ชีวิตที่พอเพียง 3167. กลุ่มอาสาคิลานธรรม



วันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรม ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ   ในหัวข้อ คุณค่าแห่งการดำรงอยู่และการจากลา  สู่วิถีคิลานธรรม  

กลุ่มอาสาคิลานธรรม คือใคร ทำอะไร อ่านได้ที่  

อ่านกำหนดการช่วงเช้าที่      ช่วงบ่ายที่  

คิลานธรรม เป็นธรรมะเพื่อวิถีชีวิต    จัดการทักษะชีวิต

ช่วงเช้า  จัดที่ห้อง นิพพานชิมลอง ชั้น ๒    เริ่มจากพระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ ประธานกลุ่มเล่ากิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรม      หลังจากนั้นผมได้ฟังสองอาจารย์ใหญ่ของพระหนุ่มกลุ่มนี้อย่างเต็มอิ่ม    คือ รศ. ดร. โสรีย์ โพธิ์แก้ว กับ อ. วิศิษฐ์ วังวิญญู    โดยผมได้ใช้ iPhone จดโน้ตย่อคำบรรยายของทั้งสองท่านไว้ ดังนี้ 

 

โสรีย์ โพธิ์แก้ว

    นักจิตวิทยาการปรึกษา (counseling psychologist) 

    ดื่มด่ำในชีวิตที่ผันแปรโดยไม่หวั่นไหว  

    counseling พาคนจากที่แคบสู่ที่กว้าง   ชำระใจจากสิ่งค้างคา  

    กระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน   

    ความทุกข์เกิดจากตัวตน  

    ไม่เอาตัวตนเป็นศูนย์กลาง   เราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด   ความอ่อนน้อมถ่อมตน  

    ให้ที่ว่างแก่กัน  

 

วิศิษฐ์ วังวิญญู  สถาบันขวัญเมือง 

   บุกเบิกสุนทรียสนทนา

   มณฑลแห่งพลัง

  @ คิ เป็นสงฆ์แท้ ไม่ถือศักดิ์ สำนัก สังกัด

      เห็นในการประชุมที่วัดอุโมงค์  สงฆ์คิหลุดพ้นอัตตา

  @ ตนเรียนนอกระบบ  เป็นกบฏ   อยากหยิบสิ่งที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งคิดว่ามี ๓ อย่างคือ (1) dialogue : David Bohm (2) กระบวนกร หลอมรวมมิติทางจิตวิญญาณ (3) จิตวิทยาตัวตน psychology of self ... family therapist

  @ พระคิ เข้าใจลึกซึ้ง   งานลึกขึ้นตามลำดับ   วงการพระให้การยอมรับ    แต่ก็มีทัอ   มีพระสังฆาธิการมาร่วม 

 

คุณวิศิษฐ์ ได้ขอให้ท่านโช ซึ่งเป็นสมาชิกพระคิ ออกมาให้ความเห็นประสบการณ์การเป็นพระคิ    ท่านบอกว่า ได้เข้าถึงแก่นธรรม   ประคองให้อยู่ในพระธรรมวินัย   

ส่วนพระมหาสุเทพ บอกว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน    เป็นการทำงานข้างใน   พัฒนาทั้งข้างนอกและข้างใน 

ผมได้รับมอบหมายให้กล่าวสัมโมทนียกถา ถึงกลุ่มอาสาคิลานธรรม    จึงได้ให้ความเห็นสั้นๆ ว่ากิจกรรมที่กลุ่มอาสาคิลานธรรมเป็นการทำงานเอาธรรมะไปสู่ชาวบ้าน ในแบบที่ไม่ได้ใช้ธรรมะเป็นตัวตั้ง    แต่ใช้ชีวิตหรือความต้องการของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง    ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นวิธีเผยแผ่ธรรมะที่ใช้ได้ผลดีกว่าวิธีที่ใช้กันทั่วไปที่สอนธรรมะแบบที่ใช้ธรรมะเป็นตัวตั้ง     

กิจกรรมจิตอาสาที่พระกลุ่มอาสาคิลานธรรม    ที่ร่วมกับฆราวาสดำเนินการกิจกรรมอาสาสมัคร นำธรรมะเข้าสู่เพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วยและต้องการการเยียวยาทางจิตใจและวิญญาณ    เป็นกิจกรรมที่ก่อประโยชน์เชิงซ้อน    ทั้งทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ในด้านการเยียวยาจิตใจ   และด้านการเข้าถึงพุทธธรรม    ทั้งเป็นการขัดเกลาจิตใจของตัวพระเอง เพื่อลดละกิเลส และยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น   โดยการทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วย   

สำหรับพระกลุ่มอาสาคิลานธรรม นี่คือการเรียนจากการปฏิบัติ    ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ได้ผลที่สุด    ตรงตามหลักการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่ผลการวิจัยด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ (cognitive psychology) และวิทยาศาสตร์ด้านสมอง บอกว่า การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอดความรู้    แต่เกิดจากการลงมือทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วสังเกตเก็บข้อมูลต่างๆ ในการปฏิบัติ นำมาใคร่ครวญไตร่ตรอง สังเคราะห์เป็นความรู้ใส่ตน    กระบวนการตีความใคร่ครวญไตร่ตรองนี้ คือ reflection หรือ AAR หรือในภาษาพระเรียกว่า โยนิโสมนสิการ    ซึ่งพระกลุ่มอาสาคิลานธรรมก็ได้ใช้เครื่องมือเรียนรู้นี้อยู่แล้ว    แต่ก็น่าจะฝึกฝนพัฒนาวิธีใช้เครื่องมือนี้ให้เกิดผลยิ่งๆ ขึ้นไป

ช่วงบ่าย ๑๓.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. จัดที่ลานชั้นล่าง จัด ๓ ช่วง  ช่วงแรกเป็นการนำเสนอเรื่อง คุณค่าของการดำรงอยู่และการจากลา สู่วิถีคิลานธรรม วิถีธรรม วิถีโลก  โดยวิทยากร ๔ ท่าน คือ พระมหาถาวร ถาวโร วัดชลประทานรังสฤษฏ์, พระครูเมธังกร (ปณต คุณวัฑโฒ) วัดญาณเวศกวัน, นพ. สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา  ผอ. ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ  มศว., และ นส. กชพร เขื่อนธนะ พยาบาลวิชาชีพ รพ. เชียงกลาง  จ. น่าน   

พระมหาถาวร

    ทำกิจกรรมสร้างพุทธอาสา วัดชลประทาน    แบ่งปันความคิดและความรู้สึก ประโยชน์ที่ได้จากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม

(1) ส่วนตน พัฒนาตน สร้างพระที่สมบูรณ์   งานที่ทำเป็นการพัฒนาตน   เป็นผู้ใคร่ต่อการพัฒนาตน 

(2) ทำงานด้านสังคม  เป็นงานของส่วนรวม ระดับองค์กร   วัดกับสังคม  

(3) เผยแผ่พระศาสนาเชิงรุก

นพ. สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา 

    กิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรม  ช่วยลดความเครียดของผู้ปฏิบัติงาน  ลดความเครียดของผู้ป่วยและญาติ   เพิ่มคุณภาพของบริการ    ช่วยให้เป็น happy workplace    และบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ บริการด้วยใจ  ใฝ่สามัคคี  มีความรับผิดชอบ 

คุณกชกร เขื่อนธนะ

เล่าเรื่องการดูแลแบบบูรณาการแบบไม่แยกส่วน  และมีส่วนร่วมของชุมชน   ใช้ context-based learning    ที่กิจกรรมของพระอาสาคิลานธรรมช่วยได้มาก    เล่าเรื่อง วิไล ลาออกจากงานกลับไปดูแลแม่สมองเสื่อม ที่ก่อนเข้าถึงธรรมะมีความทุกข์มาก    หลังจากได้ร่วมกิจกรรมคิลานธรรมเกิดความเข้าใจแม่  เข้าใจธรรมชาติของความเสื่อมของสังขาร    เกิดความสุขที่ได้ดูแลแม่    

ช่วงกลาง เป็นการให้ความเห็นวิธีทำงาน และการสนับสนุนการทำงานของกลุ่มอาสาคิลานธรรม โดย พระเทพปริยัติมุนี (มีชัย วีรปัญโญ, ปธ. ๙, ผศ. ดร.) เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม  รองเจ้าคณะภาค ๑, ศ. นพ. ดร. ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกแพทยสภา, และ ผม    ท่านเจ้าคุณพระเทพปริยัติมุนี บอกว่ากิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรมนี้   เป็นการเยียวยาใจด้วยธรรมะ    มีคุณค่าต่อวงการพระพุทธศาสนา และต่อสังคม    ท่านจะสนับสนุน และนำไปเรียนพระผู้ใหญ่หาทางสนับสนุนให้ทำงานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ท่านบอกว่า กิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรมนี้  สมาชิกกลุ่มจะได้พัฒนาใจตนเอง ให้อยู่ในพระธรรมวินัย รักษาตนเองได้ ไม่คลอนแคลน     แนะนำให้เปิดรับอาสาสมัครเพิ่ม โดยกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขการเป็นสมาชิก     จะช่วยบอกผู้มีกำลัง มาสนับสนุน 

ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา  กล่าวว่า ท่านเกี่ยวข้องกับคิลานธรรมใน 4 บทบาท

  1. คนไทย

  2. เป็นแพทย์  ผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็ง 

  3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผลิตแพทย์ 11% ของประเทศ

  4. นายกแพทยสภา

 กิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรม คือ ช่วยเยียวยาบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่น   เพื่อให้กิจกรรมนี้ก่อผลกระทบทางจิตวิญญาณของตัวเอง ท่านแนะนำให้ พูดกับตัวเอง   และฟังผู้อื่น    สองประการนี้เป็นทักษะสำคัญที่ต้องฝึก    

  โรงพยาบาลเป็นที่ดีที่สุดให้รู้จักตัวเอง     และเรียนรู้กระบวนการที่ถูกต้อง 

  งานที่ทำนี้เป็นสิ่งยาก  ซึ่งในความหมายที่ซ่อนอยู่คือทำได้   การทำเรื่องยากๆ ช่วยให้ได้เรียนรู้มาก

 ท่านฝากให้ช่วยฝึกนักศึกษาแพทย์ ให้เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย      ให้รักษาผู้ป่วย  อย่ารักษาโรค   โดยฟังผู้ป่วย  เข้าถึงความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติ    รวมทั้ง รู้วิธีลดความทุกข์ของตนเอง   

ผมให้คำแนะนำเรื่องวิธีจัดการกลุ่มอาสานี้ ว่าควรขยายเครือข่าย    แต่ไม่ควรจัดองค์กรแบบรวมศูนย์    ควรดำรงความเป็นเครือข่ายไว้    แต่มีหน่วยประสานงานที่เข้มแข็ง    มีการจัดการที่เข้มแข็ง    ใช้วิธีการจัดการสมัยใหม่  มีการสื่อสารที่ดีทั้งในสมาชิกกลุ่ม และการสื่อสารสาธารณะ    และเครือข่ายไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะพระ  ควรเชื่อมโยงเป็นภาคีกับโรงเรียน  องค์กรชุมชน  วงการสื่อ    เน้นการเป็นเครือข่ายเชิงปฏิบัติเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม  และเพื่อการเรียนรู้ยกระดับจิตใจของสมาชิก  

ผมติดใจคำของท่านพระครูเมธังกร (ปณต คุณวัฑโฒ) ที่เอ่ยกับ ศ. นพ. ประสิทธิ์, อ. หมอกวิวัณณ์ และผมว่า  “กลุ่มอาสาคิลานธรรมไม่มีตัวตน”    ซึ่งก็ตรงกับข้อเสนอแนะของผม ให้ไม่สร้างองค์กรเป็นตัวตนแบบรวมศูนย์     และผมเห็นด้วยกับการฝึก Buddhist counseling  แก่นักศึกษาแพทย์

ช่วงที่สาม หลัง ๑๕.๓๐ น. ทีมแรกอภิปรายกันต่อ   ผมต้องออกจากที่ประชุมเพื่อไปรดน้ำศพญาติที่วัดชลประทานฯ     

วิจารณ์ พานิช

๕ เม.ย. ๖๑




1 ภายในห้องนิพพานชิมลอง

2 พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ

3 อ. โสรีย์ โพธิ์แก้ว

4 อ. วิศิษฐ์ วังวิญญู

5 ส่วนหนึ่งของผู้ฟังในห้องนิพพานชิมลอง

6 ท่านพระครูเมธังกรกำลังสรุปกิจกรรมของกลุ่มคิลานธรรมให้ ศ. นพ. ประสิทธิ์ทราบ ผศ. พญ. กวิวัณ


7 สภาพงานช่วงบ่ายที่ลานชั้นล่าง


8 ผู้อภิปรายชุดแรก

9 ผู้ฟัง

หมายเลขบันทึก: 646925เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท