๗๕๒. จดจำเพื่อรำลึก..บันทึกไว้เป็นบทเรียน


หลายเรื่องราวในประเทศนี้..ไม่มีอยู่ในตำรา ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย..การใช้ชีวิตที่รู้จักเก็บรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าน้อยลง และเครียดน้อยลง

            จากเหตุการณ์..๑๓ ชีวิตติดถ้ำหลวง ที่ผ่านพ้นไป สร้างมิติใหม่ในหลายวงการ เป็นอีกตำนานของประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ว่าได้ ที่ช่วยให้บังเกิดแง่คิดที่งดงาม..

            ในสายตาชาวต่างประเทศ ที่มองคนไทยอย่างชื่นชม ในสังคมไทยเราเอง ที่เริ่มมองเห็น “วิกฤติเป็นโอกาส” ที่บ่งบอกว่าเราไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ แต่เราเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน..

            ภาพที่เด่นชัดคือ..เครื่องไม้เครื่องมือจากทุกสารทิศที่ส่งไปช่วยเหลือ “น้ำใจ”จากทุกฝ่ายลงไปจุนเจือเกื้อหนุน..เราอาจจะไม่ต้องยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจเหมือนนานาอารยะประเทศ แต่นี่คือสิ่งที่สังคมโลกต้องการ..คือ รู้รักสามัคคี นั่นเอง..

            ดังนั้น..จึงเป็นเรื่องที่น่าจดจำ ควรนำไปบันทึกไว้เป็นบทเรียน..เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่มีคุณภาพในอนาคต..

            ทุกบทเรียนมีความหมาย..นักบริหารการศึกษาไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ “การถอดบทเรียน” เท่าที่ควร..ถึงเวลาแล้วที่ควรให้มีวิชานี้ เพื่อฝึกนิสิตนักศึกษาให้มีทักษะในการจัดการความรู้ แล้วนำความรู้ไปใช้ในการทำงาน

            ที่โรงเรียน..ผมจะมีกิจกรรม “เกษตรอินทรีย์”ที่ทำซ้ำๆ แต่ “ผลผลิตมี “คุณภาพ”สูงขึ้น..เกิดจากบทเรียนที่ผ่านมา ถูกบันทึกไว้ให้มีการปรับปรุง กระบวนการทำงานในครั้งต่อไป..

            การปลูกผัก อาจมองว่าเป็นเรื่องง่าย ต่อเมื่อลงมือทำแล้วจะพบปัญหามากมาย จึงต้องสอบถามผู้รู้แล้วลองทำดู..ผลเป็นอย่างไร..ก็บันทึกไว้

            การปลูกพืชผักก็ต้องเตรียมดิน ตากดิน คลุกเคล้าด้วยมูลวัว ก่อนปลูกผักบุ้งก็ควรนำเมล็ดไปแช่น้ำก่อน ๑ คืน..เพื่อนผมบอกให้แช่น้ำอุ่นด้วยจะยิ่งดี ปีนี้..อัตราการงอกดูดีกว่าปีที่แล้ว

            ผักบุ้ง..ชอบน้ำ และชอบแดด..หากแดดร่มลมตก ผักบุ้งจะน๊อค คือ แห้งเฉาแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต หากแดดดี แต่ไม่มีน้ำ..ผักบุ้งก็ไปไม่รอดเหมือนกัน

            วันนี้..เท่าที่ผมสังเกตแปลงผักบุ้ง ก็รู้สึกโล่งใจได้ ผ่านช่วงอันตรายนั้นมาแล้ว

            ส่วนแปลงนาข้าวหอมมะลิ มีการไถดินเพื่อเตรียมการปักดำ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ไถครั้งเดียวได้ แล้วใส่น้ำเข้าไปให้เต็ม ส่วนจำนวนต้นกล้าที่ขอมาจากผู้ปกครอง บทเรียนบอกว่า ๒๐ กำไม่พอเสียแล้ว ต้องเพิ่มเป็น ๓๐ – ๔๐ กำ ในพื้นที่ ๕๐ ตรว.

            แปลงนางาดำก็เช่นเดียวกัน บทเรียนที่บันทึกไว้ จะต้องไถ ๒ ครั้ง แล้วจึงลงมือหว่านเมล็ดงา การไถคราดวันนี้ มองเห็นแปลงดินมีความสม่ำเสมอและดินร่วนซุย บ่งบอกว่าดินดีขึ้น..ถ้าหว่านแล้วฝนตกลงมา ก็เชื่อว่าผลผลิตดีกว่าเดิมแน่นอน...

            หลายเรื่องราวในประเทศนี้..ไม่มีอยู่ในตำรา ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย..การใช้ชีวิตที่รู้จักเก็บรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าน้อยลง และเครียดน้อยลง

            โรงเรียนขนาดเล็กก็เช่นเดียวกัน..ครูและผู้บริหาร คงไม่ได้เก่งทุกเรื่อง แต่หากรู้จักการจดบันทึก ในกิจกรรมที่ทำในแหล่งเรียนรู้ นอกจากจะช่วยให้มีความสุขในการทำงานแล้ว ยังจะได้คู่มือ เครื่องมือ และแนวทางในการทำงานอีกด้วย

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๕  กรกฎาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 648940เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2018 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2018 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท