงเวลานวดข้าว หลังจากเก็บเข้ายุ้งฉางมาเกือบเดือน พบปัญหาและอุปสรรค อันเนื่องมาจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้นวดข้าวชำรุดและสูญหาย

        จริงๆแล้วจะเรียกว่านวดข้าวคงไม่ถูกนัก ต้องบอกว่าฟาดข้าวจะดีกว่า โดยใช้ไม้สองอันผูกเชือกสั้นๆที่ปลายไม้แล้วนำไปพันที่มัดข้าว บิดเป็นเกลียวแล้วยกขึ้นฟาดกับพื้น ข้าวเปลือกจะร่วงหลุดกระจายออกมา

        เมื่อไม่มีอุปกรณ์..ผมก็บอกให้นักเรียนแก้ปัญหา ตกลงกันว่าจะใช้ไม้ไผ่ฟาดข้าว โดยให้นักเรียนสองคนจับหัวจับท้ายของกำข้าว จากนั้นก็ให้เพื่อนนำไม้มาฟาดแบบนวดไปนวดมา ข้างเปลือกก็จะร่วงออกมาเหมือนกัน

        ปัญหามีบ้างเล็กน้อย ตอนที่เกี่ยวข้าวแล้วตากข้าวไว้ที่นานั้น ไม่ได้ผูกมัดกำข้าว เมื่อหอบมากองในยุ้งฉางรวงข้าวจะถูกสุมไว้แบบไร้ทิศทาง เมื่อจับมาฟาดจึงค่อนข้างยาก ต้องจัดระเบียบอยู่นานพอสมควร..

        ผมรู้สึกขอบคุณในความสามารถและความพยายามของเด็ก ป.๖ รุ่นนี้ ที่ร่วมแรงร่วมใจและใช้พลังปัญญาและประสบการณ์ ทำงานและแก้ปัญหาจนสำเร็จ เป็นข้าวเปลือก ๑ กระสอบปุ๋ย หรือประมาณ ๒๐ กก. ซึ่งก็ถือว่ามากและได้ตามความคาดหมาย

        พบกันใหม่..ในปีการศึกษา ๒๕๖๒

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๗  ธันวาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658971เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2018 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2018 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท