อายตนะ12(อายตนะภายใน6 อายตนะภายนอก6)


อายตนะ

             อายตนะ (อ่านว่า อายะตะนะ) แปลว่า  ธรรมที่มีสภาพคล้ายกับว่ามีความพยายามเพื่อยังผลของตนให้เกิดขึ้น เช่น จักขายตนะกับรูป เป็นเหตุให้การเห็นเกิดขึ้น การเห็นจัดเป็นผล ที่เชื่อมต่อ, เครื่องติดต่อ หมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น อวัยวะที่ต่อระหว่างจิตกับอารมณ์ธรรมที่ทำซึ่งจิตและเจตสิกให้กว้างขวางเจริญขึ้น

อายตนะมีคุณสมบัติสำคัญแบ่งออกเป็น 5 อย่าง คือ

  1. อายตนะภายใน เป็นที่เกิดแห่งวิถีจิตอยู่เสมอ จะเกิดในชาติใดภพใดก็ตาม วิถีจิต ไม่เกิดที่อื่น ต้องเกิดตามอายตนะเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
  2. อายตนะภายในเหล่านี้ มีลักษณะเหมือนเป็นที่อยู่ของวิถีจิต เหมือนพิณ เมื่อมีผู้ดีดก็จะมีเสียงดังขึ้น คล้ายกับว่าเสียงอยู่ในสายพิณ วิถีจิตก็เช่นเดียวกันเมื่ออายตนะกระทบกันขึ้น วิถีจิตจึงเกิด
  3. อายตนะภายในเหล่านี้ เกิดขึ้นอยู่ในสัตว์ทั่วไป ไม่เลือกชั้นสูง ต่ำ สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ คือไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องมี ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกันทั้งสิ้น
  4. อายตนะภายนอก เป็นที่ประชุมของวิถีจิตทั้งหลาย คือวิถีจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการรับอารมณ์เสมอ การรับอารมณ์คล้ายกับว่าเข้าไปประชุมอยู่ในอายตนะภายนอกเหล่านั้น
  5. อายตนะทั้งภายในและภายนอกจำนวนอย่างละ 6 นี้ เป็นเหตุให้วิถีจิตเกิด ถ้าไม่มีอายตนะเหล่านี้เสียแล้ว วิถีจิตย่อมเกิดไม่ได้

ซึ่งอายตนะแบ่งเป็น 2 อย่างคือ

1. อายตนะภายใน หมายถึงสื่อเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคน บ้างเรียกว่า อินทรีย์ 6 มี 6 คือ  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดนี้เป็นที่เชื่อมต่อกับอายตนะภายนอก

2. อายตนะภายนอก หมายถึงสื่อเชื่อมต่อที่อยู่นอกตัวคน บ้างเรียกว่า อารมณ์ 6 มี 6 คือ

            รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหมดนี้เป็นคู่กับอายตนภายใน เช่น รูปคู่กับตา หูคู่กับเสียง เป็นต้น

             อายตนะภายนอกนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ เมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า สัมผัส รู้ว่ามีการเห็น เรียกว่าวิญญาณ เกิดความรู้สึกขึ้นเมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า เวทนา

การทำหน้าที่ของอายตนะ

อายตนะ ทำให้เกิดความรู้ซึ่งเกิดจากการเชื่อมต่อระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน เมื่ออายตนะภายในซึ่งเป็นแดนรับรู้กระทบกับอารมณ์ คืออายตนะภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็จะเกิดความรู้จำเพาะด้านของอายตนะแต่ละอย่างๆ ขึ้น เช่น ตากระทบรูป เกิดความรู้ เรียกว่า เห็น หูกระทบเสียง เกิดความรู้ เรียกว่า ได้ยิน เป็นต้น ความรู้จำเพาะแต่ละด้านนี้เรียกว่า วิญญาณ แปลว่า ความรู้แจ้ง คือรู้อารมณ์ ดังนั้นจึงมีวิญญาณ 6 อย่างเท่ากับอายตนะ และอารมณ์ 6 คู่ คือ วิญญาณทางตา ได้แก่ เห็น วิญญาณทางหู ได้แก่ ได้ยิน วิญญาณทางจมูก ได้แก่ ได้กลิ่น วิญญาณทางลิ้น ได้แก่ รู้รส วิญญาณทางกาย ได้แก่ รู้สิ่งต้องกาย วิญญาณทางใจ ได้แก่ รู้อารมณ์ทางใจ หรือรู้เรื่องในใจ

สรุปได้ว่า อายตนะ 6 อารมณ์ 6 และวิญญาณ 6 มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ

  1. จักขุ ตา เป็นแดนรับรู้รูป เกิดความรู้คือ จักขุวิญญาณ-เห็น
  2. โสตะ หู เป็นแดนรับรู้เสียง เกิดความรู้คือ โสตวิญญาณ-ได้ยิน
  3. ฆานะ จมูก เป็นแดนรับรู้กลิ่น เกิดความรู้คือ ฆานวิญญาณ-ได้กลิ่น
  4. ชิวหา ลิ้น เป็นแดนรับรู้รส เกิดความรู้คือ ชิวหาวิญญาณ-รู้รส
  5. กาย กาย เป็นแดนรับรู้โผฏฐัพพะ เกิดความรู้คือ กายวิญญาณ-รู้สิ่งต้องกาย
  6. มโน ใจ เป็นแดนรับรู้ธรรมารมณ์ เกิดความรู้คือ มโนวิญญาณ-รู้เรื่องในใจ

การรับรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อวิญญาณเกิดขึ้น ซึ่งโดยปกติวิญญาณจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน แต่ในบางกรณีก็ไม่เกิดการรับรู้ เช่น ถูกสัมผัสขณะหลับ หรือมองสิ่งต่างๆ ขณะเหม่อลอย จะไม่เกิดการรับรู้ใดๆ การรับรู้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีองค์ประกอบเกิดขึ้นครบทั้ง 3 อย่าง ได้แก่ อายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ หรือสัมผัส แปลว่า การกระทบ หรือหมายความว่า การบรรจบพร้อมกันแห่งอายตนะ อารมณ์ และวิญญาณ

เมื่อผัสสะเกิดขึ้น กระบวนการรับรู้ก็ดำเนินต่อไป เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้น การจำหมาย การคิดปรุงแต่ง ตลอดจนการแสดงออกต่างๆ ที่สืบเนื่องไปตามลำดับ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้นี้เรียกว่า เวทนา แปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่ออารมณ์ที่รับรู้เข้ามานั้นโดยเป็นสุขสบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเวทนามีการเกิดตามช่องทางของอายตนะที่เกิดขึ้น เช่น เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาที่เกิดจากการสัมผัสทางหู เป็นต้น ซึ่งสามารถจัดระดับเวทนาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ อทุกขมสุข หรือถ้าจัดให้ละเอียดลงไปอีกก็จะได้ 5 ระดับ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส และ อุเบกขา สามารถสรุปกระบวนการรับรู้ได้ดังนี้

กระบวนการรับรู้

อายตนะ + อารมณ์ + วิญญาณ = สัมผัส → เวทนา

ทางรับรู้ สิ่งที่ถูกรู้ ความรู้ การรับรู้ เกิด ความรู้สึกต่ออารมณ์

อายตนะจึงมีความหมายในลักษณะที่ว่า เป็นธรรมที่มีสภาพคล้ายๆ กับพยายามเพื่อให้เกิดผลตามคุณสมบัติของตน เช่น

  • อายตนะที่เรียกว่าตา กระทบหรือเชื่อมต่อกับอายตนะที่เรียกว่าสี จึงมีการเห็นสี
  • อายตนะที่เรียกว่าหู เชื่อมต่อกับอายตนะที่เรียกว่าเสียง จึงมีการได้ยินเกิดขึ้น
  • อายตนะที่เรียกว่าจมูก เชื่อมต่อกับอายตนะที่เรียกว่ากลิ่น จึงมีการรู้กลิ่นเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า อายตนะภายในและอายตนะภายนอก เป็นเหตุให้มีผลเกิดขึ้น เช่น

  • จักขายตนะกับรูปายตนะ (เป็นเหตุ) การเห็น (เป็นผล)
  • โสตายตนะกับสัททายตนะ (เป็นเหตุ) การได้ยิน (เป็นผล)
  • ฆานายตนะกับคันธายตนะ (เป็นเหตุ) การได้กลิ่น (เป็นผล)
  • ชิวหายตนะกับรสายตนะ (เป็นเหตุ) การรู้รส (เป็นผล)
  • กายายตนะกับโผฏฐัพพายตนะ (เป็นเหตุ) การรู้สัมผัส (เป็นผล)
  • มนายตนะกับธัมมายตนะ (เป็นเหตุ) การรู้เรื่องราวต่างๆ (เป็นผล)

เหตุกับผลที่กล่าวมานี้ เป็นไปตามสภาวะ อายตนะต่างๆ เหล่านี้ มีการขวนขวาย พยายาม เพื่อให้ผลของตนเกิด
สิ่งที่เชื่อมต่อเหล่านี้ ทำให้จิตและเจตสิกธรรมกว้างขวางเจริญขึ้น คือเมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกันเข้า เกิดการรู้อารมณ์ทางทวารนั้นๆ วิถีจิตต่างๆ มีจักขุทวาร วิถียอมเกิดขึ้น วิถีจิตนั้นเมื่อเกิด มิใช่เกิดเพียงวิถีเดียว แต่จะเกิดจำนวนนับไม่ถ้วน ในวิถีจิต หนึ่งๆ นั้น มีจิตหลายชนิดเกิดขึ้น ทั้งกุศลและอกุศล ทั้งวิบาก ทั้งกิริยา อาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เรียกว่า จิต เจตสิก เจริญกว้างขึ้น

นอกจากนี้ กุศลธรรม มีศรัทธา สติ ปัญญา อกุศลธรรม มีโลภะ โทสะ เป็นต้น เมื่อเกิดในระยะแรกยังมีกำลังอ่อน แต่เมื่อวิถีจิตเกิดวนเวียนซ้ำหลายรอบเข้า กำลังแห่งกุศล และอกุศลเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ กระทั่งสำเร็จเป็นสุจริต ทุจริต ลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่าจิต เจตสิกมีความเจริญกว้างขวางเพราะอาศัยการกระทบเชื่อมต่อของอายตนะภายใน ภายนอกนี้เอง

เอกสารอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อายตนะ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/

                     Wiki/อายตนะ/https://sites.google.com/site/อายตนะ12วัดสาคูใต้ [10 มิ.ย. 2561].

หมายเลขบันทึก: 649002เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เกิดดับที่ อายตนะภายนอกและอายตนะภายใน ฯลฯ“ผู้ที่เพลิดเพลินอยู่ในอายตนะ เท่ากับ เพลิดเพลินอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ผู้นั้นยังออกจากทุกข์ไม่ได้”

ขอบคุณคร้าาาาสาาาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท