๓๑. ป้ายมงคล...


“ณ ที่นี่แห่งนี้ คือ “บ้านพ่อ” ณ ที่นี่เป็นแหล่งก่อ “การศึกษา” ณ ที่นี่เป็นจุดเริ่ม “การพัฒนา” เกิดเป็น “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาบ้านหนองผือ”

       ผมเสร็จสิ้นภารกิจ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง..เป็นที่เรียบร้อย..ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ ๙ ตามรอยพ่อ” ในศูนย์เรียนรู้โครงการพระราชดำริเขาหินซ้อน..

    ความรู้ความเข้าใจที่ได้รับเพิ่มเติมเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..เป็นเรื่องของทางสายกลาง..ความสมดุล พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง..

        นอกเหนือจาก..ความพอประมาณ ความมีเหตุผลและมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานของความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

        ในส่วนที่สำคัญ..”คุณธรรม”ต้องเดินควบคุ่ไปกับความรู้และทักษะชีวิต ส่วนที่จะปลูกฝังหรือใช้คุณธรรมจริยธรรมกันอย่างไร..ก็คงต้องใช้ “เครื่องมือ”และหัวใจ ที่จะใส่ใจให้ความตระหนัก..ในชีวิตประจำวัน

        ผมปลูกฝังให้นักเรียนทุกวัน บูรณาการผ่านการเรียนการสอน “คุณธรรม”ในศาสตร์ของพระราชา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..จึงต้องมีการปฏิบัติจริง และผมจะกระตุ้นเตือนให้สัมผัสจับต้องได้ให้เป็นที่คุ้นตามากที่สุด...

        ประสบการณ์ที่เคยทำ..นำพาให้ต้นไม้พูดได้ พูดภาษาธรรมเพื่อสอนใจ ในระยะหลัง ผมสงสารต้นไม้ จึงใช้วิธีทำป้ายและจัดวางให้เด่นเป็นสง่า..ณ สถานที่ที่เหมาะสม..

        เด็กอ่านเด็กรู้ เด็กดูจนชินตา ผมคิดว่าความคุ้นเคยเป็นสิ่งที่จำเป็น ให้เด็กจำได้ก่อนและค่อยคิดได้ขยายความ..เข้าถึงนิยามและความหมาย..เมื่อเขาเติบโตขึ้น..

        คุณธรรมความรู้..สู่ความพอเพียง ในบ้านเล็กในป่าใหญ่ของผม นับวันจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยถ้อยคำสำคัญ..บนแผ่นไม้ เป็นปีกไม้ที่ผู้ปกครองมอบให้..

        ผมขยันค้นและขยันเขียนอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา..กาลเวลาผ่านไป ปีกไม้เริ่มผุพัง แต่คำสอนของพ่อยังคงอยู่ “คุณธรรม”ยังเป็นที่รู้ว่าจะต้องรณรงค์ส่งเสริมให้ตระหนักกันต่อไป..

        ผมเดินเข้าไปที่ป้าย...๙ ตามรอยพ่อ แล้วก็ก้าวต่อไปยังนิทรรศการ “วันดินโลก” ๕ ธันวาคม..ผมเห็นป้ายมากมาย..ถ้อยคำโดนใจ ล้วนให้แง่คิดที่งดงาม ปรากฏอยู่ตามแผ่นป้ายหลากหลายขนาด

        แผ่นป้ายสีแดงขนาดใหญ่ ใต้ต้นไม้และรายล้อมด้วยไม้ดอกไม้ประดับ ส่งให้ป้ายและตัวอักษรโดดเด่นน่าอ่านน่ามอง ผมลองเดินเข้าไปดูใกล้ๆ เพื่อจะได้อ่านข้อความได้อย่างถนัดตา..

        “ณ ที่นี่แห่งนี้ คือ “บ้านพ่อ” ณ ที่นี่เป็นแหล่งก่อ “การศึกษา” ณ ที่นี่เป็นจุดเริ่ม “การพัฒนา”  เกิดเป็น “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน“จวบทุกวัน”

        ทำให้ผมคิดถึงโรงเรียนและคิดถึงปีกไม้ของผม แม้ไม่ใหญ่เท่านี้..แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างของโรงเรียน ตั้งแต่มีการพัฒนาตามปรัชญาของศรษฐกิจพอเพียง..

        เมื่อหลอมรวมความคิดบนปีกไม้ทั้งหมด คงเหลือเพียงถ้อยคำสำคัญสั้นๆ บนแผ่นไม้สีแดงแผ่นใหญ่นี้ ที่ผมถือว่าเป็น “บิดาของป้ายไม้”ของผม เป็นป้ายมงคลที่ผมจะต้องนำไปประยุกต์ใช้ที่โรงเรียน..

        เพราะบ้านหนองผือที่ผมอยู่..มีบางส่วนที่ผมได้สานต่องานของพ่อ ให้เกิดก่องานงานการศึกษาที่แข็งแกร่ง..โดยมีป้ายมงคลชี้นำทาง สร้างทางสว่างแก่ชีวิต..

        ผมจึงคิดที่จะเขียนป้ายอีกสักแผ่น เป็นที่ระลึกของการ “๙ ตามรอยพ่อ” ขอปรับเปลี่ยนข้อความสักนิด..ที่ไม่ผิดไปจากหลักการ..

        “ณ ที่นี่แห่งนี้ คือ “บ้านพ่อ” ณ ที่นี่เป็นแหล่งก่อ “การศึกษา” ณ ที่นี่เป็นจุดเริ่ม “การพัฒนา”  เกิดเป็น “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาบ้านหนองผือ”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๓  ธันวาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658712เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2018 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2018 22:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท