รวมพลัง “จักรยาน” สร้างสุขที่ “ชุมชนบ่อหว้าสามัคคี”


รวมพลัง “จักรยาน” สร้างสุขที่ “ชุมชนบ่อหว้าสามัคคี”

“ปั่น” ลดโรค “ถีบ” ลดขยะ ร่วมสร้างสุขภาวะเมืองสองเล

          “การปั่นจักรยาน” ไม่ได้แค่ทำให้เกิดความสุขและความสนุกจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เท่านั้น แต่การได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ไปจนถึงผู้สูงวัย ยังช่วยสานความสัมพันธ์ของคนแต่ละเจเนอเรชั่นให้กลายเป็นความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี

          เหมือนอย่างที่ ชุมชนบ่อหว้าสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่มีการรวมตัวกันเป็น “ชุมชนจักรยานบ่อหว้าสามัคคี” เพื่อรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนหันมาใช้จักรยานในการออกกำลังกายและเดินทางในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและลดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

          นอกจากจะใช้จักรยานเป็นเครื่องมือส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนแล้ว ยังขยายผลออกไปสู่การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะด้วยการปั่นจักรยานไปเก็บขยะและทำความสะอาดยังสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ “โครงการจักรยานสุขภาวะเมือง 2 เล เพื่อสุขภาวะชุมชนบ่อหว้าสามัคคี” โดยการขับเคลื่อนของ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือ และปั่นจักรยานไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์

          นางธนพร ศิรินุพงษ์ หรือ “ป้าบูรณ์” ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า โครงการจักรยานสุขภาวะเมือง 2 เลฯ  จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนออกกำลังกายด้วยจักรยานและใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อลดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งในชุมชนของเรามีกิจกรรมการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ พอเหลือกินก็จะรวบรวมและปั่นจักรยานไปส่งขายในชุมชน นอกจากประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังได้เรื่องของสุขภาพที่ดีตามมา

          “ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่รวมไปถึงคนในชุมชนส่วนมักจะเป็นโรคเบาหวานและความดันกันเยอะมาก แต่หลายคนพอได้มาปั่นจักรยานโรคต่างๆ เหล่านี้ก็ลดลง สำหรับในการปั่นแต่ละครั้ง เราก็จะมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ไปพร้อมด้วยเช่นเก็บขยะ แต่ละสัปดาห์ที่จัดกิจกรรมก็จะมีการเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อยๆ อย่างสัปดาห์นี้ปั่นมาทางหน้าไปรษณีย์ สัปดาห์ก็เปลี่ยนไปวนรอบชายหาดแหลมสมิหลา โดยจะมีการสำรวจเส้นทางล่วงหน้าเพื่อดูปริมาณขยะ พอถึงวันเราก็จะปั่นไปในเส้นทางนั้นๆ เวลาที่ไปก็จะมีรถของทางเทศบาลนครสงขลามาให้การสนับสนุนนำตะกร้าและถุงดำมาช่วยเก็บขยะด้วย โดยเด็กๆ ก็จะช่วยกันเก็บขยะใส่ขึ้นรถ แล้วก็ปั่นไปเรื่อยๆ เจอขยะตรงไหนก็หยุดจอดและช่วยกันเก็บ” ป้าบูรณ์กล่าว

          ซึ่งจากการดำเนินงานรณรงค์อย่างจริงจังของ “ป้าบูรณ์” ที่สวมหมวกทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนอีกหนึ่งใบ ที่ใช้จักรยานเป็นเครื่องมือบูรณาการการทำงานร่วมกับกิจกรรมและโครงการต่างๆ ด้านสุขภาวะและสุขภาพของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าปีที่ 3 ทุกวันนี้เวลาที่มีการจัดกิจกรรมและมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนในชุมชนมาร่วมปั่นจักรยานบำเพ็ญประโยชน์นั้น แต่ละครั้งจะมีผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50 คน

          ปัจจุบัน “ชุมชนจักรยานบ่อหว้าสามัคคี” มีสมาชิกทั้งสิ้นกว่า 180 คน แบ่งเป็นเด็กและเยาวชน จำนวน 110 คน และผู้ใหญ่ 70 คน โดยสมาชิกที่มีอายุมากที่สุดคือ 85 ปี และยังสามารถมาร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานได้เกือบทุกครั้ง ส่วนที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 8 ขวบ

          “ทำอย่างไรให้คนเห็นความสำคัญของสุขภาพใช้จักรยาน เราก็ต้องพยายามเข้าไปพูดคุยคลุกคลีชวนคนให้ออกมาปั่นจักรยาน คนที่มาปั่นก็จะรู้ได้เลยว่าตัวเองมีสุขภาพดีขึ้น ก็จะมีการพูดปกาต่อปากว่าปั่นจักรานแล้วปัญหาสุขภาพต่างๆ จะลดลงไปทั้งความดัน เบาหวาน ปวดข้อต่างๆ สุขภาพดีขึ้นจากการปั่นจักรยาน และชักชวนกันต่อๆ ไปให้ลูกหลานไปปั่น ใครที่ไม่มีจักรยานที่บ้านป้าก็มีให้ยืม” ป้าบูรณ์กล่าว

          น.ส.สมคิด พระจุโร วัย 63 ปี และนางศิริกร สุวรรณจินดา วัย 65 ปี กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่หันมาปั่นจักรยานร่วมกับป้าบูรณ์ ด้วยการปั่นจักรยานไปจ่ายตลาด ไปออกกำลังกายตอนเช้า ไปทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ผลที่ได้ก็คือทั้งสองคนมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นไม่เจ็บป่วยบ่อยๆ เหมือนก่อน

          “เราอายุมากแล้วจะให้ไปออกกำลังกายหนักๆ เหมือนคนหนุ่มสาวก็คงไม่ได้ การขี่จักรยานจึงค่อนข้างเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ขี่ทุกวันสุขภาพก็ดีขึ้น ไม่มีปัญหาเจ็บเข่าเดินเหินก็สะดวก” ป้าสมคิดกล่าว

          ทางด้านเด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมอย่าง “โชกุน”อภิวาส ชูทองคำ, “เจมส์”พัฒนกร บุญจันทร์, “น้ำใส”ศิรทัย ซุ้นเส้ง และ “วี” พศวีร์ แซ่เต็ม ช่วยกันเล่าว่า มาร่วมกิจกรรมกับป้าบูรณ์หลายครั้งแต่ละครั้งมีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร นอกจากป้าบูรณ์จะพาปั่นจักรยานไปชมเมืองไปเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ทั่วเมืองสงขลาแล้ว ยังได้ร่วมกับคนอื่นๆ ทำประโยชน์ด้วยการช่วยกันเก็บขยะในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย

          “วันนี้ได้มาร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรก ปั่นไปเกือบ 10กิโลเมตร ไม่เหนื่อยเลยสนุกด้วย” น้องวีกล่าว

          “สนุกมาก ได้ไปเที่ยวโรงสีโบราณหับโห้หิ้น ได้ไปหาดสมิหลาและไปช่วยกันเก็บขยะ” น้องโชกุนกล่าว

          “สนุกดีและได้พบเพื่อนเยอะ แถมได้ขี่จักรยานเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ด้วย” น้องน้ำใสกล่าว

          “วันนี้ฝนตกก็ไม่กลัว เพราะปั่นจักรยานร่างกายจะแข็งแรง ตากฝนก็ไม่ป่วย” เจมส์กล่าว

          นอกจาก “ป้าบูรณ์” จะจัดกิจกรรมชักชวนคนในชุมชนและเด็กไปออกกำลังกายและออกไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ยังใช้พื้นที่อีกส่วนหนึ่งของบ้านเป็น “คลินิกจักรยาน” ดึงเด็กกลุ่มเสี่ยงให้มาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการมาฝึกซ่อมจักรยานเก่าๆ ที่ได้รับการบริจาคและสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้จักรยานเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

          “วันนี้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนก็ดีมากให้ความร่วมมือดีมาก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเรา ล่าสุดก็ได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนสะอาดประจำปี 2561 จากเทศบาลนครสงขลา ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่” ป้าบูรณ์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน

          ชุมชนจักรยานบ่อหว้าสามัคคี จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของความสำเร็จในการใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมสุขภาพ และสานสัมพันธ์สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนชุมชน นอกจากนี้กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังการมีจิตอาสาในเด็กและเยาวชน ที่นอกจากจะช่วยสร้างเสริมในเรื่องสุขภาวะในชุมชนของตนเองแล้ว และขยายผลไปสู่สร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับบ้านเกิดหรือเมืองสงขลาไปพร้อมกัน.


หมายเลขบันทึก: 649313เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 17:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท