ทันตกรรมชุมชนภาคสยาม: เราทำอะไรกัน (2)


คนจะมีพฤติกรรมสุขภาพ เมื่อมีเงื่อนไข, ปัจจัยทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเกิดพฤติกรรมนั้นๆ

กรอบพิจารณาระดับกลุ่มคนหรือกรอบระดับสังคม เป็นกรอบที่ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย เป็นการทำงานที่ตั้งอยู่บนความเชื่ออันเชื่อมโยงมาจากกรอบแรกเพราะสมมติฐานของกรอบแรกคือ

"คนเราจะมีสุขภาพดีเมื่อมีพฤติกรรมที่ดี(พฤติกรรมสุขภาพ)"

กรอบการพิจารณาระดับสังคม อยู่บนความเชื่อว่า

"คนจะมีพฤติกรรมสุขภาพ เมื่อมีเงื่อนไข, ปัจจัยทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเกิดพฤติกรรมนั้นๆ"

เมื่อมีความคิด, ความเชื่อดังนี้ เราก็เลยศึกษาสิ่งที่เรียกว่า "ปัจจัยทางสังคม" ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ/สุขภาพช่องปาก

ผมเชื่อว่าชาวทันตกรรมชุมชนส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจและศึกษาวิจัย, เคลื่อนไหว ในระดับนี้

พวกเขาศึกษาคนเป็นกลุ่มๆ เป็นชุมชน และศึกษาปัจจัยรอบๆ กลุ่มคนเหล่านั้น พยายามลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยที่สนับสนุนสุขภาพ

กิจกรรมที่แสดงออกมาในการทำงานระดับกลุ่มนี้ก็มักจะออกมาในรูปของ "โครงการ"

ลองยกตัวเช่น โครงการที่ต้องการลดปัญหาฟันผุในเด็กเล็กที่มีสาเหตุจากการดื่มนมจากขวด

พวกเราก็จะมุ่งกิจกรรมใน "กลุ่ม" แม่ลูกอ่อน ดูปัจจัยรอบๆ แม่ว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการให้ลูกดื่มนมจากขวด ปัจจัยรอบๆ ก็พอจะไล่เรียงได้เช่น คำแนะนำที่คุณแม่ได้รับจากที่ต่างๆ เรื่องการเลี้ยงดูลูก, ค่านิยมเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, ราคาของขวดนมว่าถูกแพง และการหาซื้อขวดนม ยาก-ง่ายประการใด ฯลฯ

เมื่อดูปัจจัยรอบๆ แล้วใช้ทฤษฎี วิธีคิดเข้าช่วย โครงการของเราก็อาจลงเอยด้วยการช่วยรณรงค์ให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างกว้างขวาง หรือ โครงการโรงพยาบาลปลอดขวดนม เป็นต้น

กลุ่มเฉพาะที่น่าสนใจในการทำงานด้านสุขภาพช่องปากก็มีหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน (มีโอกาสที่จะเป็นโรคเหงือกสูงกว่าคนปกติมาก) หรือกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ เราจะดูแลสุขภาพช่องปากของพวกเขาอย่างไร (ซึ่งหมอมัทนา เชี่ยวชาญกลุ่มนี้และคงจะเข้ามาช่วยเขียนในblog อีกไม่นานครับ)

 นอกจากกลุ่มเฉพาะแล้วประชากรทั่วไปก็มีประเด็นที่น่าสนใจให้ศึกษาอีกนับไม่ถ้วน

เช่น มีปัจจัยอะไรที่ช่วยส่งเสริมให้คนมาตรวจสุขภาพช่องปาก มีปัจจัยอะไรที่ขัดขวางไม่ให้คนมาหาหมอฟัน (เช่น ราคา, เวลา, การเดินทาง หรือเกลียดขี้หน้าหมอ ฯลฯ) หรือมีวิถีชีวิตแบบไหนบ้างที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ,สุขภาพช่องปาก เช่นการกินเจ, การถือศีล ไม่กินข้าวเย็น หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ ฯลฯ

รายละเอียดการทำงานในระดับ "กลุ่มคน" นี้ยังมีอีกมากครับ เขียนได้อีกหลายวัน ตั้งใจว่าจะเขียนรายละเอียดเฉพาะสำหรับกลุ่มนี้ในหัวข้อเฉพาะต่อไปครับ

ตอนหน้าจะเขียนถึงทันตกรรมชุมชนที่ทำหน้าที่ในระดับภาครัฐครับ วันนี้พอแค่นี้ก่อน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #oral_health_promotion
หมายเลขบันทึก: 65719เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท