คุรุ พบ คุรุ ปี 2 ตอน เรียนรู้ที่จะรู้สึกตัว


คุรุ พบ คุรุ ปี2 (ตอน..เรียนรู้ที่จะรู้สึกตัวกันเถอะ)อยู่กับครู...ผู้รู้สึกตัว

ณ.หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญญโญวันที่ 8-9 ตุลาคม 2561 

คุรุ 2 ท่าน อ.ประมวล เพ็งจันทร์ กับ อ. อชิระวิชญ์ ภักดิ์โชติพงศ์ (อ.ริว)

คุรุ แปลว่า ผู้ทำลายความมืด หรือผู้นำพาออกไปจากความมืด  

บันทึกจากการจดด้วยใช้ใจฟัง จึงเป็นความเข้าใจส่วนตัว 

แบ่งปันในส่วนที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านนะคะ

 บันทึกนี้ จะเป็นการจับใจ จับประเด็น เกี่ยวกับวิธีการในการฝึกตนที่จะเป็นผู้รู้สึกตัว


1. การปฏิบัติธรรม คืออะไร??? มีใครเคยตั้งคำถามแบบนี้ในใจบ้างไหม หรือ 

เคยมีคำตอบในใจว่าอย่างไร มาดูคำตอบในแบบของอ.ประมวล เพ็งจันทร์


การปฏิบัติธรรม คือ การกลับมาสู่ตัวเองและรู้สึกได้ถึงความหมายในตัวเราเอง ซึ่งมิใช่ด้วยการคิด  

หากเป็นภาษาแบบแม่ดาวก็คือ การทำความรู้จักกับตัวเองอย่างแท้จริง  

ไม่รู้คุณรู้ตัวไหม ว่าปัจจุบันพวกเราส่วนใหญ่มักห่างไกล ห่างเหิน หมางเมิน 

เป็นศัตรูกับตัวเอง ทั้งที่ปากก็บอกว่าฉันรักตัวเอง  


2. การปฏิบัติธรรม ทำอย่างไร ต้องปฏิบัติรูปแบบไหนดี ??? 

จะปฏิบัติรูปแบบไหนก็ล้วนดีหมด ขอให้รู้สึกตัว แท้จริงการปฏิบัติธรรมไม่มีรูปแบบ 

เป็นการรู้(สึก)ถึงสภาวะจริงของกายใจตามธรรมชาติ เห็นเหตุของปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลภายในใจเรา 

(เห็นความจริง มิใช่ความคิด) รูปแบบไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาภายใน(ใจ).

สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้รูปแบบนั้น สามารถโอบอุ้มเนื้อหาไว้ได้  


หลักปฏิบัติ คือ ตัวอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่นั่น รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก ณ ปัจจุบันขณะนี่แหละคือ หัวใจ  


"เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" พระอาจารย์ไพศาลมักสอนเช่นนี้บ่อยๆ 

ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนมักทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน มีหลายอย่างที่อยากทำและต้องทำ เลยยำรวมทำพร้อมๆ กันไป จริงมั้ย...ตอบ

แล้วเห็นตัวเองไหมว่าเป็นอย่างไรกับการทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆกัน .

การวางใจในการปฏิบัติธรรม คือ ไม่ตัดสินถูก หรือผิด ชอบหรือชัง อย่าคาดหวังในผลของการปฏิบัติ  


3. รู้สึกตัว คือ อย่างไร จะรู้สึกตัวได้อย่างไร ???.

ความรู้สึก ยากที่จะอธิบายเป็นถ้อยคำ มิสามารถเข้าใจด้วยการคิด ต้องประสบเองจึงรู้สึกจริงด้วยใจตัวเอง .

ตอนนี้ มือเราวางอยู่ตรงไหน....ต้องใช้ความคิดไหม เอ...ตอนนี้มือเราวางอยู่ตรงไหนนะ ไม่ต้องคิดใช่ไหม นั้นแหละคือ ความรู้สึกตัว ตอนนี้อากาศร้อนหรือเย็น หรือเป็นอย่างไร ต้องคิดไหม การตอบคำถามแบบนี้เราไม่ต้องใช้ความคิดใช่หรือไหม เราเพียงหยุดรับรู้ รู้สึกตัว ณ ปัจจุบันขณะตามจริง.

#จิตรู้กายได้โดยไม่ต้องคิด คำสอนหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ 


4. ในการปฏิบัติ หากเห็นความคิดเกิดขึ้นมาควรทำอย่างไร คิดมากคิดมาย คิดเยอะ คิดแยะ ฟุ้งเหลือเกิน???

ก็แค่รู้เฉยๆ ไม่ต้องผลักไส ไม่รังเกียจ เป็นธรรมดาเช่นนั้นเอง

ขอเสริม คำสอนพระอาจารย์ไพศาล "อะไรที่เธอผลักไสจะคงอยู่...อะไรที่เธอตระหนักรู้จะหายไป" 

ความคิด/อารมณ์ เปรียบเหมือนเมฆ หมอก พายุฝนบนท้องฟ้าที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ จิตเหมือนม่านฟ้ายังคงอยู่เช่นนั้น ไม่ได้เปลี่ยนไป ที่เราเห็นว่าเปลี่ยนแท้จริงไม่ได้เปลี่ยน ยังคงคุณลักษณะเช่นเดิม (จิตเดิมแท้ล้วนปภัสสร) .

ในตอนแรกๆ ที่อ.ประมวลเริ่มเดินใหม่ๆ (อ.ประมวลเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุยบ้านเกิด โดยไม่พกเงินติดตัวเลย อยากรู้เรื่องมากกว่านี้ แนะนำอ่านหนังสือ เดินสู่อิสรภาพของอ.ประมวลนะคะ) อาจารย์ตั้งใจว่าหากเมื่อใดเห็นความคิดเกิดขึ้น อาจารย์จะหยุดสาธยายมนต์สวดปรมิตาจนสงบแล้วจึงเดินต่อ แรก ๆ ต้องหยุดสาธยายมนต์บ่อยมาก? อันนี้เป็นวิธีการในแบบของอาจารย์ .

โดยส่วนตัวเวลาเห็นความคิด/อารมณ์เกิดขึ้น ยิ่งหากเป็นด้านลบก็จะกลับมาสู่ฐานกาย ดูลมหายใจ ดึงลมหายใจให้ยาวขึ้น ลึกขึ้น ทำวนไป และรับรู้ถึงสภาวะร่างกายในส่วนอื่นๆ เช่น คิ้วขมวดก็จะคลายออก ปากคว่ำ ก็อมยิ้มน้อยๆ ไหลตึงก็ผ่อนคลาย มือกำแน่น ก็กำแบผ่อนคลายออกสบายๆ ถ้าความคิดจัดหนัก คิดโกรธสุดๆ จะหาวิธีใช้ร่างกายเยอะๆ เช่น ขัดห้องน้ำ ออกไปวิ่ง ฯลฯ .

อันที่จริงไม่ว่าความคิดบวก ลบ หรือเฉยๆ ก็ไม่ต้องให้ค่ากับมันแค่เห็นว่ามันเกิดขึ้น ไม่ตาม ไม่ต้าน รู้ซือๆ ไม่ตัดสิน ไม่ตีความ.5. ปฏิบัติธรรมเวลาใดดีที่สุด???

เวลาที่มีความเศร้าโศกเสียใจ เวลาที่มีความไม่สบายกายไม่สบายใจ มีความคับแค้นใจ เวลาที่ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ เวลาที่เจอความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจเวลาที่มีความปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น.

สรุปสั้น คือ #เวลาที่เป็นทุกข์ คือ #เวลาที่ดีที่สุดในการปฏิบัติธรรม

 6. อย่างไรถึงจะเรียกว่า สมดุล พอดี ที่ว่าการปฏิบัติควรอยู่บนทางสายกลาง???

หากเปรียบการปฏิบัติเหมือนการเรียนขับรถยนต์ ตอนแรกๆ ที่เราเรียนขับรถยนต์ ครูสอนบอก ให้เหยียบคลัชให้สุด ใส่เกียร์ เหยียบคันเร่งและปล่อยคลัชให้พอดีกัน ให้รถเคลื่อนไป ไม่ดับ เลี้ยงคลัชให้พอดี ตอนแรกๆ เรารู้ได้เลยไหมว่า "พอดี" คือเหยียบแค่ไหนยังไง เราใช้การคิดแล้วทำได้ไหม หรือต้องใช้การลองทำ ดับๆ ติดๆ ไปจนรู้สึกได้ถึงความพอดีด้วยความรู้สึกเราเอง นี่แหละคือคำตอบ


 7. การปฏิบัติธรรม คือ การอยู่กับชีวิตในปัจจุบันอย่างเบิกบาน


8. ในระหว่างการเดินทาง(ใช้ชีวิต) อย่าลืม #การหยุดเพื่อพัก ผ่อนคลาย เติมพลัง อย่ามัวห่วงแต่จุดหมาย มุ่งจะเดินไปให้ถึง จนลืมความเบิกบาน ณ ปัจจุบันขณะ เหนื่อยนัก ก็พักก่อนนะ ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจแล้วค่อยไปต่อ? +เก็บพรของอ.ประมวลมากฝากค่ะ เมื่อใดที่ประสบเหตุการณ์ใด เจอผู้คนเช่นไร ไม่ว่าดีร้าย โปรด #ตบอกตัวเองแล้วบอกตัวเอง(ในใจ) #ช่างมีความสุขเหลือเกิน

โกรธจัดตบแรงๆ อกเรานะ ไม่ใช่อกเขา? ท่องคำไว้ เรียกสติ???เข้าใจค่ะ ว่าปุถุชนเยี่ยงเรานั้นมันก็ยากกกกกที่จะรู้สึกเช่นนี้ได้จริง มันก็ต้องเริ่มจากการดัดจริตกันไป ทำไปเรื่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ ชินและฟินไปเอง.

ถ้าให้อธิบายเองตามความเข้าใจ ก็ประมาณว่า "สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ" .

อาจารย์ฝากบอกให้ทุกคน โปรดถอนคำสาปให้ตัวเอง คำสาป คือความคิดปรุงแต่งทั้งหลายที่เราปรุงขึ้นเพื่อทำร้ายใจเราเอง ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจหรอก เราก็แค่ลืม(รู้สึก)ตัว.

สร้างความเชื่อมโยงโลกภายในกับโลกภายนอกให้สมดุลแล้วจะพบความหมายที่อัศจรรย์

จบล่ะ ยาวอีกเช่นเคย 

หมายเลขบันทึก: 655592เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2018 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2018 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท