ชีวิตที่พอเพียง 2324. การประชุมมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล



มูลนิธินี้ประชุมปีละสองครั้ง  ในเดือนมิถุนายน กับพฤศจิกายน    ซึ่งปีนี้ประชุมวันที่ ๒ พฤศจิกายน    วาระสำคัญๆ คืออนุมัติผลการคัดเลือกผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัล ประจำปี ๒๕๖๑   และอนุมัติผลการคัดเลือกผู้สมควรได้รับพระราชทานทุนเยาวชน จำนวน ๕ คน   

งานของมูลนิธินี้มี ๓ ด้าน  คือ (๑) การพระราชทานรางวัล  (๒) การประชุมวิชาการ  (๓) ทุนเยาวชน    ในการประชุมมูลนิธิแต่ละครั้งจะมีการรายงานกิจกรรมของคณะกรรมการดำเนินการของแต่ละด้าน    มีความก้าวหน้าอย่างน่าภูมิใจและชื่นใจ     

การประชุมวันนี้ (๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑) มี ๙ วาระใหญ่ๆ  แต่ละวาระมีวาระย่อย  จำนวนมาก รวมแล้วมี ๒๗ วาระ    อาจแบ่งวาระประชุมได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มด้านงานจัดการ    เช่นการประชาสัมพันธ์    เรื่องการขึ้นเงินเดือนพนักงาน    เรื่องการนัดแนะวันประชุม PMAC ไปจนถึงปี ๒๕๖๔   เป็นต้น    กับกลุ่มงานด้านวิชาการที่เป็นงานหลัก ๓ ด้านของมูลนิธิที่กล่าวแล้ว   

ในด้านการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๑    คณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ    ให้พระราชทานรางวัลด้านการแพทย์แก่ผู้มีผลงานเป็นผู้นำด้านโรคมะเร็ง ๒ ท่าน  คือศาสตราจารย์ Brian J. Druker, Oregon Health & Science University School of Medicine   จากผลงานด้าน targeted cancer therapy  พัฒนายาบำบัดมะเร็ง CML (chronic myeloid leukemia) ชื่อยา imatinib (Gleevec)    ทำให้ผู้เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่หายขาด และมีความยืนยาวของอายุขัยเหมือนคนปกติ    อีกท่านหนึ่งคือศาสตราจารย์ Mary-Claire King, University of Washington, Seattle   จากผลงานค้นพบยีนก่อมะเร็งเต้านม BRCA-1, BRCA-2    นำไปสู่ความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงด้านพันธุกรรมของมะเร็งเต้านมร้อยละ ๑๐ - ๑๕ ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนใดยีนหนึ่งของยีนทั้งสองนี้    หญิงที่มีการกลายพันธุ์ของยีนนี้โอกาสเป็นมะเร็งเต้านม (และมะเร็งชนิดอื่น) ตลอดช่วงอายุ (lifetine risk) เท่ากับร้อยละ ๘๐    นำไปสู่การตรวจคัดกรองเพื่อค้นพบตั้งแต่ระยะแรก    หรืออาจทำอย่างดาราภาพยนตร์ Angelina Jolie (1) ที่ตัดสินใจตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้าง    เพราะรู้ว่าได้รับยีน BRCA-1 ผิดปรกติจากแม่ ผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งรังไข่

รางวัลด้านสาธารณสุข พระราชทานแก่คู่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกัน ด้านการพัฒนาวัคซีนอหิวาต์ชนิดกิน ที่เรียกว่า OCV (oral cholera vaccine)    มีผลด้านการปกป้องชีวิตผู้คนจำนวนมากยามฉุกเฉิน ดังตัวอย่างในพื้นที่ประสบภัยจากเฮอริเคน แม็ทธิว ในประเทศแถบทะเลแคริบเบียน    กับในกลุ่มผู้ลี้ภัยโรฮิงยา เมื่อเร็วๆ นี้    ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้คนตกอยู่ในสภาพที่ระบบสุขาภิบาลไม่ดี    น้ำใช้ไม่สะอาด   ท่านแรกคือคือศาสตราจารย์ Jan Holmgren, นักอิมมูโนวิทยา และเป็น founding director, The University of Gothenburg Vaccine Research Institute เป็นผู้พัฒนา OCV ชนิดที่ใช้แพร่หลายในปัจจุบัน     ท่านที่สองคือศาสตราจารย์ John Clemens, Executive Director, ICDDR-B  เป็นนักระบาดวิทยาชาวอเมริกัน ที่ดำเนินการนำ OCV   ที่ท่านแรกพัฒนาขึ้นไปสู่การใช้ประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างแพร่หลาย     ที่จริงเรื่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์ OCV นี้  คณะกรรมการตัดสินรางวัลทั้งฝ่ายไทย  และนานาชาติจ้องจะให้รางวัลมาหลายปีแล้ว     ติดขัดอยู่สองประเด็น คือ (๑) ไม่เห็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก    และอหิวาต์ยังระบาดเท่าๆ เดิม   (๒) เกรงจะส่งสัญญาณผิด ว่าการแก้ปัญหาการระบาดของอหิวาต์ วิธีการหลักคือให้วัคซีน ซึ่งผิด    วิธีการการกวาดล้างอหิวาต์ที่ถูก ต้องทำโดยพัฒนาระบบสุขาภิบาล และสุขนิสัยของคน    ซึ่งประเทศไทยเราได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว    แต่บังคลาเทศยังมีปัญหาอยู่     สมเด็จพระเทพรัตน์ทรงเล่าการเสด็จบังคลาเทศ ไปเยือน ICDDR-B  และไปเห็นคนบังคลาเทศใช้มือหยิบอาหารเข้าปากโดยไม่ล้างมือก่อน   

พิธีประกาศรางวัลจัดไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ()  (๒.๑)

ทุนเยาวชนรุ่นที่ ๑๐ (ประจำปี ๒๕๖๑) ได้แก่ นศพ. จากจุฬา ๒ คน,  รามา ๑,  ศิริราช ๑,  ขอนแก่น ๑   และได้ประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน  ()  

ในฐานะประธานดูแลงานเชิงวิชาการทั้งสามด้าน    ผมมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำและส่งเสริมให้ผู้รับผิดชอบงานตัวจริงได้แสดงฝีมือความสามารถ    และเป็นผู้เสนอรายงานต่อที่ประชุม    ผมคอยเสริมประเด็นสำคัญบางประเด็นในที่ประชุมเท่านั้น    

เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง     โดยอาศัยพระบารมีของสมเด็จพระบรมมหาราชชนกในรัชกาลที่ ๙   ของสมเด็จองค์ประธานมูลนิธิ    และของพระราชจักรีวงศ์   

ผมบันทึกการประชุมมูลนิธิฯ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ ()          

วิจารณ์ พานิช

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658672เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2018 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2018 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท