‘สาแหรก’ คำวิจารณ์ของ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ (อาจารย์ฝรั่งของ จิตร ภูมิศักดิ์)


(ที่มาภาพ: ปรับปรุงจากนิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๗๒ ปีที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๖๑)

นับเป็นเวลา ๔๒ ปีแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๖ หรือ พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ (William J. Gedney) ได้วิพากษ์วิจารณ์งานวิจัยเรื่อง ‘Austro-Thai: Language and Culture, with a Glossary of Roots’ ซึ่งเป็นงานต่อเนื่องมาจากเรื่อง ‘Thai, Kadai, and Indonesian: A New Alignment in Southeastern Asia’ ของ Dr. Paul K. Benedict นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้หลงใหลในภาษาแห่งอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เสนอแนวความคิดว่าตระกูลภาษาไท-กะไดและออสโตรนีเซียนมีความสัมพันธ์ต่อกันในรูปแบบของภาษาร่วมเชื้อสายร่วมโคตรด้ำมาแต่ครั้งบรรพกาล ซึ่งเรียกหากันในชื่อปัจจุบันสมัยว่า ‘ออสโตร-ไท’ (Austro-Tai)    

พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น ๑๐ ปีพอดี หลังการเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักปฏิวัติ ที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่งานเขียนเล่มเอกอุของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในชื่อนาม ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางอย่างยาวนานนับจาก ‘แรก’ คำ ได้ถูกจารจารึกลงบนแผ่นกระดาษในสถานที่อันคับแคบและแสนอึดอัด เป็นเวลาร่วม ๗ ปี กว่าจะแล้วเสร็จลุล่วง แม้ไม่สมบูรณ์เต็มร้อยก็ตาม จนรอดมาฝากไว้กับมือของ สุภา ศิริมานนท์ ก่อนบ่ายหน้าเข้าสู่เขตสู้รบในป่าเขา ต้นฉบับจึงถูกนำไปนอนฝังดินให้สวนเฝ้า เพื่อรอคอยเวลาอันเหมาะสม จนโชคชะตาชักนำพัดพามาถึงมือของ ชลธิรา กลัดอยู่ หรือศาสตราจารย์พิเศษ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ในวันนี้ จึงได้เกิดการผลักดันให้เป็นรูปเล่มรูปธรรมขึ้นมาในท้ายที่สุด ภายใต้การจัดพิมพ์ครั้งแรกโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๕๕๖) 

ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ เป็นชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญภาษาตะวันออกโดยเฉพาะภาษาตระกูลไท เคยเดินทางมาพำนักอยู่ในประเทศไทยถึง ๗ ปี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อศึกษาภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างเข้มข้น รวมไปถึงการทำงานด้านการแปลเอกสาร เป็นอาจารย์ด้านภาษาและวรรณคดี (Thomas W. Gething ค.ศ. ๑๙๙๙) และยังเป็นอาจารย์ฝรั่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ดังคัดบทความเรื่อง ‘เมื่อจิตรวิจารณ์ศาสนา ศาสนาในทรรศนะวิจารณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (ทศวรรษ ๒๔๙๐-๒๕๐๐)’ ของ วิศรุต บวงสรวง จากเว็บเพจประชาไท ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ มาส่วนหนึ่งดังนี้:  

๔๕] ศาสตราจารย์วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ เป็นชาวอเมริกัน เคยเป็นที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติ, อาจารย์ด้านภาษาและวรรณคดี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ช่วงระหว่างที่เก็ดนีย์อยู่ที่จุฬาฯนั้น เขาได้มีโอกาสพบกับจิตร ขณะนั้นจิตรเป็นน้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์เก็ดนีย์ได้อุปการะเอาจิตรมาพำนักอยู่กับตนที่บ้านเช่าหลังหนึ่ง แถวถนนวิทยุ เป็นบ้านหลังใหญ่ มีคนอาศัยอยู่มาก และขณะอยู่ด้วยกันได้ร่วมกันศึกษาโดยเป็นที่ปรึกษาให้แก่กันและกัน และร่วมกันทำงานแปลโดยแบ่งค่าจ้าง ดูเพิ่มเติมใน กันศิริชัย หงส์วิทยากร และ ศรีวรรณ ตั้งใจตรง(สัมภาษณ์).”

แนวความคิดที่ว่าตระกูลภาษาไท-กะไดและออสโตรนีเซียน อาจมีความสัมพันธ์ต่อกัน ได้เกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้วตั้งแต่รุ่นของ Gustave Schlegel ผู้เสนอความเป็นไปได้ไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๐๑ ซึ่งในยุคนั้นภาษาไท-กะไดถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสาแหรกเดียวกับภาษาจีนภายใต้ชื่อ ‘ชิโน-ไทย’ (Sino-Thai) (George van Dreim ค.ศ. ๑๙๙๙) หากข้อเสนอของ Dr. Paul K. Benedict ในชื่อ ‘Thai, Kadai, and Indonesian: A New Alignment in Southeastern Asia’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี ค.ศ. ๑๙๔๒) ถือเป็นข้อเสนอที่ท้าทายต่อแวดวงวิชาการอย่างมาก โดยได้ทำการแยกตระกูลภาษาไท-กะไดออกจากภาษาจีน และจัดให้ไปอยู่กับภาษาออสโตรนีเซียน (ภาษาอินโดนีเซีย) เรียกรวมกันในชื่อใหม่ว่า ‘ออสโตร-ไทย’ ก่อนเปลี่ยนมาเป็น ‘ออสโตร-ไท’ (Austro-Tai) ในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ (Lawrence A. Reid ค.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๘๕ และ Robert A. Blust ค.ศ. ๒๐๑๓)

แนวความคิดออสโตร-ไทของ Dr. Paul K. Benedict เป็นแนวความคิดที่เกิดจากการเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ระหว่างคำศัพท์พื้นฐาน (core vocabulary) ของภาษาไท-กะไดกับภาษาออสโตรนีเซียนจำนวนราว ๓๖ ชุด อาทิ จำนวนนับ คำสรรพนาม คำเรียกธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เช่น ตะวัน น้ำ ไฟ เป็นต้น คำเรียกอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย คำกริยาสำคัญ เช่น กิน เป็น ตาย เป็นต้น รวมไปถึงคำคุณศัพท์ต่างๆ ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ในเชิงภาษาศาสตร์เชื่อว่าทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสูง หลังจากการนำเสนอแนวความคิดในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ Dr. Paul K. Benedict ได้หยุดการสานต่อแนวคิดไว้ถึงกว่า ๒๐ ปี และในปี ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๖๗ (ก่อนส่งท้ายในปี ค.ศ. ๑๙๗๕) ได้นำแนวความคิดที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเป็นระบบกลับมาเสนออีกครั้ง

ทั้งยังนำภาษาของพวกกัม-สุย (Kam-Sui) และออง-เบ (Ong-Be) เข้ามารวมไว้ หากที่สร้างความประหลาดใจคือการดึงเอาตระกูลภาษาม้ง-เมียน (Hmong-Mien) เข้ามาอยู่กับกลุ่มออสโตร-ไทด้วย การนำภาษาเหล่านี้เข้ามาเป็นการเพิ่มจำนวนรายการคำศัพท์ไปในตัว นอกจากนั้นยังได้ขยายการเปรียบเทียบไปยังภาษาของพวกออสโตรนีเซียน (ภาษาฟอร์โมซา) บนเกาะไต้หวัน รวมไปถึงการสืบสร้างคำออสโตร-ไทโบราณอย่างเป็นระบบ (Lawrence A. Reid ค.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๘๕) และไม่นับรวมความพยายามที่จะเชื่อมโยงภาษาออสโตรนีเซียนไปยังภาษาญี่ปุ่นในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ (Gunnar Holmberg ค.ศ. ๒๐๑๐)

แนวความคิดเรื่องออสโตร-ไทที่นำเสนอด้วยวิธีการของ Dr. Paul K. Benedict ได้ถูกกระแสคัดง้างอย่างหนักจากนักภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะสายชิโน-ไท ยกตัวอย่างเช่นอาจารย์ Luo Meizhen ได้แสดงความเห็นต่างไว้ในบทความปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ว่า แม้จะเห็นด้วยกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไท-กะไดและออสโตรนีเซียนที่ถูกแสดงผ่านคำศัพท์พื้นฐาน หากคำศัพท์เหล่านั้นก็แสดงความสัมพันธ์ (ที่ไม่ใช่เป็นในลักษณะของการหยิบยืม) ระหว่างไท-กะได (Luo Meizhen ใช้คำว่า Kam-Tai) กับตระกูลภาษาชิโน-ทิเบตันด้วยเช่นกัน หรือศาสตราจารย์ Graham Thurgood ได้แสดงความเห็นไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ ว่าความสัมพันธ์ของออสโตรนีเซียนและไท-กะไดเป็นเพียงการหยิบยืม (contact relationship) เท่านั้น ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในแบบร่วมสายเลือด (Lawrence A. Reid ค.ศ. ๑๙๙๖)

และแม้แต่ในหมู่ผู้เพื่อนฝูง ผู้ที่สนับสนุน หรือผู้ที่โน้มเอียงมาทางความสัมพันธ์แบบออสโตร-ไทก็ยังวิพากษ์ถึงข้อบกพร่องไว้ เช่นศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ (ค.ศ. ๑๙๗๖) และศาสตราจารย์ Lawrence A. Reid (ค.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๘๕) ซึ่งกล่าวว่าวิธีการพัฒนาระบบเสียงและวิธีการสืบสร้างคำโบราณ คือปัญหาหลักในงานวิจัยของ Dr. Paul K. Benedict  

นอกจากแนวความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างออสโตรนีเซียนและไท-กะไดในแบบ ‘ออสโตร-ไท’ แล้ว ยังมีนักคิดทางภาษาที่สำคัญคือศาสตราจารย์ Laurent Sagart ได้ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลภาษามานานนับสิบปีแล้วเหมือนกัน ดังเช่นในปี ค.ศ. ๒๐๐๑ และ ค.ศ. ๒๐๐๔ โดยตีความว่าภาษาทั้งสองเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด (genetic relationship) จากคำเชื่อมโยงระหว่างออสโตรนีเซียนกับ Buyang ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในพวกข้า/ขร้าของไท-กะได เช่นคำว่า *maCay -ตาย, *maCa -ตา, *manuk -นก, *quluh -หัว, *qetut -ตด, *qudip -ดิบ เป็นต้น แต่จัดให้ภาษาไท-กะไดเป็นภาษาชั้นลูกหลานของต้นตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนแทน (daughter language) มีศักดิ์เทียบเท่าภาษามาลาโย-โพลีนีเซียน ซึ่งเป็นจุดแตกต่างที่สำคัญกับแนวคิดของสายออสโตร-ไท 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร. วีระ โอสถาภิรัตน์ หนึ่งในผู้ทำการศึกษาวิจัยสานต่อแนวความคิดออสโตร-ไทหลังยุค Dr. Paul K. Benedict ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในลักษณะภาษาร่วมเชื้อสายแบบภาษาพี่ภาษาน้อง (sister language) เช่นในการประชุมวิชาการทางภาษาศาสตร์แห่งอุษาคเนย์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ได้นำเสนอหัวข้อ ‘Austro-Tai revisited’ จากการเปรียบเทียบคำศัพท์พื้นฐานจำนวน ๒๔ คำ ระหว่างตระกูลภาษาสี่พวกคือ พวกภาษาทิเบต-พม่า, พวกภาษาจีนเดิม, พวกภาษาออสโตรนีเซียน และพวกภาษาไท-กะได พบว่า ภาษาทิเบต-พม่าเข้าคู่กันกับภาษาจีนเดิม และภาษาออสโตรนีเซียนเข้าคู่กันกับภาษาไท-กะได ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดแบบ ‘sister language’ มากกว่า ‘daughter language’

หากสิ่งที่น่าสนใจคือ ในบทความของ Dr. Paul K. Benedict ที่นำเสนอไว้ในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ นอกเหนือไปจากการเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์ของตระกูลภาษาแล้ว ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการพัฒนา ‘รากคำ’ ของภาษาไท-กะไดที่เชื่อมโยงไปยัง ‘รากคำ’ ของทางอินโดนีเซียไว้อย่างน่าสนใจ ดังคัดถ้อยคำจากหน้า ๕๙๒ และ ๕๙๓ มาสองประโยคความว่า:

“In the above set of correspondences, the most obtrusive single feature is the development of monosyllabic roots in Thai from the disyllabic roots typical of Indonesian.”

“The material assembled in this paper lends itself to the view that the majority of Thai-Kadai-Indonesian roots were disyllabic rather than monosyllabic, and that Thai and Kadai have undergone extensive phonetic reduction.”

ถอดความเป็นภาษาไทยว่า:

“ในกลุ่มคำที่แสดงความสัมพันธ์กันข้างต้น (เปรียบเทียบระหว่างภาษาไทยและภาษาอินโดนีเซีย –ผู้เขียน) ปรากฏสิ่งที่โดดเด่นคือการพัฒนาของรากคำพยางค์เดียวในภาษาไทยจากรากคำสองพยางค์ของภาษาอินโดนีเซีย”

“สาระที่ปรากฏในบทความนี้ แสดงแนวโน้มว่ารากคำส่วนใหญ่ในภาษาไทย-กะไดและอินโดนีเซียเป็นรากคำสองพยางค์มากกว่ารากคำพยางค์เดียว และไทย-กะไดได้เกิดการเปลี่ยนแปลงลดรูปเสียงอย่างกว้างขวางในภายหลัง” 

และถึงแม้ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ผู้เป็นเพื่อนกับ Dr. Paul K. Benedict มาอย่างยาวนาน ได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ‘ออสโตร-ไท’ ไว้อย่างหนักในบทความเรื่อง ‘ON THE THAI EVIDENCE FOR AUSTRO-THAI’ ในหลายๆ หัวข้อใหญ่เช่น การอ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดี การหยิบยืมคำไปมาระหว่างผู้พูดต่างภาษาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้คำศัพท์พื้นฐาน การเพิ่มความหมายของคำศัพท์ การตัดทอนการใช้วรรณยุกต์ หรือการสืบสร้างคำโบราณด้วยวิธีการอันไม่แน่นอน เป็นต้น

โดยมีประเด็นที่ควรกล่าวถึงในรายละเอียดคือ การวิจารณ์ในส่วนของความหมาย (Meanings) คำร่วมเชื้อสาย (Cognates) และรากความหมายร่วม (Primitivist Reductionism) ดังคัดมาบางส่วน อาทิ:

การเพิ่มเติมความหมายของคำศัพท์ (Meanings):

เช่นการขยายความหมายของคำว่า thɨaŋ2 /เทื่อง/ ที่แปลว่าน้ำตาลในภาษาโท้ (Tho) เพื่อโยงมายังคำว่า phɨaŋ3 /ผึ้ง/ ในภาษาสยาม, คำว่า หัว ‘ปลี’ ถูกขยายความหมายเป็นหน่ออ่อน, คำว่า ‘ปอ’ ขยายเป็นพืชจำพวกชบา, คำว่า ‘ดาว’ ขยายเป็นท้องฟ้า, คำว่า ‘หงาย’ ขยายเป็นแสงจันทร์, คำว่า ‘ตอม’ ขยายเป็นการดูดดึงขึ้นมา, คำว่า ‘ถอก’ ขยายเป็นอวัยวะเพศชาย, คำว่า ‘ดำ’ ขยายเป็นลึกถึงก้นบึ้ง เป็นต้น

การเปรียบคำศัพท์ร่วมเชื้อสาย (Cognates):

เช่นการเทียบคำว่า takrɛɛŋ1 /ตะแกรง/ ในภาษาสยาม (ที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็นคำยืม) กับคำว่า raŋ /รัง/ ในภาษาพวก Dioi ซึ่งแปลว่าร่อน กระด้งฝัดข้าว, การเทียบคำว่า ŋɔɔn5 /หงอน/ หรือ hɔn2/ฮ่อน/ ในภาษาโท้ กับคำว่า son3 /ส้น/ ในภาษาสยาม, การเทียบคำว่า *ba ที่แปลว่าพักลงจากบ่าในภาษาฉาน กับคำว่า ‘บ่า’ ที่ไว้ใช้แบกหามของไทย, การเทียบคำว่า raaŋ3 /ร่าง/ ที่แปลว่ารูปแบบเค้าโครง กับคำว่า raaŋ3 /ร่าง/ ที่แปลว่าร่างกาย, การเทียบคำว่า thraw3 /เถร้า/ ที่แปลว่าหัวในภาษาแสกและพวกไทสาขาเหนือ กับคำว่า klaaw3 /เกล้า/ ที่แปลว่ามวยผมในภาษาสยาม เป็นต้น ซึ่งศาสตราจารย์ William J. Gedney คิดว่าคำเปรียบเทียบเหล่านี้ควรเกิดมาจากคำต้นแบบที่แตกต่างกัน

รากความหมายร่วม (Primitivist Reductionism):

เช่นคำในภาษาสยามว่า Ɂaaw1 /อาว/ น้องชายของพ่อ มีรากร่วมกับคำว่า phuu3 /ผู้/ แบบตัวผู้, คำว่า lia1 /เลีย/ มีรากร่วมกับ lin4 /ลิ้น/, คำว่า klaaw2 /กล่าว/ มีรากร่วมกับ law3 /เล่า/, คำว่า klam2 /กล่ำ/ แบบแดงก่ำ มีรากร่วมกับ kham1 /คำ/ แบบทองคำ รวมไปถึง kham3 /ค่ำ/, คำว่า hɛɛŋ3 /แห้ง/ มีรากร่วมกับ lɛɛŋ/แล้ง/ เป็นต้น         

หากสิ่งที่ชวนให้น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ข้อสังเกตในเรื่อง ‘รากคำ’ ของภาษาไทยของ Dr. Paul K. Benedict อาจไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย แต่เป็นประเด็นที่มีน้ำหนักอยู่ในตัวมากทีเดียว ถึงกับทำให้ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ได้ฉุกคิดออกมาดังๆ ว่า คำต่างๆ ในภาษาไทยมีแนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่อาจพัฒนามาจากรากคำต้นแบบอันเก่าแก่ ดังคัดยกจากหน้า ๑๓๗-๑๓๘ ของบทความเดียวกันมาความว่า:    

“Now, one can imagine some attempts along these lines that would be plausible. There must be some historical connection among the many Thai interrogative-indefinites ending in –ay in Siamese, -aɨ in languages that preserve this other diphthong, for example, Siamese khray1 ‘who’, day1 or ray1 ‘which, any’, nay5 ‘which, where’, and the like. And one suspects a relationship of some sort among at least some of the many Siamese words ending in -ɛɛk that refer to various actions involving separation, for example, tɛɛk2 ‘to break’, hɛɛk2 ‘to part (e.g., a hedge)’, sɛɛk2 ‘to part (the hair)’, sɛɛk3 ‘to force one’s way through (e.g., a crowd)’, cɛɛk‘to distribute’, plɛɛk‘strange’, lɛɛk‘to be crushed in pieces’, and so on. The fact that no one has yet made a serious study of even these obvious sets is undoubtedly due to the difficulty in getting any sort of handle on the various alternating initials. Perhaps the best approach would be to ascertain which are old inherited forms which widespread genuine cognates, and seek individual explanations for the more isolated forms, which are perhaps local innovations, leaving at last a residual for which one might have to assume the power of the pattern to induce new creations. This, of course, is reminiscent of the famous English set of words with initial fl- referring to light or fire.     

But this sort of things, of course, is not what PKB is up to. His combinations involve in only a few cases such close phonetic similarity, and in no case is any plausible explanation offered as to how the differences developed among the allegedly related forms.” 

ซึ่งผู้เขียนขอถอดความเป็นภาษาไทยว่า:

“เมื่อถึงตรงนี้ ถ้าครุ่นคิดตามแนวทางของ Dr. Paul K. Benedict ก็อาจพบความเป็นไปได้ว่าคำไทยบางชุดน่าจะมีความผูกพันกันบางประการแต่ครั้งอดีต เช่นคำประเภทคำถามที่ลงท้ายด้วยเสียง –ไอ/ใอ ในพวกไทสยาม หรือ –อาอึ ในไทพวกอื่นๆ ที่ยังรักษาเสียงสระแบบนี้ไว้ อาทิคำว่า ‘ใคร’, ‘ได้’, ‘ไร’ และ ‘ไหน’ ทำนองนี้ และในอีกพวกที่ลงท้ายด้วยเสียง –แอก ซึ่งมีความหมายเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยก อาทิคำว่า ‘แตก’, ‘แหก’, ‘แสก’, ‘แซก’, ‘แจก’, ‘แปลก’ และ ‘แหลก’ เป็นต้น หากเป็นความจริงเช่นกันว่ายังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน แม้ว่าคำเหล่านี้จะดูน่าสนใจเพียงใดก็ตาม ซึ่งคงเป็นเพราะความยากลำบากในการหาวิธีที่จะจัดการกับความหลากหลายของเสียงขึ้นต้นคำ บางทีแนวทางอันเหมาะสมที่สุดคือการจำแนกรูปคำเก่าแก่ซึ่งได้สืบสายถ่ายทอดลงมาอย่างแท้จริง พร้อมทั้งพยายามอธิบายคำที่มีรูปแบบแตกต่างกว่าปกติซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาเฉพาะตัว แต่ยังพอมีเค้าลางเดิมหลงเหลือ อันเป็นเค้าลางตั้งต้นที่สามารถชักนำก่อกำเนิดคำใหม่ๆ ได้ แบบเดียวกับกลุ่มคำเด่นในภาษาอังกฤษที่ขึ้นต้นด้วยเสียง fl- อย่างในคำเรียกพวกแสงสว่างและไฟ

หากสิ่งนี้แน่นอนว่าไม่ใช่อะไรที่ Dr. Paul K. Benedict กล่าวถึง เพราะแนวทางของเขาอ้างถึงตัวอย่างเพียงไม่กี่คำ ทั้งยังไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลในคำต่างๆ ที่อ้างว่ามีความสัมพันธ์กันเหล่านั้น”

ข้อสังเกตของศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ในเรื่องความเป็นไปได้ของ ‘รากคำ’ ในภาษาไท-กะไดข้างต้น มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ของไทยหลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้วว่า คำไทยนั้นมีชุด ‘คำคล้าย’ ทั้งรูปและความหมายอยู่มากมาย ดังคัดจากจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒๔๕ พ.ศ. ๒๕๕๔ ความว่า:

“รศ. ดร.นววรรณ พันธุเมธา ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง คำคล้ายในภาษาไทยและภาษาไท ความโดยสรุปว่า คำคล้าย หมายถึง คำที่มีเสียงคล้ายกันและความหมายก็คล้ายกันหรือเกี่ยวข้องกัน เช่น ปิด ติด มิด ชิด โกง โก่ง โค้ง ฯลฯ มีผู้สนใจคำคล้ายอยู่หลายคน เช่น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระยาอนุมานราชธน รศ. ดร.ประพิณ มโนมัยวิบูล ผศ. ดร.วัลยา ช้างขวัญยืน ก็รวบรวมคำคล้ายไว้จำนวนมาก

สาเหตุที่มีคำคล้ายในภาษาไทย พระยาอนุมานราชธนสันนิษฐานว่า เดิมคำเหล่านี้เป็นคำเดียวกัน แต่เปลี่ยนเสียงสระ พยัญชนะ หรือวรรณยุกต์ เพื่อให้มีความหมายต่างออกไป และคิดว่าการแปลงเสียงของคำเช่นนี้เป็นวิธีของไทยที่จะทำให้มีคำใช้มากขึ้น

ภาษาในตระกูลไทที่พูดกันนอกประเทศไทยเรียกว่า ภาษาไท ภาษาไทที่สำรวจคำคล้าย ได้แก่ ภาษาจ้วงใต้ ภาษาไทขาว ภาษาไทเมืองเติ๊ก ภาษาไทพ่าเก่ ภาษาไทเหนือ

คำคล้ายบางคู่ในภาษาไทย เป็นคำคล้ายในภาษาไทที่สำรวจด้วย เช่น

ตั้ง (=ทรงตัวอยู่) ตั่ง (=สิ่งที่ตั้งได้แก่ ที่สำหรับนั่ง ไม่มีพนัก)

ภาษาจ้วงใต้ ตั๋ง (=ตั้ง, ตั้งขึ้น) ตั๊ง (=ตั่ง, ม้านั่ง)

ภาษาไทขาว ตั๋ง (=ตั้ง, สร้าง) ตั๊ง (=เก้าอี้)

ภาษาไทเมืองเติ๊ก ตั้ง (=สร้าง) ตั่ง (=เก้าอี้)

ภาษาไทพ่าเก่ ตั่ง (=ตั้ง, วาง) ตั๊ง (=ม้านั่ง, เก้าอี้)

ภาษาไทเหนือ ตั้ง (=ตั้ง, ชัน) ตั่ง (=ม้านั่ง, เก้าอี้)

แต่ก็มีคำคล้ายจำนวนมากในภาษาไทไม่อาจเทียบได้กับภาษาไทย เช่น ภาษาไทเหนือ       ยื้อ = ยิง

ยือ = เล็ง

ยื้ง, เย้ง = เล็ง หรือ ยิงไปยัง

ม่าง =  ๑. ครึ่ง

๒. แหว่ง เช่น เข้วม่าง (=ฟันหลุดหาย), บิ่น เช่น พ่าม่าง (=พร้าบิ่น)

แม่ง =  แหว่ง เช่น เข้วแม่ง (=ฟันหลุดหาย), บิ่น เช่น หว่าน

แม่ง (=ชามบิ่น)

เห็นได้ว่า ไม่เฉพาะแต่ภาษาไทยเท่านั้นที่มีคำคล้าย ภาษาไทหลายภาษาก็มีคำคล้าย อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบระบบของการแปลงเสียง ยังไม่อาจสันนิษฐานได้ว่า คำเสียงใดเป็นคำเดิม คำเสียงใดเกิดจากการแปลงคำ และยังไม่อาจบอกได้ว่า ความแตกต่างของเสียงเกี่ยวข้องกับความหมายอย่างไร มีตัวอย่างความแตกต่างของเสียงที่เกี่ยวข้องกับความหมายอยู่บ้างเพียงในภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทเหนือ

ตัวอย่างในภาษาไทยถิ่นอีสานพบในบทความ เรื่อง “เสียงสระในคำขยายบางคำในภาษาอีสาน” คำขยายที่รวบรวมไว้เป็นคำสองพยางค์ และคำสี่พยางค์ เสียงสระในคำขยายเหล่านี้บอกขนาดใหญ่หรือเล็กของสิ่งของ หรือบอกรูปพรรณสัณฐาน หรือบอกพจน์

ตัวอย่างในภาษาไทเหนือพบในรายงานการวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์คำศัพท์ในภาษาไทเหนือ” ภาษาไทเหนือมีคำขยายที่ใช้เสียงสระต่างกันแสดงความรู้สึกที่ต่างกัน มีคำขยายคำบอกสีและคำบอกรส

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างคำคล้ายในภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทเหนือล้วนเป็นคำขยาย คงจะต้องศึกษากันต่อไปว่า คำคล้ายที่เป็นคำชนิดอื่นมีระบบการแปลงเสียงอย่างไรหรือไม่”

ด้วยลักษณะของชุด ‘คำคล้าย’ ทั้งรูปและความหมายในคำไทย ขยายไปจนถึงไท-กะได ที่ปรากฏอย่างชัดเจนจนเป็นที่สังเกตได้อย่างยาวนานจากนักวิชาการภาษาศาสตร์หลายๆ ท่าน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศดังกล่าวข้างต้น นำมาถึงคำถามสำคัญที่ท้าทายแวดวงไทคดีศึกษาอย่างยวดยิ่งว่า ถ้าไท-กะไดเป็นตระกูลภาษาที่มี ‘รากคำ’ แม่แบบจริง ทำอย่างไรถึงจะสืบสาว สอบค้น จัดจำแนก ‘รากคำ’ ดั้งเดิมให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้ง ท่ามกลางโลกของภาษาที่เต็มไปด้วยคำโดดพยางค์เดียวอย่างภาษาไท-กะได

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ได้มีการค้นพบและจัดจำแนก ‘รากคำ’ ชนิด ‘พยางค์เดียว’ ที่เขียนในภาษาอังกฤษว่า ‘monosyllabic root’ (ซึ่งแตกต่างจากการตีความของ Dr. Paul K. Benedict ก่อนหน้า) มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ นำโดยศาสตราจารย์ Robert A. Blust, R. David Zorc, John U. Wolff และ E.M. Kempler Cohen เป็นต้น โดยถือเป็นรากคำเก่าแก่ชนิดดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏตัวขึ้นอย่างอิสรเสรี และแฝงฝังตัวอยู่ในคำสองพยางค์ทั้งหลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยแทบไม่มีการผันแปรกลืนกลายไปเป็นอย่างอื่นอย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปคำและความหมายพื้นฐาน ในท่วงทำนองเดียวกับ ‘living fossil’ ทั้งหลายที่ยังพยายามดำรงสภาพและวิถีทางตามแบบฉบับบรรพชนเมื่อครั้งสิบล้านร้อยล้านปีที่แล้วอย่างไม่สะทกสะท้าน ซึ่งพบ ‘รากคำพยางค์เดียว’ อยู่ในคำพูดของพวกมาลาโย-โพลีนีเซียน โดยเฉพาะกลุ่มมาเลย์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นส่วนใหญ่ และพบในพวกฟอร์โมซ่าที่อาศัยอยู่บนเกาะไต้หวันเป็นบางกลุ่มเท่านั้น 

ศาสตราจารย์ Robert A. Blust ได้ทำการจัดจำแนก ‘รากคำพยางค์เดียว’ ไว้ถึง ๒๓๑ รากคำ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ในบทความชื่อ ‘Austronesian root theory: an essay on the limits of morphology’ และภายหลังได้นำ ‘รากคำพยางค์เดียว’ เหล่านี้มาบรรจุไว้ในเว็บเพจชื่อ ‘The Austronesian Comparative Dictionary’ ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๘ (www.trussel2.com) ซึ่งคำต่างๆ ที่มี ‘รากคำพยางค์เดียว’ ฝังตัวอยู่โดยส่วนมากจะประกอบด้วยส่วนของกระพี้ (a formative) และส่วนของรากคำพยางค์เดียว ในแบบมีตัวสะกดปิดท้าย อันเป็นรากคำที่มีความหมายร่วมในระดับพื้นฐานนามธรรมดำรงอยู่ (CVC root of generalized meaning) แม้ว่าในช่วงแรกๆ ศาสตราจารย์ Robert A. Blust จะให้ความสำคัญกับรากคำเก่าแก่พวกนี้ค่อนข้างน้อยก็ตาม (Robert A. Blust ค.ศ. ๒๐๑๓)

ศาสตราจารย์ R. David Zorc ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง ‘The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme’ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๐ ว่า การแยกแยะ ‘รากคำพยางค์เดียว’ จะเป็นการช่วยให้เกิดความเข้าใจในรูปแบบของคำชนิดโบราณ (proto-form) ได้อย่างชัดเจน และยังสามารถใช้ในการปรับแก้รูปคำต่างๆ ที่คาดว่าอยู่ในกลุ่มพวกเดียวกันได้อีกทาง

ในขณะที่ศาสตราจารย์ John U. Wolff ได้เขียนเรื่อง ‘รากคำพยางค์เดียว’ ไว้ในบทความชื่อ ‘The monosyllabic roots of Proto-Austronesian’ และ E.M. Kempler Cohen ได้เขียนไว้ในบทความชื่อ ‘Uniform-Root thesis in Fundaments of Austronesian roots and etymology’ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๙ โดยทั้งสองท่านกล่าวว่า ‘รากคำพยางค์เดียว’ เป็นรูปคำโบราณมากๆ ของภาษาออสโตรนีเซียน

ดังนั้น บนฐานของแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไท-กะไดและออสโตรนีเซียน ในบางทีบางอารมณ์ แนวทางหนึ่งที่อาจกลายเป็นวิถีทางเลือกสำหรับการค้นหา ‘รากคำ’ โดยเฉพาะชนิด ‘พยางค์เดียว’ ในภาษาไท-กะไดคือ การใช้ ‘รากคำพยางค์เดียว’ ของทางออสโตรนีเซียนในฐานะผู้มาก่อนกาลเป็นเครื่องมือเป็นหลักยึดโยง ทำการสืบสอบมายังหมู่ ‘คำคล้าย’ ทั้งหลายหลากของพวกไท-กะได เพื่อระบุตัวตนของ ‘รากคำพยางค์เดียว’ ชนิดเดียวกันได้อย่างชัดเจนไม่คลาดเคลื่อนหรือผิดฝาผิดตัว

ซึ่งการที่สามารถสืบสาวถึง ‘รากคำพยางค์เดียว’ ชนิดเดียวกัน ทั้งในภาษาไท-กะไดและออสโตรนีเซียน จึงถือเป็นเสมือนเสาไม้ที่ใช้ค้ำยันและใช้สอบทานซึ่งกันและกันอย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญอย่างยิ่ง ยังควรเป็นหลักฐานชั้นยอดในการยืนยันถึงความพัวพันในแบบภาษาพี่น้องร่วมเชื้อสาย (sister language) อันเก่าแก่ระดับ ‘โคตรด้ำต้นวงศ์’ (ชลธิรา สัตยาวัฒนา พ.ศ. ๒๕๖๑) หรือในนาม ‘ออสโตร-ไท’ (Austro-Tai) ซึ่งมากไปกว่าความพัวพันในแบบภาษาชั้นลูกหลาน (daughter language) ตามที่ศาสตราจารย์ Laurent Sagart ได้เคยกล่าวไว้

ซึ่งในการทดลองภาคปฏิบัติ ผู้เขียนไม่ได้ถือเอา ‘รากคำพยางค์เดียว’ ของออสโตรนีเซียนที่ถูกสืบค้นแยกแยะไว้แล้วโดยนักภาษาศาสตร์เป็นอุปกรณ์สำเร็จรูปเสียทีเดียว หากพยายามยึดการค้นหา ‘รากคำพยางค์เดียว’ ที่แฝงฝังอยู่ใน ‘คำคล้าย’ สองพยางค์ของภาษาอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยการพึ่งพาพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย (Kamus Besar Bahasa Indonesia) ฉบับของ ‘Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa’ ค.ศ. ๒๐๑๒ เป็นวัตถุดิบสำคัญ การสืบค้นรากคำในรูปแบบนี้อาจแตกต่างจากแนวทางเช่นของศาสตราจารย์ Robert A. Blust ไปบ้าง เพราะไม่ได้สืบสอบแบบกระจายตัวไปในหลายๆ สาแหรกภาษา แต่ผลลัพธ์เท่าที่ได้ในฐานะของ ‘รากคำพยางค์เดียว’ ก็ให้ความมั่นใจไม่แตกต่างกัน ถึงหลายหลากรากคำจะไม่เหมือนกันก็ตาม และความมั่นใจยิ่งเสริมเพิ่มพูน เมื่อได้สอบทานย่ำย้ำตามรอยไปในทิศทางเดียวกันกับรากคำเก่าเดิมของออสโตรนีเซียน

สิ่งสำคัญยิ่งเหนืออื่นใดบนความสนใจที่กำลังพุ่งเป้าไปคือ ‘รากคำพยางค์เดียว’ ของทางอินโดนีเซียที่ว่า จะต้องสามารถใช้เป็นหลักโยงยึดไปถึง ‘รากคำพยางค์เดียว’ ของทางไท-กะไดได้อย่างชัดแจ้ง จนก่อเกิดสภาวะรากคำร่วมตัวเดียวกัน ที่เต็มปรี่ไปด้วยความมั่นใจจนแทบล้นทะลัก ที่ว่าไปไม่แตกต่างจากแนวทางการสืบค้นของศาสตราจารย์ Robert A. Blust ที่ส่งเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นกลับไปกลับมาอย่างไม่รู้จบเช่นเดียวกับภาพสะท้อนในเงากระจก จึงจะถือว่ารากคำนั้นเป็น ‘รากคำพยางค์เดียว’ ของ ‘ออสโตร-ไท’ อย่างแท้จริง

ดังเช่นตัวอย่างสำคัญที่จะอภิปรายถัดจากนี้ ทางหนึ่งเป็นไปเพื่อพยายามหาคำตอบต่อข้อสังเกตเรื่องความเป็นไปได้ของ ‘รากคำ’ ของภาษาไท-กะไดของศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ผู้ซึ่งเดินทางล่วงลับไปตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๙ โดยเฉพาะข้อสังเกตต่อชุด ‘คำคล้าย’ ที่เขียนในภาษาอังกฤษว่า ‘separation’ อันเป็นข้อสังเกตที่เข้าใจว่าอาจยังค้างคาจิตใจของศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ มาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี:

ในภาษาอินโดนีเซียมี ‘คำคล้าย’ แบบคำยาวสองพยางค์ที่ประกอบด้วยรูปคำ -rak และความหมายใกล้เคียงกันอยู่จำนวนหนึ่ง ดังคัดจากพจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย ‘Kamus Besar Bahasar Indonesia’ ค.ศ. ๒๐๑๒ เช่น

คำว่า ‘sarak’ /ซารัก/ แปลสั้นๆ ว่าการแบ่งแยก ในปัจจุบันใช้กับการหย่าร้างของคู่ผัวตัวเมีย

คำว่า ‘carak’ /จารัก/ แปลว่าการเปิดออกให้เห็น

คำว่า ‘cerak’ /เจอรัก/ แปลว่าคำขึ้นต้น หรือบทนำทาง

คำว่า ‘derak’ /เดอรัก/ แปลว่าเสียงของกิ่งไม้หัก

คำว่า ‘erak’ /เออรัก/ แปลว่าความเหนื่อยหน่ายที่จะเหนี่ยวรั้งกันเอาไว้

คำว่า ‘gerak’ /เกอรัก/ แปลว่าการเคลื่อนตัวออกไปจากที่ตั้งเดิม

คำว่า ‘jarak’ /จารัก/ แปลว่าระยะหรือที่ว่างระหว่างสองสิ่ง

คำว่า ‘kerak’ /เกอรัก/ แปลว่าผืนหนังแห้งๆ ที่มักแตกระแหง

คำว่า ‘larak’ /ลารัก/ แปลว่าสิ่งที่อยู่ติดๆ กัน เช่นเม็ดทุเรียนที่อยู่ติดกันเป็นพู

คำว่า ‘lerak’ /เลอรัก/ แปลว่าของเน่าเปื่อยผุพังที่กำลังแยกสลายออกจากกัน

คำว่า ‘marak’ /มารัก/ แปลว่าสว่าง หรือเปลวไฟให้ความสว่าง

คำว่า ‘parak’ /ปารัก/ แปลว่าการแยกย้าย หรือระหว่าง หรือเกือบๆ ใกล้ๆ

คำว่า ‘rerak’ /เรอรัก/ แปลแบบเดียวกับ ‘lerak’ และ

คำว่า ‘serak’ /เซอรัก/ แปลว่ากระจัดกระจายออกไป เป็นต้น

สังเกตว่าความหมายเชิงนามธรรมของ ‘คำคล้าย’ กลุ่มนี้ ต่างชี้ตรงไปที่การแยกตัวเปิดตัวออกจากกันเกือบทั้งสิ้นโดยไม่จำเป็นต้องตีความมากนัก ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้ว่าเป็นคำที่สอดคล้องต้องกัน ทั้งรูปคำและความหมาย จนพอประเมินด้วยความมั่นใจก้ำหนึ่งว่า *rak ควรเป็นหนึ่งใน ‘รากคำพยางค์เดียว’ บนความหมายพื้นฐานว่า ‘เปิดแหกแยกออกจากกัน’

แม้เมื่อสอบค้นไปยัง ‘รากคำพยางค์เดียว’ ของออสโตรนีเซียนที่นักภาษาศาสตร์ได้เคยทำไว้ ไม่พบว่ามีการระบุจำแนกรากคำนี้ไว้แต่อย่างใด หากพอสอบค้นมายังชุด ‘คำคล้าย’ ของไท-กะได กลับพบความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะปรากฏรูปคำและความหมายคล้ายคลึงกันอยู่หลายคำ ด้วยรูปสระ –อะ, -อา หรือ –แอ ปิดท้ายด้วยตัวสะกดแม่กก เช่นคำว่า ‘พราก’, ‘แพรก’, ‘แรก’, ‘แฮก’, ‘แหก’, ‘แยก’, ‘จาก’, ‘หาก’, ‘หัก’ เป็นต้น ซึ่งพูดไปคือคำชุดเดียวกับที่ศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ได้ระบุไว้ในบทความเรื่องเดียวกันว่า ‘คำคล้าย’ พวกนี้มีความสัมพันธ์ต่อกัน ด้วยโครงสร้างเสียง –แอก บนความหมายว่าการแยกออกจากกัน เช่นคำว่า ‘แตก’, ‘แหก’, ‘แสก’, ‘แซก’, ‘แจก’, ‘แปลก’, ‘แหลก’ เป็นต้น

โดยคำว่า ‘พราก’ นั้นเป็นคำที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในพวกไท-ไต เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘separate, to’ ดังคัดคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตที่สืบค้นไว้โดยอาจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (ค.ศ. ๒๐๐๙) รหัส ๖๓๓ ความว่า:

Siamese เรียก phra:kDL2 /พราก/ 

Bao Yen, Lungchow และ Yay เรียกเหมือนกันว่า pja:kDL2 /ปยาก/

Cao Bang เรียก bja:kDL2 /บยาก/

และสืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณไว้ว่า (Proto-Tai) *bra:kD /บราก/

รูปคำไท-ไตโบราณถูกสืบสร้างออกมาเป็นคำควบกล้ำเสียง ร.เรือ และรูปสระ –อา ตัวสะกดปิดท้ายแม่กก คลับคล้ายกับคำสองพยางค์ของทางอินโดนีเซียที่ประกอบขึ้นจากรากคำ *rak เป็นอย่างมาก ซึ่งพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้คำจำกัดความคำนี้ไว้ว่า:   

“(๑) [พฺราก] ก. ทำให้จากไป, พาไปเสียจาก, ทำให้แยกออกจากกัน, (มักใช้เกี่ยวกับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของคนหรือของสัตว์บางชนิด) เช่น พรากลูกออกจากอกแม่ พรากลูกนกลูกกา (๒) ก. แยกออกไป เช่น สองคนนี้ไม่เคยพรากจากกัน.”

คำว่า ‘แพรก’ เป็นคำไทยโบราณ มีความหมายว่าทางแยก หรือแตกแยกออกจากกัน ใช้เป็นชื่อนามเมือง ‘แพรก’ หรือเมืองสรรค์บุรี แถบลุ่มเจ้าพระยาตอนบน ปรากฏอยู่ใน ‘จารึกพ่อขุนรามคำแหง’ ด้านที่ ๔ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)

คำว่า ‘แรก’ และ ‘แฮก’ เป็นคำเดียวกัน มีความหมายเหมือนกัน โดย ‘แรก’ ใช้ในถิ่นไทยลุ่มเจ้าพระยา และ ‘แฮก’ ใช้ในถิ่นไทยอีสานจนถึงฝั่งลาวล้านช้าง เป็นคำเก่าแก่ที่ใช้กับการกระทำเป็นครั้งแรกเพื่อเบิกทาง เช่นในพิธี ‘แรก’ สร้างเมือง ดังพบอยู่ในโคลงร่าย ‘โองการแช่งน้ำ’ ที่คาดว่าแต่งขึ้นมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาฯ คัดจากห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณมาความว่า:

        “๏ แลเป็นแผ่นเมืองอินทร์          เมืองธาดาแรกตั้ง

ขุนแผนแรกเอาดินดูที่                       ทุกยั้งฟ้าก่อคืน ฯ”

และในพิธี ‘แรกนา’ หรือ ‘นาตาแฮก’ เป็นการสื่ออย่างชัดเจน อย่างตรงไปตรงมา บอกให้รับรู้ถึงการเริ่มต้น การบุกเบิก การเปิดทาง ซึ่งนำไปยังความหมายพื้นฐานว่า ‘การเปิดแหกแยกบางสิ่งออกจากกัน’ ในแบบเดียวกับการ ‘ชำแรก’ หรือ ‘แทรก’ เบิกพรหมจรรย์ของแท่งศิวะลึงค์ เพื่อให้ชีวิตใหม่ได้ปฏิสนธิในอุ้งครรภ์มารดาอย่างสมบูรณ์ เป็นพิธีกรรมโบราณของผู้คนในย่านอุษาคเนย์ที่ดำเนินมาก่อนการมาถึงของพิธีพราหมณ์อย่างยาวนาน 

ในพิธีกรรมแรกนาของชาวจ้วง ต้องให้แม่หญิงเป็นผู้นำในพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ และผู้บ่าวคนแบกรับภาระไว้บนบ่าต้องแต่งกายเป็นหญิง ทำหน้าที่ตีกลองร้องส่งเสียงบอกผีฟ้าให้รับรู้ (พิเชฐ สายพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗) เหตุเพราะนี่คือ ‘พิธีกรรมแห่งการสืบสานเผ่าพันธุ์’ โดยการอัญเชิญผีฟ้าผู้เป็นพ่อลงมาสมสู่กับแม่ดิน เป็นผู้ให้เชื้อชีวิตลงมาชำแรกแทรกตัวปฏิสนธิกับเชื้อไขในอู่ครรภ์ของแม่ดินยังเมืองลุ่ม โดยมีหยาดน้ำฟ้าเป็นสื่อพัวพันระหว่างผีฟ้าและแม่ดิน เพื่อการก่อกำเนิดให้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์

พจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความไว้ว่า:

“(๑) ว. ก่อนเพื่อน, ก่อนผู้อื่นหรือสิ่งอื่นทั้งหมด, เช่น ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มาถึงเป็นคนแรก ลูกคนแรก วันแรกของเดือน, เริ่ม เช่น แรกนา คือ เริ่มลงมือทำนา แรกรุ่น คือ เริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่น, หัวที เช่น แรกเกิด แรกพบ แรกเห็น, เดิมที เช่น แต่แรกเริ่ม, เพิ่งมีเป็นครั้งแรก เช่น มะม่วงแรกออกผล. (๒) น. ต้น, เดิมที.”

ซึ่งสังเกตว่าเป็นความหมายอย่างจำกัดในชั้นผิวเปลือกบนเท่านั้น ไม่ได้ให้คำอธิบายที่ลงลึกถึงเนื้อในถึงแก่นแกนระดับชั้นนามธรรม ที่ว่าด้วยการเปิดแหกแยกบางสิ่งที่เคยเป็นผืนเดิมเดียวไร้ร่องรอยการชำแรกแทรกตัวใดๆ

คำว่า ‘แหก’ มีความหมายว่าแยกออก ถ่างให้กว้างยิ่งขึ้น เช่น ตีฝ่าแหกค่ายกันออกไป เป็นต้น

คำว่า ‘แยก’ มีความหมายคล้ายกับ ‘แหก’ เช่น แยกทาง แยกตัว แตกแยก เป็นต้น

คำว่า ‘จาก’ มีความหมายอยู่ในร่องเดียวกันว่า แยกจาก ห่างกัน ทิ้งไป เป็นต้น

คำว่า ‘หาก’ มีความหมายส่วนหนึ่งเหมือนกับ ‘จาก’ เช่น ต่างหาก ไม่ใช่พวก เป็นต้น

คำว่า ‘หัก’ มีความหมายในแบบการแตกสะบั้นขาดออกจากกัน เป็นคำที่ถูกเรียกใช้อย่างกว้างขวางในพวกไท-ไต เขียนในภาษาอังกฤษว่า ‘break, to’ เช่นคัดจากคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตของอาจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (ค.ศ. ๒๐๐๙) รหัส ๖๓๙ ความว่า:

Siamese และ Bao Yen เรียกเหมือนกันว่า hakDS1 /หัก/

Sapa เรียก hakDL2 /ฮาก/

Cao Bang และ Lungchow เรียก takDS1 /ตัก/

Shangsi เรียก thakDS1 /ถัก/

Yay และ Saek เรียกเหมือนกันว่า rakDS1 /หรัก/

และสืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณแบบพยางค์ควบครึ่งว่า *t.rakD /ตรัก/

เป็นที่สังเกตว่าคำเรียกของทางพวก Yay และ Saek ยังสามารถรักษาเสียง ร.เรือ ไว้ได้ และพจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความแบบไม่แตกแถวมากนักว่า:

“(๑) ก. พับงอ, พับงอหรือทำให้พับให้งอเพื่อให้ขาดหรือหลุดออกจากกัน (๒) ก. เอาออกจากจำนวนที่มีอยู่ เช่น หักจำนวนเงิน (๓) ก. ถูกตีอย่างแรงจนงงม่อยไป (ใช้แก่ไก่) (๔) ก. เลี้ยวอย่างกะทันหัน เช่น หักหัวเรือ หักพวงมาลัย (๕) ก. เรียกแต้มลูกเต๋า ๓ ลูก ที่ขึ้นแต้ม ๑ ๒ ๓ ตามลำดับ ถือว่าเป็นแต้มเลวที่สุด.”

เมื่อขยับไปยังชุด ‘คำคล้าย’ ของศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ก็พบว่าคำต่างๆ นั้น แสดงความหมายบนนามธรรมตัวเดียวกันทั้งหมด ดังเช่น

คำว่า ‘แตก’ เป็นอีกหนึ่งคำที่ถูกเรียกใช้กันทั่วไปในพวกไท-ไต เขียนในภาษาอังกฤษว่า ‘burst, to’ ดังคัดจากคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตเล่มเดียวกัน รหัส ๖๔๐ มาความว่า:

Siamese เรียก tɛ:kDL1 /แตก/

Sapa เรียก teɁDL1 /เตะ/

Bao Yen เรียก phɛ:kDL1 /แผก/ Cao Bang เรียก theɛkDL1 /เถียก/

Lungchow เรียก phe:kDL1 /เผก/ Shangsi เรียก thekDL1 /เถก/

Yay เรียก tekDL1 /เตก/

Saek เรียก pre:kDL1 /เปรก/

และสืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณแบบพยางค์ควบครึ่งเช่นกันว่า *p.re:kD /ปเรก/

พจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความของคำว่า ‘แตก’ ในลักษณะของการเปิดแหกแยกออกจากกันอย่างชัดเจนว่า:

“(๑) ก. แยกออกจากส่วนรวม เช่น แก้วแตก ชามแตก, ทำให้แยกออกจากส่วนรวม เช่น แตกสามัคคี แตกหมู่คณะ (๒) ก. คุมหรือควบคุมไว้ไม่อยู่ เช่น แตกฝูง ไฟธาตุแตก ใจแตก ตบะแตก (๓) ก. ปะทุ เช่น ถ่านแตก (๔) ก. ผลิ เช่น แตกกิ่งก้าน แตกใบอ่อน แตกหน่อ (๕) ก. ไหลออกมาเอง เช่น เหงื่อแตก เยี่ยวแตก ขี้แตก (๖) ก. มีรอยแยก, แยกออกเป็นรอย, เช่น กำแพงแตก หน้าขนมแตก (๗) ก. เรียกการอ่านหนังสือออกคล่อง ว่า อ่านหนังสือแตก, เรียกเสียงห้าวเมื่อเริ่มเป็นหนุ่ม ว่า เสียงแตก, เรียกอาการที่พูดจนแสบคอหรือตะโกนดังจนสุดเสียง ว่า พูดจนคอแตก ตะโกนจนคอแตก.”    

และกว่านั้น คำของพวก Bao Yen ว่า phɛ:kDL1 /แผก/ และพวก Lungchow ว่า phe:kDL1 /เผก/ ทำให้นึกโยงมาถึงคำไทยโบราณอีกคำว่า ‘แผก’ ได้อย่างเหมาะเจาะยิ่ง ซึ่งมีคำจำกัดความว่า: “(๑) ว. แตกต่าง. (๒) ก. แยกออก, แตกออก, ต่างออกไปอีกส่วนหนึ่ง.”

คำว่า ‘แสก’ ทำให้คิดถึง ‘นกแสก’ ผู้มีหน้าตาคล้ายนกเค้าแมว ผู้มาเยือนพร้อมกับความเชื่อโบราณในเรื่องความตายและการพลัดพราก และป่ายไพล่ไปยังคำเรียก ‘ชาวแสก’ ซึ่งเป็นสาแหรกสาขาหนึ่งของไท-ไต ซึ่งมีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า:

“(๑) น. แนวที่อยู่ระหว่างกลาง ในคำว่า แสกผม แสกหน้า. (๒) ก. แบ่งผมออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน เรียกว่า แสกกลาง, ถ้าไม่เท่ากัน เรียกว่า แสกข้าง. (๓) ว. เรียกผมที่หวีแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนเท่า ๆ กัน ว่า ผมแสกกลาง, เรียกผมที่หวีแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนไม่เท่ากัน ว่า ผมแสกข้าง.”

คำว่า ‘แจก’ มีการแผลงไปเป็นคำว่า ‘จำแนก’ ทำให้ดูเหมือนเป็นคำยืมเขมรไป ซึ่งมีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า:

“(๑) ก. แบ่งหรือปันให้แก่คนหลาย ๆ คน เช่น แจกเสื้อผ้า แจกสตางค์ (๒) ก. กระจายออก, แยกออก, เช่น แจกออกเป็นแม่ ก กา.”

และ ‘จำแนก’ มีคำจำกัดความว่า:

“ก. แจก, แบ่ง, แยกออก, เช่น จำแนกออกเป็น ๓ อย่าง. (แผลงมาจาก แจก).”

คำว่า ‘แปลก’ แม้ว่าจะใช้เสียงควบกล้ำเป็น ล.ลิง ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เพราะเสียง ร.เรือ กับ ล.ลิง ในภาษาของพวกไท-กะไดมีการลื่นไหลไปมาเป็นทุนเดิมอยู่ คำนี้ให้นึกถึงชื่อของนายทหารผู้หนึ่งในคณะปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ‘แปลก พิบูลสงคราม’ ซึ่งภายหลังขยับชั้นขึ้นมาเป็นผู้ยิ่งใหญ่คับฟ้าเมืองไทย ควบคุมอำนาจและทิศทางของประเทศไว้ในกำปั้นเหล็กอย่างยาวนาน มีคำจำกัดความว่า:

“(๑) [แปฺลก] ว. แตกต่างไปจากที่เคยคิด เคยรู้ เคยเห็น เป็นต้น เช่น แปลกตา แปลกใจ (๒) ว. ต่าง, เพี้ยนไป, ผิดปรกติ เช่น เป็นคนแปลก.”

คำว่า ‘แหลก’ มีคำจำกัดความว่า:

“[แหฺลก] ว. เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น ข้าวแหลก, ละเอียดเป็นผง เช่น บดยาให้แหลก, ป่นปี้ เช่น ตีกันแหลก.”

และคำว่า ‘แซก’ แบบซอกแซกซอกซอย คำนี้ได้ถูกนำเข้าไปอยู่ภายใต้คำนิยามของคำว่า ‘แทรก’ ซึ่งจัดให้เป็นคำยืมมาจากภาษาเขมรว่า ‘แชฺรก’ โดยมีคำจำกัดความว่า:

“(๑) [แซก] ก. เข้าไปอยู่ในระหว่างสิ่งอื่นในลักษณะที่เบียดเสียดหรือสอดเป็นต้น เช่น แทรกตัว (ข. แชฺรก).  (๒) ก. เจือเพียงนิดหน่อย เช่น แทรกยาดำ แทรกพิมเสน, เกิดขึ้นในระหว่าง เช่น มีโรคปอดบวมแทรก (ข. แชฺรก).  (๓) ก. เติมเข้าไปในระหว่าง เช่น แทรกเนื้อความ (ข. แชฺรก).  (๔) ก. โดยปริยายหมายถึงกิริยาอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น พูดแทรก. (ข. แชฺรก).  (๕)  [แซก] น. เรียกม้าหลวงหรือช้างหลวงพวกหนึ่ง ที่จัดให้เดินคั่นระหว่างกระบวนแห่หรือกองทัพแต่ละกระบวน ว่า ม้าแทรก ช้างแทรก. (ข. แชฺรก).” 

ประเด็นคำยืมจากภาษาเขมร เป็นเรื่องที่ต้องแจกแจงกันพอสมควร เพราะในย่านลุ่มเจ้าพระยาแถบนี้เป็นที่รับรู้กันดีว่ามีการผสมปนเปไปมาระหว่างภาษาเขมรและภาษาไทยเป็นจำนวนมากอย่างช้านานแล้ว คำที่ว่าเป็นเขมรก็อาจไม่ใช่เขมรแท้ คำที่ว่าเป็นไทยก็อาจไม่ใช่ไทยแท้ จนกว่าจะได้มีการสอบยันกันในหลายๆ ทางจนรู้เบื้องหลังความเป็นมาอย่างถึงที่สุด เช่นคำว่า ‘แทรก’, ‘ชำแรก’ และ ‘สาแหรก’ เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทความนี้อย่างมีนัยยะ  

ดังขอยกตัวอย่างคำว่า ‘สาแหรก’ หรือ ‘แสรก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในคำที่นักภาษาศาสตร์เชื่อกันว่าหยิบยืมถ่ายเทมาจากต้นทางเพื่อนชาวเขมรว่า ‘สงฺแรก’ ซึ่งมีความหมายว่าสาแหรกเครื่องคานหาบ (วิไลศักดิ์ กิ่งคำ, ไม่ระบุปีที่พิมพ์) และถูกนำมาใช้โดยพวกไทยลุ่มเจ้าพระยาในความหมาย เช่น

‘บ้านแตกสาแหรกขาด’ เป็นสำนวนที่แสดงถึง ความร้าวฉานพลัดพรากแตกแยกของครอบครัว ดังคำอธิบายของพจนานุกรมไทยฯ ว่า: “(สำ) น. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัวหรือในบ้านเมืองอย่างร้อนแรงถึงทำให้ต้องกระจัดกระจายพลัดพรากกัน.”

หรือในอารมณ์ของ ‘ผู้ดีแปดสาแหรก’ ที่สื่อนัยยะของการประชดประชันถึงแดกดันมากกว่าการเป็นผู้ดี ซึ่งพจนานุกรมไทยฉบับเดียวกันให้ความหมายว่า: “น. ผู้ดีที่สืบทอดกันลงมาตั้งแต่ต้นวงศ์สกุลคือบิดามารดาของปู่และย่า ๔ บิดามารดาของตาและยาย ๔ รวมเป็น ๘; โดยปริยายหมายถึงคนที่ทำกรีดกรายเอาอย่างพวกผู้ดี.” แปลไทยเป็นไทยว่าผู้ดีนั้นคือ เหลนที่สืบสาวเรื่องราวย้อนขึ้นไปถึงรุ่นทวดผู้นับเป็นต้นตระกูล ทั้งข้างพ่อและข้างแม่

หรือ ‘สาแหรกไม้คาน’ ที่ใช้แบกหามบนบ่าไหล่ แบ่งการถ่วงน้ำหนักสองข้างอย่างพอดี มีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า: “ [-แหฺรก] น. เครื่องใส่ของสำหรับหิ้วหรือหาบเป็นต้น ปรกติทำด้วยหวาย มี ๔ สาย ตอนบนทำเป็นหูสำหรับหิ้วหรือสอดไม้คาน ตอนล่างขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาดเป็นต้น.”

ถ้ามองความหมายพื้นฐานของคำว่า ‘สาแหรก’ สามารถตีความได้อย่างค่อนข้างแน่ชัดว่าเป็นการแบ่งแยกออกเป็นสองแขนงของต้นกำเนิดหนึ่งเดียวใดๆ ที่ล้วนอยู่ในร่องรอยเดียวกับความหมายของชุด ‘คำคล้าย’ ไทย ไท-กะไดทั้งหลายข้างต้นที่ว่า ‘การเปิดแหกแยกออกจากกัน’ และยังพัวพันโยงใยอย่างลึกซึ้งไปยังคำต่างๆ ของรากคำพยางค์เดียว *rak ของอินโดนีเซีย (ซึ่งหากไม่ติดที่รูปคำสองพยางค์เต็มว่า ‘สาแหรก’ ก็ควรต้องจัดให้คำนี้เป็นคำไท-กะได) จนไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า “คำนี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากภาษาเขมรแต่อย่างใด หากเป็นคำที่มีเค้าเดิมจากภาษามาเลย์-อินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นออสโตรนีเซียนสาแหรกหนึ่งมากกว่า เช่นจากคำว่า ‘sarak’ /ซารัก/ ที่แปลอย่างตรงตัวว่าการแบ่งแยก หรือการหย่าร้างของคู่ผัวตัวเมีย แบบพูดกันในสำนวนไทยข้างต้นว่า ‘บ้านแตกสาแหรกขาด’ เป็นการยืมหรือนำเข้ามาใช้ในเมืองเขมรก่อนที่จะถูกเทถ่ายเข้ามายังพวกไทยลุ่มเจ้าพระยาในชั้นหลังมากแล้ว

นอกจากนั้น ด้วยท่วงท่าทำนองเดียวกัน ยังสังเกตต่อไปที่ความหมายของคำที่เชื่อกันว่าหยิบยืมจากเขมร ในคำว่า ‘ชำแรก’ ซึ่งแปลตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า: “ก. แทรก, แหวก, แทรกลงไป, เจือปน.” และคำว่า “แทรก” ซึ่งแปลบางส่วนว่า: “[แซก] ก. ซึ่งเข้าไปอยู่ในระหว่างสิ่งอื่นในลักษณะที่เบียดเสียด หรือสอดเป็นต้น เช่น แทรกตัว: เจือเพียงนิดหน่อย เช่น แทรกยาดำ แทรกพิมเสน, เกิดขึ้นในระหว่าง เช่น โรคแทรก; เติมเข้าไปในระหว่าง เช่น แทรกเนื้อความ; โดยปริยายหมายถึงกิริยาอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น พูดแทรก.” ว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายเชิงนามธรรมเหมือนกับคำว่า ‘สาแหรก’ ไม่ผิดเพี้ยน นั่นคือ เป็นคำนำเข้ามาจากคำรากเก่าของสาแหรกมาเลย์-อินโดนีเซีย หรือออสโตรนีเซียน ที่ในอีกนัยยะสาแหรกหนึ่งยังตีโอบร่วมรากมาจนถึงไท-กะไดทั้งตระกูล   

ด้วยกระบวนการสืบสอบกล่าวอ้างเปรียบเทียบโยงใยแบบข้างบนนั้น จึงมองเห็นว่าชุด ‘คำคล้าย’ ทั้งหมดที่ยกขึ้นมา ต่างเป็นคำร่วมรากร่วมสาแหรกไม้คานอันเดียวกัน ระหว่างพวกไท-กะไดผ่านไท-ไตข้างหนึ่งและพวกออสโตรนีเซียนผ่านอินโดนีเซียในอีกข้าง เป็นคำร่วม ‘รากคำพยางค์เดียว’ ที่ควรอยู่ในรูปคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียงคล้าย ร.เรือ มากกว่าเสียงคล้าย ล.ลิง ตามด้วยสระ –อะ มากกว่าสระ –อา และ –แอ และปิดท้ายด้วยตัวสะกดแม่กก ซึ่งเขียนได้ในรูป *rak ผู้เป็นรากคำอันเก่าแก่ฉบับต้นด้ำโคตรวงศ์ ผู้มีความหมายนามธรรม ‘แรก’ สร้างว่า ‘เปิดแหกแยกออกจากกัน’

เป็นคำอธิบายอันยืดยาวแบบสืบสาว ‘สาแหรก’ สายด้ำ เพื่อพยายามค้นหาคำตอบต่อข้อสังเกตข้อสงสัยค้างคาใจเรื่องชุด ‘คำคล้าย’ ของไท-กะได อันสืบเนื่องจากคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ เมื่อ ๔๒ ปีที่แล้ว ที่มีต่องานวิจัยเรื่อง ‘ออสโตร-ไท’ ของ Dr. Paul K. Benedict ผู้เดินทางล่วงล้ำเข้าไปในโลกแห่งบรรพชนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗ รวมไปถึงนักวิชาการภาษาศาสตร์ของไทยตั้งแต่พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระยาอนุมานราชธน ลงมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน  

เป็นตัวอย่างของการได้มาซึ่ง ‘รากคำ’ ชนิด ‘พยางค์เดียว’ อันเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ร่วมรากออสโตรนีเซียนและไท-กะได ที่ผู้เขียนคิดว่าทางหนึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าภาษาไท-กะได แม้เป็นภาษาคำโดดพยางค์เดียว หากมี ‘รากคำพยางค์เดียว’ แฝงฝังตัวอยู่อย่างคงทน ยาวนาน นับแต่ชั้นบรรพกาลลงมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีการผันแปรกลืนกลายทั้งรูปคำ เสียง และความหมายชั้นบนไปมากมายเพียงใดก็ตามที และลึกมากไปกว่านั้น ยังสามารถใช้เป็นเครื่องสะท้อนยืนยันถึงการมีอยู่ของแนวความคิด ‘ออสโตร-ไท’ ได้เป็นอย่างดี

ดังที่ศาสตราจารย์ Laurent Sagart ได้เคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง ‘Kadai as a subgroup of Austronesian’ เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๕ คัดมาความว่า:

“If Benedict is right that Tai-Kadai and AN are coordinate taxa under Austro-Tai, then we should find in Tai-Kadai some features which are more conservative than, and throw light on, reconstruction PAN.”

ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตถอดความเป็นภาษาไทยว่า:

“ถ้าแนวความคิดของ Dr. Paul K. Benedict ถูกต้องที่ว่า ภาษาไท-กะไดและออสโตรนีเซียนมีความสัมพันธ์กันภายใต้ ‘ออสโตร-ไท’ นักภาษาศาสตร์ควรต้องพบลักษณะบางประการในภาษาไท-กะไดที่บ่งชี้อย่างแจ่มชัดถึงความเก่าแก่กว่าคำโบราณสืบสร้างออสโตรนีเซียน”

และจึงขอเสนอเรื่องราวของ ๔๒ ปี แห่งการสาว ‘สาแหรก’ คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ วิลเลียม เจ.เก็ดนีย์ ผู้เป็นอาจารย์ฝรั่งของ จิตร ภูมิศักดิ์ ไว้เป็นทางเผื่อเลือกเพื่อการถกเถียงมา ณ ที่นี้

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี ๔ เมษายน ๒๕๖๑

 

อ้างอิง:

กองบรรณาธิการ. พ.ศ. ๒๕๕๖. จิตร ภูมิศักดิ์ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย. นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๓. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชนนิยม   

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. ๒๕๖๑. ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม. ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชนนิยม  

พิเชฐ สายพันธ์. พ.ศ. ๒๕๕๗. วิถีข้าว วิถีชีวิตในการบูรณาการทางสังคมไท. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ๓๓ (๑) มกราคม-มิถุนายน ๒๕๕๗. (socanth.tu.ac.th/outreach/jsaonline/vol-33-1-jan-jun-201)

วิไลศักดิ์ กิ่งคำ. (ไม่ระบุปีที่พิมพ์). อิทธิพลของภาษาต่างประเทศต่อภาษาไทย: ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (www.cyberlab.lh1.ku.ac.th/elea...)

วิศรุต บวงสรวง. พ.ศ. ๒๕๕๕. เมื่อจิตรวิจารณ์ศาสนา ศาสนาในทรรศนะวิจารณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (ทศวรรษ ๒๔๙๐-๒๕๐๐). ประชาไท วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕. (www.prachatai.com)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกพ่อขุนรามคำแหง. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. จดหมายข่าว-สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ปีที่ 21 ฉบับที่ 245.(www.royin.go.th

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. ลิลิตโองการแช่งน้ำ. ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. (www.vajirayana.org)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Benedict, Paul K. 1942. Thai, Kadai, and Indonesian: A new alignment in Southeastern Asia. American Anthropologist [N. s., 44. (www.anthrosource.onlinelibrary...)

Blust, Robert A. 2013. Austronsian languages (Revised edition). Canberra: Asia-Pacific Linguistics. (www.pacling.anu.edu.au)

Blust, Robert and Trussel, Stephen. 2010: revision 2018. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Cohen, E. M. Kempler. 1999. Fundaments of Austronesian roots and etymology. Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University. (www.en.wiktionary.org)

van Dreim, George. 1999. A new theory on the origin of Chinese. Himalayan Languages Project. Leiden: Leiden University, (www.himalayanlanguages.org

Gedney, William J. 1976. On the Thai evidence for Austro-Thai. Annual Meetings of the Association for Asian Study, Toronto, March 1976. Computational Analyses of Asian and African Languages, vol. 6: 65-82. Tokyo: National Inter-University Research Institute of Asian and African Languages and Cultures. (www.sealang.net)  

Gething, Thomas W. 1999. William J. Gedney. Journal of the Siam Society 87.1 & 2. (www.amarin.co.th)

Holmberg, Gunnar. 2010. Japanese, Austronesian and Altaic A study of possible connections. Bachelor Thesis, Centre for Language and Literature, Japanese Studies, Lund University. (www.lup.lub.lu.se)

Luo, Meizhen. 1992. A Second Discussion of the Genetic Classification of the Kam-Tai Languages: A Reply to Benedict. Paper on Tai languages, Linguistics and Literatures. Ed. Carol J. Compton and John F. Hartmann, Center for Southeast Asian Studies, Northern Illinois University: 44-54. (www.sealang.net)

Ostapirat, Weera. 2013. Austro-Tai revisited. The 23rd Annual Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society, May 29-31, Chulalongkorn University, Bangkok. (www.jseals.org/seals23)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Reid, Lawrence A. 1984-1985. Benedict’s Austro-Tai Hypothesis-An Evaluation. Asian Perspectives, XXVI(1), University of Hawaii. (www2.hawaii.edu

Reid, Lawrence A. 1996. The Current State of Linguistic Research on the Relatedness of the Language Families of East and Southeast Asia. In Indo-Pacific prehistory: The Chiang Mai papers, Vol. 2, ed. by Ian C. Glover and Peter Bellwood, 87-91. Bulletin of the Indo-Pacific Prehistory Association 15. Canberra: Australian National University. (www2.hawaii.edu)

Sagart, Laurent. 2001. Comment: Malayo-Polynesian features in the AN-related vocabulary in Kadai. Paper presented at the International Meeting Perspectives on the Phylogeny of East Asian Languages-Périgueux, August. (www.academia.edu)

Sagart, Laurent. 2004. The higher phylogeny of Austronesian and the position of Tai-Kadai. Oceanic Linguistics 43: 411-444. (www.halshs.archives-ouvertes.f...)

Sagart, Laurent. 2005. Tai-Kadai as a subgroup of Austronesian. Laurent Sagart, Roger Blench et Alicia Sanchez-Mazas. The Peopling of East Asia, RoutledgeCurzon, pp.177-181. (www.halshs.archives-ouvertes.f...)

Wolff, John U. 1999. The monosyllabic roots of Proto-Austronesian. In Elizabeth Zeitoun and Paul Jen-kuei Li, eds. 1999. Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics: 139-194. Taipei, Taiwan: Academia Sinica. (www.en.wiktionary.org

Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)

หมายเลขบันทึก: 648083เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2021 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท