๘๓๙. ขาดทุนคือ..กำไร


" บางที..เราอาจจัดการศึกษาไปเพื่อเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต..เป็นผู้ซื้อสารพิษมาใส่ตัวมากกว่าที่จะคิดลงทุนลงแรง..เราสร้างวัฒนธรรมทางการศึกษาที่ผิดๆกันตั้งแต่ขั้นพื้นฐานนี้เลยใช่ไหม?"

        ภาพที่ติดตาตรึงใจผมมาก เมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่เรียนชั้นประถมฯ ผมคิดถึงวิชาเกษตรฯ ครูให้ผมปลูกผักบ่อยมาก และทุกครั้งที่ปลูกผมไม่เคยประสบความสำเร็จ..ทั้งในรูปทรงของแปลงและผลผลิต..

    ผมจะมองแปลงข้างๆของเพื่อนอย่างชื่นชมและ “ทึ่ง”มาก ตั้งคำถามอยู่เสมอว่า..ทำไมปลูกงามจัง (วะ) ตอนหลังๆก็ได้คำตอบ เพราะเพื่อนเป็นลูกของคนไทยเชื้อสายจีน มีทักษะในเรื่องของการปลูกผักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว..

        แต่ผมไม่เคยท้อ..ปลูกผักไม่งาม ก็ไม่เคยปฏิเสธการทานผัก ทานได้เกือบทุกชนิด ยิ่งเป็นผักปลอดสารพิษจะรีบคว้าก่อนเลย

        เคยคิดไว้ว่าสักวัน..ต้องเอาดีทางปลูกผักให้ได้ ไม่เห็นจะยาก พอเป็นครูในแถบอีสานใต้ ก็ไม่ค่อยจะได้ปลูกเพราะเป็นท้องถิ่นที่ประสบภัยแล้ง แต่ก็มีเวลาศึกษาดูงานแถบหัวไร่ปลายนา ที่ชาวบ้านชอบปลูกผักบริเวณใกล้ๆบ่อน้ำ

        พอย้ายมาภาคกลาง ได้เป็นครูและผู้บริหารหลายที่ ก็เพิ่งมาเริ่มต้นและผูกพันกับงาน “ปลูกผัก” ณ บ้านหนองผือแห่งนี้ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง...

        เรียนรู้และลองผิดลองถูก ถามเพื่อนถามผู้ปกครองมาโดยตลอด จนรู้สึกว่าลงตัวในการปฏิบัติและถอดบทเรียนในทุกเมื่อ..เพื่อการเรียนรู้

        ๑๐ ปีที่ผ่านมา..เป็นช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน..วิชาเกษตร มิได้หายไปไหน ก็แค่เป็นส่วนหนึ่งของสาระการงานฯ..จนรู้สึกว่าเกือบจะลางเลือน...ไปจากโรงเรียน

        เมื่อไม่มีครูเกษตร..และโรงเรียนไม่มีแหล่งน้ำ เราจะเห็นแปลงผักน้อยลงทุกที ยิ่งนโยบายฯการศึกษาหาความแน่นอนไม่ได้ ปรับเปลี่ยนกันรายวัน ความสำคัญของวิชาเกษตร..จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ..

        ไม่เหมือนกับกิจกรรมตามนโยบายฯ หรือการแข่งขันเพื่อช่วงชิง “เหรียญทอง” เพื่อความเป็นเลิศของครูและโรงเรียน..ที่พยายามปั้นให้เด็กเก่ง..แต่ผมกลับไม่แน่ใจว่าเด็กเก่งแล้ว จะรู้จัก “พอเพียง” หรือเปล่า จะพึ่งตนเองได้หรือไม่?

        บางที..เราอาจจัดการศึกษาไปเพื่อเป็นผู้บริโภคมากกว่าเป็นผู้ผลิต..เป็นผู้ซื้อสารพิษมาใส่ตัวมากกว่าที่จะคิดลงทุนลงแรง..เราสร้างวัฒนธรรมทางการศึกษาที่ผิดๆกันตั้งแต่ขั้นพื้นฐานนี้เลยใช่ไหม?

        วันนี้..ผมเตรียมเพาะเมล็ดผัก..เหมือนว่าได้เตรียมสื่อการสอน ก่อนที่จะให้นักเรียนนำไปลงแปลงของตนเองในอีก ๗ – ๑๐ วันข้างหน้า..ผมมองว่าผมได้อะไรมากมายจากกิจกรรมการ “ปลูกผัก” ในทุกๆครั้ง

        สิ่งที่หลายคน..อาจมองว่า “ขาดทุน” เพราะต้องใส่ใจลงไป อดทนที่จะต้องรอคอยผลผลิต..ในระหว่างที่รอนักเรียนต้องทำงานทุกวัน ต้องขยันขันแข็งและสามัคคีในการทำงานไปด้วยกัน..ฝึกการทำงานเป็นทีม...

        ในเรื่องของขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ ได้บูรณาการภาคปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่ก็น่าแปลกใจ ที่วิชาการเกษตรฯของไทย ซึ่งเป็นหัวใจของชาติ มิเคยมีนักการศึกษาคนใดพูดถึง..

        จริงๆแล้ว..คุณค่าและตัวชี้วัดของงานเกษตร..เป็นรูปธรรมมาก มันอยู่ที่โรงเรียนจะตระหนักแค่ไหน? หลายครั้งที่ผมต้องขาดทุน..ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าไฟฟ้าสำหรับสปริงเกอร์ และเมื่อพืชผัก..ต้องเก็บผลผลิต ยังต้องขายให้ผู้ปกครองในราคาถูก เพื่อให้ชุมชนฯได้ทานของดี..

        ส่วนหนึ่ง..นำสู่โครงการอาหารกลางวันและแบ่งสันปันส่วนให้นักเรียน..จึงอาจไม่เหลือเป็นเงินเป็นทองให้ต้องมานั่งชื่นชม แต่สิ่งที่สั่งสมในกายและใจนักเรียน มันประมาณค่าไม่ได้จริงๆ..

        ผมรู้แต่ว่า..ในส่วนของกำไรที่คนเรามักจะมองไม่เห็น ก็แค่ให้มองเป็น “ทักษะชีวิต” แค่คิดก็คุ้มแล้ว...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๕  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑


หมายเลขบันทึก: 658213เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นโครงการที่ทำได้ดีครับ อยากให้ผู้บริหารที่มีจิตวิญญาณแบบนี้ ได้ช่วยกันสร้างเด็กให้มากๆ ครับ

เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆ ค่ะ

ผมครุ่นคิดมาสักระยะว่า ๑) ทำอย่างไรเขาจึงจะลงมือทำก่อนที่เขาจะเห็นความสำคัญ (เพราะเขาไม่เห็นความสำคัญจึงไม่ยอมลงมือ) ๒) ทำอย่างไรเขาจะไม่อยากรวย (เกษตรสมัยใหม่ห่างไกล “ความพอเพียง” มาก ทุกคนมุ่งผลิตและอยากรวย) ๓) ทำอย่างไรเขาจะภูมิใจและไม่ทิ้งบ้านไปตลอดชีวิต หรือทำชีวิตให้ได้หนีจากบ้านไป และ ๔) ทำอย่างไรเขาจึงจะไม่ทิ้งวัด และสนใจปฏิบัติธรรม…. ท่าน ผอ. ได้คิดการใหญ่เรื่องขยายความสำเร็จของท่านไหมครับ …

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท