เยือนมหาวิทยาลัยจีน : 5. Zhejiang University


๑ มิถุนายน ๒๕๖๑

ตอนเช้าเราเดินทางโดยรถบัสคันเดิม จากเซี่ยงไฮ้ไปหางโจว ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ไปถึงก็เข้าร้านอาหารใกล้มหาวิทยาลัย กินอาหารเที่ยง แล้วไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง

มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง

ชื่อสั้นๆ ที่เรียกกันคือ “เจ้อต้า” ก่อตั้งปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในชื่อ Quishi Academy สมัยนั้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทันสมัยที่สุดในจีน    เปลี่ยนชื่อเป็น Zhejiang University ในปี ๒๔๗๑   ในปี ๒๔๙๕ ได้แยกเป็น ๔ มหาวิทยาลัย    แล้วในปี ๒๕๔๑ จึงกลับมารวมกันอย่างเดิม มี ๗ วิทยาเขต    เราไปเยือนวิทยาเขตใหม่ที่ถือเป็นวิทยาเขตกลางของมหาวิทยาลัย ชื่อ Zijingang Campus      

มีข้อตกลงความร่วมมือระดับคณะ คือคณะพยาบาลศาสตร์กับ มช.  ช่วงปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๒ ด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร   ด้านการวิจัย  ด้านแลกเปลี่ยนข้อมูล/สิ่งพิมพ์/อุปการณ์ทางวิชาการ

นอกจากนั้น คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ได้เดินทางมาเจรจาความร่วมมือกับ มช. เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗  เพื่อเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการแลกเปลี่ยนและวิจัย สายวิทยาศาสตร์  ภาษาศาสตร์  เกษตรศาสตร์  และการขนส่งสินค้าเกษตร (ลำไย)  

 

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงให้การต้อนรับ

หัวหน้าทีมต้อนรับเป็นผู้อำนวยการสำนักงานวิเทศสัมพันธ์    ชื่อ Li Min พูดภาษาอังกฤษคล่องมาก    เป็นรองศาสตราจารย์ด้านภาษา    บอกว่ามหาวิทยาลัยนี้ติดอันดับที่ ๗๐ ของโลก     และเป็น top 3 ของจีน    โดยที่จำนวนผลงานวิจัยเป็นอันดับ ๑ ของประเทศ    ได้รับทุนวิจัยมากเป็นอันดับ ๒  คือปีละ ๔ พันล้านหยวน (สองหมื่นล้านบาท มากกว่างบประมาณวิจัยของรัฐบาลไทย) ทั้งหมดนั้นเป็นทุนวิจัยแบบแข่งขัน    หนึ่งในสามของทุนวิจัยมาจากภาคอุตสาหกรรม   จำนวน นศ. ๕ หมื่น เป็น นศ. ปริญญาตรี กับบัณฑิตศึกษาเท่าๆ กัน    มี นศ. ปริญญาเอก ๙ พันคน    นักศึกษาต่างชาติ ๗ พันคน   อาจารย์ ๓,๖๐๐ คน ทำหน้าที่ทั้งสอนและวิจัย ส่วนน้อยมากที่สอนอย่างเดียว    ในระยะหลังๆ มหาวิทยาลัยมีนโยบายรับอาจารย์อายุน้อยเพิ่มขึ้น เรียกว่า young talent recruitment เพื่อเข้า tenure tract   ให้เวลาพิสูจน์ผลงาน ๖ ปี 

เงินวิจัยที่ได้ตรงเข้ามหาวิทยาลัย    มหาวิทยาลัยจะเอาส่วนหนึ่งไว้เป็น overhead   แล้วจัดสรรเงินไปยังโครงการ   

คำขวัญที่กำหนดโดยอธิการบดีท่านปัจจุบันคือ Global ZJU    เขาจึงมีกิจกรรมความร่วมมือกับต่างประเทศมากมาย เช่น Research alliance on robotic intelligent machines, Sustainable agriculture research alliance เพื่อ food security ทำงานหลายสาขาวิชา รวมทั้งวิศวกรรมศาสตร์    มี international collaboration กับ ๒๐๐ มหาวิทยาลัยทั่วโลก    โดยมีเป้าหมาย 3S : strategic, substantial, sustainable    เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน   เวลานี้มหาวิทยาลัยไทยที่มีความร่วมมือคือ จุฬาฯ กับบูรพา   

นอกจากนั้นยังรับอาจารย์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้นักศึกษาไปเรียนรู้ในต่างประเทศ   

เมื่อ รศ. ดร. สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ถามกลไกให้อาจารย์ในต่างสาขาวิชาทำงานด้วยกัน   เขาตอบว่ามี ๕ กลไก ได้แก่  (๑) กำหนดเป็นนโยบาย  (๒) ให้seed funding  (๓) สร้างสภาพแวดล้อมและกติกาให้ทำงานร่วมกันง่ายขึ้น  (๔) สร้างโครงการใหญ่ระดับชาติ ที่ต้องมีคนจากต่างสาขาวิชาทำงานด้วยกัน  (๕) มีผู้นำที่มีความสามารถสูง  (champion leader) ทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ หัวหน้าโครงการ (PI – Principal Investigator) ทำงานร่วมกัน         

กลไกร่วมมือกับอุตสาหกรรม มีศูนย์ ถ่ายทอด/บ่มเพาะ เทคโนโลยี  ๙ แห่ง แยกจากวิทยาเขต ทั่วประเทศ เช่นที่ ซูโจว มีเจ้าหน้าที่ ๔๐๐ คน   มหาวิทยาลัยจดสิทธิบัตรปีละกว่า ๑ พันชิ้น   เมื่อผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ค่า royalty แบ่งให้อาจารย์เจ้าของผลงานร้อยละ ๗๐  อีกร้อยละ ๓๐ แบ่งให้มหาวิทยาลัยและคณะ    แต่ผลงานที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ทางธุรกิจมีน้อยมาก   ความร่วมมือกับอุตสาหกรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ อาจารย์ใช้เวลาส่วนหนึ่งทำงานที่บริษัท   

ที่เมือง ไห่หนิง มี International Campus จัดหลักสูตรสองปริญญา    นักศึกษามาจากต่างประเทศจำนวนมาก   ค่าเล่าเรียนสูง   นักศึกษาพักในมหาวิทยาลัย    หนึ่งในสามของอาจารย์เป็นจีน  อีกหนึ่งในสามมาจากมหาวิทยาลัยคู่ร่วมมือต่างประเทศ   อีกหนึ่งในสามรับอาจารย์ต่างประเทศตามที่ต้องการ    วิชาที่เรียนเน้น innovation, entrepreneurship,    มีอาจารย์ทำหน้าที่ residential tutors    เน้นปลูกฝัง national concern, global perspectives, world competitiveness, และ world responsibility  

               ขณะนี้ที่ international campus มีสองหลักสูตรที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ  (๑) วิศวกรรมศาสตร์ ร่วมมือกับ U of Illinois at Urbana-Champaign  (๒) biomedical science ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Edinburgh

มีการซักถามและตอบคำถามอย่างสนุกสนานและได้ความรู้มาก   

อาจารย์แต่ละคนต้องส่งผลงานแก่มหาวิทยาลัยทุกๆ ๒ ปี    เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขึ้นเงินเดือน    แต่อาจารย์ก็ต้องรายงานผลงานต่อคณะของตนทุกปี    

Double world-class university เป็นวิธีส่งเสริมมหาวิทยาลัยโดยรัฐบาลจีน ให้พยายามเข้าสู่ world-class excellence   โดยมหาวิทยาลัยที่บรรลุ world ranking   และมีสาขาวิชาที่บรรลุ world class ranking (เรียกว่า double world-class) จะได้รับเงินสนับสนุนพิเศษ โดยต้องเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุน

 

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง  

Zhejiang University School of Medicine (ZUSM) (1) ก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๔๕๕  จาก ลิ้งค์ (1) จะเห็นว่าเขาไม่แบ่งภาควิชาตามสาขาวิชาแบบเดิมๆ (สูติฯ, ศัลย์ฯ, อายุรฯ, กุมารฯ, ฯลฯ)    แต่บูรณาการเป็น First Clinical Medicine, Second Clinical Medicine, และ Third Clinical Medicine   เดิมคณะแพทยศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัย ชื่อ Zhejiang Medical University   แล้วรวมกับอีก ๓ มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง     มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงกลายเป็นคณะแพทยศาสตร์

หัวหน้าทีมที่มาต้อนรับเป็นศัลยแพทย์ในทีมที่ทำงานพัฒนา liver transplant อันโด่งดังทั่วโลก   และเป็นรองคณบดี ชื่อ Xu Xiao    จากการนำเสนอจะเห็นว่าโครงสร้างของคณะของเขาแตกต่างจากของเรามาก    และคณะแพทยศาสตร์ไม่มีโรงพยาบาลของตนเอง ใช้ affiliated hospital ซึ่งมีตั้ง ๗ แห่ง รวม ๑๑,๔๖๑ เตียง    มีโรงเรียนพยาบาลที่สอนเฉพาะหลักสูตรปริญญาโท    และสาธารณสุขศาสตร์อยู่ภายใต้โรงเรียนแพทย์ 

หลักสูตรแพทย์มีหลากหลายมาก ที่เป็นหลักสูตรหลักเรียน ๕ ปี   และเริ่มมีหลักสูตร ๔ + ๔ ปี แบบอเมริกัน โดย China Medical Board สนับสนุนให้เปิด   นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรแพทย์ (MB BS) สำหรับนักศึกษาต่างชาติ ๖ ปี ซึ่งมีนักศึกษาไทยไปเรียนกันมาก (ปีละ ๒๐ - ๓๐ คน จากจำนวนรับทั้งหมด ๘๐ คน)   ค่าเล่าเรียนตกประมาณปีละ ๒ แสนบาทเท่านั้น   

หลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ ปริญญาตรี (๔ ปี) Biomedical Science ร่วมกับ University of Edinburgh  เรียนจบได้รับปริญญาตรี ๒ ใบ ทั้งจาก ZJU และ UoE    อีกหลักสูตร เป็น ปริญญาตรี ๕ ปี ร่วมกับ UWA (University of Western Australia) เรียนจบได้ปริญญา BS จาก UWA  และปริญญา Bachelor of Clinical Science จาก ZJU

ผลงานวิจัยน่าตื่นตาตื่นใจมาก  มีผลงานวิจัยระดับแนวหน้า (blue sky) ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ เช่น Nature, Neuron, Cell    และผลงานค้นพบด้านการป้องกันและรักษาไข้หวัดใหญ่ H7N9 ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ เป็นต้น  

เราไปครั้งนี้เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการวิจัยและการเรียนการสอน    หลังจากการนำเสนอของรองคณบดี   ศ. นพ. บรรณกิจ โลจนาภิวัจน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ได้นำเสนอกิจการของคณะแพทยศาสตร์ มช.   เพื่อแสวงหาลู่ทางความร่วมมือเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว    ทั้งด้านการพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ เช่น transplantation  และด้านการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์   ท่านนายกสภาฯ ได้อวดทีมวิจัย electro-physiology ของ ศ. นพ. นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ว่าทำงานวิจัยก้าวหน้ามาก และมีความร่วมมือกับสกรัฐอเมริกา

หลังจากนั้น เป็นการสนทนาซักถามแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน   การพูดคุยกันมีบรรยากาศดีมาก

จะเห็นว่าทาง โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงมีการดำเนินการแบบมีกิจการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากมาย    กำลังก่อสร้าง research campus   และโรงพยาบาลในเครือก็เน้นการเป็นโรงพยาบาลวิจัย ไม่ใช่แค่เน้นบริการ    ดูแล้วหาก มช. ส่งอาจารย์ไปแลกเปลี่ยนร่วมมือทำงานด้วยกัน เน้นการวิจัย    และหากได้ innovation culture กลับมาแพร่เชื้อที่ มช. และแก่วงการโรงเรียนแพทย์ไทย ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อบ้านเมืองของเรา

เรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษาน่าจะเป็นความร่วมมือที่คณะแพทยศาสตร์ ZJU ต้องการมาก   ท่านรองคณบดีบอกว่า เวลานี้นักศึกษาของคณะร้อยละ ๕๐ มีประสบการณ์ไปฝึกในต่างประเทศ    แต่ท่านอธิการบดีกำหนดให้เป็นร้อยละร้อย    ผมคิดว่า นี่คือมาตรการยกระดับ world ranking ของมหาวิทยาลัย     

 

พบนักศึกษาชาวไทย

นักศึกษาไทยที่มาพบมีทั้งนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาสาขาอื่นๆ  ที่ได้ทุนจีนมาเรียนปริญญาเอกก็มี (สาขารัฐประศาสนศาสตร์)    เริ่มจาก นส. ภตวรรณ อาขุบุตร นักศึกษาแพทย์ปีที่ ๔ นำเสนอหลักสูตร MB BS สำหรับนักศึกษาต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษ    คุณภตวรรณเติบโตที่ประเทศฟินแลนด์  เรียนชั้นมัธยมที่ฟินแลนด์แล้วหาที่เรียนหมอ  ค้นพบหลักสูตรนี้จึงสมัครมาเรียน  

นักศึกษาไทยบอกว่านักศึกษาจีนขวนขวายช่วยตัวเองมาก    และอาจารย์ก็ช่วยเหลือดีมาก   อย่างกรณีนายวรวัฒน์ บุณยสิทธิ์ จากภูเก็ต นศพ. ปี ๓  ได้เข้าไปฝึกช่วยผ่าตัดเพราะแสดงความสนใจ    คุณวรวัฒน์ได้ถือโอกาสติดต่อขอไปฝึกงานที่ มช. ด้วย    

เราได้เรียนรู้ว่า จีนมีหน่วยงาน CSC – China Scholarship Council ทำหน้าที่ให้ทุนดึงดูด talent เข้าไปเรียนในจีน   เขามี ASEAN Future Leaders Scholarship เพื่อดึงดูด talent จาก ASEAN   ให้ทุนค่าใช้จ่ายส่วนตัวถึง ๖,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ หยวนต่อเดือน 

วิจารณ์ พานิช        

๘ มิ.ย. ๖๑ 

 

1 บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย ถ่ายจากหอสมุด

2 อาคารสนามกีฬา

3 หอสมุดกลาง

4 หน้าอาคารหอสมุดกลาง

5 โถงก่อนเข้าด้านในหอสมุด

6 อีกมุมหนึ่งภายในวิทยาเขต

7 อาคารหอพักนักศึกษา

8 เจ็ดวิทยาเขต

9 โครงสร้างของคณะแพทยศาสตร์

10 ส่วนหนึ่งของทีม มช.

11 ท่านนายกสภาฯ มอบของที่ระลึกแก่ ผอ. กองวิเทศสัมพัธ์

12 Xu Xiao รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์

13 นส. ภตวรรณ อาขุบุตร นักศึกษาแพทย์

14 หลักสูตรแพทย์ ๖ ปี

15 นักศึกษาไทย

16 นักศึกษาไทย

17 อาคารคณะแพทยศาสตร์

18 ด้านบนของอาคารคณะแพทยศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 648941เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2018 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 06:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท