เก็บตกวิทยากร (45) : รู้จักฉันรู้จักเธอ (เพราะทุกคนมีรากเหง้า มีเรื่องเล่าและตำนาน)


อย่างน้อยก็คงทำให้แต่ละท่านได้รู้จักกันและกันมากขึ้น มองเห็นต้นทุนทางปัญญาและต้นทุนทางสังคมของกันและกัน และพร้อมที่จะเปิดรับไปประยุกต์ใช้กับตนเองและองค์กรในกำกับของตนเอง หรือแม้แต่การผนึกเป็นทีมร่วมกัน โดยไม่ตีกรอบคับแคบอยู่แต่เฉพาะตัวเอง หรือองค์กรตนเอง–


วันนี้ (วันศุกร์ที่  29  มิถุนายน 2561)  ผมและทีมงานมีภารกิจสำคัญเนื่องในโครงการ “สัมมนาอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ณ บ้านโฮม  สวนอาหาร&รีสอร์ท  อำเภอยางตลาด  จังหวัดกาฬสินธุ์ 

ภาคเช้าทั้งหมด  เราขับเคลื่อนเวทีด้วยกระบวนการ  “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  โดยแรกเริ่มตั้งใจทำกระบวนการเหมือนที่เคยทำคือการ “วาดภาพ”  คู่ไปกับการเขียนบัตรคำ  เพื่อประเมินความคาดหวังต่อการเข้าร่วมกิจกรรม  หรือที่คุ้นชินว่า BAR” (before after review)

แต่เอาจริงๆ  ผมหารือทีมงาน-ปรับกันหน้างาน  ด้วยการขับเคลื่อนผ่านการ “เล่าเรื่อง”  ในประเด็นสำคัญๆ  ของแต่ละคน  เช่น 

  • ประวัติการศึกษา 
  • ประวัติการเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อครั้งเป็นนิสิตนักศึกษา 
  • แรงบันดาลใจในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต 

กระบวนการดังกล่าว  เป็นการช่วยให้อาจารย์แต่ละคนได้ทบทวนประสบการณ์ชีวิตด้วยตนเอง  ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ยึดโยงในแบบ 3 In 1  เพราะเรื่องที่ชวนทบทวนนั้นยึดโยงอยู่กับ (1)  การเรียน  (2)  การทำกิจกรรมนิสิตนักศึกษา และ (3)  การใช้ชีวิต หรือแม้แต่แรงบันดาลใจของการก้าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิต

กระบวนการว่านี้  ผมและทีมงานมุ่งให้อาจารย์แต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวของตนเองให้คนในเวทีได้รับรู้ร่วมกัน  ประหนึ่งแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตสู่กันฟัง - 

ใช่ครับ – เน้นการ “บอกเล่า” หรือ “เล่าเรื่อง”  เป็นหัวใจหลัก 
เป็นการบอกเล่าโดยมิให้ซักถามแลกเปลี่ยน  เน้นบรรยากาศผ่อนคลาย  สนุกสนาน  เป็นกันเอง  -  ไม่มีผิด ไม่มีถูกในเรื่องที่เล่า



โดยส่วนตัวผมมองว่านี่คือกระบวนการที่ผสมผสานระหว่างการทบทวนตัวเองและการละลายพฤติกรรมผู้เข้าร่วมเวทีไปในตัว  ผมมิได้คาดหวังถึงขั้นมุ่งสู่การ “ฟังแบบฝังลึก”  หรือ  “ฟังเอาเรื่อง”  หรือ “ฟังจับประเด็น”

การขับเคลื่อนการเรียนรู้ในครั้งนี้  ผมไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง  ทว่าเปิดพื้นที่ให้ทีมงานได้ทำกันเอง  โดยถามว่าใครอาสาที่จะทำกระบวนการนี้  ซึ่ง คุณสุริยะ  สอนสุระ  ผู้ซึ่งผมขนานนามว่า "นวัตกรรมข้ามคืน"  ขันอาสาเป็นผู้ดำเนินการเอง  ส่วนผมขอสังเกตการณ์และจับประเด็นในแบบงูๆ ปลาๆ

ไม่มีไรมากครับ  ไม่ใช่ผมแก่ขึ้น  “คิดช้า ทำช้า”  หรือขี้เกียจหรอกนะครับ  เพราะจริงๆ แล้วก็แค่อยากให้ทีมงานได้ฝึกทำกระบวนการเหล่านี้ด้วยตนเองให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา



ย้อนกลับสู่ประเด็นที่ผมและทีมงานกำหนดเป็นการสื่อสารร่วมกันครอบคลุมเรื่องประวัติการศึกษา  ประวัติการทำกิจกรรมและแรงบันดาลใจในการอาสามาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต  -

จะว่าไปแล้ว  หลักๆ  ผมมีเจตนาเกี่ยวกับการให้แต่ละคนได้ทบทวน “เส้นทางชีวิต” ของตนเอง  และสื่อสารร่วมกัน  เพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น  เพื่อเป็นวัตถุดิบหนึ่งในการที่จะทำงานร่วมกัน  ทั้งในเวทีครั้งนี้และในอนาคต –



ทั้งปวงล้วนเป็นศิษย์เก่า

เป็นที่น่าสังเกตว่าจากเรื่องราวที่สะท้อนมานั้น 99 %  อาจารย์แต่ละท่านล้วนเป็น “ศิษย์เก่า”  จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  หรือไม่ก็มาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  วิทยาเขตประสานมิตร  หรือไม่ก็วิทยาลัยพลศึกษา (ศรีสะเกษ)  แล้วมาต่อยอดชีวิตการงานและการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม อยู่ดีนั่นเอง

สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนอันสำคัญอย่างมหาศาล   เพราะล้วนเป็นศิษย์เก่า หรือ “คนบ้านเดียวกัน”  จึงไม่แปลกที่จะหวนกลับมาสานต่อภารกิจทางใจในการพัฒนานิสิตผ่าน “กิจกรรมนอกหลักสูตร”  อีกครั้ง 

และความเป็นศิษย์เก่าที่ว่านี้นั่นแหละที่ผมถือว่าเป็นวัตถุดิบอันสำคัญ  เพราะหมายถึงความผูกพันต่อสถาบัน  ความรักต่อองค์กร  ความเข้าใจต่อบริบทและวัฒนธรรมของที่นี่  จึงน่าจะเป็น “พลังบวก” ที่ดีต่อการเป็นเชื้อเพลิงหนุนเสริมให้นิสิต หรือผู้นำนิสิต (นักกิจกรรม)  ได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณค่า

 


ล้วนเป็นอดีตผู้นำ – อดีตนักกิจกรรม

ถัดจากประเด็นพื้นเพทางการศึกษาก็มาสู่ประเด็นเกี่ยวกับเส้นทางสายการเป็นนักกิจกรรมของแต่ละท่าน  ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า  อาจารย์ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีพื้นเพประสบการณ์ด้านการ  “ทำกิจกรรม”  หรือเป็น “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม”  ในเส้นทางกิจกรรมนอกหลักสูตรมาอย่างน่าประทับใจ

 ยกตัวอย่าง เช่น 

  • บางท่าน  เคยเป็นนายกองค์การนิสิตนักศึกษา  นายกสโมสรนิสิตนักศึกษา  อุปนายกสโมสร  สมาชิกชมรม / กลุ่มนิสิต (พรรค) 
  • บางท่าน  เคยเป็นก่อตั้งชมรม  กลุ่มนิสิต/พรรคการเมืองในมหาวิทยาลัย 
  • บางท่าน  เคยเป็นประธานรุ่น  ประธานสาขา  คณะกรรมการประชุมเชียร์-รับน้อง 
  • บางท่าน  เคยเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ  เช่น  ค่ายอาสาพัฒนา  รับน้อง  ลอยกระทง กีฬา ขบวนแห่
  • บางท่าน  เคยเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย


ล้วนมีตัวตน– ล้วนมีผลงาน – ล้วนมีวีรกรรม

นอกจากนี้ยังสะท้อนเรื่องราวที่เป็นผลงานเชิงประจักษ์ในถนนสายกิจกรรม  ทั้งที่เป็นนิสิตนักศึกษาและการเป็นอาจารย์-บุคลากร  ซึ่งแต่ละท่านก็มีตัวตนเด่นชัด  มิใช่คนที่ไร้รากในเรื่องกิจกรรมนิสิต หรือการไม่ใช่นักกิจกรรมเลยสักนิด  ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผู้นำโดยตรง  หรือผู้เข้าร่วม  หรือแม้แต่ผู้อยู่เบื้องหลังที่ “ชอบทำ แต่ไม่ชอบนำ”  

รวมถึงการมีสถานะปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิต  หรือเคยเป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิต  ซึ่งมีบทบาทต่อการหนุนเสริมการทำกิจกรรมของนิสิตนักศึกษามาอย่างชัดแจ้ง  ฯลฯ

ยกตัวอย่าง เช่น 

  • เคยเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในบทบาทของนิสิตนักศึกษา
  • เคยขับเคลื่อนเรื่องการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบระหว่างชุมชนกับ ม.ศรีนครินทร วิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร
  • เคยก่อตั้ง หรือฟื้นฟูองค์กรนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ซึ่งปัจจุบันยุบตัวไปแล้ว  เช่น  ชมรมกีฬาเพื่อชุมชน  ชมรมเพื่อนแก้ว  ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์  ชมรมถ่ายภาพ  ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ  ชมรมวอลเลย์บอล  ชมรมพุทธศาสนา 
  • เคยก่อตั้ง  บุกเบิก หรือร่วมขับเคลื่อน  ซึ่งปัจจุบันองค์กรยังคงมีสถานะที่ถูกต้อง เช่น ชมรมรักบี้  ชมรมรักษ์อีสาน  ชมรมพรางเขียว  ชมรมยุวกาชาด  ชมรมบาสเกตบอล  ชมรมต้นกล้าพันธุ์ดี  สภานิสิต  กลุ่มนิสิตพลังสังคม  กลุ่มนิสิตชาวดิน 
  • เคยร่วมบุกเบิกองค์ หรือนโยบายสำคัญๆ เช่น  โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านกีฬา  โครงการเด็กดีมีที่เรียน


ทำไม – แรงบันดาลใจการเป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิต

นี่อาจจะเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้ประเด็นคำถามก่อนหน้านี้  เพราะเป็นคำถามที่อยู่เชื่อมร้อยอดีต >มาสู่ปัจจุบัน > และปักหมุดอนาคตของการทำหน้าที่การเป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิต 

ส่วนใหญ่มีมูลเหตุอันเป็นแรงบันดาลใจไปในทิศทางเดียวกัน  เช่น

  • รักและศรัทธาต่ออานุภาพของกิจกรรมนอกหลักสูตรว่าสามารถพัฒนานิสิตได้ดีไม่แพ้การเรียนรู้ในวิชาชีพแต่เพียงอย่างเดียว
  • ประทับใจและผูกพันกับกิจกรรม  จึงยังรักที่จะอยู่ในแวดวงกิจกรรมนิสิตต่อไป
  • รักและผูกพันกับมหาวิทยาลัย  จึงอยากทดแทนมหาวิทยาลัยผ่านสถานะและบทบาทด้านกิจกรรมนอกหลักสูตร
  • อยากถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตต่อนิสิต
  • อยากกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาดตัวเองในสมัยที่เป็นนิสิตนักศึกษา  ผ่านการเป็นกรณีศึกษาในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร    


ครับ – นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  ที่ถูกนำมาขับเคลื่อนในเวทีนี้  แทนที่จะวาดภาพความทรงจำหรืออื่นใดแล้วเล่าสู่กันฟัง  ตรงกันข้ามกลับปรับแต่งเป็นการเล่าประสบการณ์ชีวิตสู่กันฟังในแบบครอบคลุมมิติต่างๆ  ที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงมาสู่สถานะแห่งการเป็นที่ปรึกษาองค์กรนิสิตไปโดยปริยาย

อย่างน้อยก็คงทำให้แต่ละท่านได้รู้จักกันและกันมากขึ้น  มองเห็นต้นทุนทางปัญญาและต้นทุนทางสังคมของกันและกัน  และพร้อมที่จะเปิดรับไปประยุกต์ใช้กับตนเองและองค์กรในกำกับของตนเอง  หรือแม้แต่การผนึกเป็นทีมร่วมกัน  โดยไม่ตีกรอบคับแคบอยู่แต่เฉพาะตัวเอง หรือองค์กรตนเอง–

แต่ที่แน่ๆ  ผมและทีมเห็นได้ชัดว่าแต่ละท่านล้วน “ไม่ใช่คนที่ว่างเปล่า แต่ละท่านต่างมีรากในวิถีกิจกรรมด้วยกันทั้งนั้น”  

แน่นอนครับ  อาจารย์แต่ละท่านมีตัวตนเสมอมา  ทั้งในสมัยที่เป็นนิสิตนักศึกษา  จบการศึกษามาแล้วก็ยังไม่ละทิ้งภารกิจทางใจต่อการเรียนรู้ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร  

ใช่ครับ - ตราบวันนี้ก็ยังมีตัวตน  มีเรื่องเล่า มีตำนาน มีวีรกรรม  มีความรู้ มีประสบการณ์ หรือเรียกเป็นวาทกรรมว่า "มีรากในวิถีกิจกรรม"  หรือเป็นนักเลงกิจกรรมก็ไม่ผิด

ครับ – มีรากในวิถีกิจกรรม  ก็คือต้นทุนอันสำคัญในการที่จะพัฒนานิสิตและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนานิสิตร่วมกันนั่นเอง

ผมเข้าใจเช่นนั้น  ครับ -

หมายเหตุ
เขียน : วันที่ 2 กรกฎาคม 2561
ภาพ : พนัส  ปรีวสนา / งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต / เครือข่ายอาจารย์ที่ปรึกษาองค์กรนิสิต 

หมายเลขบันทึก: 648653เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2018 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2018 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เบื้องหลังโดยแท้ ผู้นำสร้างผู้นำนะคะ อย่างน้อยสัก ๒ รุ่น … วางใจได้

ชอบชื่อบันทึกเลยทีเดียวครับ

เพราะทุกคนมีรากเหง้า มีเรื่องเล่าและตำนาน

กำลังหาวิธีการไปสอนเด็กพอดีครับ ;)…

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิ

ผู้นำ สร้างผู้นำ หรือการสอนงานสร้างทีม ยังเป็นโจทย์สำหรับผมและทีมงานเสมอครับ บางทีก็พยายามถอดรหัสว่าทำไมผู้นำแถวสองยังคงเกิดขึ้นได้ยากเย็น เป็นด้วยข้อจำกัดของกลุ่มคนแถวสองที่ยาก หรือเต็มที่แล้วต่อการยกระดับขึ้นมา หรือเพราะกระบวนการ หรือวิธีการสอนงานทีมยังไม่ตอบโจทย์การสร้างคน …

สรุป ก็ยังต้องขับเคลื่อนต่อไป แต่ก็ดีใจว่า มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น ครับ

สวัสดีครับ อ. Wasawat Deemarn

ระดับอาจารย์วัสฯ แล้ว เครื่องมือในตัวมีมากมาย อย่ามาถ่อมตัวเลย ครับ 555นักอ่าน และมีเทคโนโลยีล้นมืออย่างอาจารย์ฯ เชื่อเลยว่า ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเป็แน่ ดูจากผลงานเด็กๆ ก็ได้ครับน่าภูมิใจเป็นยิ่งนัก

ชื่นชม ครับ

สวัสดีครับ พี่แก้ว อุบล จ๋วงพานิช

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ เวทีทำนองนี้ว่างเว้นมานานมากแล้ว เพิ่งมีโอกาสได้หยิบจับมาปัดฝุ่นกันครับ เลยจำต้องฟื้นประวัติแต่ละคน เพื่อปูพรมความเป็นเครือข่ายที่จะบูรณาการระหว่างส่วนตัวและการงานเข้าด้วยกัน ซึ่งดีมากๆ ตรงที่ช่วยกระตุกกระตุ้นให้อาจารย์ฯ แต่ละท่านได้ทบทวนชุดประสบการณ์ของท่านเองด้วยเช่นกันครั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท