สิมวัดใต้ยางขี้นกมาจากไหน ?


ประวัติความเป็นมาของวัดใต้ยางขี้นก และเรื่องราวการสร้างสิมโบราณแห่งนี้ เป็นข้อมูลจากเรื่องเล่าและข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือเท่ากับข้อมูลลายลักษณ์อักษร แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานจากความทรงจำของคนท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมา ทำให้เราเห็นพัฒนาการของชุมชน ที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ พัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง

สิมวัดใต้อัมพวัน : หลักฐานท้องถิ่น สู่การก่อตั้งชุมชนบ้านยางขี้นก อำเภอเขื่องใน  จังหวัดอุบลราชธานี

ภาณุพงศ์  ธงศรี เรียบเรียง[1]

                วัดใต้ยางขี้นก หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วัดใต้อัมพวัน  เป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาของชุมชนบ้านยางขี้นกทั้ง 3 หมู่บ้าน  มีความสำคัญในการประกอบพิธีกรรมและอบรมคุณธรรมจริยธรรมให้กับคนในชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น  มีโบราณสถานที่สำคัญบอกเล่าความเป็นมาของชุมชนบ้านยางขี้นกในอดีต

          ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 105 บ้านยางขี้นก หมู่ที่ 10 ตำบลยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ 40 งาน น.ส.3 เลขที่ 196 มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 ศาลาการเปรียญ 1 หลัง อุโบสถโบราณตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุต 1 หลัง และศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุมีพระประธาน 1 องค์ พระพุทธรูปยืน 1 องค์ และพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินศิลปะแบบล้านช้าง จำนวน 10 องค์

          ประวัติความเป็นมาของวัดใต้ยางขี้นก  สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2392 หลังย้ายหมู่บ้านจากโนนบ้านเก่า  เนื่องด้วยเกิด“บ้านเดือด”  ผู้คนได้ล้มตายจำนวนมาก ท้าวสีหนาท ท้าวโพธิราช ท้าวจันทเสน ซึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านในคราวนั้นได้แยกย้ายกันออกไปตั้งหมู่บ้านต่าง ๆ  ท้าวสีหนาท ได้พาไพร่พลข้ามฝั่งห้วยวังในมาตั้งบ้านยางขี้นกในปัจจุบัน  ท้าวจันทเสนและท้าวโพธิราช พาไพร่พลไปตั้งบ้านหนองหิน ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง  จังหวัดยโสธร  ฝ่ายท้าวสีหนาทเมื่อย้ายมาตั้งชุมชนใหม่ จึงสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน  ได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดบ้านเขื่องใน แต่เนื่องด้วยวัดเขื่องในก็มีพระสงฆ์จำพรรษาไม่มาก จึงได้ไปนิมนต์พระสงฆ์จากอัญญาท่านหลักคำ ที่วัดหลวง เมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ให้มาอยู่จำพรรษา เมื่อพระสงฆ์จากวัดหลวงได้มาจำพรรษา  ชาวบ้านได้สร้างหอแจกไม้ 1 หลัง เป็นที่ประกอบศาสนกิจสำหรับพระสงฆ์และชาวบ้าน

          ในปีพุทธศักราช 2413 ออกตนญาติโยมชาวบ้านยางขี้นก และหมู่บ้านใกล้เคียงได้ตั้งใจสร้างสิมให้เป็นถาวรวัตถุ  พระสงฆ์พร้อมด้วยคณะชาวบ้านได้เดินทางเข้าไปปรึกษากับอัญญาท่านหลักคำ  เมืองอุบลราชธานี  อัญญาท่านหลักคำจึงได้ให้ช่างจากเมืองอุบลราชธานี  มาเป็นนายช่างใหญ่ พาชาวบ้านก่อสร้างสิมตามแบบศิลปกรุงศรีสัตนาคนหุต ใช้เวลาประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ

          สิมเก่าวัดใต้ยางขี้นกหลังนี้ คล้ายคลึงกับสิม วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสิมบกหรือคามสีมา คือสิมที่สร้างไว้บนบก มีขนาดไม้ใหญ่โตนัก มีผังแปลนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 3 ช่วงเสา และกว้าง 1 ช่วงเสา ทำประตูเข้าเฉพาะด้านหน้าด้านเดียว หลังคา ทรงจั่ว มีปกนกคลุมด้านข้าง แกะสลักลวดลายเป็นฮังผึ้ง (รวงผึ้ง) ประดับด้าน มุขหน้าทางเข้า และมีฮูปแต้มเขียนไว้ด้านนอก ผนังปิดทึบทั้ง 4 ด้าน ช่องประตูและหน้าต่างก่ออิฐ มีกรอบประตู หน้าต่าง โหง่ ช่อฟ้า หาง หงส์ และคันทวยเป็นไม้  ส่วนฐานเป็นแบบเอวขันปากพาน มีบันไดขึ้นตัวอาคารและฐานถือปูน

          ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.30 เมตร ฐานชุกชีกว้าง 1.20 เมตร สูง 1.50 เมตร ด้านข้างลึก 0.60 ทั้งยังมีพระไม้ทรงเครื่องปิดทอง และพระหินทรายแกะสลักอยู่บนฐานชุกชีด้านข้างด้วย

          จุดเด่นของสิมวัดใต้ยางขี้นก คืองานแกะสลักไม้ ที่มีความละเอียดงดงามทั้งมุขประตู  ซุ้มหน้าต่างและคันทวย  ตกแต่งด้วยกระจกหลายสี มีฮูปแต้มภายนอกสิม เป็นภาพที่บอกเล่าวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น และภาพลามก ซึ่งถูกลบเจ้าอาวาสในอดีตลบออกเพราะไม่เข้าใจคติธรรมที่ช่างเขียนฮูปแต้มได้เขียนเอาไว้ เมื่อพินิจแล้วลวดลายและสีสันน่าจะอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คล้ายคลึงกับวัดทุ่งศรีเมือง  อำเภอเมือง อุบลราชธานี หากแต่ภาพวาดของสิมนี้ได้รับอิทธิพลของเวียงจันทร์ แม้รูปแบบอาคารจะมีกลิ่นอายของรัตนโกสินทร์อยู่มาก

          ประวัติความเป็นมาของวัดใต้ยางขี้นก และเรื่องราวการสร้างสิมโบราณแห่งนี้ เป็นข้อมูลจากเรื่องเล่าและข้อมูลจากการสัมภาษณ์  ซึ่งเป็นหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือเท่ากับข้อมูลลายลักษณ์อักษร แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นหลักฐานจากความทรงจำของคนท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมา  ทำให้เราเห็นพัฒนาการของชุมชน ที่มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ พัฒนาควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง

บรรณานุกรม

ชวลิต อธิปัตยกุล. (3). โถงในอีสาน: ร่องรอยรสนิยมทางงานช่างพื้นถิ่น. วารสารพื้นเมืองโขง ชี มูล, 119 - 150.

ธาดา สุทธิธรรม. (2553). รายงานผลการดำเนินโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน กรณีวัดโนนศิลา บ้านสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นและวัดยางขี้นกใต้ บ้านยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปีที่ 1: การซ่อมหลังคา การทำความสะอาดและบันทึกฮูปแต้ม. อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

นิยม วงศ์พงษ์คำ และคณะ. (ม.ป.ป). ฐานข้อมูลทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ด้านพุทธศิลป์ในภาคอีสาน. เรียกใช้เมื่อ 26 มิถุนายน 2561 จาก http://cac.kku.ac.th: http://cac.kku.ac.th/esanart/19%20Province/Ubon%20Ratchathani/Tai%20Banyangkenok/UR%20Tai%20Banyangkenok.html

สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี. เรียกใช้เมื่อ 26 มิถุนายน 2561 จาก www.lib.ubu.ac.th: http://www.lib.ubu.ac.th/ubon_...0289.pdf

เสถียร ประกอบจันทร์. (ม.ป.ป). ประวัติศาสตร์บ้านยางขี้นก. อุบลราชธานี: โรงเรียนบ้านยางขี้นก.

[1] นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



ความเห็น (1)

ต้องไปตามสืบกะ พ่อใหญ่เรือง เครือศรี (พี่ใหญ่จารย์หนู) มักทายก วัดป่าหนองสองพี่น้อง ว่าจะไปสืบสาวเรื่องนี้ย้อนหลังจากไหน เพราะพ่อใหญได้ยกถวายที่ดินให้วัดใต้บางส่วน แล้วย้ายบ้านตัวเองไปอยู่หมู่ 1 ติดอนามัยตำบลหน่ะแหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท