การจัดกิจกรรมศิลปะการปั้นที่มีต่อทักษะการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย


บทที่ 1 บทนำ

หลักการและเหตุผล

     เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายจิตใจอารมณ์และสังคมเด็กในวัยนี้จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและสมองก็มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันหากสมองของเด็กได้รับการส่งเสริมให้มี การเรียนรู้อย่างเหมาะสมก็ จะมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์สิ่งที่สําคัญในการพัฒนาเด็กให้เติบโตและมีศักยภาพคือการส่งเสริมพัฒนาการด้านการคิด เด็กที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้านการคิดอย่างสมํ่าเสมอจะช่วยให้เด็กสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจําวันได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้บริบทของครู ผู้ปกครองหรือผู้มีความรู้คอยกระตุ้นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เด็กเกิดการคิดพิจารณาหาแนวทางและตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองและเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เด็กจะได้มีชีวิตอยู่รอดในสังคมได้อย่างมีความสุขความสามารถในการคิดจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์จะทําให้สามารถแก้ปัญหารวมทั้งสามาเลือกตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมและมีเหตุผลในยุคของข่าวสารเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วการปูพื้นฐานการคิดและส่งเสริมการคิดให้แก่เด็กและเยาวชนจงเป็นสิ่งที่มีความจําเป็นอย่างยิ่งการพัฒนาการคิดของเด็กตั้งแต่ยังเยาว์วัยจะช่วยพัฒนาความคิดให้ก้าวหน้าส่งผลให้มีสติปัญญาเฉียบแหลมเป็นคนรอบคอบตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจําวันได้ดีเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและสามารถดําเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นกําลังที่สําคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป (ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ. 2553: 4-5) 

     การคิดเชิงเหตุผล หมายถึง ความสามารถในการไตร่ตรองหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยใช้หลักการและข้อมูลที่ถูกต้องอันเป็นเหตุเป็นผลจากประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่มาเป็นฐานข้อมูลในการการคิดซึ่งมีความสำคัญต่อมนุษย์เป็นอย่างมากเพราะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นให้คนเราแสดงออกในสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ ดังนั้นควรจะปลูกฝังและฝึกฝนทักษะการคิดเชิงเหตุผลให้เด็กตั้งแต่เยาว์วัย ให้เด็กรู้จักเป็นคนช่างสังเกต ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง รู้จักคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เด็กได้เกิดทักษะกระบวนการของการคิดเชิงเหตุผลได้ต่อไปเมื่อโตขึ้น (ชนาธิป บุบผามาศ, 2553)

     ศิลปะการปั้นถือเป็นอีกศิลปะสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่เสริมพัฒนาการของเด็กและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ดีเสริมความกล้าแสดงออกให้เด็กได้อีกด้วยการปั้นเป็นงานศิลปะที่ง่ายมีเพียงดินปั้น และสองมือในการขยี้ขย้ำก้อนดินให้เป็นรูปทรง จึงไม่ต้องสิ้นเปลืองหาวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์มาก การปั้นสนุก สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการฝึกการใช้จินตนาการไปพร้อมกับการฝึกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมือ ซึ่งเหมือนกับการวาดรูป แต่การปั้นจะดีกว่าตรงที่สามารถทำเป็นรูปทรงออกมาเล่นได้จริง ต่างกับรูปวาดที่เป็นเพียง 2 มิติแบนๆ การปั้นสามารถสร้างสรรค์จินตนาการได้หลากหลาย สามารถสร้างเป็นรูปร่างและรูปทรงได้อย่างอิสระ ทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ (Mingkhuan Hansuwan. Online)

     ดังนั้นการปั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถส่งเสริมทักษะการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยเนื่องจากการปั้นนั้นต้องอาศัยการคิดที่หลากหลายเด็กสามารถปั้นสิ่งต่างๆตามความคิดและจินตนาการได้อย่างเต็มที่เมื่อเด็กได้ลงมือปฏิบัติ งานด้วยตนเองจะทําให้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานมี ความสนุกกับการเรียนรู้และมีประสบการณ์ที่ หลากหลายสิ่งที่เด็กปั้นนั้นจะเป็นสิ่งที่บอกถึงความคิดของเด็กนั่นเองครูมี บทบาทในการให้คําแนะนำกระตุ้นเด็กให้เกิดการเรียนรู้สื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กก็จะช่วยให้เด็กได้ฝึกการคิดมากยิ่งขึ้นดังนั้นกิจกรรมศิลปะการปั้นจึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย

สถานการณ์ปัจจุบัน

  ปัจจุบันการคิดนั้นเป็นกลไกที่ใช้ในการเรียนรู้และแยกแยะสิ่งที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการคิดจึงเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นต่อการเรียนรู้อนาคตและเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่ต้องส่งเสริมในเด็กไทย การคิดไม่ใช่พรสวรรค์สามารถฝึกฝนได้ การคิดเป็นกระบวนการของสมองโดยใช้ประสบการณ์มาสัมพันธ์กับสิ่งเร้าและสภาพแวดล้อมโดยการวิเคราะห์ เปรียบเทียบสังเคราะห์ และประเมินอย่างมีระบบและเหตุผล เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ถ้าการคิดเป็นการคิดถูกทาง คือมีเป้าหมายของการคิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของตัวผู้คิดและส่วนรวมแล้วก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งในส่วนของบุคคลและสังคม การคิดจึงเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้มีอยู่ในคุณลักษณะอันเป็นศักยภาพของเด็กไทยต่อไป (อุไร จักษ์ตรีมงคล, 2556)

เอกสารอ้างอิง

สุปราณี  งามหลอด. (2557). ผลของการจัดกิจกรรมศิลปะการปั้นที่มีต่อทักษะการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัย. (ปริญญานิพนธ์ มหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ)

สมคิด  ศรไชย. (2557). การคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์. (ปริญญานิพนธ์ มหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ)

พัชรี กัลยา. (2551). ความสามารถในการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเกมการศึกษามิติสัมพันธ์. (ปริญญานิพนธ์ มหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ)

ปริษา บุญมาศ. (2551). ทักษะการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์เน้นการผสมสี. (ปริญญานิพนธ์ มหาบัณฑิต,มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ)

เทวากร ต่างโอฐ และชาลิสา โพธิ์นิ่มแดง. (2560). ทักษะการคิดเชิงเหตุผลของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์เน้นการผสมสี. (วารสารศึกษาศาสตร์ ฉบับวิจัยบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

Mingkhuan Hansuwan. “ศิลปะการปั้น”.

จากเว็บไซด์ https://indystye.wordpress.com/ศิลปะการประดิษฐ์/. สืบค้นเมื่อ 07/11/2561

หมายเลขบันทึก: 658637เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2018 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ธันวาคม 2018 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท