เปียโน


เปียโนที่บ้านผมเป็นมือที่เท่าไหร่ก็ไม่ทราบได้ ผมทราบเพียงแต่ว่า เราซื้อต่อมาจากครูสอนเปียโนของลูกสาว และมันถูกผลิตในรุ่น U3 A3772760 ผมมีคำถามใจใน “อายุมันจะเท่าไหร่แล้วหนา”

ผมมีความทรงจำเกี่ยวกับเปียโน ๒ เรื่อง

สมัยเมื่อครั้งเป็นนักเรียนแพทย์ปี ๑ ผมและเพื่อนๆกลุ่มหนึ่ง เหมารถตุ๊กๆจากหาดใหญ่ ไปบ้านเด็กกำพร้าในอำเภอเมือง บริเวณใกล้โรงพยาบาลสงขลาในปัจจุบัน 

ระหว่างทางนั้น ผมก็เป็นผู้สร้างความสำราญให้เพื่อนๆด้วยการเล่าเรื่องต่างๆให้ฟัง (นี่ผมเป็นผู้ช่างเล่ามาตั้งครั้งนั้นหรือไร เอิ่ม..อันที่จริงก็น่าจะนานกว่านั้นนะ)

ผมคุยกับเพื่อนเรื่อง “เปียโน”

เปล่าเลย ที่บ้านผมไม่มีหรอก ด้วยฐานะทางบ้านที่ต้องเตรียมเงินไว้เพื่อการศึกษาของลูกๆนั้น การมีเครื่องดนตรีอะไรสักชิ้นที่ราคาแพงๆนั้น เราต้องรีบลืม แต่หากเครื่องดนตรีใดก็ตามที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนแล้วล่ะก็ เราก็มีมันได้นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นขลุ่ย เมโลเดี้ยน อะไรทำนองนั้น

แต่ผมก็มีเรื่องเปียโนเล่าให้เพื่อนๆฟังกันในรถ

จำได้ว่า ช่วงนั้น มีรายการทีวีอะไรสักอย่าง น่าจะเป็น “เชื่อหรือไม่” ได้พาไปคุยกับนักกีต้าร์คนหนึ่ง เป็นคนไทยนี่แหละ แต่เขามีกีต้าร์พิเศษซึ่งทำมาจากไม้ที่มาจากฟินแลนด์ มันมีการหดตัวสูงมากกระมัง เมื่อมาอยู่เมืองไทยจึงต้องเก็บมันไว้ในห้องแอร์ 

มันเว่อร์มาก แต่ผมก็เชื่อ

“บ้านผมมีเปียโน ทำมาจากฟินแลนด์ เลยต้องสร้างห้องแอร์ให้มันอยู่ ไม้จึงไม่หดตัว” ผมเริ่มเล่าเรื่องเชิงประชด

“โห เว่อร์ไปมั้ย” เพื่อนๆในรถตุ๊กๆเย้ากลับมา

ลองนึกภาพนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ฝูงหนึ่ง โดยสารรถตุ๊กๆ ไปต่างอำเภอ (อันที่จริงก็แค่หาดใหญ่ไปสงขลา) คุยกัน หัวเราะกัน มันโคตรคลาสสิคเลย

แล้วผมก็ถูกเพื่อนๆล้อว่า “ไอ้ขี้โม้” ตั้งแต่บัดนั้น

เอิ่ม ไม่ได้โม้ นั่นมันเรื่องตลก มุขแห้งๆแป๊กๆไง

แล้วผมก็กลายเป็นไอ้ขี้โม้ประจำรุ่นมาตั้งแต่บัดนั้น หึหึ แต่เพื่อนๆ มันไม่ได้เรียกผมว่าไอ้ขี้โม้เท่านั้นน่ะสิ

เดี๋ยวค่อยเฉลยละกัน

................

เรื่องเปียโนอีกเรื่องก็คือ “ช่างจูนสายเปียโน” 

ไม่รู้ว่าเรียกเขาแบบนี้จะถูกต้องหรือเปล่า แต่ผมว่าถูกนะ 

ถูกแรกก็คือ เขามาทำให้เปียโนเสียงไม่เพี้ยน

ถูกต่อมาคือ เปียโนจัดเป็น “เครื่องสาย” 

“สวัสดีครับคุณหมอแป๊ะ ผมเป็นช่างจูนเปียโนนะครับ ตอนนี้ผมลงมาหาดใหญ่ คุณหมอจะให้ผมเข้าไปจูนเสียงเปียโนที่บ้านไหมครับ” เสียงตามสายส่งมา อันที่จริงผมไม่แปลกใจในคนต้นเสียงเท่าไหร่นัก เพราะชื่อของคนโทรปรากฏมาว่าเป็น “ช่างจูนเปียโน” ที่ผมบันทึกไว้

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านหนังสือสารคดีที่เขียนเกี่ยวกับอาชีพของช่างจูนเสียงเปียโนนี่แหละ เค้าบอกว่ามีคนทำอาชีพแบบนี้น้อยมาก ต้องใช้ทักษะทางหู มีความรู้เรื่องชนิดของเปียโน และอะไรอะไรที่ออกทางช่างและศิลป์ไปพร้อมๆกัน แต่มันก็ช่างห่างไกลกับชีวิตผมนัก

แต่ก็นั่นแหละ ท้ายที่สุดแล้ว ผมก็ต้องได้ใช้บริการจากนายช่างอาชีพนี้จนได้

“ดีครับ วันเสาร์ช่วงบ่ายนะครับ” หึหึ ผมนัดเวลานั้น เพราะจะได้อ้างกับเมียว่าไปรับส่งลูกเรียนที่ต่างๆไม่ได้ ไหนคนเล็กจะเรียนศิลปะ คนโตเรียนเปียโน ต่อด้วยคนเล็กเรียนภาษาอังกฤษ แล้วคนโตเรียนภาษาอังกฤษอีกที่ 

ผมฉลาดไหม

“คุณพิสุทธิ์” คือคนต้นเรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึง

ช่างจูนสายอิสระคนนี้ เดินทางแทบทุกวัน เขาทำงานแบบนี้มา ๑๒ ปีแล้ว หากเริ่มต้นที่สายใต้โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ก็จะแวะรายทางมาเรื่อยๆ

“พรุ่งนี้จะไปไหนต่อไหมครับ” ผมถามขณะที่นายช่างของผมกำลังแกะฝาเปียโนอย่างละมุลละม่อม สายเปียโนที่ถูกขึงในแนวตั้งเผยตัวออกมาให้ผมได้เห็น มันเรียงตัวขนานกันอย่างสวยงาม

“ไปปัตตานีครับ แล้วจะวิ่งเข้าตรัง กระบี่ และภูเก็ตครับ” กระบวนการปัดฝุ่นเริ่มต้นขึ้น และผมกำลังจะต้องหยุดถาม เพราะท่าทางเขากำลังจะเริ่มต้นตรวจสอบเสียง

“ดีจังนะครับ มีงานแบบนี้ทั้งปีเลย แล้วต้องไปเรียนมาจากที่ไหนเหรอครับ” แน่ะ..ยังสงสัยไม่เลิก

“ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นนักดนตรีนะครับ ผมสอนกีตาร์คลาสสิค แต่ผมรู้สึกว่าการสอนคนเล่นดนตรีมันต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก คนทั้งคน หากผมสอนไม่ดี ทักษะเขาก็จะไม่ดี ผมจึงหยุดสอนและเริ่มเรียนรู้เรื่องการปรับแต่งเสียงเปียโนครับ ทำงานคนเดียว ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคน มันก็ดีไปอีกแบบ” ผมเริ่มมองเห็นชีวิตของช่างคนนี้

“ทั้งประเทศมีช่างแบบนี้สักกี่คนครับ” ความสงสัยยังคงมี

“ราวร้อยเศษๆครับคุณหมอ” คำตอบแบบนี้สร้างความแปลกใจให้ผมเล็กน้อย เพราะคิดว่าน่าจะมีน้อยกว่านี้

กระบวนการปรับแต่งเสียงเริ่มต้นเมื่อเขานำเครื่องมือตรวจวัดเสียงด้วยความถี่ออกมา

“ผมนึกว่าจะใช้ส้อมเสียงเสียอีกนะ” ผมนึกไปถึงอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่สั่นตามความถี่เฉพาะของมันเอง

“แบบนั้นก็มีครับ แต่เดี๋ยวนี้มันสะดวกขึ้นมาก และไอ้เครื่องนี้เครื่องเดียวก็สามารถจัดการได้หลายอย่าง” เขาอธิบาย

แล้วผมก็ปล่อยให้เขาได้มีสมาธิในการทำงาน

กระบวนการปรับแต่งเสียงเปียโนใช้เวลาราวชั่วโมงเศษๆ ก็เสร็จ

ผมนึกถึงเครื่องดนตรีของไทยชนิดหนึ่ง

“มันคือขิมดีๆนี่เองครับคุณหมอ” เหมือนได้ยินเสียงความคิดผมในใจ เขาบอกให้ผมลองใช้ไม้ตีขิมมาลองตีดู 

แฮร่..นักดนตรีเก่าอย่างผมก็เลยได้ลองตีเปียโนเพลงลาวดวงเดือน

ผมเคยเป็นนักดนตรีไทยของโรงเรียนเชียวนะครับ ผมเล่นซออู้ งานของโรงเรียนงานไหนๆ วงผมก็ได้แสดงกับเขาตลอด และครั้งหนึ่งนั้น วงดนตรีไทยของพวกผมก็มีฝีมือดีจนกระทั่งจะได้มาแข่งประกวดกันที่ ม.อ.ด้วยซ้ำ แต่มันติดตรงที่ว่า ผอ.ที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ไม่อนุมัติการเดินทางมาแข่งของพวกเรา ผมจึงหยุดเล่นดนตรีไทยให้โรงเรียนมาตั้งแต่บัดนั้น ไม่จับเครื่อง ไม่หือไม่รือกับห้องดนตรีไทยอีกเลย 

ผมหลับตานึกถึงตัวโน๊ตเพลงลาวดวงเดือน หยิบไม้ตีขิมออกมาจากซอง แล้วเริ่มตีสายเปียโนที่เรียงตัวเปลือยอยู่ตรงหน้า

ลองนึกภาพตามนะครับ สายทองเหลืองในแนวตั้งที่คนตีสายอย่างผมต้องตะแคงหัว จะเหลือบตาดูตัวโน๊ตที่แป้นวางนิ้วของเปียโนก็ลำบากสักหน่อย หนำซ้ำ ผมเป็นนักสีซอมิใช่นักตีขิม เพลงลางดวงเดือนที่บรรเลงออกมานั้นจึงกลายเป็น “ลาวดวงจันทร์เมื่อวันฟ้าหม่น” ไปเสียฉิบ

“ไอ้บ้านแป๊ะเอ๊ย”

เสียงเพื่อนๆเรียกล้อผมดังแว่วเข้ามาในโสตประสาท

ธนพันธ์ ชูบุญเป็นนักสีซอให้ผอ.โรงเรียนเก่าฟังมาก่อน

๒ กค ๖๑ (เคยเขียนมันว่า นี่เราผ่านครึ่งปีมา ๒ วันแล้วเหรอเนี่ย)

หมายเลขบันทึก: 648644เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2018 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2018 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นคนหลงไหลเสียงขิมค่ะ และอยากฟังคุณหมอแป๊ะบรรเลงขิม เวอร์ชั่นลาวดวงจันทร์เป็นที่สุดเช่นกัน ฮาๆๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท