ห้องสมุด กับการพัฒนาคน


เมื่อสักหลายวัน ที่ผ่านมาได้อ่านรายงานการวิจัยหรือสำรวจเกี่ยวกับการใช้เวลา ในการคุยโทรศัพท์,การแชท,การใช้อินเตอร์เนตของวัยรุ่น

อันหนึ่งที่น่าสนใจแต่ไม่แปลกใจ คือเวลาที่วัยรุ่นใช้ในการอ่านหนังสือซึ่งน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ที่ผมบอกว่าผมไม่แปลกใจ เพราะผลการสำรวจที่ผ่านๆมาของ เมืองไทยเรานั้น ไม่เฉพาะแต่ในกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่เป็นกับทุกวัย เวลาที่คนของประเทศเราที่ใช้ในการอ่านหนังสือเมื่อเทียบกับเวลาของประเทศอื่นๆนั้นแตกต่างกันค่อนข้างมาก หรือจะเทียบกับเวลา ที่คนไทยเอาไปใช้ในผับ/บาร์ก็น่าจะต่างกันเยอะเช่นเดียวกัน

จะโทษใครดีกับผลที่เกิดขึ้น มองลองย้อนดูกันดีไหม เอาจากตัวผมก็ได้ ไม่ได้ถือเป็นโมเดลต้นแบบที่อธิบายอะไรๆทุกอย่างได้ แต่ถือว่าเป็นตัวอย่างๆหนึ่ง

ผมเกิดและโตมาในจังหวัดสระบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงร้อยกว่ากิโล

ตอนเด็กผมเรียนโรงเรียนวัด ซึ่งที่ รร.นี้ไม่มีห้องสมุดจนผม ขึ้นป.4(น่าจะราวๆนั้น)จึงมีการดัดแปลงห้องเก็บของเก่าๆเป็น

 "ห้องสมุด"กำมะลอนี้ สร้างขึ้นเพื่อให้ได้ชื่อว่า รร.นี้มีห้องสมุด แต่เอาไว้เก็บรายงานการประชุมของจังหวัดหรือหน่วยราชการอะไรหลายๆแห่ง ช่างน่าสนใจมาก เต็มไปด้วยเอกสารที่พิมพ์ยาวพรืด ไม่มีรูปสวยๆ(แต่ผมก็อ่านมันหมดแหละ ก็เป็นคนชอบอ่านมากๆ เมื่อไม่มีอะไรให้เลือกอ่าน ก็จำเป็น) ยังจำได้ว่าผมต้องไปล้างมือทุกครั้ง หลังจากออกจากห้องสมุดเพราะฝุ่นจากหนังสือจะทำให้ผมมือดำปี๋ไปหมด

ขึ้นป.5 ผมย้ายโรงเรียน มาเรียน รร.ของโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ที่นี่เป็น รร.เอกชน หนังสือจึงมากมายและหลากหลาย เมื่อเทียบ กับ รร.เก่า ผมตื่นตาตื่นใจกับความรู้ใหม่ๆเข้าห้องสมุดแทบทุกวัน

ผมเรียนที่นี่ 5 ปี(จนจบม.3) อ่านหนังสือจนเกือบทุกเล่มในห้องสมุดบางเล่มอ่านหลายรอบมาก ไม่อ่านที่นี่ ที่อื่นก็ไม่มีให้อ่านแล้ว ห้องสมุดชุมชนเหรอ ผมมารู้จักตอนเข้ามาเรียนในตัวจังหวัดแล้ว

อนาถใจไหมเล่า ที่ว่ามานี้ แล้วจะให้คนไทยอ่านหนังสือได้มากมายเท่าประเทศที่เขาสนับสนุนเรื่องนี้ มานมนานได้อย่างไร กัน

เยาวชนของเรา ต้องได้รับการปลูกฝังมาจากหนังสือที่สนุกสนานน่าสนใจ ไม่สาระจนเครียดเกินเหตุ เมื่อเขาอ่าน จนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยแล้ว ทีนี้จะเอาอะไรให้อ่าน เขาก็อ่านไปเอง

ทุกวันนี้ เวลาเปลี่ยนไป จากที่ผมเป็นเด็กก็นานโข พอสมควร แต่ห้องสมุดสำหรับเด็กๆตามต่างจังหวัดก็ยังมีหนังสือดีๆไม่มากพอ แม้แต่ในห้องสมุด รร.สังกัด กทม.เองก็ใช่ว่าจะมีงบสนับสนุนมากมาย ชนิดหาซื้อหนังสือดีๆให้อ่านได้เต็มที่นั้น จะมีไหมหนอ?

ปัญหา อีกอย่างคือ ราคาหนังสือ ที่แพงมาก ด้วยขาดการ สนับสนุนจากเห็นความสำคัญของการอ่านที่ดีเพียงพอ จากหน่วยงานภาครัฐที่น่าจะผลักดันให้หนังสือดีๆที่มีประโยชน์สามารถพิมพ์ขายได้ในราคาที่ไม่ลำบากมากนัก ลองคิดเล่นๆว่า ถ้าลูกบ้านไหน ซื้อหนังสือ เกินเดือนละ 5 เล่น (ราวๆเล่มละ2-300 บาท)บ้านนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเท่าไหร่ ดังนั้น อาจซื้อได้ เดือนละเล่ม

การพัฒนาคน ต้องมีพื้นฐานมาจากความรู้ที่สั่งสมเข้าไป ในที่นี้หาก ไม่สามารถหาได้จากการอ่านในห้องสมุด หรือจากหนังสือ เด็กๆก็ต้องเข้าไปหาเอาจากแหล่งอื่นๆ ในปัจจุบัน ก็หนีไม่พ้นอินเตอร์เนต แต่พอเด็กเข้าอินเตอร์เนต มันก็มีอย่างอื่นๆที่ล่อหูล่อตาเขา ให้เบี่ยงเบนไปจาก การเข้าNet มาหาเนื้อหาสาระ อันจะนำไปต่อยอดเป็นความรู้ได้(อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ก็คิดว่าจะนวนมากทีเดียวแหละที่ เตลิด เปิดเปิงไปกับสื่อชนิดนี้)

เข้ามาทีไร ก็ติดกับดัก ที่กระตุ้นเขาในด้านต่างๆอย่างที่ไม่ควรจะเป็น แล้วอย่างนี้จะเอาต้นทุนสมองที่ไหนไปพัฒนาตนเอง พัฒนาประเทศได้กันละนี่

สรุปว่า ผมเองก็ไม่รู้จะสรุปว่าไง สรุปไม่ได้เพราะความรู้น้อยเกินไป อ่านหนังสือมาน้อยไป เลยสรุปไม่ได้ ช่วยสรุปเอาละกันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 65332เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท