เวลา


เวลา

เวลา เป็นคำที่มาจากภาษา บาลี และ สันสกฤต เป็นคำนาม แปลว่า ชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่ หรือ เป็นอยู่ โดยนิยมกำหนดขึ้นเป็น ครู่ คราว วัน เดือน ปี เป็นต้น

เครื่องมือบอกเวลา คือนาฬิกา หน่วยของเวลา ที่เรารู้จักกันดีคือ วินาที(น้อยกว่านี้ก็คือเศษของวินาที ซึ่งแล้วแต่ความละเอียดของเครื่องมือวัดว่าจะมีจุดทศนิยมกี่ตำแหน่ง) นาที ชั่วโมง วัน สัปดาห์ ปี ทศวรรษ ศตวรรษ สหัสวรรษ และมากขึ้นเรื่อยจนนับได้ยาก หรือนับไม่ได้ ที่เรียกว่า อสงไขยปี 

ในหนังสือ โลกทีปนี ของพระพรหมโมฬี (วิลาศ ญาณวโร) กล่าวว่า อสงไขยปี คือจำนวนปีมนุษย์ที่มีเลขหนึ่งขึ้นหน้า แล้วต่อด้วยเลขศูนย์ ๑๔๐ ตัว หรือเรียกว่าเป็นจำนวนปีที่นับด้วยเลขหนึ่งร้อยสี่สิบเอ็ดหลัก(๑๔๑ หลัก) ลองเขียนดูจะได้ดังนี้ ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐

นอกจากนี้ในหนังสือดังกล่าวยังเทียบหน่วยวัดเวลาอันยาวนานไว้ดังนี้

๑ รอบอสงไขยปี(หมายถึงอายุมนุษย์ที่ยืนยาวถึง ๑ อสงไขย แล้วลดลง จนเหลือ ๑๐ ปี แล้วกลับยืนยาว ถึง ๑ อสงไขยปีอีกครั้ง)

๑ รอบอสงไขยปี  เป็น ๑ อันตรกัป

๖๔ อันตรกัป       เป็น ๑ อสงไขยกัป

๔ อสงไขยกัป     เป็น  ๑ มหากัป

มีผู้อ้างถึงพระไตรปิฎก กล่าวถึง มหากัปว่า 

ทุก ๆ ๑๐๐ ปี เอาปลายหญ้าคา  จุ่มน้ำ  นำออกไปครั้งละหยาด ๗ ครั้ง เมื่อกระทำให้น้ำหมดจากสระนั้นแล้วจึงเรียกว่า  ๑  มหากัป

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายของคำ อสงไขย ว่า ว. มากจนนับไม่ถ้วน น. ชื่อมาตรานับจำนวนใหญ่ที่สุด คือ โกฏิยกกำลัง ๒๐ นั่นคือ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ คูณกัน ๒๐ ครั้ง หนึ่งโกฏิมีเลขศูนย์ ๗ หลัก ๗ หลัก ๒๐ ครั้ง ก็ได้ ๑๔๐ หลักเลข ๐ รวมกับเลข ๑ ก็เป็น ๑๔๑ หลัก ก็คือ ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐

เท่ากับการคำนวณของ อสงไขย ปี นั่นเอง

มีอีกคำที่มักได้ยินคู่กับ อสงไขย คือ คำว่า กัป(ภาษาบาลี) หรือ กัลป์(ภาษาสันสกฤต) ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายว่า กัป หรือ กัลป์ นี้ คืออายุของโลก ตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างโลกเสร็จ จนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก ท่านเทียบว่า เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์

บ้างก็กล่าวเปรียบเทียบว่า 

  " กัป " หมายถึงเวลาที่ยาวนานนับประมาณไม่ได้ เปรียบเหมือนมีภูเขาแท่งศิลาทึบ กว้าง ยาว สูง อย่างละ ๑ โยชน์ ( มี๔๐๐ เส้น ๑ เส้น มี ๒๐ วา ๑ วา เท่ากับ ๒ เมตร ๑ เส้น จึงมี ๔๐ เมตร ๔๐๐ เส้น จึงมี ๑,๖๐๐ เมตร เท่ากับ๑๖ กิโลเมตร )
ครบร้อยทิพย์ปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์ที่บางเบาราวกับควันไฟมาลูบภูเขานี้ ๑ ครั้งเมื่อใดภูเขาสึกกร่อนจนเรียบเสมอพื้นดิน เรียกว่า ๑ กัป

บ้างก็กล่าวเปรียบเทียบว่า 

" กัป" หมายถึงเวลาที่ยาวนานนับประมาณไม่ได้ เปรียบเหมือน ลังใหญ่ใบหนึ่ง กว้าง ๑ โยชน์ ยาว ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ๑๐๐ ปี เอาเมล็ดผักกาดมาใส่  จนเต็ม แล้ว ๑๐๐ ปีมา หยิบออกไป ๑ เมล็ด จนหมดลัง เป็นเวลา ๑ กัป

มีอ้างอิงในพระไตรปิฎกดังนี้(แหล่งข้อมูลวิกิพีเดีย)

พระพุทธเจ้าได้ตรัสประมาณเกี่ยวกับความยาวนานของกัปไว้ดังนี้

1. ปัพพตสูตร (สังยุตตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 128 หน้า 219-220 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าอุปมาความยาวนานของกัป พระองค์ตรัสตอบว่า

อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบลูกใหญ่ มีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง บุรุษพึงเอาผ้าแคว้นกาสีลูบภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง ภูเขาศิลาลูกใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่งยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ 1 กัป มิใช่ 100 กัป มิใช่ 1,000 กัป มิใช่ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ภิกษุ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง

— ปัพพตสูตร

2. สาสปสูตร (สังยุตนิกาย อนมตัคคสังยุต ข้อ 129 หน้า 220-221 พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าอุปมาความยาวนานของกัป พระองค์ตรัสตอบว่า

อาจอุปมาได้ ภิกษุ เปรียบเหมือนนครที่สร้างด้วยเหล็กมีความยาว 1 โยชน์ กว้าง 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์ เต็มด้วยเมล็ดผักกาด รวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเมล็ดผักกาดออกจากนครนั้น 100 ปีต่อ 1 เมล็ด เมล็ดผักกาดกองใหญ่นั้นพึงหมดสิ้นไป เพราะความพยายามนี้ยังเร็วกว่า ส่วนกัปหนึ่ง ยังไม่หมดสิ้นไป กัปนานนักหนาอย่างนี้ บรรดากัปที่นานนักหนาอย่างนี้ เธอได้ท่องเที่ยวไป มิใช่ 1 กัป มิใช่ 100 กัป มิใช่ 1,000 กัป มิใช่ 100,000 กัป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้นจาก สังขารทั้งปวง

"กัป" ในมาเลยยสูตร มี ๔ แบบแต่กล่าวมาบ้างแล้วข้างต้น จึงกล่าวเพิ่มเฉพาะข้อที่ไม่ซ้ำดังนี้

อายุกัป คือ กำหนดอายุสัตว์ เกิดมามีอายุเท่าไร เมื่ออายุสิ้นสุดลง เรียก 1 กัป (ในยุคพุทธกาล 1 อายุกัปของมนุษย์ ประมาณ 100 ปี)

เปรียบเทียบเวลา หรือ อายุ มนุษย์โลก กับ เทวโลก

๕๐ ปี มนุษย์ เท่ากับ ๑ วันทิพย์  สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เทวดาชั้นนี้ อายุ ๕๐๐ ปีทิพย์

๑๐๐ ปี มนุษย์ เท่ากับ ๑ วันทิพย์  สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นนี้ อายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์

๒๐๐ ปี มนุษย์ เท่ากับ ๑ วันทิพย์  สวรรค์ชั้นยามา เทวดาชั้นนี้ อายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์

๔๐๐ ปี มนุษย์ เท่ากับ ๑ วันทิพย์  สวรรค์ชั้นดุสิต เทวดาชั้นนี้ อายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์

๘๐๐ ปี มนุษย์ เท่ากับ ๑ วันทิพย์  สวรรค์ชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นนี้ อายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์

๑,๖๐๐ ปี มนุษย์ เท่ากับ ๑ วันทิพย์  สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาชั้นนี้ อายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์

แค่เทวดาก็มึนแล้ว ส่วนของพรหมโลก คงต้องว่ากันเป็น กัป ดังนี้(แหล่งข้อมูล เว็บไซต์ Un title page)

  อายุของพระพรหม รูปฌาน 1 ถึง รูปฌาน 4 
รูปฌาน 1 มีอยู่ 3 ชั้น 
      สมาธิอย่างอ่อน ปาริสัชนาพรหม มีอายุ 1/3 กัป (หนึ่งในสามกัป)
      สมาธิอย่างกลาง ปุโรหิตพรหม มีอายุ 1/2 กัป (ครึ่งกัป)
      สมาธิอย่างสูง มหาพรหม มีอายุ 1 กัป 
รูปฌาน 2 มีอยู่ 3 ชั้น 
      สมาธิอย่างอ่อน ปริตตาภาพรหม มีอายุ 2 กัป 
      สมาธิอย่างกลาง อัปปมาณภาพรหม มีอายุ 4 กัป 
      สมาธิอย่างสูง อาภัสสราพรหม มีอายุ 8 กัป 
รูปฌาน 3 มีอยู่ 3 ชั้น 
     สมาธิอย่างอ่อน ปริตตสุภาพรหม มีอายุ 16 กัป 
     สมาธิยย่างกลาง อัปปมาณสุภาพรหม มีอายุ 32 กัป 
     สมาธิอย่างสูง สุภกิณหาพรหม มีอายุ 64 กัป 
รูปฌาน 4 มีอยู่ 2 ชั้น 
     เวหัปผลพรหม มีอายุ 500 กัป 
     อสัญญสัตราพรหม มีอายุ 500 กัป 

สุทธาวาสพรหม มี 5 ชั้น เป็นภพของพระอนาคามี 
     1. อวิหา มีอายุ 1,000 กัป 
     2. อตัปปา มีอายุ 2,000 กัป 
     3. สุทัสสา มีอายุ 4,000 กัป 
     4. สุทัสสี มีอายุ 8,000 กัป 
     5. อกนิฏฐา มีอายุ 16,000 กัป 

อรูปพรหม มี 4 ชั้น 
     1.อากาสานัญจายตนพรหม มีอายุ 20,000 กัป 
     2.วิญญาณัญจายตนพรหม มีอายุ 40,000 กัป 
     3.อากิญจัญญายตนพรหม มีอายุ 60,000 กัป 
     4.เนวสัญญานาสัญญายตนาพรหม มีอายุ 84,000 กัป

คราวนี้ผมจะขอเปรียบเทียบเวลา ในนรกกับ เวลาในโลกมนุษย์ของเรา ตามที่ได้อ่านมาจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่นหนังสือโลกทีปนี เป็นต้นนะครับ

นรกมี ๘ ขุมใหญ่ที่เรียกว่ามหานรก และมีนรกบริวารอีกมากมาย ผมจะไม่ขอบรรยาย ให้งุนงงนะครับ จะเลือกเฉพาะ มหานรก มาเป็นตัวอย่างดังนี้

๑ วัน ในมหานรกขุมแรก คือสัญชีวนรก  เท่ากับ ๙,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในโลกมนุษย์ สัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๕๐๐ ปีนรก เท่ากับ ๔,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์

๑ วัน ใน กาฬสุตตนรก เท่ากับ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในโลกมนุษย์ สัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีนรก เท่ากับ ๓๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์

๑ วัน ใน สังฆาฏนรก เท่ากับ ๑๔๕,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในโลกมนุษย์ สัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีนรก เท่ากับ ๒๙๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์

๑ วัน ใน โรรุวนรก เท่ากับ ๒๓๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในโลกมนุษย์ สัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีนรก เท่ากับ ๙๓๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์

๑ วัน ใน มหาโรรุวนรก เท่ากับ ๙,๒๑๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในโลกมนุษย์ สัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีนรก เท่ากับ ๗๓,๗๒๘,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์

๑ วัน ใน ตาปนรก เท่ากับ ๑๘,๕๒๒,๐๐๐,๐๐๐ ปี ในโลกมนุษย์ สัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีนรก เท่ากับ ๒๙๖,๓๕๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีในโลกมนุษย์

๑ วัน ใน มหาตาปนรก ไม่ได้บอกไว้ว่าเท่ากับกี่ปี ในโลกมนุษย์ แต่บอกว่าสัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ครึ่ง อันตรกัป

๑ วัน ใน มหานรกขุมที่ แปด ขุมสุดท้าย คือ อเวจีนรก ไม่ได้บอกไว้ว่าเท่ากับกี่ปี ในโลกมนุษย์ แต่บอกว่าสัตว์นรกขุมนี้ มีอายุ ๑ อันตรกัป

(ขออภัยที่ผมใช้ตัวเลข ไทยบ้าง ไม่ใช้บ้าง ถ้าผมคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆมักจะคงสภาพข้อมูลนั้นไว้ แต่ถ้าผมเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลหรือเพิ่มเติม จะใช้เลขไทยครับ)

คำสำคัญ (Tags): #อสงไขย
หมายเลขบันทึก: 647147เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2018 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2018 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท