๒๔๒. "ความพอเพียง" กับตัวชี้วัดที่ล้มเหลวของการศึกษาไทย


เส้นทางเงินกู้ชพค.จึงคล้ายเป็นวิบากกรรม ซ้ำเติมภาพลักษณ์ครูในเรื่อง “หนี้สิน” จึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริง..ที่กระทรวง..ที่ควรเป็นต้นแบบ”เศรษฐกิจพอเพียง”กลับมีปัญหาที่สวนทางกับแนวคิดที่ทรงคุณค่า..ที่แม้ต่างชาติก็ให้การยอมรับ..

            ข่าวหนี้สินครู..ในโครงการเงินกู้ ชพค. เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจ ว่าทำไมครูมีหนี้มากมายเหลือเกิน..เกิดจากอะไร? แล้วทำไมถึงต้องรวมตัวกัน ออกมาบอกสื่อ จนลุกลามไปไกลถึงคำว่า “โกง” ซึ่งหมายความว่า..จะไม่ยอมจ่ายเงินใช้หนี้อีกต่อไป..

            เงิน ชพค. หรือเงินช่วยเพื่อนครู เกิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปี เป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์..เมื่อช้าราชการครูเสียชีวิต เงินดังกล่าวจะตกทอดไปยังคู่สมรสและลูกหลาน

          วันที่ผมบรรจุ..ผมถูกหักเงินชพค.เดือนละ  ๕๐ สตางค์ ปัจจุบันครูทุกคนถูกหักเดือนละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ บาท เมื่อครูเสียชีวิต..เงินจะตกทอดไปสู่ครอบครัวครูหลายแสนบาท..

          เงินชพค.เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นเงินที่มีคุณค่า บ้างก็ว่าเป็น “เงินกระดูกครู” คือครูไม่มีโอกาสได้ใช้เงินตัวนี้เลย..และผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับ ต่อเมื่อ “ครู” เสียชีวิตเท่านั้น

          มาเมื่อราว ๗ – ๘ ปี มีข่าวครึกโครม..องค์กรการศึกษาที่มีหน้าที่ควบคุมสวัสดิการครู ประกาศโครงการเงินกู้ ชพค. ติดป้ายประชาสัมพันธ์ใหญ่โต และนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารทั่วประเทศ

          เอกสารและข่าว ชพค.ตอนนั้นก็ประมาณว่า..จะกู้ได้กี่แสน ใช้หลักฐานอะไรบ้าง? จำนวนผู้ค้ำประกันและ อัตราดอกเบี้ย ตลอดจนสถาบันการเงิน..ที่เป็นเจ้าภาพหลัก

          ในเวลานั้น สิ่งที่ผมสงสัยมากๆ เป็นประการแรก ก็คือ..จะเปิดช่องทางให้ครูกู้อีกทำไม? ในเมื่อครูก็กู้สหกรณ์อยู่แล้ว บางคนก็กู้เงินสวัสดิการกลุ่มโรงเรียนและกู้อาคารสงเคราะห์ ตลอดจนกู้นอกระบบก็มีมิใช่น้อย...

          ไม่ทันที่ผมจะหายงงในข้อสงสัย ก็มีประกาศเพิ่มเพดานเงินกู้ ได้คนละไม่ต่ำกว่าล้านบาท..แม่เจ้า..ผมอุทานด้วยความตกใจ ครูเป็นหนี้ขนาดนี้ จะเอาพลังกายและกำลังใจมาจากไหน..ในการสอนหนังสือ

          ผมไม่เข้าใจ..องค์กรครู ที่เป็นสถาบันหลัก ออกมาทำเรื่องนี้เพื่ออะไร ทำให้ครูเป็นหนี้ จะว่าประชาสัมพันธ์หน่วยงาน..มันใช่หรือ? หรือว่า..หลักการเขาดี แต่ผมหรือครูที่เป็นหนี้เข้าไม่ถึงหลักการ..ที่สำคัญอย่างยิ่ง..รัฐมนตรี..เป็นผู้อนุมัติโครงการเสียด้วย

          หรือว่ากู้ชพค.เงินล้าน นำไปใช้หนี้ทั้งหมดทั้งมวล เพื่อเป็นหนี้ทางเดียว ก็ไม่น่าจะใช่..เพราะดอกเบี้ยชพค.สูงมาก จึงอาจกลายเป็นว่า..ครูคนหนึ่งเป็นหนี้หลายสถาบัน..

          เท่าที่รู้ครูนำ..เงินชพค. ไปลงทุนปลูกบ้าน ทำธุรกิจเล็กๆและอำนวยความสะดวกให้ตนเอง..ตอนนั้น..เงินกู้ชพค.เนื้อหอมมาก ใครได้กู้จะหน้าบานสดใสมีชีวิตชีวา มีหน้ามีตาในสังคม..

          กาลต่อมา..องค์กรครูที่ออกเงินกู้..เริ่มมีข่าวทุจริตเงิน ชพค.จนระส่ำระสาย หลายคนถูกออกจากราชการ และต่อมา..ครูหลายคนบ่นว่าดอกเบี้ยโหด ตลอดจนครูเกษียณอายุราชการไปนานแล้ว..แต่เงินต้นเพิ่งลดไปนิดเดียว

          ครูบางคน..ต้องล้มละลาย เพราะเงินกู้กระดูกตัวเอง..ครูสี่แสนคน..ที่กู้ชพค. ส่วนหนึ่งขมขื่น..จนต้องออกมาเรียกร้องเงื่อนไขให้รัฐบาลรับทราบว่า..ไม่โกงแต่จะไม่ใช้คืน..หนึ่งแสนคนที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว..มีชีวิตอยู่อย่างลำบาก

          เส้นทางเงินกู้ชพค.จึงคล้ายเป็นวิบากกรรม ซ้ำเติมภาพลักษณ์ครูในเรื่อง “หนี้สิน” จึงเป็นเรื่องแปลกแต่จริง..ที่กระทรวง..ที่ควรเป็นต้นแบบ”เศรษฐกิจพอเพียง”กลับมีปัญหาที่สวนทางกับแนวคิดที่ทรงคุณค่า..ที่แม้ต่างชาติก็ให้การยอมรับ..

          กระทรวง..ที่กำกับดูแลครู..ทุ่มเงินอบรมครู ให้เข้าถึง “คำสอนของพ่อ” ด้วยเงินมหาศาล จัดตั้งสถาบันฯประเมินสถานศึกษา “พอเพียง”หลายหมื่นโรง ในรอบ ๑๐ ปี  สร้างตัวชี้วัดในโยบายและโครงการระดับชาติ จนถึงระดับหลักสูตรขั้นพื้นฐาน บูรณาการ “ความพอเพียง” เพื่อสานต่องานที่พ่อทำ..โดยให้ครูเป็นแกนนำ

          ไม่นับรวม..โรงเรียนวิถีพุทธ และโรงเรียนคุณธรรม..ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และมีบุคลากรดำเนินงาน ที่กู้เงิน “ชพค.” และส่วนหนึ่งกำลังไปไม่รอด..

          วันนี้..สะท้อนให้เห็นภาพความไม่จริงใจขององค์กรการศึกษา “ความล้มเหลว”ของนโยบายผู้มีอำนาจ..และ “การทำเป็นเล่น” ของครูบางคนกับคำสอนของพ่อที่ต้องการเห็นลูกทุกคน”พอเพียง”

          เรื่องนี้..สอนให้รู้ว่า..ความพอดี..งดงามเสมอ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๗  กรกฎาคม  ๒๕๖๑

         

         

 

หมายเลขบันทึก: 648981เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2018 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2018 10:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท