๒๙. เขาหินซ้อน..ท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้โครงการพระราชดำริ


โครงการที่ โครงการที่ผมคุ้นชื่อมาก ปรากฏอยู่ตรงหน้า “ศูนย์ศึกษาฯเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพัฒนา..ผมไม่ทราบว่าพัฒนาอะไร? แต่ผมจะไปเรียนรู้ เพราะเป็นโครงการพระราชดำริของพ่อหลวง.

          ผมตั้งใจไว้ว่า..ในแต่ละปีผมจะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ให้ได้ปีละ ๓ – ๕ โครงการฯ

      ปี ๒๕๖๑..กำลังจะหมดไป ผมเพิ่งไปได้เพียง ๓ แห่ง โดยใช้ช่วงวันหยุดยาว แบบหยุดติดต่อกันสามวันและในช่วงปิดภาคเรียน...

          วันหยุดที่ผ่านมา ผมคิดถึงโครงการพระราชดำริอ่าวคุ้งกระเบน ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นโครงการในฝันมานานมาก แต่คิดว่าถ้าไปแล้วต้องรีบกลับมาทำธุระที่กรุงเทพ..อย่าไปเลยดีกว่า..จึงหาโครงการฯที่ใกล้บ้านมากที่สุด

          ผมรีบหาข้อมูล “โครงการพระราชดำริ”ในกูเกิล เพียง ๑๐ วินาที ผมก็ได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ แต่ก็รู้สึกแปลกมากมาย เพราะข้อมูลที่ได้เคยอยู่ในใจผมมาพักใหญ่..แต่หายไปเพราะ..ผมมัวแต่คิดถึง..อ่าวคุ้งกระเบน..

          โครงการที่ผมคุ้นชื่อมาก ปรากฏอยู่ตรงหน้า “ศูนย์ศึกษาฯเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพัฒนา..ผมไม่ทราบว่าพัฒนาอะไร? แต่ผมจะไปเรียนรู้ เพราะเป็นโครงการพระราชดำริของพ่อหลวง.

          ก่อนเดินทาง..ผมศึกษาเรื่องราว “เขาหินซ้อน” ในเบื้องต้น เพื่อให้เห็นภาพรวม ก่อนไปสัมผัสบรรยากาศจริงๆ ยิ่งอ่านความเป็นมาเป็นไป ก็ยิ่งจะทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพ่อ..ที่ทรงงานหนักมาโดยตลอด..

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับการสภาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522  ณ ที่นั้น ราษฎร 7 ราย ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหมู่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ เพื่อต้องการให้สร้างพระตำหนัก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่ไหนก็พยายามที่จะพัฒนาทำให้ที่ดินเจริญขึ้น

          พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างการพังทลายของดินสูง ดินรองรับน้ำได้เพียง 30 มิลลิเมตร มีการปลูกพืชชนิดเดียว (มันสำปะหลัง) ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ผลผลิตพืชที่ได้รับจึงต่ำมาก..

          แต่ในวันที่ผมเดินทางเข้าไปในโครงการฯ สภาพพื้นที่แห้งแล้งเสื่อมโทรมและเวิ้งว้าง ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว สิ่งที่เห็นชัดเจนตรงหน้าและประทับใจคือผืนป่ากว้างใหญ่และแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์

          สิ่งที่ผมประทับใจเป็นที่สุด ณ เขาหินซ้อน..ก็คือทุกจุดที่มีให้ชมและศึกษากว่า ๒๐ จุด..ผมไม่ต้องเดินและไม่ต้องนั่งเป็นหมู่คณะในรถของโครงการฯ แต่ผมใช้รถยนต์ส่วนตัว..ขับช้าๆไปบนถนนที่สะอาดสวยงาม เลาะเลี้ยวลอดอุโมงค์ต้นไม้ แวะชมกิจกรรมและธรรมชาติ ที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด อาทิ..

        แหล่งสาธิตและส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเกษตรผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้เกษตรกรเกิดความพออยู่พอกินและพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตร

          แหล่งศึกษาทดสอบพันธุ์พืช พันธุ์ข้าว การปลูกผักอนามัย การเพาะเห็ด เทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว

        แหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ผล ผลิตต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น ผลิตกล้าไม้สำรอง ผลิตพันธุ์ผักและสมุนไพร ดูแลรักษาแปลงแม่พันธุ์ ดูแลแปลงเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งผลิตไม้ผลพันธุ์ดี เพื่อแจกจ่ายหรือเปลี่ยนพันธุ์ให้แก่เกษตรกรให้นำไปปลูกในพื้นที่

          ศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ โดยจัดส่งนักวิชาการเยี่ยมเยียนเกษตรกรให้คำแนะนำด้านการเลี้ยง การสุขาภิบาล การป้องกันโรค การผลิตอาหารสัตว์

          พระตำหนักสามจั่ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างบ้านพักรับรอง เป็นบ้านไม้สองชั้นมีใต้ถุนสูง ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง ให้ชื่อว่า “บ้านสามจั่ว”ก่อสร้างโดยบริษัทศรีมหาราชาจำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2525

          ศาลาเทิดพระเกียรติ จังหวัดฉะเชิงเทราสร้างถวายเพื่อเป็นศาลาทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จศูนย์ฯ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 และพลับพลาพระราม ราษฎรชาวอำเภอพนมสารคามสร้างถวาย โดยการนำของนายวิเชียร ตันเจริญ เพื่อเป็นอาคารรับเสด็จฯ ทรงเรียกว่า “พลับพลาพระราม”

          ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพัฒนา (Development Tourism) ให้นักท่องเที่ยวและประชาชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้เข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

          ผมใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมง ท่องเที่ยวได้ครบทุกจุด และต้องยอมรับในความเป็น “เขาหินซ้อน” ในโครงการพระราชดำริ ที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาอย่างสมบูรณ์แบบ

          แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น..วันนี้..เรามีสถานที่ท่องเที่ยวอันทรงคุณค่า น่าเรียนรู้พันธุ์พืชและสัตว์ ได้ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิงประจักษ์อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เป็นเพียงเอกสารแต่เป็นผลงานจริงๆที่จับต้องได้ ..

          ผมรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระทัย..ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ..พระองค์ทรงงานที่ทำให้พสกนิกรมีความสุขตลอดมา ได้ศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ “พ่อ”สร้าง..ผมจึงขอบันทึกไว้ เพื่อสานต่อที่พ่อทำ..เดินตามรอยของพ่อ..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๑  ธันวาคม  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658673เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2018 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2018 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.ยักษ์ มีบทบาทอย่างยิ่ง ในยุคเริ่มต้นของศูนย์ฯ โดยเฉพาะที่เขาหินซ้อน…

2 ชั่วโมงกับการเก็บเกี่ยวชุดความรู้สู่พลังตัวเองยิ่งใหญ่มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท