๗๒๘. ปัญหาการศึกษาไทยที่แท้จริง...(๑)


นักวิชาการพยายามยกตัวอย่างโรงเรียน”นอกกะลา” ที่เขา"ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” โดยไม่ยึดหนังสือเรียน แต่ใช้”วรรณกรรม”และกิจกรรมเป็นสื่อ..สอนการคิดทุกรูปแบบ..จนกระทั่งไม่ต้องติว..เด็กทำข้อสอบที่พลิกแพลงได้หมด จึงไม่แคร์โอเน็ต

             เมื่อก่อนดูคลิ๊บวีดีโอที่มีด๊อกเตอร์ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ออกมาวิพากษ์การศึกษาไทย ในมุมมองของการปฏิรูปโครงสร้างบ้าง ในมุมของการปฏิรูปการเรียนการสอนบ้าง..ผมจะรู้สึกว่าโดนใจและเออออห่อหมกไปกับเขา..

            เดี๋ยวนี้ไม่เลย..ฟังแล้วคิดตาม จับประเด็น รู้ได้ในทันทีเลยว่า..ปัญหาไม่ได้เกิดจากสิ่งที่เขาพูดทั้งหมด และปัญหามิได้อยู่แค่นั้น ดังนั้น..การพูดให้ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ฟัง จะเอามันเอาฮา เอาแค่สะใจอย่างเดียวคงไม่ได้..

            ผู้พูด..ต้องรู้ลึกกว่านั้น (หรือรู้แล้วแต่ไม่พูด) สิ่งที่พูดออกมาแต่ละครั้งแต่ละปี ล้วนเป็นปัญหาซ้ำซาก ผมไม่เห็นมีรัฐบาลหรือ รมต.ศธ. คนไหนจะรับฟังแล้วนำไปคิดแก้ไข คำถามคือ..แล้วพูดไปเพื่อ..?

            ผม..ในฐานะผู้บริหาร มีประสบการณ์บริหาร ๒๐ ปี จบป.ตรีและ ป.โท ด้านการสอนฯ ปัจจุบันก็ทำหน้าที่ครูผู้สอนด้วยและสอนทุกวัน มีความรอบรู้และรู้จริงๆ ด้านภาษาไทย

          ในมุมมองของผม..ถ้าคุณไม่ได้เป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา คุณจะไม่มีวันรู้ปัญหาที่แท้จริงเลย และเมื่อใดที่คุณพูดถึงปัญหา..คุณต้องบอกวิธีการแก้ไขด้วย..

            ปัญหา(ซ้ำซาก) ที่รับฟังอยู่เสมอ ก็คือ..หลักสูตร..กล่าวอ้างว่าหลักสูตรเรียนมากเกินไป..และต้นสังกัดให้มีโครงการมากมายในแต่ละปี ครูไม่มีเวลาสอน..

            กระทรวงศึกษาฯเปลี่ยนนโยบายบ่อย รวมไปถึงงานอีเว้นท์ของสพฐ.และสพป.ที่มีการประเมิน ประกวด ประชันขันแข่ง ในแต่ปีมีมิใช่น้อย ล้วนบั่นทอนเวลา ให้ครูไม่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการสอนได้อย่างเต็มที่..

            ผมไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ความจริง..มันจริงเสียยิ่งกว่าจริงเสียอีก และนับวันมันยิ่งมากขึ้น..เหมือนคนคิดจะสนุกและมีความสุข..กับ “เงินทอน” โดยหารู้ไม่ว่าครูเขาไม่สนุกด้วยเลย..

            แต่..ผมอยากถามว่า..ปัญหาเหล่านั้น เราที่อยู่ในระดับรากหญ้า ไปควบคุมและเปลี่ยนแปลงมันได้ไหม? ตอบ..ไม่ได้แน่นอน..

            ดังนั้น..เลิกบ่น เลิกว่า..เลิกท้อ เลิกประณาม เลิกเหยียดหยามกันเอง หันมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด..มองที่ตัวเราเองโดยใช้การบริหารจัดการ..ในโรงเรียน..

            ปัญหานานัปการ..ที่นักวิชาการ หรือนักพูด ได้อ้างไว้ข้างต้น..แก้ได้ที่โรงเรียนเท่านั้น โดยครูและผู้บริหารร่วมมือกัน ในเมื่อเรามีคุณภาพต่ำ ก็ลดภาระงานครูและนักเรียน..พุ่งเป้าไปที่การเรียนการสอนให้มากขึ้น...

            แต่แท้ที่จริงปัญหามันไม่ได้อยู่แค่นั้น..การศึกษา..ในจุดที่เขามองว่าเป็นปัญหา คือ..ค่าคะแนนที่ได้จากการวัดและประเมินผลมันต่ำมาก ทั้ง ONET และ PISA

            ตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี มีการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านทุกครั้งไป แต่ก็ไม่เห็นผู้บริหารการศึกษาระดับสูงคนไหนแสดงความรับผิดชอบ หรืออับอาย ..สักครั้ง

            ปรัชญา..ของการวัดผล..บอกว่า..ใครสอน..คนนั้นต้องประเมิน..และจะต้องเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา และทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของการสอน..มิใช่แยกประเมินกันแบบนี้...

            ทุกวันนี้..ครูที่สอนแทบจะไม่ได้ประเมินเด็กรายบุคคล ที่มีปัญหาในการเรียนรู้แตกต่างกัน มีความถนัด ความสนใจไม่เท่ากันและ มาจากปัญหาครอบครัวที่แตกต่างกัน

            แต่ครูต้องใช้เครื่องมือวัดผลที่มาจากส่วนกลาง..มาจากสพฐ.และสทศ.ที่นักวิชาการระดมกันไปออกข้อสอบเพื่อวัดผลทั่วประเทศ..ด้วยข้อสอบชุดเดียวกันหมด..

             ปัญหา..ในเชิงคุณภาพ..ที่วิเคราะห์จากผลคะแนนเป็นตัวเลข มันจึงต่ำอยู่ร่ำไป แต่เอาล่ะ..เป็นกระบวนการวัดและประเมินผลในระดับชาติ..ที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว

            ก็ต้องมาแก้..ที่ครูและวิธีสอน..ผมไม่เคยคิดโทษครู แต่ครู ป.๑ – ม.๖ ต้องเข้าใจและตระหนักตั้งแต่วันนี้เลยว่า..แบบทดสอบปรนัยสมัยนี้..มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

            ครูที่จบเอกวัดผล..ก็ยอมรับว่าทำได้และเข้าใจดี เพราะท่านเรียนเรื่องเครื่องมือมา ๔ – ๕ ปี..แต่ถ้าเป็นครูเอกทั่วไป ในโรงเรียนวัด..หลายหมื่นโรง..ครูใช้เวลาเรียนเพียงแค่เทอมเดียว หากไม่ศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม..ทุกอย่างก็จบ

            เพราะ..ข้อสอบในทุกวิชา และทุกระดับชั้น ที่มาจากส่วนกลาง เขาออกในเชิงวิเคราะห์..ให้เด็กคิดหลายตลบ เราจะพบว่า แม้เด็กจะอ่านคล่องอย่างไรก็ตอบไม่ได้

            ติวกันให้ตายก็ตอบไม่ได้..ถ้าครูไม่ได้สอนวิธีคิด ไม่ฝึกกระบวนการคิดที่ต่อเนื่องให้เขา..ดังนั้น..ครูต้องยกระดับการสอน..และเข้าใจในตัวเครื่องมือวัดผลด้วย..โดยใช้เครื่องมือสำเร็จรูปให้น้อยลง..และใส่ใจในตัวชี้วัดมากขึ้น

            นักวิชาการพยายามยกตัวอย่างโรงเรียน”นอกกะลา” ที่เขา"ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” โดยไม่ยึดหนังสือเรียน แต่ใช้”วรรณกรรม”และกิจกรรมเป็นสื่อ..สอนการคิดทุกรูปแบบ..จนกระทั่งไม่ต้องติว..เด็กทำข้อสอบที่พลิกแพลงได้หมด จึงไม่แคร์โอเน็ต

            เพราะโอเน็ตเขาสูงทุกปี จนเป็นธรรมชาติไปแล้ว โรงเรียนบ้านๆอย่างเรา อาจไม่ต้องออกนอกกรอบ ไม่ต้องออกนอกกะลาก็ได้..แต่ใช้หนังสือแบบเรียนให้เป็น เน้นให้ถูกจุด ..ปัญหาก็จะลดลงเรื่อยๆ

            แล้วผมจะกลับมาเพื่อบอกว่า..ควรสอนอย่างไร?..ให้เด็กอ่านได้ อ่านคล่อง และวิเคราะห์เป็น..ปัญหามันอยู่ที่การสอนอ่าน หรืออยู่ที่”ภาษาไทย”นี่แหละ รัฐมนตรีก็รู้ เลขาฯสพฐ.ก็รู้ แต่ทุกวันนี้..ไม่รู้โครงการอะไร?..เห็นแล้วก็ขำ ขำ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๓  พฤษภาคม  ๒๕๖๑

           

           

            

หมายเลขบันทึก: 647585เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2018 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2018 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บันทึกนี้ "ข้อเท็จจริง" หนาแน่นนะครับ ท่าน ผอ. 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท