๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ (ตีความจากการฟังคลิป ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร)


ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อ.ยักษ์) บอกว่า หลักคิด ๓ ห่วง (พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว) ที่ใช้ในการอธิบายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นส่วนผลลัพธ์ เป็นคุณลักษณะของความพอเพียง เป็นส่วน "ผล" เมื่อจะลงมือปฏิบัติในการฝึกตนหรือสอนคน ควรเน้นไปที่ความรู้และคุณธรรม ผมเคยตีความวิธีการนำเสนอปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของท่านไว้ด้วย "สมการความพอเพียง" (อ่านที่นี่) วันนี้ผมตั้งใจวาดภาพขยายความอีกภาพหนึ่ง เพื่อนำเสนอให้ครูอาจารย์หรือผู้มาอ่าน พิจารณานำไปใช้ประกอบการอธิบาย ต่อไปครับ 

คำอธิบายภาพ

  • ๓ ห่วง เปลี่ยนจุดเน้น ไปเน้นลักษณะของการปฏิบัติ (จากเน้นผลไปเน้นที่เหตุ) คือ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง 
    • รอบรู้ คือ ต้องทำด้วยความรู้ มีสติรู้ตัว มีปัญญารู้คิด รอบรู้ครอบคลุมทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ได้แก่
      • รู้ตนเอง คือ รู้ศักยภาพของตนเอง รู้ต้นทุนทางวัตถุ ต้นทุนทางสังคม รู้ชุมชน รู้จักทรัพยากรที่ตนมี รู้รากเหง้า รู้ภูมิปัญญา รู้วัฒนธรรม ฯลฯ 
      • รู้วิชาการ คือ รู้ศาสตร์วิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนจะทำ รู้ธรรมชาติ รู้สิ่งแวดล้อม รู้หลักการ รู้ทฤษฎี กฎ ขั้นตอน วิธีการ รอบรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าต่างๆ และรู้สถานการณ์ ฯลฯ 
      • รู้ประมาณ คือ รู้คุณธรรม รู้จักประมาณตน รู้จักการประเมินสถานากการณ์ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้หรือวิทยาการที่เหมาะสม รู้จักความพอ
    • รอบคอบ คือ การคิดอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงเหตุผล บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดี  มีแผนป้องกันผลเสียใดที่อาจส่งผลเสียต่อวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม
    • ระมัดระวัง คือ เมื่อขณะลงมือปฏิบัติหรือนำความรู้ไปใช้ ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง ทำด้วยความเพียร ขยัน อดทน ระวังไม่ส่งผลเสียต่อตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
  • ความพอเพียง คือ ควมรู้+ความดี 
  • คุณธรรมประจำแต่ละห่วง มีคำสำคัญสำหรับการปฏิบัติ รู้-คิด-ทำ ดังนี้
    • รู้  จะต้อง มีสติรู้ตัว และมีปัญญารู้ว่า อะไรคือคุณค่าแท้ อะไรคือคุณค่าเทียม อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร ... พัฒนาไป ยกระดับจิตใจตนเองไป จนรู้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง (อริยสัจ)
    • คิด จะต้องคิดโดยมีคุณธรรมประจำใจคือ ความซื่อสัตย์ สุจริต
    • ทำ จะต้องมีความเพียร ขยัน อดทน 
  • คนพอเพียงต้องมีครบทั้ง ๓ ห่วง คือ ต้องรู้ คิด และทำ  
    • ถ้า รู้+ทำ แต่ไม่คิดอย่างรอบคอบ คือไม่พอเพียง
    • ถ้า รู้+คิด แต่ไม่ลงมือทำ คือ ไม่พอเพียง
    • ถ้า คิด+ทำ แต่ไม่รู้ ก็ไม่พอเพียง 
  • ๓ ห่วง เดิม คือคุณลักษณะของความพอเพียงด้าน "ผล" คือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  
  • ๓ ห่วง ใหม่ คือคุณลักษณะของความพอเพียงด้าน "เหตุ" หรือการปฏิบัติ คือ รู้รอบ คิดรอบคอบ และทำอย่างระมัดระวัง
  • องค์ประกอบของความพอเพียง มี ๒ ประการ คือ ความรู้และความดี 
    • ความรู้ คือ รู้ตนเอง รู้ภูมิปัญญา และรู้วิชาการ 
    • ความดี คือ คุณธรรม และความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน 

ผิดถูกอย่างไร เชิญท่านใช้ความพอเพียงพิจารณาเถิดครับ

หมายเลขบันทึก: 657284เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2018 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2018 03:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับอาจารย์-สำหรับครอบครัวเล็กๆ ของเราได้น้อมนำเอาหลักการต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับศักยภาพและภายใต้ข้อจำกัดที่เรามีอยู่ครับ-หากเอ่ยถึงความพอเพียง หลายท่านอาจจะนึกถึงความสมบูรณ์ความพร้อมของพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ ที่จะมาเสริมหนุนการน้อมนำหลักการมาปฏิบัติ-แต่สำหรับตัวผมแล้วขอนำเอาหลักการมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเราครับ-ณ วันนี้สิ่งที่ทำมิได้สมบูรณ์ตามหลักวิชาการ แต่ก็ค่อยๆ สมบูรณ์ขึ้นตามลำดับเท่าที่เราพอใจน่ะครับ-ทำแล้วได้รับ”ความสุข”เราสุขแล้วก็ส่งต่อความสุขนั้นไปยังผู้คนที่ก้าวเข้ามา-เปลี่ยนใจคนยากนัก…ขอเพียงเริ่มปรับที่ตัวเราเองก่อนแม้จะเปลี่ยนไปไม่มากนักแต่ก็ได้เปลี่ยนบ้างก็ถือว่าคุ้มสุดๆ แล้วครับ-ขอบคุณสำหรับข้อมูลและขอนำเอาหลักการต่างๆไปขยายผลต่อกับผู้ที่ก้าวผ่านเข้ามา ณ พื้นที่เล็กๆ ที่เราเรียกว่า #FarmSchool ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท