มายาคติเรื่องมนุษย์ครองโลก



บทความเรื่อง Team Players : Microbial partnerships turn out to be more common and influential than scientists could have ever imagined (1)  ในวารสาร Scientific American ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑   เล่าเรื่องงานวิจัยเรื่องจุลชีพ ที่นักวิจัยลงเรือดำน้ำ ดิ่งลึกลงไปครึ่งไมล์    ไปเห็นและเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์ใต้ท้องทะเล   บริเวณที่มีช่องให้ก๊าซมีเธนผุดขึ้นมาจากชั้นหินด้านล่าง    เป็นอาหารให้แบกทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า ANME (Anaerobic Methanotrophs)   

แต่แบกทีเรียกลุ่มนี้อยู่ไม่ได้ในสภาพแวดล้อมนั้น    หากไม่มีแบกทีเรียอีกกลุ่มหนึ่งมาช่วยดึงอีเล็กตรอนที่เกิดขึ้นจากการแยกธาตุคาร์บอนกับไฮโดรเจนออกจากกัน    เรียกชื่อแบกทีเรียกลุ่มหลังว่า SRB (Sulfate-Reducing Bacteria)    ดึงเอาอีเล็กตรอนไปใช้ในปฏิกิริยาเปลี่ยน sulfate ไปเป็น sulfide   เขาพบว่าแบกทีเรียทั้งสองกลุ่มอยู่รวมกันเป็นกระจุกใหญ่ ใกล้ๆ ช่องผุดของก๊าซมีเธน     

เรื่องในบทความนี้ยาวมาก และมีรายละเอียดมาก    ความประทับใจที่ผม reflect ลงบันทึกนี้     ไม่ตรงกับชื่อเรื่อง  และไม่ตรงกับสาระในบทความ    ที่มุ่งบอกว่า จุลชีพมีการร่วมมือกันมากกว่าที่เราคิด    จุลชีพที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แปลกสำหรับเรานั้น    เขามีกลไกทางธรรมชาติอย่างง่าย เช่นมียีนไม่ครบสำหรับดำรงชีพอย่างโดดเดี่ยว    ต้องร่วมมือกับสิ่งมีชีวิตอื่น จึงจะดำรงอยู่ได้    กล่าวง่ายๆ ว่าชีวิตในโลกนี้ไม่ได้มีธรรมชาติสอดคล้องกับรูปแบบที่เราคุ้นเคยเสมอไป    ชีวิตในโลกมีความหลากหลายกว่าที่เราคิด    และกลไกชีวิตที่เรารู้แล้ว อาจเป็นเพียงส่วนน้อยของกลไกที่มีในโลก   

ทำให้ผมสะท้อนคิดกับตัวเองว่า    มนุษย์เรามักหลงตนว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ    เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาไกลที่สุด หรือเจริญที่สุด    แนวคิดเช่นนี้น่าจะเป็นมุมมองเพียงด้านเดียว    น่าจะมีมุมมองในมิติอื่น ที่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าจุลชีพ ที่เราคิดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำนั้น    ในมิติด้านวิวัฒนาการของโลก เขาอาจไปไกลกว่ามนุษย์ในด้านการสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่โลก    ทั้งในเชิงพิภพวิทยา (geology)   และในเชิงโลกของสิ่งมีชีวิต (biosphere)    เพียงแต่ว่าเขาไม่มีความรู้สึกนึกคิด (consciousness) อย่างเรา    แต่ผมก็เชื่อว่าเขาก็มีการรับรู้และการตอบสนองในรูปแบบของเขา    กล่าวใหม่ว่า เขามี “ภาษา” ของเขา ที่เราไม่รับรู้ 

 ในบทความบอกว่า ก๊าซ มีเธน ที่ผุดขึ้นจากรอยแยกของหินใต้มหาสมุทร มีสัดส่วนประมาณร้อยละ ๑๐ ของก๊าซ มีเธน ที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศของโลก    และผลของก๊าซ มีเธน ในการทำให้เกิดผลด้านเรือนกระจกรุนแรงมาก    คือในภูมิอาศโลกขณะนี้มีก๊าซ มีเธน เพียงร้อยละ ๐.๐๐๐๑๘   แต่ก๊าซ มีเธน มีส่วนทำให้เกิดผลด้านเรือนกระจกถึงร้อยละ ๒๐    การมีแบกทีเรีย ANME และ SRB ช่วยกันเปลี่ยน มีเธน ไปเป็น ซัลไฟด์  และไบคาร์บอเนต    จึงน่าจะมีส่วนลดภาวะเรือนกระจกลงได้

   ความคิดเรื่อง “จุลินทรีย์ครองโลก” ของผม ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ต.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 658632เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2018 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this pointer.

I read a book “Microbe power” by Brian J. Ford (1976 ed) and had been fascinated for over 30 years. I have since narrowed my interest to ‘roles of microbes in forest regeneration’. (I think microbes can be employed to help with re-fertilizing farmland by making available ‘minerals’ to lands, waters and plants – with various ‘fixing’ microbes: nitrogen fixers, potassium fixers, phosphorus…)

The basic idea is consistent with bio-fertilization (ปุ๋ยหมัก) and sustainable farming. Microbes can be a key factor in feeding the world in this century.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท