๘๓๕. เสมอต้นเสมอปลาย..


"ผมไม่ได้เรียนมาทางบริหาร..ถ้าไม่ขยันหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ก็ไม่รู้ว่าจะพูดว่ากระไร..ความขยัน..ทำให้ได้แก้ปัญหา ส่วนคำตอบที่ได้คือปัญญา..ดังนั้นความขยันจึงทำให้เกิดปัญญานั่นเอง..แต่เป็นการเรียนรู้นอกตำรา.."

         วันก่อน..ไปนิมนต์พระคุณเจ้า เพื่อฉันภัตตาหารเพลในวันเสาร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ในงานผ้าป่าการศึกษาของโรงเรียน...

    วันนี้..ไปวัดอีกครั้ง..เพื่อพบท่านเจ้าอาวาส ซักซ้อมเรื่องกำหนดการและขอยืมอุปกรณ์งานครัวเพิ่มเติม..สนทนาพูดคุยกันเป็นที่เรียบร้อย จึงลากลับ..

    ท่านเจ้าอาวาสพูดทิ้งท้ายและตรงประเด็น อย่างกับตาเห็น..”หัวหมุนเลยนะโยม” “ครับท่าน” ผมยิ้มแล้วก็ขับรถกลับออกมา..

    ผมยอมรับว่าช่วงนี้ก็รู้สึกว่าหมุนไปหมุนมา เพราะถ้าไม่หมุนก็ไม่มีงาน..เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่ต้องถามหาความสำเร็จ..ผมคิดว่า “ผู้นำ”หัวหมุนบ้างก็ดี อย่างน้อยก็ช่วยผู้ร่วมงานและองค์กรให้ขับเคลื่อนไปได้ง่ายขึ้น..

        พอได้ยินคำว่า “หัวหมุน” ทำให้ผมคิดถึงคำว่า “บ้านหมุน” ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมอง แต่ไม่เกี่ยวกับสายตาและความดัน..ผมเคยบ้านหมุนอยู่สองช่วงของชีวิต..

        ปี ๒๕๕๔ กับ ๒๕๕๘..รอให้บ้านหมุนเสียก่อนจึงไปหาหมอ ช่วงนั้นออกกำลังกายน้อย ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เต็มที่..

        พอคุณหมอผ่าตัดสมองด้านซ้าย เอาสิ่งที่แปลกปลอมออกไป บ้านก็ไม่หมุนแต่หัวก็ยังหมุนเหมือนเดิม..แต่เป็นการหมุนที่สนุกมีความสุขและเป็นงานเป็นการ..

        จนรู้สึกว่าหัวหมุนเป็นเรื่องปกติ เป็นความเคยชิน ที่ต้องอยู่คู่กับผู้บริหารโรงเรียนเล็กๆ หัวหมุนแบบเสมอต้นเสมอปลาย..จึงมิอาจทำร้ายร่างกายและจิตใจผมได้เลย..

        นอกจากจะหัวหมุนแล้ว..ผมยังมีอีกหลายอย่างที่ทำได้เสมอต้นเสมอปลาย หลายคนอาจคิดว่า มันเป็นต้นและปลายด้านไหน..?

        คำว่า..เสมอต้นเสมอปลาย มิได้มีแค่สองขั้วคือบวกกับลบ แต่มีความเป็นกลางด้วย..ลองคิดดูก็ได้ อย่างเช่นข้าราชการบางคนที่มาสาย ไม่มีความรับผิดชอบ ก็เรียกว่าเสมอต้นเสมอปลายได้เหมือนกัน...

        บางคน..ประกอบอาชีพสุจริต แต่ไม่คิดช่วยเหลือสังคม ถึงแม้จะไม่มีจิตอาสาแต่เขาก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร..อันนี้ทำตัวเป็นกลางสุดๆ

        สำหรับผมแล้ว..คิดว่า..เสมอต้นเสมอปลายในทางสร้างสรรค์น่าจะดีที่สุด อย่างผมเองเรียนมาน้อย..ก็ต้องคอยศึกษาเรียนรู้และหาประสบการณ์ สารที่ใช้ตั้งต้นคือ “ความขยัน” ถ้าไม่ขยันหมั่นเพียรในงาน ก็จะไม่เก่งและไม่แกร่งเสียที..

        ผมไม่ได้เรียนมาทางบริหาร..ถ้าไม่ขยันหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ก็ไม่รู้ว่าจะพูดว่ากระไร..ความขยัน..ทำให้ได้แก้ปัญหา ส่วนคำตอบที่ได้คือปัญญา..ดังนั้นความขยันจึงทำให้เกิดปัญญานั่นเอง..แต่เป็นการเรียนรู้นอกตำรา..

        ในทางธรรมะกล่าวไว้ว่า..”ไม่มีความยากจน ในหมู่คนที่ขยัน”..แต่ต้องขยันแบบสร้างสรรค์ด้วยนะ และทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย..ไม่เบื่อง่ายหน่ายเร็วหรือทิ้งกลางคัน..

        ดังนั้น..ใครก็ตามมีความเสมอต้นเสมอปลายอยู่กับสิ่งใด ถ้ามั่นใจว่าดีและมีประโยชน์ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ก็จงรักษาฐานที่มั่นเอาไว้

        เพราะผมมีความเชื่อมั่นว่า..ถ้าเสมอต้นเสมอปลายในสิ่งที่ดีงาม ย่อมนำความสำเร็จมาเสมอและเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนกว่า....

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑


       

       

       

หมายเลขบันทึก: 658108เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2018 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2018 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ธรรมะ ข้อนี้ ปฏิบัติได้อยากมากครับ (สำหรับผม) …. เป็นหนึ่งในธรรม สำหรับผู้อันเป็นที่รักของคนอื่น … ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา พอไหว … ธรรมสุดท้ายในหมวดนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมทำงานค่อนข้างลำบาก…

“หัวหมุน”

สำหรับผมแล้ว มันเหมือนชะตากรรมไม่เว้นวันเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท