อุปาทาน


อุปาทาน

พระธันวา แซ่ว่าง

             อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่น หมายถึงการที่จิตใจเข้าไปสำคัญมั่นหมายว่า เป็นเรา เป็นของเรา ปักใจ คิดแล้ว คิดอีก คิดเน้น คิดย้ำ ซ้ำๆวนเวียน อย่างไม่ยอมปลดปล่อยถอยถอน ด้วยอำนาจตัณหาและกิเลส เป็นเหตุให้หนักใจ อึดอัด ขัดเคือง กดดัน อันเป็นสาเหตุแห่งความเครียด

             พระพุทธเจ้าทรงจำแนกอุปาทานไว้สี่ประการคือ

            1. อัตตวาทุปาทาน ความสำคัญมั่นหมายว่า ชีวิต เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา สำคัญมั่นหมายชีวิต ทรัพย์สิน ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขว่า เป็นของเรา เป็นของเขา ความสำคัญมั่นหมายว่า เป็นเรา ปรากฏขึ้นมาในใจเมื่อไร ความรู้สึกว่า เราได้ เราเสีย เราเป็นสุข เราเป็นทุกข์ เราได้รับการสรรเสริญ เราได้รับการกดขี่หรือดูหมิ่น จะเป็นเหตุให้เกิดความ พอใจ ไม่พอใจ สมหวัง ผิดหวัง ได้รับสิ่งที่ปรารถนา เสียของรักไป ผู้ที่ทำหน้าที่แปลสัญญาณให้ออกมาเป็นสุขหรือทุกข์ล้วนมา จากความสำคัญมั่นหมายว่า เรา ว่า ของเรานี้เอง

             ในทางตรงกันข้ามขณะใดจิตบริสุทธิ์ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่า เรา ว่าเขา ว่าตัวเรา ว่า ของเรา จิตปกติ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เป็นกลาง ไม่บวกไม่ลบ ขณะจิตนั้นเรียกว่าจิตว่าง ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่รก ไม่หนัก ไม่อึดอัด ไม่เครียด

            2. กามุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่นในกาม ได้แก่สภาพที่จิตคิดหน่วงเหนี่ยว วนเวียน ตอกย้ำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หมกมุ่นอยู่แต่ในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพราะคำว่า กาม หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ อันเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความพอใจ เพราะเคยชินอยู่กับสิ่งที่น่าพอใจ แม้ขณะที่เสวยอารมณ์ที่น่าพอใจนั้น จะมีความตื่นเต้น เร้าใจกดดันหรือเครียดอย่างไรก็ทนได้ง่าย เรียกว่า เป็นสุข เพราะคำว่า สุข แปลตามรากศัพท์ว่า ทนได้ง่าย ซึ่งอยู่ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นเหตุให้ตื่นเต้นเร้าใจเครียดง่าย แต่ไม่น่าพอใจไม่น่าชอบใจ เมื่อประสบกับสิ่งนั้นก็ทน ได้ยาก หรือ เรียกว่าทุกข์ เพราะคำว่าทุกข์ แปลตามรูปศัพท์ว่า ทนได้ยาก ความยึดมั่นถือมั่นในกามจึงเป็นสิ่งที่ต้อง ทนกันไป ทนง่ายก็เป็นสุข ทนยากก็เป็นทุกข์ วันใดใครก็ตามมองเห็นความจริงจากประสบการณ์ว่า ทนยากก็ต้องทน ทนง่าย ก็ต้องทน ความไม่ต้องทนทั้งยากและง่ายเป็นความเบาที่แท้จริง ก็จะแสวงหาสภาวะที่อยู่เหนือ สุข เหนือทุกข์คือไม่ต้อง แบกรับทั้งทนง่ายและทนยากอีกต่อไปแล้ว จึงตกลงปลงใจปล่อยวางด้วยความสมัครใจ ไม่ต้องเชื่อใคร ทำไปด้วยปัญญา ล้วนๆ

            3. ทิฏฐุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่นถือมั่นในความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ยอมถอดถอนด้วยเหตุผลหรือแรง จูงใจใดๆ ได้ เช่นบางคนมีทิฏฐิว่า การดื่มสุรา เป็นเหตุแห่งความสุข เมื่อเขาหรือเธอต้องการความสุข ก็จะพากันไปดื่มสุรา นักเลงสุราที่ตั้งวงดื่มสุรากันได้เป็นวันเป็นคืน ก็เพราะบุคคลเหล่านั้นมีทิฏฐิว่า ดื่มสุราแล้วมีความสุข บางคนเชื่อว่า การเล่น การพนัน เป็นการผ่อนคลายที่ดีและมีความสุข ไม่ว่าจะได้หรือเสีย ล้วนเป็นสิ่งที่ให้ความสุขได้ ก็จะใช้เวลาว่าง เข้าสู่วงการ พนันทันที ไม่ว่าจะเป็นวงเล็ก เช่นเล่นกันในบ้าน วงใหญ่ไปเล่นในบ่อนมาตรฐาน ฉะนั้นพอถึงวันหยุดสำคัญๆจะมีขบวนรถ เดินทางไปบ่อนการพนันกันอย่างเนืองแน่น บางคนเชื่อมั่นว่า ความสุขแท้อยู่ที่จิตสงบ ซบอยู่กับความดีหรือความว่าง ก็ใช้ เวลาว่างหรือเวลาทุกนาทีในการทำจิตให้สงบหรือจิตว่าง กลุ่มคนที่เชื่ออย่างนี้ก็จะพากันเดินทางไปวัดวาอารามหรือสถานที่ ปฏิบัติธรรมเพื่อร่วมกันหาความสุขตามทิฏฐิของตน หากมองโลกบนพื้นฐานแห่งทิฏฐิก็จะพบความแตกต่างของมนุษย์ หลากหลายมากมาย และปัจจัยสำคัญที่จัดสรรมนุษย์ให้ใช้ชีวิตอย่างไร ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ก็คือตัวทิฏฐินี่เอง

             การเปลี่ยนทิฏฐิจากมิติหนึ่งไปสู่มิติหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจของตนเองโดยไม่มีใครจะมาจูงใจ ให้ไปสู่ทิฏฐิตามที่คนอื่นปรารถนาได้ง่ายๆ เช่นคนดื่มสุราจะหยุดดื่มสุราเพราะฟังธรรมเทศนาเรื่องสุราครั้งเดียวไม่ได้ แต่หาก วันหนึ่งเขาหรือเธอเข้าใจโทษของสุราอย่างแจ่มชัด ก็จะเปลี่ยนวิธีหาความสุขจากการดื่มสุราไปสู่วิธีอื่นที่ตนเองเห็นว่า เหมาะสทนมทันที

                4. สีลพัตตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในศีลพรต หมายถึงการสมาทานศีลหรือการปฏิบัติกิจวัตรพิเศษอย่างใด อย่างหนึ่งโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความขลัง ศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์มีเดช มีสัมผัสพิเศษ เช่น คนที่นับถือเจ้าแม่หรือเทพเจ้าบางตน ต้องรับประทานผักและผลไม้ ไม่รับประทานเนื้อ ด้วยเหตุผลว่า เจ้าแม่หรือเทพเจ้าองค์นั้นไม่โปรดปราน หรือการสมาทาน ศีลห้า หรือศีลแปดเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้แล้วจะได้รับสิ่งที่ตนปรารถนาเช่นการถือศีลสะเดาะเคราะห์ หรือบวชแก้บน ล้วน อยู่ในสีลพัตตปรามาสทั้งสิ้น แต่หากปฏิบัติตรงกันข้ามกับสิ่งนี้อย่างมีเหตุผลเช่นการสมาทานศีลเพื่อให้ชีวิตเป็นระเบียบ เพื่อความสงบเย็นทั้งกาย วาจาและใจ เพื่อให้สังคมสงบด้วย หรือจิตใจเปี่ยมด้วยความกรุณาจนรู้สึกเองว่า นอกจากไม่ฆ่าสัตว์ ไม่รังแกสัตว์แล้ว แม้เต่เนื้อสัตว์ก็แตะไม่ได้อีกแล้ว ปฏิบัติไปด้วยอำนาจของความกรุณาโดยมิต้องการสิ่งใดในทางลึกลับ มาประสิทธิ์ประสาทสิ่งใดให้ นับเป็นการปฏิบัติศีลที่ถูกต้อง และได้รับผลเป็นความสงบร่มเย็น

             กล่าวโดยสรุป อุปาทาน ยึดมั่นในสิ่งใด ก็เป็นทุกข์ หนักพอๆกัน ปล่อยวางได้เท่าไร ก็เบาเท่านั้น เรื่องนี้ไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่คำสอน แต่เป็นความจริง ถ้ารู้สึกว่าหิ้วหอบอะไรไว้นานแล้วหนักเหลือเกินจะปลดปลงปล่อยวางลงก็ไม่ผิดกติกาแต่ อย่างใด เมื่อปล่อยวางลงได้แล้วรับผลแห่งความเบานั้นทันที ชอบแบกหอบหิ้วหรือชอบปล่อยวางก็ต้องเลือกเอาเอง

เอกสารอ้างอิง:

พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ, ดร. อุปาทาน 4 ประการ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://live.siammedia.org/inde... [10 มิ.ย. 2561].

คำสำคัญ (Tags): #อุปาทาน
หมายเลขบันทึก: 649001เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท