อาขยานและสรภัญญ์สร้างสรรค์ แข่งขันเพื่ออนุรักษ์และต่อยอด


15 สิงหาคม 61 โรงเรียนชุมแพศึกษา โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ภายใต้โครงการเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดกิจกรรมแข่งขันอาขยานสร้างสรรค์ ระดับประถมศึกษา และสรภัญญ์อีสาน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เปิดโอกาสให้ โรงเรียนในพื้นที่อำเภอชุมแพ สีชมพู ภูผาม่าน ภูเวียง หนองเรือ หนองนาคำ เวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น  อำเภอภูเขียว บ้านแท่น เกษตรสมบูรณ์  คอนสาร จังหวัดชัยภูมิ อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ส่งเข้าแข่งขันได้

 

โรงเรียนชุมแพศึกษา ได้กรุณาไว้ใจให้ผมเป็นรองประธานกรรมการตัดสินการแข่งขันสรภัญญ์อีสานทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย

ระหว่างนั่งรอตัดสินสรภัญญ์ ก็นั่งดูชมให้กำลังใจแก่นักเรียนชั้นประถมที่แข่งขันอาขยานสร้างสรรค์ ได้เห็นศักยภาพของนักเรียนและครูที่ถ่ายทอดเรื่องราวบนเวทีได้อย่างน่าประทับใจ การประยุกต์เชิงสร้างสรรค์ช่วยหนุนเสริมให้บทอาขยานที่เราเคยท่องจำแบกนกแก้วนกขุนทองในวัยเด็กช่างแตกต่างกันเอามาก เพราะจังหวะ และลีลาท่าทางประกอบการท่องบทอาขยานช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ชม นักเรียนที่ท่องก็เกิดความสนุกสนานไม่เขินอาย ทั้งได้อรรถรสและฝึกทักษะการทำงานร่วมกัน จากการฝึกซ้อมของทีม...

สรภัญญ์อีสาน กำหนดบทบังคับ 1 บทคือ “มาลาบูชาครู” และบทที่เลือกหรือแต่งเองในหัวข้อ “รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชีนีนาถในรัชกาลที่ 9”

 

บท “มาลาบูชาครู” ที่ปรับปรุงใหม่โดย ผศ.ดร.บัญชา  เกียรติจรุงพันธ์  ดังว่า

    มาลาดวงดอกไม้ (ซ้ำ)           มาตั้งไว้เพื่อบูชา

ขอบูชาคุณพระพุทธ (ซ้ำ)            ทั้งพระธรรมพระสังฆา

บูชาคุณมารดร  (ซ้ำ)                บูชาก่อนคุณบิดา

เทิดคุณกษัตรา  (ซ้ำ)                คุณครูบาและอาจารย์

พรใดอันประเสริฐ  (ซ้ำ)             จงบังเกิดแด่ท่านเทอญ

 

แล้วแต่ละโรงเรียนก็ประพันธ์บทรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ฯ มาได้อย่างไพเราะจับใจ...

 

ผลของการแข่งขัน เป็นเรื่องรองที่ผมให้ความสำคัญ แม้ผลและรางวัลจะเป็นแรงจูงใจที่ดีของนักเรียนและครูเพราะในการแข่งขันย่อมมีแพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดา แต่มิติหนึ่งที่ผมมองเห็นคุรค่าและความงดงามของเวทีการประกวดในครั้งนี้มีอยู่สองถึงสามประเด็น เรื่องแรกคือ สถานศึกษาขนาดใหญ่หรือพี่ใหญ่อย่างชุมแพศึกษา ได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของโรงเรียนน้อง ๆ แถบชุมแพและอำเภอรอบข้างให้ได้มีเวทีที่ให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพ ไม่เฉพาะระดับมัธยมเท่านั้น หากแต่ชวนโรงเรียนประถมและขยายโอกาสมาร่วมนำเสนอด้วย อันหมายถึงพี่ดูแลน้อง ประเด็นถัดมาคือการนำเอาและประยุกต์ใช้เรื่องราวของภาษา วรรณกรรมและประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นพนวกเข้าด้วยกันเพื่ออนุรักษ์ สืบสานและต่อยอด การประพันธ์บทสรภัญญ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ ผนวกกับทักษะและความมีสุนทรียะ เพื่อประมวลความคิด สร้างสรรค์และถ่ายทอดผ่านบท “สรภัญญ์” และประเด็นที่สุดท้ายคือเรื่องของทีม หลายทีมน่าจะฝึกซ้อมและเตรียมตัวมาอย่างดี แม้ในบทสรภัญญ์จะมีความต่างและประณีตต่างกัน แต่หากซักซ้อมจนพร้อม ไม่ลืมบท ไม่เคอะเขินตื่นเวที ก็จะช่วยทำให้เห็นศักยภาพผนวกกับความตั้งใจ ก็ย่อมจะได้คะแนนไปมาก แต่หลายทีมบทดีมีค่า แต่น่าจะซักซ้อมมาน้อย ความพร้อมเพรียงชัดถ้อยก็ลดน้อยถอยคะแนนลง.... สามารถเข้าชมวีดิโอย้อนหลังได้ทาง Youtube โดยใช้คำค้นว่า “อาขยานสร้างสรรค์” กับ “การแข่งขันสรภัญญ์อีสานสร้างสรรค์” 

ตัวอย่าง การแข่งขัน 


ขอบคุณภาพจาก :  สภานักเรียนโรงเรียนชุมแพศึกษา

หมายเลขบันทึก: 650078เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2018 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2018 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท