คำสันธาน



        สวัสดีค่ะ   เราเข้าใจคำบุพบทไปแล้วจากที่ครูสรได้สอนรายละเอียดไปในบทความที่ผ่านมา  หากใครยังไม่ได้อ่านก็ลองย้อนกลับไปอ่านอีกครั้งนะคะ   และยังมีคำที่ใช้เชื่อมคำหรือประโยคอีกลักษณะหนึ่งที่คล้ายกันกับคำบุพบท   แต่เป็นการเชื่อมถ้อยคำให้เป็นเรื่องราวเดียวกันหรือทำให้ภาษาสละสลวยชวนอ่าน   ซึ่งจะใช้เป็นคำ เดียว  คำประสม  หรือเป็นวลีก็ได้ อาทิเช่นคำว่า  ถ้า  ก็  เลย  จึง  จน หาก    แต่  และ  เป็น  เมื่อ  เพราะ  ยกเว้น  นอกจาก   จากนั้น   ถึงอย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ว่า   เป็นต้น   เราเรียกคำเหล่านี้ว่า  “คำสันธาน” ค่ะ

            คำสันธาน  คือ  คำที่ใช้เชื่อมถ้อยคำให้มีเนื้อหาเป็นเรื่องเดียวกัน  หรือทำให้ประโยคมีความสละสลวยขึ้น  นั่นเอง 

เรียนรู้คำสันธานเพิ่มเติมกัน

คำสันธาน   แบ่งตามลักษณะของคำที่นำมาใช้ได้ดังนี้

            1. คำสันธานที่มีลักษณะเป็นคำเดียว  เช่น  ถ้า  เลย  จึง  จน หาก    แต่  และ  เมื่อ  เพราะ   เหมือน

            2. คำสันธานที่เป็นคำประสม  เช่น นอกจาก   จากนั้น   ยกเว้น  เว้นแต่  ราวกับ  เหมือนกับ   เพราะว่า  

            3. คำสันธานที่เป็นวลี  เช่น  ถึงอย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ว่า

หลักการใช้คำสันธาน

       เราจะนำคำสันธานไปใช้ให้ประโยคมีความสละสลวย หรือเป็นเนื้อหาเดียวกัน   ทำได้ในหลายลักษณะ  ดังนี้

            1. ใช้เชื่อมประโยค 2 ประโยค  ที่ในประโยคประธานทำกริยาเดียวกัน  ให้สังเกตคำว่า  “กับ”  “และ”  “อยู่”  ในประโยค

ตัวอย่าง 

        แม่กินน้ำกับกินนม      แยกได้เป็น 2 ประโยค คือ 

        ประโยคที่ 1  แม่กินน้ำ  

        ประโยคที่ 2  แม่กินนม   

โดยมีคำ “กับ” ซึ่งเป็นคำสันธานอยู่ระหว่างประโยค

        สมชายเห็นเด็กถือขนมปังและขนมกล้วย

       

2. ใช้เชื่อมประโยคเกี่ยวกับเวลา   ให้สังเกตคำว่า  “พอ....ก็”  , “ เมื่อ......จึง”

ตัวอย่าง

       พอถึงโรงเรียนฝนก็ตก

       เมื่อถึงโรงเรียนแล้วฝนจึงตก

3. ใช้เชื่อมความขัดแย้งกัน  ให้สังเกตคำว่า  “แต่”  “แต่ว่า” 

ตัวอย่าง

      แม่ชอบกินน้ำหวานแต่ไม่ชอบกินน้ำแดง
     มานะจะไปดูหนังแต่ว่าแม่ไม่อนุญาต


4. ใช้แสดงความเปรียบเทียบ  ให้สังเกตคำว่า  “เหมือน”   “เหมือนกับ”  “อย่าง”  “ราวกับ” 

ตัวอย่าง

      เธอสวยเหมือนนางฟ้า             น้ำขมเหมือนกับบระเพ็ด

      ปิติขับรถช้าราวกับเต่าคลาน      ฝนตกราวกับฟ้ารั่ว

5.  ใช้แสดงความหมายถึงสิ่งที่จะทำ  ให้สังเกตคำว่า  “จากนั้น” 
 ตัวอย่าง

       วันนี้ไม่ว่างต้องทำการบ้าน จากนั้นต้องทำอาหารอีก

       สุดาไปเชียงใหม่จากนั้นต้องไปเชียงรายด้วย

6. ใช้เชื่อมเพื่อให้เลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ให้สังเกตคำว่า  “หรือ”

ตัวอย่าง

        เธอจะกินก๋วยเตี๋ยวหรือกินข้าว

7.  ใช้เชื่อมเพื่อการแบ่งรับแบ่งสู้   ให้สังเกตคำว่า     “ถ้าหาก”  ,  “ถ้า...ก็”

ตัวอย่าง

        ถ้าหากพ่อไม่มาฉันก็จะไปบ้านเพื่อน     

        ถ้ารถไม่ติดฉันก็จะไปตลาด

8. ใช้เชื่อมกันในเชิงสาเหตุ-ผลลัพธ์   ให้สังเกตคำว่า  “จึง” ในประโยค

ตัวอย่าง

        พ่อค้ากักตุนข้าวข้าวจึงแพง 

        แม่เป็นห่วงลูกจึงมาเฝ้าลูกที่โรงพยาบาล               

คำสันธานคู่

      ครูสรให้ทุกคนสังเกตคำสันธานข้างต้นที่ต้องใช้คู่กัน  เช่น  คำว่า  เมื่อ....ก็  ,ถ้า.....ก็  ,  เพราะฉะนั้น......จึง  พอ...ก็  ฯลฯ  ซึ่งการใช้จะแยกใช้คำละประโยค เราจะเรียกคำสันธานลักษณะนี้ว่า “สันธานคู่”  ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 658210เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2018 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท