ชี้ นโยบายช่วยเหลือคนจน รัฐเดินมาถูกทาง แนะสืบต่อแผนสนับสนุนคนจนเข้าถึงบริการภาครัฐ และช่วยภาคเกษตรมีรายได้เพิ่ม


เปิดยุทธศาสตร์ความเสมอภาคทางสังคม เดินหน้า 4 ประเด็นสำคัญ ชี้ นโยบายช่วยเหลือคนจน รัฐเดินมาถูกทาง แนะสืบต่อแผนสนับสนุนคนจนเข้าถึงบริการภาครัฐ และช่วยภาคเกษตรมีรายได้เพิ่ม  

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค วางกรอบ 20 ปี เดินหน้า 4 ประเด็นสำคัญ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกมิติ กระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม, เสริมสร้างพลังทางสังคม และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ชี้แนวนโยบายช่วยเหลือคนจนรัฐเดินมาถูกทาง แนะรัฐบาลใหม่สานต่อโครงการเพิ่มโอกาสคนจนเข้าถึงบริการสาธารณสุข บริการในกระบวนการยุติธรรม และสานต่อช่วยเหลือภาคเกษตรรวมตัวเป็นเอสเอ็มอีการเกษตร เดินบนฐานชีวภาพเป็นเกษตรปลอดภัยให้มีรายได้เพิ่ม

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและ ความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มองร่วมกันว่าทำอย่างไรจะพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ลดปัญหาที่เกิดขึ้นลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด หากย้อนไปดูข้อมูลสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เศรษฐกิจก้าวหน้าแต่ถ้าสังคมมีปัญหาการพัฒนาจะไม่ยั่งยืน ซึ่งก็เป็นความจริง

จากตัวเลขการจัดชั้นเรื่องความเหลื่อมล้ำระดับโลกในปี 2558 อันดับความเหลื่อมล้ำไทยอยู่ที่อันดับ 11 ต่อมาในปี 2559 ไทยเลื่อนขั้นเร็วมากขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ภายในปีเดียว จะเห็นว่าเรามีปัญหาเรื่องนี้ชัดเจน เรื่องการเข้าถึงทรัพยากรก็เช่นกัน คนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่เป็นเจ้าของที่ดินอะไรเลย มาดูในด้านเศรษฐกิจเราเก่งมากจากตัวเลขระดับโลก เรามีมหาเศรษฐีร่ำรวยระดับพันล้าน 5 คนในปี 2551 ต่อมาในปี 2558 เรามี 28 คน มันสะท้อนชัดเจนว่าเรารวยขึ้นแต่ยังเป็นปัญหา แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ถ้าร่วมมือกัน

            คณะกรรมการฯ จึงได้ตั้งประเด็นการพัฒนาความเสมอภาคทางสังคมไว้ 4 ประเด็น 1.ต้องลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ โดยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะกับศักยภาพของเกษตรกร, กระจายการถือครองทรัพย์สิน โดยจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง,การเพิ่มศักยภาพแรงงานไทย, พัฒนาระบบประกันสุขภาพให้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและกระบวนการยุติธรรม 2.ต้องกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกำหนดจังหวัดหลักที่จะเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงจำนวนประชากรของจังหวัดบริวารและจังหวัดหลักประมาณ 4-5 ล้านคนต่อกลุ่มจังหวัด, จัดระบบเมืองให้เอื้อต่อการสร้างชีวิตและสังคมที่มีคุณภาพและปลอดภัย 3.ต้องเสริมสร้างพลังทางสังคม โดยสร้างสังคมเข้มแข็งที่แบ่งปัน ไม่ทอดทิ้งกัน การเตรียมรองรับสังคมสูงวัย โดยพัฒนาระบบสนับสนุนการปรับตัวของแรงงานวัย 40 ปีขึ้นไป ให้สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพให้เหมาะสมในยามสูงอายุ และส่งเสริมความเสมอภาคและบทบาทสตรีในสังคม 4.ต้องเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเอง และการจัดการตนเอง ซึ่งภายใน 20 ปีข้างหน้าต้องทำให้ได้ โดยมีตัวชี้วัดว่าอันดับแรก 10 คนจนกับ10 คนรวยที่แตกต่างกัน 22 เท่าตั้งเป้าให้ลดลงไม่เกิน 15 เท่า ทำอย่างไรให้คนจนพัฒนาขึ้น มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเกษตรกรและแรงงาน เมื่อรัฐบาลขึ้นทะเบียนคนจนพบว่า 80% ของผู้มาลงทะเบียนคือเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน จึงต้องเน้นไปที่กลุ่มนี้ สิ่งที่รัฐดำเนินการมาถูกทางแล้วแต่ต้องทำต่อเนื่อง เมื่อรัฐบาลใหม่มาก็ต้องทำต่อเนื่องช่วยเหลือภาคเกษตร ทำอย่างไรให้รวมตัวกันเป็นเอสเอ็มอีการเกษตร เดินบนฐานชีวภาพเป็นเกษตรปลอดภัย เป็นเกษตรสุขภาพ ซึ่งจะทำให้มีรายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ต้องทำให้คนจนมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุข และบริการในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

            ส่วนแรงงานในระบบอายุ 45-50 ก็เริ่มเป็นกลุ่มที่กำลังจะถูกเลิกจ้างจึงต้องเตรียมความพร้อมฝึกอาชีพเตรียมตัวไว้ก่อนให้มีงานรองรับ จุดนี้ภาคเกษตรสามารถรองรับได้ แต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม นอกจากนี้รัฐต้องกระจายความเจริญให้ทั่วถึง ถ้าปล่อยให้แหล่งงานมีเฉพาะกรุงเทพฯกับเมืองใหญ่ ทำให้แรงงานวิ่งเข้าเมืองใหญ่ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำอย่างไรให้แต่ละจังหวัดมีอาชีพรองรับ สามารถวิ่งไปทำงานและกลับมาดูแลลูกได้ เรื่องสตรีก็เช่นกัน สตรีต้องมีบทบาทมากขึ้นในด้านแรงงานเพราะมีศักยภาพดูแลละเอียดอ่อน ในองค์กรท้องถิ่นอย่างอบต.และวงการเมืองผู้หญิงยังมีโอกาสน้อยมาก

            อีกเรื่องที่หลายคนพูดคือเรื่องที่ดินคนจนไม่มีที่ดิน ทำอย่างไรให้คนจนมีที่ดินเพียง 1-2 ไร่ทำเกษตรพอเพียง เชื่อมโยงกลุ่มทำเกษตรทฤษฎีใหม่รัฐบาลทำให้ต่อเนื่อง สำหรับผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้มีคุณค่าทำงานต่อ อย่ามองว่าเป็นภาระ ทำอย่างไรให้มีโอกาสเข้ามาช่วย และใช้ศูนย์กลางบ้าน วัด โรงเรียนกลับคืนมา หากชุมชนสามารถจัดการเรื่องนี้ คนแก่ก็จะสามารถมาถ่ายทอดวัฒนธรรม ถ่ายทอดภูมิปัญญา ช่วยดูแลเด็ก และใช้วัดเป็นศูนย์กลางเหนี่ยวนำความเป็นคนดีความแตกแยกก็จะหายไป

คำสำคัญ (Tags): #ยุทธศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 647750เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2018 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2018 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท