พลังแห่งวัยเยาว์ : 7. พื้นที่เพื่อการเล่นตามธรรมชาติของเด็ก อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม



บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis

ตอนที่ ๗ พื้นที่เพื่อการเล่นตามธรรมชาติของเด็ก อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม  ตีความจากบทที่ 6 Played Out : Habitat Loss and the Extinction of Play

เด็กสมัยหลายสิบปีก่อนโชคดีกว่าเด็กสมัยนี้  ตรงที่มีพื้นที่ตามธรรมชาติเพื่อการเล่นอิสระเหลือเฟือ    และพ่อแม่ก็ปล่อยให้ลูกหลานเล่นกันเองโดยไม่เข้าไปกำกับควบคุมมากนัก    นั่นคือพื้นที่เรียนรู้ที่ประเสริฐสุดสำหรับเด็กเล็ก

 

ยุคทองของการเล่น

ผู้เขียนยกตัวอย่างข้อความใน The American Boy’s Handy Book, 1882 แนะนำวิธีปฏิบัติตัวในการไปเข้าค่ายในป่ากับเพื่อนๆ    สะท้อนสภาพปกติของการเรียนรู้จากการไปอยู่ในธรรมชาติของป่าหลายๆ วันหรือหลายสัปดาห์   และสะท้อนว่าเด็กอเมริกันในปัจจุบันไม่ค่อยมีโอกาสเช่นนั้นอีกแล้ว   

ผู้เขียนเล่าความพยายามของตนเอง ในการเข้าไปส่งเสริมการเล่นของเด็ก    จนในที่สุดได้ข้อสรุปว่า  การเล่นของเด็กเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีคนกลางเข้าไปวุ่นวาย  

ในศตวรรษที่ ๒๑ เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ๓ ประการในเรื่องการเล่นของเด็ก  (๑) พื้นที่เพื่อการเล่นเปลี่ยนจากกลางแจ้งสู่ที่ร่ม  (๒) ของเล่นมีเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น  และ (๓) เวลาเล่นเปลี่ยนจากเวลาในครอบครัวกับคนหลายรุ่นอายุ  ไปสู่การเล่นกับเพื่อนรุ่นเดียวกันแบบมีการจัดการในโรงเรียน  

สมัยก่อนผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กเล่นกันเองโดยบ่อยครั้งไม่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่    เด็กๆ มีการผจญภัยหรือเสี่ยงภัยกันเอง    ที่เด็กสมัยนี้มีโอกาสน้อยมาก  

 

การเล่น (ของเด็ก) คืออะไร

นิยามของการเล่นมีมากมาย    ผู้เขียนชอบนิยามว่า “กรอบความคิดด้านปัญญาและอารมณ์ที่เด็กเห็นพ้องกันว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีความหมายตามคำพูดหรือตัวอักษร” มากที่สุด    ตามนิยามนี้ อะไรก็เป็นการเล่นได้    รวมทั้งการกินอาหาร   

การเล่นเป็นเจตคติ มากกว่าเป็นกิจกรรม   

เมื่อการเล่นเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความหมายตายตัว    การเล่นจึงมีจินตนาการ และความสร้างสรรค์สูงมาก    เป็นดินแดนฝึกความสร้างสรรค์และจินตนาการของเด็ก   

มิติที่สำคัญของการเล่นคือ เด็กมีอิสระที่จะเลือกเอง  ควบคู่กับแรงจูงใจส่วนตัว   การมีความหมายทางอารมณ์  นามธรรม  และเพ้อฝัน

ในชีวิตประจำวัน การเล่นของเด็กคือสิ่งที่เมื่อเราเห็น เราบอกได้ทันทีว่าเด็กกำลังเล่น  

หลักการอย่างหนึ่งของการเล่นคือ  ไม่จำ (no memory)  และไม่มีเป้าหมายชัดเจน (no desire)    ซึ่งช่วยให้ตระหนักว่าเป็นการเล่น คนเล่นไม่มีการถือสากัน   และไม่หวังผลอะไร

ในเชิงถ้อยคำ “เล่น” (play) เป็นคู่ตรงกันข้ามกับ “ทำงาน” (work)    อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำว่า “งานอดิเรก” (hobby)    แต่นั่นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่    โดยผมขอให้ความเห็นว่างานอดิเรกเป็นสิ่งที่เราทำแล้วสนุกเหมือนเล่น        

 

เล่นคือเรียน

มักมีคนเข้าใจผิดว่า การเล่นของเด็กมีผลพลอยได้เป็นการเรียนรู้ ผ่านการฝึกควบคุมอารมณ์ และการฝึกเป็นผู้ให้และผู้รับ  การเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เล่นก่อน กับเป็นผู้รอ     ในความเป็นจริง การเล่นของเด็กมีผลโดยตรงต่อการเรียนรู้ ผ่านการฝึกภาษา และการทำความเข้าใจคณิตศาสตร์    การเล่นเป็นสิ่งที่มนุษย์รับมรดกมาจากวิวัฒนาการ    สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีการเล่นทั้งสิ้น    คนที่เลี้ยงสุนัขจะเห็นสุนัขเล่นกัน แม้แต่สุนัขที่โตเต็มวัยแล้วก็ยังเล่นกัน    ในสัตว์เหล่านี้ (รวมทั้งคน) การเล่นเป็นกลไกหนึ่งของการเรียนรู้ตามธรรมชาติ   

การเล่นเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ของมนุษย์  เป็นการวางพื้นฐานของสุขภาวะด้านอารมณ์  และด้านพฤติกรรมสังคม    การเล่นช่วยเพิ่มความจำ  ช่วยการฝึกคณิตศาสตร์ในสมอง  ฝึกการผลัดกันเล่น  ควบคุมความวู่วาม  และฝึกพูดด้วยถ้อยคำที่ซับซ้อน  

มีนักจิตวิทยาวิวัฒนาการเสนอว่า การเล่นเป็นกลไกทางวิวัฒนาการเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอด      

ผมขอเพิ่มเติมว่า การเล่นเป็นกิจกรรมกระตุ้นการเชื่อมโยงใยประสาทในสมอง 

 

ปกป้องเกินไป

เด็กสมัยก่อนมีโอกาสเล่นในท่ามกลางธรรมชาติ    ในพื้นที่ที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วยหากเด็กโตพอสมควรที่จะช่วยตนเอง และช่วยเหลือกันเองได้แล้ว    สมัยโน้นการเล่นซุกซนหรือเล่นแผลงๆ ของเด็ก เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้เกินขอบเขต    ไม่ให้เสี่ยงอันตรายเกินไป    แต่ไม่ห้ามเล่น     ตรงกันข้าม เด็กสมัยนี้ต้องถูกจำกัดขอบเขตของการเล่น    ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย    รวมทั้งถูกชักจูงให้เล่นในบ้าน หรือในอาคาร โดยใช้เทคโนโลยี (เช่นวิดีโอเกม)   

โปรดสังเกตว่า เด็กๆ ถูกกระทำโดยระบบธุรกิจทุนนิยมอย่างไรบ้าง 

ทำให้การเล่นของเด็ก “เข้ากรอบ”  มากยิ่งขึ้น    ตามการเปลี่ยนแปลง ๓ ประการของการเล่นดังกล่าวแล้ว

 

สร้างพื้นที่เล่นใหม่ให้แก่เด็ก

พื้นที่เล่นของเด็กในอุดมคติคือพื้นที่ที่ปลอดจากบงการของผู้ใหญ่     โดยเด็กๆ จัดการกันเอง     มีเด็กหลายอายุเล่นกัน โดยใช้หลักการว่าเด็กเล็กต้องการการดูแล    และเด็กโตชอบดูแลน้อง    

ในชุมชนจัดพื้นที่และเวลาตามนัดหมาย    เช่นสัปดาห์ละวัน    ให้พ่อแม่พาเด็กไปรวมตัวกันเพื่อเล่นด้วยกัน    หากจะให้เด็กเล็กเล่นเกมด้วยกัน เด็กโตอาจทำหน้าที่บอกกติกา  และเป็นกรรมการห้ามหรือตัดสิน   

ผู้ใหญ่ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยว ยกเว้นคอยให้รางวัลเมื่อเด็กๆ เล่นกันได้ดี    เช่นมีขนมและน้ำไว้เลี้ยง   

เมื่อเห็นว่าเด็กๆ ทำกันได้ดี ค่อยๆ ขยายขึ้นเป็นค่ายเสาร์-อาทิตย์    ค้างคืน    ให้เด็กๆ คิดและจัดการกันเอง    โดยผู้ใหญ่เป็นเพียงกองสนับสนุน    และต่อไปอาจขยายเป็นค่ายเดินป่าศึกษาธรรมชาติสามสี่วัน   

เป็น “พื้นที่ใหม่” ของการเล่น    ที่เด็กๆ สร้างกันเอง     ผู้ใหญ่ทำหน้าที่สนับสนุน  ไม่ใช่เป็นผู้จัด

 

เล่นหรือรังแก

เรื่องเด็กเล่นด้วยกันแล้วถูกรังแก หรือกระทบกระทั่งกัน เป็นเรื่องปกติ    สมัยก่อนพ่อแม่หรือผู้ใหญ่มักถือเป็นเรื่องปกติ  ไม่ลุกลามเป็นเรื่องราวขัดแย้งใหญ่โต    พ่อแม่อาจเพียงปรามลูกของตนว่า ต่อไปหากพบเด็กคนนั้นอย่าเข้าไปเล่นด้วย   และพ่อแม่เองก็ช่วยพาลูกหลบด้วย    โดยที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนยอมรับว่าเด็กๆ ไร้เดียงสา  จึงไม่ถือสาในความประพฤติไม่ถูกต้อง  ยกเว้นความประพฤติที่ก่ออันตรายร้ายแรง

แต่พ่อแม่สมัยนี้เปลี่ยนไป    ยึดถือสิทธิและความถูกต้องเป็นหลัก    หากลูกของตนถูกเด็กอื่นรุกรานสิทธิ์ก็จะร้องเรียนและเอาเรื่อง    

สภาพดังกล่าวมีต้นตอที่การเอาโลกทัศน์ของผู้ใหญ่ไปตีความเด็ก    ใช้กติกาของผู้ใหญ่กับพฤติกรรมของเด็ก    คือไม่เข้าใจความเป็นเด็กนั่นเอง   

ที่ร้ายกว่านั้น คือเด็กเล่นสนุก    และต้องการเล่นแบบนั้น    แต่ผู้ใหญ่นั่งดูอยู่ รู้สึกว่าลูกของตนถูกเด็กโตกว่ารังแก   ทั้งๆ ที่มันเป็นเกมการเล่น    และถ้อยคำและเสียงที่เปล่งออกมาในทำนองว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ชอบใจนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นสนุก    

ยิ่งขึ้นไปอีก ผู้เขียนบอกว่า เด็กมีอารมณ์กึ่งๆ กลางๆ หลายอย่างในเวลาเดียวกันตอนเล่นสนุกสุดขีด    คือทั้งสนุกทั้งกลัว  หรือทั้งสนุกทั้งรู้สึกทรมาน   ทำให้ผู้ใหญ่ที่นั่งสังเกตอยู่และใช้ความรู้สึกของตนเข้าไปตัดสินคิดว่าลูกของตนกำลังถูกกระทำ    ทั้งๆ ที่เห็นอยู่กับตาว่าลูกของตนร่วมเล่นกับเขา   

ผู้เขียนบอกว่า พ่อแม่ควรเข้าหลักสูตรเข้าใจการเล่นของเด็ก  และผู้เขียนเคยทำหน้าที่วิทยากร    แนะนำพ่อแม่ในประเด็นต่อไปนี้

  • ฝึกเบนความสนใจ    หากเด็กมาฟ้องว่าถูกเพื่อนเอาเปรียบ หรือรังแก    ให้ตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจุกจิกเล็กๆ น้อย    แล้วใช้เทคนิคเปลี่ยนเรื่อง    เช่นตอบว่า “เสื้อของหนูสวยจัง ใครซื้อให้”    “ใช่น่ารำคาญหนูหน่อยจริงๆ    แต่ว่าในกระเป๋าสะพายของหนูมีอะไรอวดครูบ้าง”    เด็กบางคนอาจรบเร้าเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใหญ่ได้ยินเรื่องที่ตนมาฟ้อง
  • หากเด็กมาฟ้องว่าถูกเพื่อนด่า  เช่นว่าโง่    ผู้ใหญ่ต้องตอบด้วยเสียงปกติว่า    “เป็นเรื่องตลกที่เขาว่าหนูอย่างนั้น”   “เป็นคำพูดที่โง่ที่สุดในโลก”      
  • หากเด็กมาร้องเรียนด้วยคำกว้างๆ  เช่น “หนูเกลียดปิ๊ด”  “เขาชอบมาดึงผมเปียของหนู”    ผู้ใหญ่ต้องใช้กุศโลบายเบนความสนใจ    เช่นตอบว่า “วันก่อนปิ๊ดเขาแบ่งขนมให้หนูกินใช่ไหม    วันนี้เขาเอาอะไรมาแบ่งให้หนูบ้าง”     คือผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่า การเล่นกันเป็นเรื่องไม่ราบรื่นตลอดเวลา มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง     สภาพเช่นนั้นเองคือประโยชน์อย่างหนึ่งของการเล่น   
  • เตือนสติเด็กว่า ตอนเล่นทุกคนมุ่งมั่นทำสิ่งที่ตนตั้งใจทำ     โดยที่เด็กแต่ละคนมีนิสัยและสไตล์แตกต่างกัน บางคนขี้อาย บางคนช้า บางคนเร็ว บางคนมุทะลุ บางคนยึดกติกา แต่เป็นคนก้าวร้าวรุนแรง    เมื่อเล่นด้วยกันก็ต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง    ไม่ถูกใจกันบ้าง     ผู้ใหญ่ต้องเตือนสติเด็กว่าเล่นด้วยกันก็ต้องไม่ถือสากัน    (เป็นการเตือนสติผู้ใหญ่เองด้วย)
  • หลีกเลี่ยงการใช้คำ ‘รังแก” (bully) ต่อเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างที่เด็กเล่นด้วยกัน    โดยเฉพาะในระหว่างเด็กในช่วงอายุ ๔ - ๕ ขวบ    แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดซ้ำหลายครั้ง    การรังแกที่แท้จริงเกิดกับเด็กโต ที่จงใจต่อเด็กที่เป็นเหยื่อ และมีการทำซ้ำๆ 
  • สอนเด็กให้รู้จักหลบเลี่ยง หากเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ    เช่นแนะว่า หากไม่ต้องการถูกวิ่งไล่ก็อย่าวิ่งหนี ให้นั่งลงเสีย     หรือหากไม่อยากเล่นกับเพื่อนคนนั้น ก็ให้เดินหนีไปเสีย
  • จงตระหนักในพลังของเด็ก    เด็กมีความแข็งแรงเพียงพอต่อการเล่น ซึ่งบางกรณีเป็นการเล่นแรงๆ    การกระทบกระทั่งบ้างไม่เป็นเรื่องน่ากังวล   

 

สนามเด็กเล่นที่เป็นธรรมชาติ

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่สมัยปัจจุบันคือ ให้เวลาให้เด็กเล่นกลางแจ้งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า    โดยเน้นเล่นของเล่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติ    เป้าหมายสำคัญคือ ให้เด็กมีอิสระในการเล่นกันเอง  โดยผู้ใหญ่ไม่เข้าไปบงการ    โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมการใหญ่โต    ไม่ต้องพาไปเดินป่า    แค่มีถาดทรายเล็กๆ หน้าบ้าน   เด็กๆ ก็เล่นกันได้สารพัดเรื่องแล้ว    หรืออาจเล่นดูรังนกที่ระเบียงคอนโด    เล่นเพาะเมล็ดต้นไม้ในกระถาง    เล่นสังเกตดอกไม้ในสวน   เป็นต้น

ประสบการณ์ของเด็กต่อสิ่งที่เป็นธรรมชาติมีคุณต่อเด็กมากมายหลากหลายประการ    มีผลงานวิจัยยืนยันว่ามีผลบวกต่อผลลัพธ์การเรียนรู้และพัฒนาการเด็กเล็ก    เช่น การเล่นสร้างสรรค์และจินตนาการช่วยเพิ่มทักษะการกำกับตนเอง  เพิ่มผลการทดสอบ  และลดความเหนื่อยล้าทางสมอง   

ผลงานวิจัยบอกว่า พื้นที่เล่นที่เป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ ช่วยให้อาการของเด็ก ADHD ทุเลาลง    เด็กวัยเด็กเล็กที่เล่นในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติจริงๆ มีผลพัฒนาการของกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวดีกว่าเด็กที่เล่นในสนามเด็กเล่น   รวมทั้งอุบัติการณ์ของโรคอ้วนต่ำกว่า   

พึงตระหนักว่า บริการจัดค่ายที่พิพิธภัณฑ์  ค่ายฤดูร้อน  และค่ายเด็กเล็กที่ฟาร์ม  เหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่เล่นตามธรรมชาติของเด็ก      

 

พื้นที่เล่นแพ้หลักสูตรมาตรฐาน

ยิ่งนับวัน หลักสูตรมาตรฐานที่ไร้จินตนาการ ก็ยิ่งเข้าไปเบียดเวลาเบียดโอกาสที่เด็กจะมีที่เล่นและเรียนรู้แบบธรรมชาติเป็นฐาน    หลักสูตรมาตรฐาน คู่มือประกอบการสอนมาตรฐาน สำหรับครูชั้นเด็กเล็กใช้สอนนักเรียน    กลายเป็นตัวก่ออุปสรรคต่อการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กเล็ก

หากจะให้ประเทศไทยมีพลเมืองคุณภาพสูง ต้องเริ่มที่เด็กเล็ก    เรากำลังเดินมาถูกทาง    แต่อย่าหลงไปเลียนแบบอเมริกัน    ที่ยิ่งนับวันระบบทุนนิยมก็เข้าไปหาประโยชน์จากเด็กเล็กมากขึ้นๆ    ส่งผลทางอ้อมให้คุณภาพการเรียนรู้ของเด็กเล็กเลวลง      

อย่าเข้าไปขวางการเรียนรู้อย่างอิสระของเด็ก   ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ    เรียนจากสิ่งของที่มีในธรรมชาติ

วิจารณ์ พานิช        

๑๒ เม.ย. ๖๑

ที่นั่งรับลมทะเลริมชายหาด   ชมทะเล รีสอร์ท  หาดเจ้าสำราญ  เพชรบุรี 


 

 

หมายเลขบันทึก: 648572เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2018 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2018 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I am mulling over this “หลักการอย่างหนึ่งของการเล่นคือ ไม่จำ (no memory) และไม่มีเป้าหมายชัดเจน (no desire) ซึ่งช่วยให้ตระหนักว่าเป็นการเล่น คนเล่นไม่มีการถือสากัน และไม่หวังผลอะไร” - in particular “ไม่จำ (no memory)”.

My past learning on ‘child play’ had led me to accept that playing is training/developing in both brain and muscles. This is significantly different from the ‘no memory’ (above, which probably means ‘that children do not make any effort to memorize the play : rules, moves, strategies, tactics, outcomes,…’). I think ‘play is memorized by the brain automatically without players’ conscious efforts’. I’d say all experiential perceptions are memorized.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท