เยือนวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ครั้งที่สอง



            ดร. ยิ่งยง เทาประเสริฐ แจ้งจองวันไว้นานมาก ให้ผมไปบรรยายที่ วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑  

เป็นการไปเยี่ยมวิทยาลัยแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง    หลังจากผมไปเยือนเมื่อ ๗ ปีครึ่งที่ผ่านมา และบันทึกความประทับใจไว้ที่ (๑)    ท่านที่สนใจกิจการของวิทยาลัยฯ ในปัจจุบัน เข้าชมเว็บไซต์ได้ที่ (๒) 

 เมื่อท่านคณบดีท่านปัจจุบัน อ. ดร. กันยานุช เทาประเสริฐ ส่งจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการ    จึงทราบว่าเป็นการเชิญไปร่วมพิธีทำบุญสถาบันและไหว้ครูแพทย์แผนไทย    รวมทั้งเชิญเป็นองค์ปาฐกเรื่อง “บทบาทของแพทย์แผนไทยในการรับใช้สังคมผู้สูงอายุ” แก่นักศึกษาแพทย์แผนไทยบัณฑิต และแพทย์แผนไทยวิชาชีพ เป็นเวลา ๑ ชั่วโมงในตอนบ่าย  

ท่านที่สนใจ ฟัง narrated ppt ของการบรรยายได้ที่ part 1, part 2 

เครื่องบินไปถึงสนามบินเชียงรายเวลา ๑๑.๒๐ น.   และไปถึงวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เวลาราวๆ ๑๑.๔๕ น.   ดร. ยิ่งยง เทาประเสริฐ ซึ่งขณะนี้เป็นที่ปรึกษาของวิทยาลัย    ทำหน้าที่คิดสร้างสรรค์ไปข้างหน้า    กำลังนำทีมจากสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย (อุปนายกสภา ๒ ท่าน)  และคุณไพศาล เวชพงศา (เจ้าของบริษัทเวชพงศ์) กับเจ้าของบริษัทขาวลออเภสัช เดินชมกิจการของวิทยาลัย    ผมจึงเข้าขบวนชมกิจการด้วย     โดยผมเริ่มชมตอนท้ายๆ ของคณะแล้ว     เป็นช่วงชมห้องแล็บผลิตยา ที่มีเครื่องมือทันสมัย     เจ้าของบริษัทยาสมุนไพรทั้งสองบอกว่าบริษัทไม่มี  เพราะต้องลงทุนมาก    เครื่องมือนี้มีทั้งสำหรับผลิต และสำหรับตรวจสอบคุณภาพ    เป้าหมายหลักของการมีเครื่องมือคือเพื่อการฝึกนักศึกษา     เป้าหมายด้านอุตสาหกรรมเป็นรอง        

 แล้วไปชมโรงงานสาธิตอุตสาหกรรมยาสมุนไพร    ที่มีเครื่องมือทันสมัยพรักพร้อม    ทั้งหมดนั้นเป้าหมายหลักที่นักศึกษา ได้ฝึกการผลิตยาสมุนไพรคุณภาพมาตรฐาน    ทางวิทยาลัยได้ทำประโยชน์แก่อุตสาหกรรมยาสมุนไพรของประเทศ    และได้ผลิตยาส่งให้แก่คลินิกแพทย์แผนไทยของ อบต. ในพื้นที่  

ที่จริง supply chain สำคัญของยาสมุนไพรคุณภาพมาตฐานเริ่มจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ    เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างเป็นระบบ    ที่วิทยาลัยฯ ต้องซื้อวัตถุดิบบางอย่างจากต่างประเทศ เช่น เมล็ดกระเบาซื้อจากเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา    เป็นวัตถุดิบคุณภาพสูง    นำมาใช้ผลิตยาทาแก้โรคสะเก็ดเงิน    เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของวิทยาลัยฯ  

จากนั้น เราไปชมศูนย์ข้อมูลสมุนไพรลุ่มน้ำโขง    ข้างในมี herbarium ที่มีทั้งภาพ  ของแห้ง  และของดอง    ที่น่าสนใจคือวิธีดองสมุนไพรในขวดโหล ที่เอาเทคนิคมาจากจีน   ที่มีการชะเอาคลอโรฟีลออกไปหมด และย้อมสีให้กลับเป็นสีเขียวดังเดิม  ให้อยู่ทนได้เป็นปี   ในลักษณะเหมือนของสด    ใน herbarium มีชุดตรวจสอบสายพันธุ์สมุนไพรโดยเทคนิค TLC Fingerprint   

มีเครือข่ายแหล่งเรียนรู้สมุนไพรในประเทศ และต่างประเทศ    มีแหล่งศึกษารวบรวมสมุนไพรพื้นบ้านลุ่มน้ำโขง  มีสมุนไพร ๑,๓๐๐ ชนิด   เป็นสมุนไพรไทย ๘๒๗ ชนิด,  สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา ๕๑๑ ชนิด, สมุนไพรไตลื้อ สิบสองปันนา ๔๐๕ ชนิด,  ไทใหญ่ ๒๘๙,  ม้ง ๒๖๖,  ลาหู่ ๒๖๕,  อาข่า ๒๑๘,  เมี่ยน ๑๙๗   มีโครงการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรใกล้มือ เพื่อการยังชีพและส่งเสริมรายได้ของปัจฉิมวัย   

หลังอาหาร เป็นการบรรยาย ๑ ชั่วโมง     แล้ว ดร. ยิ่งยง พาผมไปชมสถานที่ต่อ    เริ่มจากห้องแสดงผลงานวิจัยรวบรวมองค์ความรู้เรื่องการแพทย์พื้นบ้านล้านนา เมื่อกว่ายี่สิบปีก่อน ด้วยทุน สกว.    มีการจัดประชุมวิชาการระดับภูมิภาคหลายครั้ง     อีกด้านหนึ่งแสดงหลักสูตรการแพทย์แผนไทย      ที่เตะตาที่สุดคือ แผ่นหินอ่อนศักดิ์สิทธิ์มีลายเซ็นของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ชื่นชมความมหัศจรรย์ บุกเบิกการผลิตบัณฑิตแพทย์แผนไทยแห่งแรกของประเทศ     ให้ไว้เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕  ซึ่งเป็นวันครบการสถาปนาวิทยาลัยครบ ๑ ปี       

ตามด้วยการเยี่ยมชมคลินิกแพทย์แผนไทย STAM 2002    ที่มีผู้ป่วยมารับการรักษาวันละ ๕๐ - ๖๐ คน     แต่ตอนบ่ายไม่มีผู้ป่วยแล้ว     สถานที่สะอาดกว้างขวาง    ติดเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย     

เราเดินสู่อาคารใหม่โอ่อ่า ๔ ชั้น ติดป้ายชื่อว่า โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ  ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า โฮงยาผู้สูงอายุ     เราขึ้นลิฟท์ไปชมหอผู้ป่วยใน    สำหรับรับผู้ป่วยอาสาสมัครที่จะไปทดลองผลการรักษา     มีทั้งหมด ๑๐ ห้อง     อาคารนี้สร้างด้วยเงินรายได้ของวิทยาลัยเอง รวม ๓๐ ล้านบาท    ได้รับงบประมาณแผ่นดินค่าเฟอร์นิเจอร์และครุภัณฑ์    ที่ชั้นล่างมีรำตู้แอมบูล้านซ์จอดอยู่ ๑ คัน    สำหรับรับผู้ป่วยอาสาสมัครมาโรงพยาบาล

สะท้อนภาพว่า คำแนะนำที่ผมเสนอในการบรรยายนั้น ทางวิทยาลัยทำมากกว่า     คือเน้นการสร้างข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการบำบัดด้วยวิธีการแผนไทยได้ผลจริงหรือไม่    รวมทั้งใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการผลิตยาสมุนไพรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน   

ทางวิทยาลัยเขาเกรงใจผม จึงซื้อตั๋วเครื่องบินเที่ยวสาย    ทำให้ผมพลาดโอกาสร่วมพิธีในตอนเช้า    ซึ่งเป็นพิธีไหว้ครูแพทย์แผนไทย     

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๖๑


Alter medpart1 n from Pattie KB

Alter medpart2 n from Pattie KB


1 ดร. ยิ่งยง เทาประเสริฐ คณบดีผู้ก่อตั้งวิทยาลัย

2 คณบดีผู้ก่อตั้ง กับคณบดีปัจจุบัน ดร. กันยารัตน์ เทาประเสริฐ

3 หลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต เรียนครบ ๔ สาขา

4 ปรัชญาของหลักสูตร และการกระจายที่ทำงานของบัณฑิต

5 แผ่นหินอ่อนศักดิ์สิทธิ์มีลายเซ็นของ ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว

6 เครื่องระเหยไอน้ำสูญญากาศ

7 เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย

8 ภายในโรงงานอุตสาหกรรมยาไทย

9 โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย และศูนย์การแพทย์ผู้สูงอายุ

10 ผู้ฟังการบรรยาย

หมายเลขบันทึก: 658851เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2018 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2018 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท