น้ำตาจระเข้ของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, การเมืองการกำกับดูแล และ กลุ่มทุนเทคโนใหม่ในสหรัฐฯ


เมื่อต้องการลดปัญหาความรุนแรงหรือไม่ก็จราจลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการปกครองจนสร้างความเสียหายให้นครรัฐ อริสโตเติลจึงเสนอรูปแบบการปกครองที่รวมเอาลักษณะการปกครองทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน คือมีทั้งผู้นำ (กษัตริย์ หรือผู้เผด็จการ), อภิชนาธิปไตย (สภาขุนนาง) และ ประชาธิปไตย (สภาสามัญชน) แทนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรงในแต่ละช่วง ก็กลายมาเป็นการแสดงบทบาทเด่นของรูปลักษณ์ย่อย อันเป็นองค์ประกอบในการปกครองผสมนี้แทน

เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ โทรมาขอนัดหมายให้ผมช่วยบรีฟประสบการณ์และข้อคิดเห็นในการเดินทางกับโครงการ The International Visitor Leadership Program (IVLP) ให้เขาฟังหน่อย พอผมนึกทบทวนดูก็เห็นว่ามันมีความเกี่ยวข้องกับ การเมืองและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างไร โดยเฉพาะกรณีการเรียกขอฟังปากคำจากคณะกรรมาธิการสภาครองเกรสต่อ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และอันที่จริงนี่กระทบชิ่งไปถึงเจฟฟ์ เบซอส ของอเมซอนด้วย และน่าจะเป็นภาพสะท้อนได้บ้างถึงการเข้ามาของแจ็ค หม่า และอาลีบาบาในไทย ผมเลยเอามาบันทึกไว้ในนี้เผื่อเป็นประโยชน์ครับ

สื่อมวลชนไทยดูจะสนใจติดตามประเด็นนี้กันมาก แต่เท่าที่ผมตามดูการ “แปล” ข่าวจากทั้งสื่อเก่า สื่อใหม่ในไทย ผมรู้สึกว่ายังไม่ครอบคลุมและลงประเด็นหลักอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่ ที่พอทำได้ละเอียดอยู่บ้างก็มีไทยพับลิก้า แต่ก็ยังไม่ดีพอ ถ้าเราอ่านภาษาอังกฤษได้แตกฉาน ก็แทบจะเห็นว่าไม่ได้แตกต่างหรือให้ประเด็นใหม่อะไรนัก บางทีถึงกับหลุดประเด็นสำคัญ ๆ ไปด้วยซ้ำ

ในวันแรกของทริป IVLP เป็นการฟังเล็คเชอร์จาก โปรเฟสเซอร์ คริสโตเฟอร์ โคจุม ที่มหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน อันที่จริงไม่ใช่การบรรยายแต่เป็นการอภิปราย ถาม-ตอบ เสียมากกว่า คำถามสำคัญคือใครเป็น “ผู้นำ” ของสหรัฐฯ คำถามนี้ฟังผิวเผินเหมือนถามว่าใครเป็น “ประมุข” ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่ นี่เป็นคำถามว่าใคร “ทรงอำนาจ” ที่สุดในอเมริกา ผมจำคำตอบในวันนั้นได้แม่นว่า “ในอเมริกามีลักษณะการแบ่งแยกอำนาจ (The Seperation of Powers) ระหว่าง อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และ อำนาจตุลาการ มีการถ่วงดุลและคัดคานกันเอง จึงตอบยากว่าใครเป็นผู้ทรงอำนาจตัวจริงในอเมริกา” และโชคดี นั่นเป็นคำตอบที่ถูก

การบรรยายเรื่อง "การแบ่งแยกสามอำนาจ" และ บทบาทของตัวแสดงแทน และกลุ่มผลประโยชน์ทั้งในและนอกประเทศต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ของ โปรเฟสเซอร์ คริสโตเฟอร์ โคจุม ที่มหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน



ความจริงที่ผมตอบออกไปแบบนั้น เพราะผมกำลังสนใจอย่างยิ่งยวดกับความคิดเรื่อง “รูปแบบสุดท้ายของรัฐ” ที่ปรากฏตัวออกมาเป็น การปกครองในรูปแบบผสมผสาน (Mixed government) ซึ่งมาจากความคิดแบบอริสโตเติล ที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องเสถียรภาพของนครรัฐ ที่มักจะวนเวียนเป็นวัฏจักรทั้งภายในการปกครองแต่ละรูปแบบ และทั้งระหว่างรูปแบบ ตั้งแต่ รูปแบบรัฐที่ปกครองโดยผู้นำเดี่ยว (รูปแบบที่ดี: กษัตริย์ปราชญ์ vs รูปแบบที่แย่: ทรราช) -> รูปแบบรัฐที่ปกครองโดยผู้นำที่เป็นหมู่คณะ (รูปแบบที่ดี : อภิชนาธิปไตย vs รูปแบบที่แย่ : คณาธิปไตย) -> รูปแบบรัฐที่ปกครองโดยประชาชน (รูปแบบที่ดี : รัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ vs รูปแบบที่แย่ : ประชาธิปไตยโดยกฎหมู่) แล้วก็วนกลับไปเป็นรูปแบบรัฐที่ปกครองโดยผู้นำเดี่ยวใหม่ หมุนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ เมื่อต้องการลดปัญหาความรุนแรงหรือไม่ก็จราจลในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการปกครองจนสร้างความเสียหายให้นครรัฐ อริสโตเติลจึงเสนอรูปแบบการปกครองที่รวมเอาลักษณะการปกครองทั้งสามเข้าไว้ด้วยกัน คือมีทั้งผู้นำ (กษัตริย์ หรือผู้เผด็จการ), อภิชนาธิปไตย (สภาขุนนาง) และ ประชาธิปไตย (สภาสามัญชน) แทนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรงในแต่ละช่วง ก็กลายมาเป็นการแสดงบทบาทเด่นของรูปลักษณ์ย่อย อันเป็นองค์ประกอบในการปกครองผสมนี้แทน วิวัฒนาการในอังกฤษจากสภาเดี่ยวหรือสภาวิททัน (Witenaġemot) ในสมัยแองโกลแซกซอน แล้วต่อมากลายเป็นสภาคู่แบบเวสมินสเตอร์ที่แยกการประชุมจากกันอย่างเด็ดขาดในรัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 นั้น เผอิญมาพ้องกับข้อเสนอนี้ของอริสโตเติลพอดี กษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินียังมี "พระราชอำนาจ" บางประการ อาทิพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม (การอภิปรายในสภากับฝ่ายค้านในกรณีที่นายกฯ เมย์ ปฏิบัติการร่วมกับ อเมริกา และฝรั่งเศสในการโจมตีซีเรียที่ผ่านมา อาศัยหลักข้อนี้ ในขณะที่อเมริกา ประธานาธิบดีมีอำนาจการทำสงครามในเวลาจำกัด แม้สิทธิ์ในการประกาศสงครามและการสนับสนุนงบประมาณจะอยู่ที่สภาคองเกรส) อย่างไรก็ดี กษัตริย์หรือสมเด็จพระราชินีจะมีพระราชอำนาจจำกัดภายใต้กรอบกฎหมาย ถ้าจะว่าไปแล้วการปกครองในอังกฤษยังมีลักษณะสืบทอดมาจากระบอบเดิมอยู่มาก

ลักษณะการเปลี่ยนแปลงภายในของรูปแบบการปกครองลักษณะต่าง ๆ ตามข้อเสนอของอริสโตเติล ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นวัฎจักร (κύκλος หรือ Kyklos หรือ cycle) (ภาพจาก วิกิพีเดีย)



เพราะในอเมริกาไม่มีการสืบทอดระบบกษัตริย์และขุนนางมาอย่างอังกฤษ ประกอบกับมีจุดเริ่มต้นจากการไม่ไว้ใจรัฐบาล เหตุที่เป็นรัฐใหม่อันกำเนิดจากการปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลกษัตริย์อังกฤษ จึงไม่วางใจระบบการปกครองที่ให้อำนาจแก่ผู้ปกครองโดยเด็ดขาด ทั้งยังได้อิทธิพลจากตำราสองฉบับของ จอห์น ล็อก และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทฤษฏีการแบ่งแยกอำนาจ” ของ มองเตสกิเยอร์ โดย เจมส์ แมดิสัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้ง ผู้ต่อมาจะกลายมาเป็นประธานาธิบดีคนที่สี่ของสหรัฐฯ ได้แถลงเรื่องทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจนี้ และ “ประดิษฐ์” สามอำนาจ (บริหาร, นิติบัญญัติ และ ตุลาการ) ภายใต้ข้อเขียน “เอกสารเฟดเดอรัลลิส”* โดยนามปากการ่วมว่า “พับลิอุส” (Publius) ชื่อพับลิอุสนี้หมายถึง "Publius Valerius Poplicola" หนึ่งในสี่ชนชั้นนำโรมันที่โค่นกษัตริย์ Lucius Tarquinius Superbus แห่งอาณาจักรโรมันและให้กำเนิดสาธารณรัฐโรมันในช่วงปี 509 ก่อน คศ. (อ้างจากบันทึกของลีวี) กษัตริย์ Lucius จึงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของโรมัน (ระบบจักรพรรดิโรมันที่เกิดขึ้นนับแต่ จักรพรรดิ Augustus ในช่วงปี 27 ก่อน คศ. และแม้ภายหลังจะมีลักษณะเชิดชูความสง่างามภูมิฐานแบบกษัตริย์ แต่ต้องนับว่าแตกต่างจากระบบกษัตริย์แบบเดิม เพราะแม้จะสืบทอดตำแหน่งทางทายาท หากมิใช่เป็นไปโดยอัตโนมัติ การสืบทอดตำแหน่งจำต้องได้รับความเห็นชอบจาก กองทัพ และวุฒิสภา จึงนับว่าเป็นการคงหลักการของสาธารณรัฐเอาไว้ตามคำขวัญ "วุฒิสภาและประชาชนโรมัน" หรือ “Senatus Populusque Romanus, SPQR") นามปากการ่วมนี้ นอกจาก แมดิสันแล้ว (เขียน 29 ตอน) ยังมี อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน (เขียน 51 ตอน) และ จอห์น เจย์ (เขียน 5 ตอน) ต่างช่วยกันเขียนภายใต้นามปากการ่วมนี้ใน "เอกสารเฟดเดอรัลลิส" ด้วย โดยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์แห่งนิวยอร์ค รวมทั้งสิ้นจำนวน 85 ตอน แมดิสันจะอ้าง “การปกครองแบบผสมผสาน” นี้โดยตรง ในเอกสารตอนที่ 40 และ 63 และจะอ้างถึงทฤษฎีแบ่งแยกอำนาจของมองเตสกิเยอร์โดยตรง ในเอกสารตอนที่ 47 และออกแบบการตรวจสอบถ่วงดุล ระหว่างสถาบันอำนาจต่าง ๆ อย่างซับซ้อน

มีความเข้าใจผิดอยู่มาก เรื่องการอ้างสภาคู่แบบเวสมินเตอร์ ที่ไทยรับมาจากอังกฤษนั้นมีลักษณะการแบ่งแยกอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ, ความจริงสภาคู่เช่นนี้ โดยธรรมชาติแล้วกลับไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ต่างจากรูปแบบการปกครองในสหรัฐฯ ในอังกฤษนั้น รัฐบาลประกอบด้วยเสียงข้างมากในสภา เลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งมักเป็นหัวหน้าพรรค จึงเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาล แล้วยังควบคุมกระบวนการออกกฎหมายได้ด้วย หลักการ “ถ่วงดุลอำนาจ” ของสภาแบบนี้ หากไม่นับการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลแล้ว (ดูธรรมเนียมของสภาสามัญชนของอังกฤษ) หรือในกรณีฝ่ายรัฐบาลได้ที่นั่งเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว (ในกรณีสุดขั้วอีกกรณีหนึ่งคือการเกิด "สภาแขวน" เมื่อไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเลย) การคานอำนาจที่แท้จริงจึงแปรอยู่บนข้อเท็จจริงเรื่อง “ชนชั้น” และ “ฐานันดร คือวางการถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างสถาบันกษัตริย์ สภาขุนนาง และสภาสามัญชน หากแต่ระบบแบบนี้เมื่อมองจากมิติสามอำนาจ ในทางปฏิบัติจึงมีความเบ็ดเสร็จทางอำนาจ เหนือกว่าระบบการปกครองในสหรัฐฯ ซึ่งมีการแบ่งแยกสามอำนาจจากกันอย่างชัดเจน จนบางทีการแบ่งแยกอำนาจขนาดนั้น ก็ทำให้เกิดการชะงักงันทางการเมือง จนกว่าจะมีการบรรลุการเจรจาระหว่างสภาคองเกรส และประธานาธิบดีเรื่องงบประมาณ เป็นต้น แต่ข้อดีก็คือระบบแบบสหรัฐฯ จะทำให้เกิดความเบ็ดเสร็จทางอำนาจน้อยกว่า จึงมักนำไปสู่การประนีประนอมทางการเมือง

ผมและคณะสมาชิก IVLP ถ่ายรูปคู่กับ ดอกเตอร์ เจเรมี เมเยอร์ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน (คนกลาง) หลังชั้นบรรยายเรื่องการแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและมลรัฐ


นอกจาก “การแบ่งแยกอำนาจ” ของสถาบันทั้งสามแล้ว ในอเมริกายังมีการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง รัฐบาลกลาง และมลรัฐอีกด้วย มลรัฐสามารถออกกฎหมายของตนเองที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนมลรัฐอื่น แต่ต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ บ่อยครั้งที่รัฐบาลกลางมีอำนาจน้อยกว่ามลรัฐอย่างไม่น่าเชื่อ ในบางกรณี กระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ด้วย อาทิ กรณีการประหารชีวิตนักโทษเม็กซิกัน Ruben Cárdenas Ramírez ที่เท็กซัสเมื่อปี 2004 ศาลโลกที่กรุงเฮก ขอให้ทบทวนการประหารชีวิตนี้ ประธานาธิบดีในเวลานั้น จอร์จ ดับบลิว บุช จึงขอให้รัฐเท็กซัส อันเป็นมลรัฐแห่งคดีทบทวนตามศาลโลก แต่ศาลสูงสุดกลับระงับคำสั่งของประธานาธิบดี ด้วยเฉพาะสภาคองเกรสจึงจะมีสิทธิ์ทบทวนตามศาลโลก แต่คองเกรสก็ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้ Cárdenas จึงถูกรัฐเท็กซัสประหารชีวิตไปในปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ปัจจุบันนี้ยังมี 31 มลรัฐในอเมริการวมเท็กซัส ที่ยังคงโทษประหารชีวิตไว้

คณะสมาชิก IVLP ขณะเตรียมเข้ารับฟังการบรรยายสรุปจากคณะวิจัยด้านการต่างประเทศ กลาโหม และการค้า แห่งหน่วยงานวิจัยของหอสมุดรัฐสภา (The Congressional Research Service หรือ CRS)


ในวันที่สอง ช่วงเช้าหลังจากข้ามแม่น้ำโพโตแม็ค ผ่านตึกเพนตากอนไปฝั่งเวอร์จิเนีย เพื่อฟังการบรรยายเรื่องการแบ่งแยกอำนาจรัฐบาลกลางและมลรัฐ รวมถึงแนวคิดและความแตกต่างของสหพันธรัฐ และ รัฐเดี่ยว (Federalism vs Unitarianism) จากดอกเตอร์ เจเรมี เมเยอร์ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันแล้ว ในช่วงบ่าย คณะจึงได้มีโอกาสกลับมาในดีซีเพื่อพูดคุยกับคณะวิจัยด้านการต่างประเทศ กลาโหม และการค้า แห่งหน่วยงานวิจัยของหอสมุดรัฐสภา ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ CRS อันมีคุณไมเคิล มู้ดดี้ เป็นหัวหน้าคณะวิจัยนี้ ที่ตั้งของคณะวิจัยนี้อยู่ชั้นใต้ดินของหอสมุด มีทางเดินวกวนราวกับป้อมปราการลับ (หอสมุดรัฐสภาได้รับงบประมาณประจำปีจำนวน 598 ล้านเหรียญสหรัฐ มีพนักงาน 3,224 คน เก็บรวบรวมหนังสือสิ่งพิมพ์จำนวน 38 ล้านเล่ม บันทึกรายงาน 3.6 ล้านฉบับ เก็บรักษารายการที่ไม่สามารถจำแนกได้อีก 122 ล้านรายการ ฯลฯ รวมการเก็บรักษาทั้งสิ้นจำนวน 164 ล้านรายการ) จากนั้นจึงเข้าพบ คณะทำงานของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสมาชิก โดยมีคุณคาเลป แม็คคารี เป็นหัวหน้าคณะทำงาน คณะกรรมาธิการชุดนี้ ตั้งอยู่บนตึกเดิร์กสัน (ตั้งชื่อตามวุฒิสมาชิก เอเวอเรท เดิร์กสัน) ที่ห้อง 423 (การเรียกตัวแทนสำคัญจากคณะรัฐมนตรี อย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ตลอดจนผู้นำเหล่าทัพทั้งหลาย เพื่อให้ความเห็น จะกระทำในห้องนี้) หากดูแผนที่ตามรูปด้านล่าง ในกรอบสี่เหลี่ยมไข่ปลาสีส้ม จะเห็นว่าตั้งอยู่ติดกับอาคารฮาร์ทที่เป็นกรอบไข่ปลาสีแดง (ตั้งชื่อตามวุฒิสมาชิก ฟิลิป ฮาร์ท) ทางขวามือ ถ้าข้ามถนนไปทางซ้ายมือจะเป็นอาคารรัสเซล (ตั้งชื่อตามวุฒิสมาชิก ริชาร์ด รัสเซล จูเนียร์) เป็นอันว่าอาคารอันเป็นสถานที่ทำงานของวุฒิสมาชิกและคณะกรรมาธิการวุฒิสมาชิกจะตั้งอยู่ด้านเหนือของอาคารรัฐสภาหลักหรือยูเอสแคปพิตอล ถ้าดูตามแผนที่จะเห็นเส้นทางการเดินเท้าของคณะ (เส้นประสีฟ้า) จากหอสมุดรัฐสภาในกรอบเส้นประสีเขียว ผ่านหน้าศาลสูงสุด ไปถึงอาคารเดิร์กสันตามกำหนดการ ใช้เวลาไม่เกินสิบนาที

แผนที่การเดินทางจากหอสมุดรัฐสภาไปยังอาคารที่ทำงานวุฒิสมาชิกตึกเดิร์กสัน ในภาพนี้ไม่ได้แสดงที่ตั้งของตึกฟอร์ดซึ่งจะอยู่เยื้องทางซ้ายมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้


ตอนที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ถูกเรียกตัวเพื่อให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสมาชิกร่วม ระหว่างคณะกรรมาธิการด้านการยุติธรรม และคณะกรรมาธิการด้านการค้า วิทยาศาสตร์ และการคมนาคม ในวันที่ 10 เมษายน เมื่อเวลาบ่ายสองโมงสิบห้านาที ที่ผ่านมา ก็กระทำกันที่ ห้อง 216 ที่อาคารฮาร์ท, ส่วนการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการด้านการพลังงานและการค้าของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเช้าวันที่ 11 เมษายน เวลาสิบนาฬิกา กระทำที่ห้อง 2123 ของตึกเรย์เบิร์น (จะเห็นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเส้นประสีม่วงอยู่ตอนล่างของยูเอสแคพิตอล) ถูกตั้งขนาบด้วยอาคารลองเวิร์ททางขวามือ ส่วนตึกฟอร์ดจะอยู่เยื้องทางซ้ายมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นอีกสองอาคารที่เป็นสถานที่ทำงานและคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ ของสมาชิกสภาผู้แทนฯ

การใช้อำนาจของทั้งวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในการเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็น ถือเป็นหนึ่งในอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมากมักจะกระทำก่อนมีการออกข้อกฎหมายสำคัญ ๆ วุฒิสมาชิกก็มีสิทธินำเสนอข้อกฎหมายในรัฐสภาได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านงบประมาณที่ถือเป็นสิทธิโดยตรงของสภาผู้แทนฯ การใช้อำนาจอื่นของวุฒิสมาชิกก็เช่น การรับรองการแต่งตั้งรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะทำงานที่สำคัญ อาทิเช่น การแต่งตั้งนาย ไมค์ ปอมปีโอ อดีต ผอ ซีไอเอ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และการแต่งตั้ง นางจีนา ฮาสเปล รอง ผอ ซีไอเอ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ ซีไอเอ ที่ว่ากันว่าเคย “อำนวยการ” คุกลับซีไอเอในไทยที่จังหวัดอุดรธานี ภายใต้รหัส “ตาแมว” ทั้งสองตำแหน่งยังคงคาราคาซังจนบัดนี้ (วุฒิสภารับรองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไมค์ ปอมเปอี แล้วในวันที่ 26 เมษายน ในขณะที่วุฒิสมาชิกรับรองตำแหน่ง ผอ ซีไอเอ ของจีนา ฮาสเปล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม)

สื่อสายไอทีส่วนใหญ่จะรายงานว่า คณะกรรมาธิการที่ซักถามมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มีความรู้พื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีโซเชียลมีเดียไม่พอ ตรงข้าม ผมกลับเห็นว่า ทั้งวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทน จะมีคณะทำงานของตนเองอยู่ ไม่รวมคณะทำงานของชุดกรรมาธิการต่าง ๆ คณะทำงานเหล่านี้จะคอยเก็บรวมรวมข้อมูลสำคัญและบรีฟประเด็นสำคัญให้กับวุฒิสมาชิก หรือสมาชิกสภาผู้แทนที่ตนทำงานอยู่ด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิจัยของหอสมุดรัฐสภาจะทำรายงานวิจัยตามคำขอของสภาชิกรัฐสภาอย่างพิถีพิถัน นอกจากความเชี่ยวชาญของผู้วิจัยเองแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนขอข้อมูลและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญนอกสถาบัน นอกจากนี้คณะวิจัยยังเข้าพบให้คำปรึกษากับสมาชิกสภาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ อีกด้วย (ในการพูดคุยกับคณะผู้วิจัยของ CRS มีตอนหนึ่ง ได้มีการกล่าวถึงการเดินทางลงพื้นที่ในประเทศอัฟกานิสถาน เพื่อสืบค้นข้อมูลในรายงานที่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นว่าขอบข่ายเครื่องมือวิจัย มิได้ใช้แต่เพียงการ "ทบทวนวรรณกรรม") รายงานของ CRS เหล่านี้ล้วนมีคุณภาพสูงทั้งสิ้น ไม่มีการเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะโดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะให้บริการเฉพาะสมาชิกรัฐสภา แต่ก็มีผู้นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะอยู่เนือง ๆ รวมทั้งมีเว็บไซต์ Every CRS Report คอยเผยแพร่รายงานทุกฉบับ รายงานเหล่านี้จะมีการแก้ไขตามข้อมูลที่ได้รับใหม่เป็นระยะ ๆ ตัวอย่างรายงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเช่น รายงานเปรียบเทียบนโยบายระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ผมและสมาชิกในคณะ IVLP ขณะเข้าเยี่ยมคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสมาชิก ที่ตึกเดิร์กสัน



ตัวอย่างคำถามสำคัญ ที่คณะกรรมาธิการทั้งสองคณะ ซักถาม มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เช่น การถามย้ำถึง “รูปแบบทางธุรกิจ” ของเฟสบุ๊คว่าหารายได้จากอะไร คำถามนี้บางคนมองว่าเป็นคำถามตื้นเขิน เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าเฟสบุ๊คมีรายได้จากการโฆษณา แต่ความจริงคำถามนี้เจาะลงไปถึง “การควบรวมกิจการ” ของเฟสบุ๊ค โดยเฉพาะการเข้าเทคโอเวอร์บริการวอทซ์แอพ หรือบริการแอพพลิเคชั่นสื่อสารทันใจเป็นมูลค่าสูงถึง 1 หมื่น 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ วอทซ์แอพได้รายได้จากการแบ่งกับผู้ให้บริการดาวน์โหลด และบริการลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากไม่มีโมเดลธุรกิจแบบอื่น อาทิการหารายได้จากการโฆษณาแล้ว วอทซ์แอพจะมีรายได้ไม่กี่ล้านดอลลาร์ (ปัจจุบันมีรายงานว่าวอทซ์แอพมีรายได้ที่ 1.289 ล้านเหรียญ) การทุ่มเงินจำนวนมหาศาลซื้อวอทซ์แอพจึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ การถามคำถามย้ำโดยตรงเรื่อง การถอดข้อมูลส่วนบุคคลจากการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานที่อ้างว่ามีการเข้ารหัสนั้น แล้วนำไปพ่วงกับการโฆษณาแบบอัตโนมัตินั้น เป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งมาร์คก็ยังคงยืนยันว่าไม่ได้ เป็นอันว่าโมเดลธุรกิจที่เฟสบุ๊คตั้งใจจะใช้วอทซ์แอพหารายได้ นอกเหนือจากการควบกิจการเพื่อหวังผลการขยายฐานลูกค้าจึงยังเป็นความลับดำมืดต่อไป มีรายงานว่าคณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับเฟสบุ๊คถึง 110 ล้านยูโร ที่ให้ข้อมูลคลุมเครือเรื่องการรวมฐานข้อมูลระหว่างเฟสบุ๊คและวอทซ์แอพเข้าด้วยกัน ปัญหาเรื่องความน่าสงสัยเหล่านี้ทำให้ภายหลังมีแอพพลิเคชั่นการสื่อสารทันใจทางเลือกที่มีการเข้ารหัส อย่างเช่น “เทเลแกรม” อันเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ออก ICO ด้วยกัน และ “ซิกแนล” ซึ่งพัฒนาอยู่บนโครงสร้างแบบ “Open Whisper Systems” ที่เริ่มเป็นที่นิยมอย่างเงียบ ๆ แข่งกับเทเลแกรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

อีกคำถามที่เกี่ยวข้องกันก็เช่น คำถามที่เมื่อถามแล้วมาร์คปฏิเสธเรื่องการผูกขาด ว่าถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการใช้เฟสบุ๊คแล้ว จะมีทางเลือกอื่นใดที่เทียบเคียงได้หรือไม่ ซึ่งมาร์คก็ต้องยอมรับอย่างเสียไม่ได้ว่า ไม่มี จึงมีการคาดเดากันมากว่าเนื้อหาคำถามเหล่านี้อาจนำไปสู่การแบ่งแยกกิจการของยักษ์ใหญ่ไอทีแห่งนี้ แบบที่เคยเกิดกับเบลล์แล็ปมาก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤต หรือเรื่องอื้อฉาวที่มีการพูดถึงกันมากในสังคม อย่างในกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซีย โดยการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊คเป็นแพล็ตฟอร์มหลัก หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของแคมบริดจ์ อนาไลติกาโดยไม่ได้รับความยินยอมนี้ เป็น "หน้าต่างแห่งโอกาส" ในการกำหนดนโยบายอย่างดี จึงมีการพูดถึงการเสนอร่างกฎหมาย โดยวุฒิสมาชิก เอ็ด มาร์กี้ (เดโมแครต/แมสซาชูเซส) และ วุฒิสมาชิก ริชาร์ด บลูเมนทัล (เดโมแครต/คอนเน็คติกัต) [Customer Online Notification for Stopping Edge-provider Network Transgressions (CONSENT) Act.] แต่ในความเป็นจริง การเสนอร่างกฎหมายเช่นนี้จะเผชิญอุปสรรคสำคัญหลายประการ

ประการแรก เสียงที่คุมสภาในขณะนี้เป็นของรีพับรีกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่นิยมการออกกฎระเบียบควบคุมธุรกิจ ทั้งยังลดการควบคุมกฎระเบียบเหล่านั้นลง เพื่อเอื้อต่อความคล่องตัวของฝ่ายเอกชน ฝ่ายเดโมแครตที่เล็งเห็นความสำคัญการควบคุมกำกับดูแลภาคธุรกิจ จะต้องรอการเลือกตั้งกลางเทอมในวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ว่ากันว่าฝ่ายเดโมแครตจะได้รับการเลือกกลับเข้ามามีเสียงท่วมท้นในสภา หรือที่เรียกกันว่า “สึนามิสีน้ำเงิน” เสียงส่วนใหญ่ของเดโมแครตที่จะกลับมานี้แหละ จะทำให้การออกกฎระเบียบกำกับต่อภาคธุรกิจจะมีแนวโน้มมากขึ้น อาจมีส่วนต่อการทำงานของประธานาธิบดี หรือแม้แต่อาจนำไปสู่การ “อีมพีชเม้นต์” หากจำเป็น และข้อตรวจสอบของ “โรเบิร์ต มุลเลอร์” อัยการพิเศษสหรัฐฯ ที่กำลังทำการตรวจสอบประธานาธิบดีทรัมป์อย่างถึงพริกถึงขิงอยู่ทุกขณะ เกิดพบเบาะแสสำคัญขึ้นมา

ประการที่สอง ต่อให้ฝ่ายเดโมแครตจะได้รับเลือกเข้ามาจำนวนมากจริงในช่วงเลือกตั้งกลางเทอม แต่ความด้อยประสิทธิภาพของคองเกรสในการผ่านกฎหมาย ก็เป็นอุปสรรคอย่างมาก สัดส่วนจากร่างกฎหมาย ที่จะผ่านการนำเสนอในสภา ไปจนถึงการอภิปราย ลงคะแนน และการลงนามของประธานาธิบดีแล้วได้รับประกาศใช้เป็นกฎหมาย มีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 5% ในเจ็ดรอบการเลือกตั้งที่ผ่านมา ร่างกฎหมายส่วนใหญ่หากไม่ค้างอยู่ในคองเกรส ก็จะถูกปัดตกไปโดยไม่ถูกหยิบขึ้นมาอภิปรายหรือลงคะแนนเลย

ประการสุดท้าย สภาพความเป็นจริงว่า โดยส่วนใหญ่นโยบายในสหรัฐฯ ถูกครอบงำโดยอุตสาหกรรมการล้อบบี้ การเลือกตั้งและกิจกรรมทางการเมือง ของนักการเมืองในสหรัฐฯ จำต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก กิจกรรมมากกว่าสองในสามของนักการเมืองคือการพบปะผู้คนและการระดมทุน ตอนที่คณะได้เข้าพบกับ นาย โรเจอร์ วิเลอรี ประธานพรรครีพับรีกันแห่งหลุยเซียนา ที่นิวออร์ลีนส์ ก็บอกกับพวกเราตรงไปตรงมาว่า หน้าที่ของเขาในแต่ละวันคือการโทรศัพท์หาผู้สนับสนุนเพื่อระดมทุน แต่กฎหมายการระดมทุนของสหรัฐฯ ก็มีข้อปลีกย่อยมาก มีการจำกัดจำนวนเงินของผู้บริจาครายใหญ่แต่ละราย การระดมทุนของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทน วุฒิสมาชิก ผู้ว่าการรัฐ และ คณะกรรมการกิจกรรมการเมืองประจำพรรค (PAC) จะไม่สามารถนำมาใช้ปะปนกัน นอกจากนี้ในแต่ละรัฐจะมีคณะกรรมาธิการด้านจริยธรรม คอยพิจารณาคำร้องเรียน ตรวจสอบการรับเงินสินบน และการใช้จ่ายเงินของนักการเมืองในแต่ละมลรัฐ นายมาร์ค สก็อคลันด์ ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการฯ ประจำมลรัฐแคนซัส ได้ชี้แจงกับคณะเราว่า ข้อบังคับนี้รวมถึงการล้อบบี้ การโฆษณา และการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของนักการเมืองโดยตรง (ข้อห้ามไม่รวมไปถึงการทำธุรกิจในขณะดำรงตำแหน่ง ไม่มีกฎว่าต้องตั้งเอสไควร์เพื่อถือหุ้นแทน) แต่อย่างไรก็ตาม การล้อบบี้ ก็เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติและคอยหล่อเลี้ยงกระบวนการกำหนดนโยบายในสหรัฐฯ สภาพการเบี่ยงเบนจากสถาปัตยกรรมอุดมคติของบิดาผู้ก่อตั้งในเรื่อง “การแบ่งแยกอำนาจ” และ “การปกครองแบบผสมผสาน” กลับกลายมาสู่ความเป็นจริงเรื่องการกำหนดนโยบาย ภายใต้อุตสาหกรรมล้อบบี้จึงเป็นเรื่องอิหลักอิเหลื่อไม่น้อย

ในรายงานของ “เดอะฮิลล์” ไม่เพียงแต่เฟสบุ๊ค แต่ยังรวมถึง อเมซอน และ อัลฟาเบต (บริษัทแม่ของกูเกิล) ล้วนกำลังไต่อันดับขึ้นอย่างรวดเร็วในแผงอันดับ 50 รายแรกที่ใช้จ่ายเงินผ่านล้อบบี้ยิสต์มากที่สุดในปีกลาย ทั้งนี้ กลุ่มหุ้น เฟสบุ๊ค แอปเปิล อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และ กูเกิล (อัลฟาเบต) จะถูกเรียกรวมว่า "FAANG" ตามชื่อย่อตัวแรกของแต่ละกิจการ การออกมาแถลงขอโทษของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ในขณะการสอบถามจากสมาชิกคณะกรรมาธิกาคองเกรส จึงเป็นเรื่องที่ถูกคำนวณและซักซ้อมเอาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว มีรายงานว่ามีผู้พบเห็นสคริปต์คำตอบวางบนโต๊ะในช่วงการให้การ ในกรณีที่มีการสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการแตกบริษัทเฟสบุ๊คออกเป็นบริษัทย่อย ว่าจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการสูญเสียสมรรถภาพทางเศรษฐกิจในการแข่งขันกับ “จีน” เอาไว้ด้วย

อัลวาโร เบโดยา และสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม (ITIF) จึงออกมาระบุว่า โอกาสของสหรัฐฯ ในการออกกฎหมายกำกับคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเบ็ดเสร็จแบบยุโรปนั้นคงทำได้ยาก แต่ควรจะมุ่งเน้นไปยังข้อกำหนดปลีกย่อยต่าง ๆ เพื่อหลบเลี่ยงกระบวนการล้อบบี้ทำให้กฎหมายตกไปจากการพิจารณาของคองเกรสนั่นเอง เมื่อคำนึงถึงอุตสาหกรรมล้อบบี้ในการกำหนดนโยบายแล้ว เป็นไปได้ยากถ้าจะทำการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งหมดพร้อม ๆ กัน เพราะมีแต่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบรรดาล้อบบี้ยิสต์ที่คอยทำงานให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีเท่านั้น

ศูนย์กลางอุตสาหกรรมล้อบบี้อย่าง K Street นั้น อยู่ไม่ไกลไปจากโรงแรมวอชิงตันพลาซ่าที่เป็นที่พักของคณะขณะอยู่ในวอชิงตัน การล้อบบี้สำคัญ ๆ ไม่ได้ทำจากเฉพาะกลุ่มทุนในอเมริกาเท่านั้น แต่ยังมีการล้อบบี้มาจากต่างประเทศอีกด้วย มีรายงานข่าวว่า บ็อบ โดล อดีตวุฒิสมาชิกผู้ผันตนเองมาทำงานล้อบบี้ยิสต์หลังพ้นตำแหน่ง อยู่เบื้องหลังการทำให้ทรัมป์ โทรศัพท์ไปหา นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน จนทำให้จีนขุ่นเคืองมาแล้ว นอกจากการใช้ล้อบบี้ยิสต์แล้ว การสร้างอิทธิพลผ่าน Think Tank หรือสถาบันวิจัยนโยบายก็เป็นเรื่องสำคัญ มีข่าวว่า สถาบันสหรัฐฯ - เกาหลีใต้ SAIS (USKI) ของมหาวิทยาลัย จอห์นส ฮอปสกิน กำลังถูกปิดตัว เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ตัดงบสนับสนุน ที่เคยให้เป็นจำนวนมหาศาลติดต่อกันหลายปี เหตุเพราะผู้อำนวยการสถาบัน ปฏิเสธการไล่ออกนักวิจัยเกาหลีที่มีนโยบายแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ และไม่ยอมเห็นตามนโยบายเปิดกว้าง “ตะวันสาดแสง” ของประธานาธิบดี มุน แจอิน

หนังสือพิมพ์ วอลล์สตรีทเจอร์นัล ฉบับวันที่ 7 เมษายน พูดถึงข้อขัดแย้งระหว่างทรัมป์และเบซอส



นอกจาก ล้อบบี้ยิสต์ สถาบันวิจัยนโยบาย แล้วก็ยังมีสื่อสารมวลชน ที่สามารถสร้างกระแสสาธารณะ เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของอเมซอน เข้าซื้อวอชิงตัน โพสต์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ด้วยเงินสดมูลค่า 250 ล้านเหรียญ ซึ่งอเมซอนก็ถือเป็นกลุ่มทุนเทคโนโลยีใหม่ ที่ใช้ล้อบบี้ยิสต์ด้วยงบประมาณสูงสุดในกลุ่มด้วยกันรองจากอัลฟาเบท (มีการเปรียบเทียบว่า ลักษณะนิ่งเงียบของอเมซอนต่อข้อซักถามสื่อมวลชน ทำให้เบซอสมีส่วนคล้ายคลึงกับ เจ พี มอร์แกน อดีตเจ้าพ่อการเงินการธนาคารของอเมริกา) วอชิงตันโพสต์ ถือเป็นสื่อหลักหนึ่งในสาม นอกเหนือจาก นิวยอร์คไทมส์ และ วอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่นักธุรกิจ นักการเมือง นักนโยบาย จำต้องอ่านทุกเช้า ผมพบว่าตอนใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา ที่มีนัดหมายเต็มตารางทั้งเช้าเย็น แทบไม่สามารถติดตามข่าวสารจากทางอื่นได้เลย การอ่านสามหัวหนังสือพิมพ์ที่สามารถจับกระแสในแต่ละวันจึงเป็นสิ่งจำเป็น และตอนเย็นเมื่อกลับมาถึงที่พักและรับประทานอาหารค่ำ อาบน้ำอาบท่าแล้ว ก็มาพักผ่อนดูรายการของซีเอ็นเอ็นในช่วงดึก สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวงจรชีวิตอัตโนมัติในแต่ละวัน วอชิงตันโพสต์ รวมทั้งนิวยอร์คไทมส์ วิพากษ์วิจารณ์ ประธานาธิบดีทรัมป์อย่างรุนแรง ในภาพที่ผมถ่ายจากหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ฉบับวันที่ 7 เมษายน แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์ ในฐานะที่อยู่ในแวดวงธุรกิจมาก่อน เข้าใจถึงอิทธิพลการใช้ล้อบบี้ยิสต์ และสื่อมวลชน ซึ่งก็ถือว่าเป็นล้อบบี้ยิสต์อีกประเภทได้ดี เขาจึงเริ่มโจมตี อเมซอน และ เบซอส อย่างต่อเนื่องว่าเอาเปรียบจากการเลี่ยงภาษี (เลือกเก็บหรือไม่เก็บภาษีในบางมลรัฐ) และเอาเปรียบไปรษณีย์ของสหรัฐฯ อีกด้วย จริงอยู่ที่ตามหลักการอำนาจของประธานาธิบดี จะถูกคานโดยอีกสองสถาบันคือคองเกรส และศาลสูงสุด แต่ประธานาธิบดีในฐานะประมุขแห่งรัฐ จะเป็นจุดสนใจของสังคมทั้งในอเมริกา และในโลก เขาจะสามารถกำหนดวาระ ทั้งผ่านการปราศรัย ปรากฎตัว และสื่อสารกับทั้งชนชั้นนำและประชาชนอเมริกันเอง ยิ่งทรัมป์ยังใช้ทวิตเตอร์ในการทั้งโจมตีสื่อกระแสหลัก และสื่อสารวาระไปยังฐานเสียงผู้สนับสนุนเขาโดยตรงอีกด้วย

คำถามจึงย้อนกลับมาว่า “ใครเป็นผู้ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ ตัวจริง” ในตอนนี้จึงต้องถือว่า เป็นการประลองกำลังครั้งสำคัญระหว่าง ตัวแทนกลุ่มทุนเทคโนโลยีใหม่อย่าง เจฟฟ์ เบซอส ที่มีกำลังทุนมหาศาล ใช้ทั้งพลังของล้อบบี้ยิสต์ และสื่อมวลชนหลักอย่างวอชิงตัน โพสต์ และ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สามารถจับพลังฐานเสียง “คนขาวผู้โกรธา” ดังที่ระบุเอาไว้ในหนังสือ “White Rage: The Unspoken Truth of Our Racial Divide” ของ คารอล แอนเดอร์สัน และ "Bring the War Home: The White Power Movement and Paramilitary America" ของ แคเธอลีน เบลิว

ทริปการเยือนวอชิงตันแบบเจาะลึกครั้งนี้ เปลี่ยนความคิดมุมมองผมไปอย่างสำคัญ ทำให้ผมจำต้องมองกระบวนการกำหนดนโยบายอย่างละเอียดรอบคอบขึ้น และเป็นการพิสูจน์โมเดลการเมืองระหว่างประเทศอย่างดี นี่เป็นนครที่มีฐานเศรษฐกิจอยู่ล้อมรอบงบประมาณจากทางการ กิจกรรมการเมือง และกระบวนการกำหนดนโยบาย นี่เป็นเมืองหลวงโลกแห่งการกำหนดนโยบาย มีองคาพยพและระบบนิเวศ ที่สนับสนุนการกำหนดนโยบายอย่างเพียบพร้อม ทั้งด้านบวกและด้านลบ อาทิ ผู้เล่นในระเบียงอำนาจระดับโลก สื่อมวลชน สถาบันนโยบายชั้นนำ ล้อบบี้ยิสต์ มหาวิทยาลัย ฯลฯ การกำหนดนโยบายจึงมีลักษณะสะท้อนผลได้เสียของสังคมอย่างซับซ้อนและหยั่งลึก ทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูว่าเมืองไทย มีความพร้อม ความเข้าใจ ถึงข้อเท็จจริงของการผงาดขึ้นของกลุ่มทุนเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล เฟสบุ๊ค อเมซอน หรือแม้แต่ แจ็คหม่า และอาลีบาบาที่กำลังเข้ามาลงทุนในขณะนี้ และเราเห็นถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลกลุ่มทุนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

เชิงอรรถ

* เหตุผลเรื่องการแบ่งแยกอำนาจนี้ เจมส์ แมดิสัน ได้แถลงเอาไว้ในเอกสารเฟดเดอรัลลิส ตอนที่ 51 เอาไว้อย่างแจ่มชัด ดังต่อไปนี้ (ตัวเน้นเป็นของผม) "The accumulation of all powers, legislative, executive and judicial in the same hands, whether of one, a few, or many, and whether hereditary, self–appointed, or elective, may justly be pronounced the very definition of tyranny"

† ฐานันดรจำแนกผู้คนตามชาติกำเนิด แต่สถาบันปกครองไม่ได้แบ่งอำนาจตามฐานันดร แม้จะมีที่มาจากการจำแนกนี้ ในระบอบเดิมของฝรั่งเศสมีสามฐานันดร คือ นักบวช ขุนนาง และ สามัญชน แต่กษัตริย์ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งในนี้ ต่อมาในปี 1797 เริ่มมีการพูดถึงสื่อมวลชนว่าเป็น "ฐานันดรที่สี่" และต่อมาในปัจจุบันก็เรียกโซเชียลมีเดียว่าเป็น "ฐานันดรที่ห้า"

อ่านตัวอย่างเรื่องกติกาของระบบนำไปสู่การประนีประนอมได้อย่างไร ในกรณีการโน้มน้าวให้สภาคองเกรสผ่านงบประมาณสนับสนุนนโยบายการสร้างกำแพงของประธานาธิบดีทรัมป์จากความเห็นของวุฒิสมาชิก เชลลี มัวร์ คาปิโต (รีพับรีกัน/เวสต์เวอร์จิเนีย) ใน Politico “We want to have a bipartisan bill. I’m very committed to border wall funding in the request of the president. I want to be supportive of that,” Capito said in an interview. “Both sides, I think, are committed to working the process. And that means compromise.”

ข้อมูลอ้างอิง

  • April 10, 2018 Senate, joint committee, Senate Committee on the Judiciary, Senate Committee on Commerce, Science, and Transportation, Hart Senate Office Building 216 [link]

  • April 11, 2018 Hearing before the US House of representatives committee on energy and commerce, Facebook: Transparency and Use of Consumer Data, RHOB 2123, 10:00 AM [link]

  • U.S.-EU Data Privacy: From Safe Harbor to Privacy Shield [link]

  • ต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญสหรัฐ [link]

  • Social Media Use in 2018 [link]

  • สภาขุนนางอังกฤษ [link]

  • What Does Jeff Bezos Want? [link]

  • Amazon’s Jeff Bezos Can’t Beat Washington, So He’s Joining It: The Influence Game [link]

  • Lobbying’s top 50: Who’s spending big [link]

  • The Royal Prerogative [PDF download]

  • I was a lobbyist for more than 6 years. I quit. My conscience couldn’t take it anymore. [link]

  • How Tech Lobbying Shapes Policy and Impacts Your Life [link]

  • Facebook spent a record $11.5 million on lobbying last year. In the first 3 months of 2018 they’ve already spent $3.3 million lobbying [link]

[end]

คำสำคัญ (Tags): #IVLP
หมายเลขบันทึก: 648113เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2018 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท