เก็บตกวิทยากร (48) : วาดภาพคั่นเวลา (ห่วงเหงาหาวนอน)


ผมเชื่อในอานุภาพของภาพวาดที่มีต่อการเป็นสื่อสร้างสรรค์ ทั้งในมิติของผู้วาดและผู้รับ อย่างน้อยก็คือการทบทวนประสบการณ์ชีวิต เยียวยาและเสริมพลังให้ตนเอง เมื่อแบ่งปันเรื่องราวสู่ผู้อื่น ประหนึ่งการแบ่งปันและโอบกอดกันและกัน เสมอเหมือนการจัดการความรักคู่กับความรู้ดีๆนั่นเอง


ระยะหลังๆ  ไม่จำเป็นจริงๆ  ผมจะหลีกเลี่ยงการเป็นกระบวนกรหลักในเวทีนั้นๆ  เพราะจะมอบให้ทีมงานเป็นคนขับเคลื่อนกันเอง  ส่วนผมจะผันออกมาเป็นคนสังเกตกระบวนการ  เฝ้าประเมินว่าทีมงานทำงานกันอย่างไร  มีอะไรต้องเติม หรือตัดทอนลงบ้าง

หลายต่อหลายครั้ง  ผมจึงลุกออกจากเก้าอี้เข้าไปหนุนเสริม  หรือกระทั่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้   โดยเฉพาะประเด็นที่คนร่วมเวทีได้สื่อสารแล้วน่าสนใจ  หรือน่าที่จะ “ไปต่อ”  

ใช่ครับ-  ประเด็น "น่าไปต่อ"  แต่ทีมงานผมอาจจะคาดไม่ถึง – ไม่ลึกซึ้ง  หรือไม่สามารถหยิบจับมาเสวนาได้  ผมก็จะเข้าไปหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

หรือเรียกง่ายๆ ว่าเข้าไปยกระดับเรื่องนั้นด้วยตัวของผมเอง   ซึ่งผมเข้าใจเองว่านั่นคือการยกระดับการทำงานของทีมกระบวนกรของผม  พร้อมๆ กับการยกระดับเรื่องของผู้เข้าร่วมเวทีให้กลายเป็นกรณีศึกษา –

รวมถึงการนั่งรับประทานอาหารกลางวัน  ผมกับลูกทีมก็จะทานร่วมกัน  เพื่อประเมินงาน (AAR)  สู่การปรับกระบวนการในภาคบ่าย  หรือช่วงที่เหลือ

ในเวที “สัมมนาอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”  เมื่อวันศุกร์ที่  29  มิถุนายน 2561 ณ บ้านโฮม  สวนอาหาร&รีสอร์ท  อำเภอยางตลาด  จังหวัดกาฬสินธุ์  ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน  ผมก็ผันตัวเองเข้าไปหนุนกระบวนการแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

 


ปรับหน้างาน : เข้าหนุนทีมงานแบบเนียนๆ

หลังการรับประทานอาหารกลางวัน  ตามกำหนดการคือการละลายพฤติกรรมอีกรอบ  หรือไม่ก็เป็นกิจกรรม “ผ่อนพักตระหนักรู้”  ซึ่งผมก็สังเกตดูว่าทีมงานจะขับเคลื่อนอย่างไร  เพราะประเมินจากห้องหับที่เล็กแคบ  มีโต๊ะจัดรองรับการเสวนา (โสเหล่)  กอปรกับดูวันวัยของอาจารย์แล้วคงยากพอสมควรที่จะทำให้บ่ายวันนี้ดูคึกคัก-ไม่ง่วง

เท่าที่ผมสังเกต  ทีมงานผมใช้เวที “เจ๊าะแจ๊ะศาสตร์”  อยู่สักพัก  ยังไม่มีวี่แววว่าจะปรับหน้างานอะไรได้อย่างชัดเจนนัก  เหมือนกำลังหาทางออกกับการเสริมสร้างบรรยากาศนั่นเอง  และดูประหนึ่งว่าผู้เข้าร่วมเวทีก็เริ่มเกิดอาการอึดเหนื่อยเฉื่อยชาหนังตาเริ่มหย่อนกันมากขึ้นทุกขณะ 

ผมจึงถือโอกาสเข้าไปหนุนกระบวนการแบบเนียนๆ  ...

 


รู้จักฉันรู้จักเธอ ทบทวนชีวิต ทบทวนการงาน

ผมให้ทีมงานช่วยกันแจกกระดาษพร้อมสีให้กับอาจารย์  พร้อมๆ กับการนำเข้าสู่กิจกรรม “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ในแบบฉบับบันเทิงเริงปัญญาของผม  นั่นคือการ “วาดภาพ”

ผมกำหนดหัวข้อให้อาจารย์แต่ละท่านได้วาดภาพจากความทรงจำที่เป็นปัจจุบันของตนเองใน 2 หัวข้อ คือ (1)  ภาพกิจกรรมนิสิต หรืออื่นๆ ที่ประทับใจ  หรือ (2)  ภาพอะไรก็ได้

พูดง่ายๆ ก็คือให้เลือกวาดประเด็นใดประเด็นหนึ่งนั่นเอง  รวมถึงอนุญาตให้ใช้ตัวช่วยจากมือถือได้  เพราะเชื่อว่าบางท่านอาจมีภาพที่อยากวาดแล้วบันทึกไว้ในมือถือด้วยก็เป็นได้ 

แน่นอนครับ – ขณะวาดก็เปิดเพลงคลอเบาๆ สร้างเสริมบรรยากาศ  พร้อมๆ กับการเดินเยี่ยมชมแบบเนียนๆ  มีการพูดแซวบ้างเป็นระยะๆ 

จากการประเมินก็ชัดเจนว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยดี  ความง่วงเหงาหาวนอนมลายหายไปจากเวที  บรรยากาศในเวทีดูมีชีวิต คึกคัก อบอุ่น  หลายต่อหลายท่านชำเลืองคนข้างๆ  มีทั้งชมและหยิกหยอกกันด้วยคำพูด 

 


มีความหมายใดในภาพวาด

ทุกครั้งที่ใช้ภาพวาดมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ผมมีเหตุผลเสมอ  เป็นเหตุผลที่ผมเข้าใจเองว่ามันคือเหตุผล –

ผมเชื่อในอานุภาพของภาพวาดที่มีต่อการเป็นสื่อสร้างสรรค์ ทั้งในมิติของผู้วาดและผู้รับ  อย่างน้อยก็คือการทบทวนประสบการณ์ชีวิต เยียวยาและเสริมพลังให้ตนเอง  เมื่อแบ่งปันเรื่องราวสู่ผู้อื่น ประหนึ่งการแบ่งปันและโอบกอดกันและกัน  เสมอเหมือนการจัดการความรักคู่กับความรู้ดีๆนั่นเอง 

นั่นยังไม่พูดว่า  การวาดภาพจะทำให้สมองคนเราหลั่งสารแห่งความสุขอะไรออกมาบ้าง  รวมถึงการวาดภาพเป็นการบริหารสมองทั้งสามส่วนอย่างไร   

หรือแม้แต่การวาดภาพในบางประเด็นก็ทำให้ผมเห็นฐานข้อมูลบางอย่างด้วยเช่นกัน  เพราะเป็นประหนึ่งการสำรวจข้อมูลกิจกรรมไปในตัวว่าแต่ละคนรักและประทับใจกิจกรรม/โครงการอะไรบ้าง  และในโครงการที่ว่านั้นดีอย่างไร  ประสบความสำเร็จอย่างไร  ซึ่งสามารถหยิบจับมาเป็นกรณีศึกษาโสเหล่ได้อย่างยืดยาว

 


ใช่ครับ – ภาพบางภาพไม่เพียงสะท้อนความทรงจำส่วนตัวเท่านั้น  แต่ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนการสะท้อนสังคมในยุคสมัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

  • บางท่านวาดถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ผ่านพ้นมาในยุคสมัยหนึ่ง 
  • บางท่านวาดภาพปัญหาปัจจุบันที่พบเกลื่อนสังคม  เช่น  ปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • บางท่านวาดภาพหมุดหมายของชีวิตในวันนี้และอนาคต
  • บางท่านที่มีทักษะการวาดภาพก็วาดภาพเพื่อนในเวที  ทั้งที่เป็นภาพเหมือน ภาพล้อเลียน แล้วส่งมอบให้กันเป็นที่ระลึก
  • ฯลฯ

 


ท้ายที่สุด

ทุกครั้งที่วาดภาพ  ผมไม่ลืมให้มีการเล่าสู่กันฟัง   แต่ด้วยเวลาในเวทีที่มีไม่มากมายนัก  ผมจึงเชื้อเชิญให้บอกเล่าตามความสมัครใจ  กล่าวคือ “ใครใคร่เล่าก็เล่า”  หรือกระทั่งถามทักในเวทีว่า "อยากฟังเรื่องราวของใครบ้าง"  

ครับ-นี่คือกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอที่ผมหยิบจับมาหนุนเวทีเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนรู้   

ยืนยันว่า  ไม่ใช่แค่การผ่อนพักคั่นเวลาแก้ง่วงเหงาหาวนอนเท่านั้น  แต่มันมีความหมายมากกว่านั้น 

ใช่ – มันมีความหมายมากกว่านั้นจริงๆ

มีความหมายในมิติ "บันเทิงเริงปัญญา" 

เขียน : จันทร์ที่ 9  กรกฎาคม 2561
ภาพ : ทีมกองกิจการนิสิต / นิสิตช่วยงาน

หมายเลขบันทึก: 648776เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2018 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2018 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมากเหมือนกันค่ะ ขาดไม่ได้กิจกรรมวาดภาพ วาดคนเดียวบ้าง วาดเป็นกลุ่มก็มี สนุกทุกที สาระมากมีตามมา ชอบ ๆ ๆ ๆ มากค่ะ ได้เปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจ ^_,^

ยังจำไม่ลืมที่อยุธยา พี่แก้ววาดภาพทะเล ภูเขา เป็นความฝันวัยเด็กอยากไปทะเล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท