ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
นักประวัติศาสตร์การสื่อสารไทย
เมื่อก่อนถ้ามีคนถามผมว่า “ทำไม ๔ สิงหา จึงเป็นวันสื่อสารแห่งชาติล่ะ?” ผมก็ไม่ค่อยอยากตอบ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อไปแล้วว่า “เป็นวันสถาปนากรมไปรษณีย์ครับ”
จริงๆ แล้วเหตุผลนั้น ยังฟังดูไม่พอ วันสถาปนากรมไปรษณีย์แล้วยังไงต่อ? เป็นหน่วยงานสื่อสารแรกของชาติเหรอ? ก็เปล่าเลย อย่างมากก็อาจจะมีคนเข้าใจว่า น่าจะใช่นะ ว่าแต่ ๔ สิงหา ๒๔๒๖ เป็นวันสถาปนากรมไปรษณีย์จริงหรือเปล่า? ผมว่าก็ไม่ใช่นะ เลยเอาเหตุผลที่รัฐบาลในอดีตเลือก ๔ สิงหา มาเป็นวันสื่อสารแห่งชาติมาเล่าให้ฟังก่อนครับ
...เชื่อว่าคนไทยคงนึกว่า “ไปรษณีย์” น่าจะเป็นการสื่อสารทางไกลชนิดแรกของสยาม เพราะดูน่าจะโบราณที่สุด แค่เขียนใส่กระดาษแล้วฝากคนไปส่ง ดูน่าจะง่ายไม่ซับซ้อน ซ้ำวันสื่อสารแห่งชาติยังเป็นวันที่ ๔ สิงหาคมของทุกปี ด้วยเพราะเคยมีนักวิชาการท่านหนึ่งทำวิทยานิพนธ์ที่ไม่ละเอียดมาก พบข้อมูลเพียงเชื่อว่าวันสถาปนา “กรมไปรษณีย์” คือวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นเหตุผลสำคัญ
อันที่จริงแล้ว “กรมไปรษณีย์” มิใช่หน่วยงานการสื่อสารแรกของชาติครับ เรามีหน่วยงานด้านการสื่อสารของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ แล้ว คือ กรมสายตลิคราฟ และเรามี “กรมโทรเลข” ก่อนกรมไปรษณีย์อีก
เริ่มแรก กรมโทรเลข และกรมไปรษณีย์เป็นคนละกรมกัน ซึ่งกรมไปรษณีย์นั้นเริ่มต้นขึ้นจริงๆ เมื่อ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ไม่ใช่ ๔ สิงหา ๒๔๒๖ ดังหลักฐานที่ปรากฎในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานถึง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงเป็นอธิบดีบังคับบัญชาทั้ง กรมไปรษณีย์แลโทรเลข เมื่อมีพระชนม์พรรษาได้ ๒๓ ปี (ดูอ้างอิง)
แล้วทำไมเลือก ๔ สิงหานะ? ผมคิดในใจมานานเลย ....จนอยู่มาวันหนึ่งสมัยหนุ่มๆ ตอนยังเรียนกฎหมายอยู่ หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จเร็ว ผมเดินเข้าห้องสมุดคณะนิติศาสตร์หามุมลับตานั่งเล่นเงียบๆ เย็นๆ หลังพิงฝาแล้วไถตัวกับผนังลงนั่งกับพื้นจู่ๆ เอื้อมมือไปจับหนังสือเล่มใหญ่เล่มหนึ่งที่ชั้นวางหนังสือตรงหน้า บังเอิญจริงๆ ครับ
เพราะนั่นคือ “สยามจดหมายเหตุ บันทึกข่าวสารและเหตุการณ์” บังเอิญผมนึกขึ้นได้ว่าน่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่เกี่ยวข้องกับการประกาศให้มีวันสื่อสารแห่งชาติก็ได้ ค้นไปสักพัก คุณพระช่วย! แล้วผมก็เจอจริงๆ เมื่อเปิดไปเจอเล่มปีที่ ๘ ฉบับที่ ๓๑ ประจำวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ถึง ๔ สิงหาคม ๒๕๒๖ ซึ่งได้มีบันทึกเหตุการณ์ในอดีตไว้พอดี
ความว่า...คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาตามรายงานของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานปีการสื่อสารโลกระดับนานาชาติว่า
"วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๒๖ จะเป็นวันครบรอบปีที่ ๑๐๐ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลขขึ้นในประเทศไทย…?"
ด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือวันสื่อสารแห่งชาติเก่าๆ ที่กรมไปรษณีย์โทรเลขจัดทำขึ้นทุกปี นับแต่มีวันสื่อสารแห่งชาติขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ ทำให้ผมเริ่มสะดุดกับเนื้อความในหนังสือสยามจดหมายเหตุเล่มนั้น
เพราะผมจำได้แม่นยำว่าวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ หนังสือมักบอกว่าเป็น “วันสถาปนา กรมไปรษณีย์” อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ วันสถาปนา “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมไปรษณีย์ และกรมโทรเลข ไว้เป็นกรมเดียวกันชื่อว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑" ต่างหาก
ในตอนนั้นผมรู้แล้วว่าถ้าไม่รายงานจากกระทรวงคมนาคมเสนอผิด ก็หนังสือจดหมายเหตุบันทึกผิดที่อ้างว่าเป็นวันสถาปนากรมไปรษณีย์โทรเลข แต่ชั่งเถิดคงไม่ค่อยมีใครเขาสนใจนักดอก
แต่อันที่จริงประวัติศาสตร์การสื่อสารสยามมีเหตุการณ์สำคัญน่าระลึกถึงมากมายมาก่อนนั้นอย่างเช่น เรื่องราวของโทรเลขนั้นนับเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารแรกที่เข้าสู่สยามนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๔ (เจ้าฟ้าภาณุรังษี ๒ พรรษาเท่านั้นเอง) และสถาปนากรมสายเตลิคราฟในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ มีเกร็ดประวัติศาสตร์สำคัญมากมาย
ผมก็ยังแอบคิดไปว่าประวัติศาสตร์มันยาวนานเกินชั่วอายุคน นานจนอาจจะทำให้เราปักใจเชื่อไปว่าไปรษณีย์มาก่อนโทรเลข หรือสามัญสำนึกคนเราจะคิดว่าโทรเลขเป็นเทคโนโลยีทางวิศวกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่น่าจะเกิดก่อนการไปรษณีย์ที่ดูธรรมดาๆ โบราณๆ แค่เขียนใส่กระดาษ และฝากคนไปส่ง ผมพยายามเริ่มเดาหาเหตุผลทางสามัญสำนึกดังวิญญูชนทั่วไป (Common sense is not common) สามัญสำนึกไม่ใช่เรื่องสามัญเลย
...เริ่มต้นผมก็ต้องตั้งสมมติฐานก่อนว่าเพราะอะไร คณะกรรมการฯ จึงเลือกวันที่ ๔ สิงหาคม แน่นอน ครม. ท่านคงไม่ทราบอยู่แล้วว่าประวัติศาสตร์การโทรคมนาคมไทยเป็นมาอย่างไร เพราะท่านเป็นนักการเมือง แต่กระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นผู้ดูแลหน่วยราชการที่ให้บริการสื่อสาร และโทรคมนาคมในประเทศอยู่ในเวลานั้น น่าจะพอทราบบ้าง หรือว่าประวัติศาสตร์ขาดตอนเพราะไม่มีบุคลากรสืบทอดตำนานนะ
หลายวันต่อมาด้วยความสงสัย ผมทนนั่งเรียนไปไม่ไหวโดดเรียนไปค้นคว้าต่อที่ห้องสมุดใหญ่ แล้วในที่สุดผมก็ได้คำตอบ คำตอบที่ไม่ได้เกิดจากการวิจัยใดๆ เชื่อถือไม่ได้ครับท่านผู้อ่านต้องค้นคว้าต่อเอง แต่ผมตั้งข้อสมมุติของผมเอาอย่างนั้น
ผมค้นคว้าข้อมูลอยู่หลายชั่วโมงจนมาพบว่า บ้านเรามีเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวกับการสื่อสารที่เก่าแก่สุด เรียกว่า “งานวิจัย” แบบ Documentary Research ในเรื่องการสื่อสารคมนาคมเล่มแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และได้รับทุนวิจัย โดยผู้เขีบนเป็น ศ.ดร. ด้านประวัติศาสตร์ (ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) ซึ่งในรายงานผลการวิจัยฉบับนั้น ท่านเอ่ยถึงวันสถาปนากรมไปรษณีย์เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นหน่วยงานราชการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมแรก เราเลยละเลยหลักฐานประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่มีมาก่อนงานวิจัยนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ขึ้นไป ทั้งสำเนาสัญญาบัตรแต่งตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕ หนังสือราชกิจกานุเบกษา และบันทึกต่างๆ อีกมากมายที่กล่าวถึงหน่วยงานการสื่อสารสยามที่มีมาก่อนหน้านั้นมากมายจึงถูกลืมไปสิ้น ผมเดาติดตลกว่าท่านอาจจะได้ทุนแล้วรีบปิดจ๊อบเลยเขียนจบๆ ไป ใครจะรู้ว่าคนรุ่นหลังๆ เลยถือตามกันมา
ทีนี้หลังปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา หรือหลัง พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา การหยิบจับอ้างอิงทางวิชาการในปีถัดมาเรื่อย จึงมักจะยึดถือประเด็นนี้เป็นสำคัญในการเริ่มต้นการสื่อสารของชาติ ไม่ว่าหนังสือประวัติศาสตร์ด้านการสื่อสารจากหน่วยงานใดหรือแม้แต่หนังสือวันสื่อสารแห่งชาติของกรมไปรษณีย์โทรเลขเองทั้งนั้น ล้วนแต่ยึดถือการเกริ่นนำว่าวันสถาปนากรมไปรษณีย์เป็นวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ เป็นจุดกำเนิดการสื่อสารสยามแทบทั้งสิ้น ผมจึงไม่แปลกใจแล้วว่าคณะกรรมการฯ ชุดนั้นทำไมเลือกวันที่ ๔ สิงหาคม เป็นวันสื่อสารแห่งชาติ
โชคดีของผมจริงๆ ที่ต่อมาผมพบนักวิจัยชราท่านนั้น และได้เคยคุยกับท่าน ผมถามท่านว่าประวัติศาสตร์ที่ไกลกว่าวันสถาปนากรมไปรษณีย์เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ท่านทราบหรือไม่ ท่านก็ไม่ทราบเลยจริงๆ ซึ่งผมเป็นผู้น้อยก็เลยเงียบเฉยไม่อวดรู้ต่อท่าน อีกทั้งเอกสารหลักฐานอยู่บ้านคงไม่ง่ายที่จะเอามาอวดท่านและท่านเองก็คงไม่อยากฟังผมเช่นกัน เพราะผมไม่ได้เรียนจบประวัติศาสตร์แบบท่าน
แต่มาวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไปถึงเมื่อวันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ซึ่งปีนี้ ๔ สิงหา ก็เป็นวันเสาร์เช่นเดียวกัน ผมเลยเริ่มสงวัยว่า เอ๋! วันเสาร์แล้วจะมีการสถาปนากรมไปรษณีย์ได้อย่างไร?
จึงค้นคว้าต่อไปพบว่า ไม่ได้มีพิธีเปิดเป็นทางการแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จทรงงานหนังสือราชการที่ห้องนั่งเล่น (Sitting room) ราวบ่าย ๓-๔ โมงเย็น เท่าที่หาอ่านได้ก็มีแค่บันทึกไว้ใน จดหมายเหตุราชกิจรายวัน ภาคที่ ๑๔ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งมีเพียงข้อความว่า "วันนี้เปิดไปรสนีย์ออฟฟิศ" เพียงแค่นี้นักวิจัยท่านนั้น ก็ทึกทักเอาว่าเป็นวันสถาปนากรมไปรสนีย์ซะงั้น (ดูภาพคำบรรยายในเอกสารประกอบ) ผมยังไม่มั่นใจเลยว่า นั่นคือการสถาปนา อาจจะเป็นเพียงการเปิดสำนักงานด้วยที่ได้อาคารใหม่ และข้าราชการเข้าไปทำความสะอาดตกแต่งแล้วเสร็จ ไม่ใช่การสถาปนาหน่วย แต่กลายเป็นคนรุ่นหลังมาถือตามกันว่าเป็นวันสถาปนากรมไปรษณีย์เพราะิ้างอิงตามงานวิจัยชิ้นนั้นมา
บทความนี้ปรารถนาเพียงส่งเสริมงานวิชาการด้วยวิธีวิจัยแบบ Documentary research เช่นกัน การค้นพบความจริงทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จะต้องหมั่นตรวจสอบแก้ไขอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตามกรมไปรสนีย์ เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีที่ทำการใหญ่ เรียกว่า ไปรสนียาคาร ตั้งอยู่ ณ ปากคลองโอ่งอ่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ในมุมการบริหาร เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ อธิบดีกรมไปรษณีย์พระองค์แรก ทรงทำทะเบียนราษฎร์สำเร็จภายในปีเดียว มีบ้านเลขที่สำหรับรับจดหมาย ผมยังนึกแล้วยังประหลาดใจพระองค์ทรงทำได้อย่างไรในเวลาไม่กี่ร้อยวัน เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ พระองค์เป็นผู้สร้างกรมไปรษณีย์ให้สำเร็จมั่นคง และทรงเป็นพละกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการปฏิรูปประเทศต่อมา และเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในประเทศรองจากพระเจ้าอยู่หัวในยุคนั้นก็กล่าวได้
ไปรสนียาคารยุคแรก
ยุคแห่งสยามเริ่มต้นพัฒนา กรมไปรษณีย์ค่อนข้างรุ่งเรืองมาก เพราะกิจการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชาวต่างชาติบางรายกล่าวว่ากรมไปรสนีย์สยาม เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้สยามมีความเป็นสากลและพร้อมเข้าสู่เวทีนานาชาติ สืบเนื่องต่อมาในหลายรัชกาลจนกรมไปรษณีย์โทรเลขถือเป็นหน่วยราชการเกรด A ก็ว่าได้ แต่ก็ได้แยกหน่วยงานออกไปเรื่อยๆ ไปเป็นธนาคารออสิน ไปเป็นองค์การโทรศัพท์ ไปเป็นการสื่อสารแห่งประเทศไทย จนในท้ายที่สุดกรมไปรษณีย์โทรเลขไม่ได้ส่งไปรษณีย์และโทรเลขแล้ว เหลือเพียงการบริหารคลื่นความถี่ และถูกยุบไปในปี พ.ศ.2547 กลายเป็น สำนักงาน กทช. และกลายมาเป็น สำนักงาน กสทช. ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม “วันสื่อสารแห่งชาติ” จะมีเหตุผลความเป็นมาอย่างไรก็ตามแต่ ผู้อ่านคงได้สิ้นสงสัยไปแล้ว ผมอยากให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันนั้นเป็นเช่นไร ความสำคัญที่ผมหมายถึงนั้น ตั้งแต่การรู้จักการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารให้เหมาะสมกับฐานานุรูปแห่งตน ไม่ใช่เป็นคนฟุ้งเฟ้อหรืออนาถาจนเกินไป ตลอดจนเรียนรู้ประวัติศาสตร์การสื่อสารที่เคยเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการช่วยให้ชาติเราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกวิลาศ การสื่อสารช่วยในการพัฒนาความรู้ของคนในชาติ การสื่อสารช่วยในการพัฒนาบ้านเมืองในทุกด้าน และเทคโนโลยีการสื่อสารก็ยังคงมีความสำคัญอันดับหนึ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติไทยเราในปัจจุบัน การรู้จักประยุกต์ใช้ที่ถูกวิธีนั้นจะอนุวัตรการพัฒนาชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
อ้างอิง
พนังสือพระประวัติ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศวรเดช รวบรวมโดยหม่อมเจ้าดำรัศดำรงค์ เทวกุลฯ รวบรวมโดยพระบรมราชโองการเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (รัชกาลที่ ๗) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อปีมะเส็ง พุมทธศักราช ๒๔๗๒
อยากให้เยาวชนไทยมีนิสัยใฝ่รู้อย่างอาจารย์ค่ะ สนใจในเรื่องที่ตัวเองอยากเรียนอยากอ่านแล้วก็ค้นคว้ากันไปเองเลย ไม่ต้องรอให้ใครมาป้อนนะคะ