เยือนมหาวิทยาลัยจีน : ๑. เตรียมตัว


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดการเดินทางเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม - ๓ มิถุนายน ๒๕๖๑  ณ มหาวิทยาลัยในนครเซี่ยงไฮ้ – เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน   

ผมโชคดีได้รับเกียรติเชิญร่วมคณะไปด้วย    แต่ข้อจำกัดด้านภารกิจทำให้ผมไม่สามารถไปร่วมประชุมปฐมนิเทศผู้ร่วมเดินทางในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑    จึงได้เพียงเอกสารประกอบการเดินทาง ที่ได้รับเมื่อไปประชุมสภามหาวิทยาลัยในวันเสาร์ที่ ๒๖   ซึ่งเมื่อนำกลับมาอ่าน ช่วยให้ได้ความรู้มาก  

มช. ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการติดต่อร่วมมือกับจีนสูงมาก   มีการจัดตั้ง CIC – China Intelligence Center    ภายใต้วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี    มี ดร. ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และร่วมเดินทางไปด้วย    ผมค้นได้สรุปการบรรยายของท่านเรื่อง จับธุรกิจกับจีนอย่างไรให้อยู่หมัด ที่    อ่านแล้วได้ความรู้มาก 

ในเอกสารประกอบการเดินทาง ระบุว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ได้จัดตั้ง เครือข่ายวิศวกรรมด้านพลังงานทดแทน ร่วมกับมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยทุนสนับสนุนจาก วช. ของไทย และจาก NSFC – National Natural Science Foundation of China   โดยที่ มช. มีสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์  เวลานี้ผู้อำนวยการสถาบันคือ ผศ. ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี ก็ร่วมเดินทางไปด้วย    ผมอยากเรียนรู้ว่า ผลงานความร่วมมือคืออะไรบ้าง

มช. ได้ลงนามความร่วมมือ One Belt One Road, Science and Innovation Network กับ Shanghai Jiao Tong University ร่วมมือกันด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘    การเดินทางไปเยือนคราวนี้เพื่อเจรจาความร่วมมือวิจัยด้านพลังงานทดแทน  การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา  และ Summer School  

 วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เป็นวันวิสาขะบูชา    ผมจึงมีโอกาสศึกษาข้อมูลเรื่องเมืองจีนในปัจจุบัน  ไปพบบทความ China’s authoritarian innovation is working (1) เขียนโดยศาสตราจารย์ด้าน China Studies ของเยอรมัน ชื่อ Sebastian Heilmann ในนิตยสาร Nikkei Asian Review ฉบับประจำวันที่ ๑๔ - ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑   เป็นข้อเขียนที่ชี้ว่าความสำเร็จของจีนในการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม โดยที่เป็นประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์   เป็นการท้าทายกระบวนทัศน์ของโลกตะวันตกที่คิดว่า ระบอบประชาธิปไตยทุนนิยมเท่านั้น ที่จะนำโลกไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้   

ข้อเขียนนี้บอกว่าจีนมีวิธีที่ดีกว่าอดีตโลกคอมมิวนิสต์ตะวันตกในการใช้สมดุลของระบบเผด็จการระดับประเทศ กับการให้อิสระและระบบตลาดในระดับท้องถิ่น    เปิดช่องให้มีการใช้ความสร้างสรรค์และเกิดนวัตกรรม    รวมทั้งเข้าใจว่าจีนต้องขยับจากเศรษฐกิจ manufacturing   สู่เศรษฐกิจ innovation    เป็นข้อพิสูจน์จากการปฏิบัติว่าทฤษฎีเศรษฐกิจและการเมืองตะวันตกไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป    เขาถึงกับทำนายว่า ในยุค digital civilization นี้ จีนมีโอกาสก้าวล้ำหน้าโลกตะวันตก    ที่ขณะนี้ระบบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจทุนนิยมกำลังซวนเซ 

การไปดูงานคราวนี้ จึงเป็นการไปเรียนรู้ว่าจีนเขาใช้อุดมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อน innovation economy อย่างไร ในบริบทจีน    ซึ่งเราพอจะเดาได้ว่า คนไทยเราอาจจะสมาทานความคิดตะวันตกเต็มที่จนมองภาพลึกๆ ของจีนไม่ออก

   

 

วิจารณ์ พานิช     

๒๕ พฤษภาคม ๖๑ 

 

หมายเลขบันทึก: 648769เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2018 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 06:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท