ชีวิตที่พอเพียง 3214. สวิส ๒๕๖๑ : ๘. สมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ ๗๑ วันแรก



ผมเขียนบันทึกการไปร่วมประชุม WHA 63 เมื่อ ๘ ปีที่แล้ว ที่    และ WHA 69 เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ที่

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑

เพราะคลาดกันกับ อ. บุ๋มที่นัดว่าจะไปสถานที่ประชุมด้วยกัน    ผมจึงเดินทางไปคนเดียว     โดยนั่งรถรางสาย ๑๕ ไปลงที่เก้าอี้ขาหัก แล้วเดินตามคนอื่นๆ ไป    เดินขึ้นเขาไปไกลราวๆ ครึ่งกิโลเมตร    ทำให้นึกขึ้นได้ว่า หากไปรถเมล์สาย ๘ จะใกล้กว่ามาก    เดินหาใครไม่เจอ    จนใกล้เวลาเปิดประชุม ๙.๓๐ น.    เดินเข้าไปในห้องประชุมใหญ่เพื่อหาตำแหน่งของทีมไทย     ระหว่างทางพบ Roger Glass รอง ผอ. NIH    เขาช่วยพาไป    ได้ไปนั่งโก้ถ่ายรูปตรงป้ายผู้แทนไทย    สักครู่ผู้แทนไทยตัวจริงก็มา คือท่านทูตเสกข์ นั่งสองคนกับหมอสุวิทย์    ผมนั่งข้างหลังสองคนกับคุณเบญจพร 

พิธีเปิด WHA 71   เวลา ๙.๓๐ - ๑๒.๐๐ น.   เป็นพิธีกรรมกล่าวปราศรัย   การแต่งตั้งประธาน และรองประธาน ๕ คน ของ WHA 71   หลังจากนั้นจัดเวทีใหม่    ระหว่างจัดเวทีมีวงดนตรีสองชิ้น คือทรัมเป็ตกับแซ็กโซโฟน และนักร้องสามคน    นักร้องนำเป็นผู้ชายคนดำแต่งตัวชุดพื้นเมือง เสียงดีมาก  

หลังจากนั้นฉายวีดิทัศน์ UNSG กล่าวต้อนรับสั้นๆ     ย้ำเรื่อง UHC  

 ตามด้วยคำปราศรัยของประธานาธิบดีประเทศรวันดา    ย้ำว่า Health is the currency of happiness   และย้ำ UHC, SDG   

ต่อด้วยเลขาธิการใหญ่องค์การอนามัยโลก Dr. Tedros  กล่าวย้ำความสำคัญของเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก ที่ทำงานเสียสละ  บางคนถึงกับเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องโลกจากการระบาดใหญ่    ดังกรณีของ Dr. Carlo Urbani ตายจากการไปสอบสวนโรคไข้หวัดนกที่จีนและอินโดจีน มาตายที่เมืองไทย    เขาเชิญลูกชายมาเป็นเกียรติในพิธีระลึกถึง Dr. Carlo Urbani (ชาวอิตาลี) ด้วย    

 Dr. Tedros เป็นนักพูด ใช้วิธีเล่าเรื่องมีภาพประกอบ    บอกว่าเป้าหมายในการทำหน้าที่ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกคือ

  • Stronger WHO    โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่มีไซโล    ดำเนินการ transform WHO    ให้มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับสูงเพิ่มขึ้น   เวลานี้มากกว่าผู้ชาย    ริเริ่มระบบ internship เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก 
  • Political commitment
  • Partnership   ผมติดใจข้อนี้มาก   เพราะมีองค์กรอื่นทำงาน global health เพิ่มขึ้นมากมาย    ท่านมองเป็นจุดแข็ง   WHO จะสร้างความเข้มแข็งด้านร่วมมือ    ได้ลงนามความร่วมมือกับหลายองค์กร     

 

หลังจากนั้นเราไปรวมตัวกันที่ Thai Village อยู่ที่ชั้นสองของ Wing E   แบบเดียวกับที่ผมไปเห็นเมื่อ ๒ ปีก่อน   แต่คราวนี้มีโต๊ะเก้าอี้มากขึ้น    เพราะเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกช่วยจัดให้    และมีการเตรียมอาหารและเครื่องใช้มาอย่างพรักพร้อมมากขึ้น    ในฐานะคนแก่ ผมได้รับการดูแลจัดอาหารให้ก่อนใครๆ

หลังอาหารท่านทูตเสกข์พาภรรยาซึ่งจบหมอศิริราชรุ่น ๑๐๓ มาทำความรู้จัก    ผมจึงได้ความรู้ว่าโรงเรียนในสวิสก็มีแป๊ะเจี๊ยะ  โดยเขาเรียกว่าเป็นค่าพัฒนาวิชาการของโรงเรียน ๘,๕๐๐ สวิสฟรังก์    และค่าลงทะเบียนอีก ๑,๕๐๐    ค่าเล่าเรียนสูงถึง ๒๖,๐๐๐ ฟรังก์ต่อปี (กว่า ๘ แสนบาท)    แต่ก็น่าจะคุ้ม เพราะเขาสอนแบบเน้นพัฒนาความคิด          

การประชุมขององค์การอนามัยโลกมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือมีเอกสารให้ความรู้มาก    บางเอกสารเราเอาชื่อมาค้น pdf file อ่านได้    ไม่ต้องแบกน้ำหนักกลับบ้าน เช่นเอกสาร Japan Health System Review (3)    แต่บางเอกสารค้นไม่พบ เช่นเอกสารของ WHO SEARO ชื่อ Accelerating actions for implementation of decade of action for road safety    ผมนั่งอ่านเอกสารนี้ตอนบ่ายหลังกินอหารเที่ยงที่ Thai Village  ได้ความรู้มาก    ว่าใน ๑๑ ประเทศของ SEA Region ประเทศไทยมีปัญหานี้มากที่สุด   คืออัตราตายต่อ ๑๐๐,๐๐๐ ของไทย ๓๖.๒   ค่าเฉลี่ยของ region ๑๗.๐   ค่าเฉลี่ยของโลก ๑๗.๔   ค่าเฉลี่ยต่ำสุดใน European Region ๙.๓    ทางออกเชิงระบบคือให้หันไปเน้นการคมนาคมด้วยบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น  

ผมรู้จักคำว่า VRUs – vulnerable road users (?นักขับเสี่ยงตาย) ว่าหมายถึงคนกลุ่มอายุ ๑๕ - ๒๙ ปี ที่ความคึกคะนองเป็นเจ้าเรือนได้ง่าย    ผมสรุปกับตัวเองว่า เมื่อคนกลุ่ม VRUs  ดื่มเหล้า  และขึ้นขับรถมอเตอร์ไซคล์ ก็เท่ากับท้าทายมรณะ   เขาแนะนำว่า วิธีแก้ปัญหานี้ให้ได้ผลต้องเน้นจัดการที่กลุ่ม VRUs นี่แหละ    โดยเน้นจัดการด้านจิตวิทยาสังคม    เพราะการสูญเสียคนวัยนี้ไป เป็นการสูญเสียที่ร้ายแรงของครอบครัว 

ที่ Thai Village ซือแป๋วิโรจน์กำลังติวศิษย์ ๔ คนแบบตัวต่อตัว    ผมไปบอกสาวๆ ทั้งสี่คนว่า หาโอกาสดีเช่นนี้ในชีวิตไม่ได้อีกแล้ว     

เกือบ ๑๖ น.  ทีมไทยก็ส่ง Line มาบอกว่า  ที่ Com A จะเริ่มประชุมเรื่อง 11.4 Health, environment and climate change  แล้ว    ผมจึงชวน อ. บุ๋มไปฟัง    พบว่าผู้แทนไทยอยู่ในคิวเสนอความเห็น   ไปพบว่า ดร. วลัยพร กำลังเป็นพี่เลี้ยงให้ทีมไทยมือใหม่อ่านคำ intervention อยู่   ผมเอาคำ intervention ของไทยมาให้อ่านเป็นตัวอย่าง ที่นี่   จะเห็นว่าทีมไทยทำการบ้านไปอย่างดี    เพื่อฝึกนักนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศรุ่นใหม่    อ่านเอกสารข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกเรื่องนี้ ที่   จะเห็นว่า เขาเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาวะของมนุษย์กับความหลากหลายทางชีวภาพ

เมื่อประธานเรียกให้ผู้แทนของสหรัฐอเมริกาอ่านคำ intervention ก็เห็นชัดว่า เขาไปปกป้องธุรกิจของเขา    ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อปัญหาสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ   

ผมรอจน ๑๗ น. ประธานก็ยังไม่เรียกให้ผู้แทนไทยอ่านคำ intervention    จึงชวน อ. บุ๋มกลับ    อ. บุ๋มชวนกินอาหารเย็น เพราะมีครัวให้ทำ    ผมปฏิเสธ ขอไปเที่ยว Botanical Gardens  

วันนี้แดดจ้ามาก    อุณหภูมิ ๑๔ - ๒๔     

ตอนนี้ผมเข้าไปอยู่ใน Line Group ของ WHA 71 แล้ว    มีคนส่งสุนทรพจน์ใน Ted Talk ของ Tschering Tobgay นายกรัฐมนตรีภูฏาน   เรื่องการเป็นประเทศที่การปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศเป็นลบ    ดูแล้วเห็นความฉลาดของผู้นำภูฏาน    ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของตน   ดูได้ที่   

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ค. ๖๑  ปรับปรุง ๒๒ พ.ค. ๖๑

ห้อง ๔๐๓  โรงแรม Adagio, เจนีวา   


1 นั่งเต๊ะท่าตรงตำแหน่งผู้แทนไทย

2 บนเวทีในพิธีเปิด

3 วงดนตรีแสนไพเราะ

4 ทุกคนยืนร้องเพลง Happy Birthday เนื่องในวาระ WHO อายุครบ ๗๐ ปี

5 ซือแป๋วิโรจน์ติวลูกศิษย์

6 ห้อง CoM A อภิปรายเรื่อง Climate change

 

 

หมายเลขบันทึก: 648793เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2018 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2018 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท