๗๒๑. การบริหารจัดการ..พื้นที่สีเขียว..


การบริหารจัดการ “พื้นที่สีเขียว” โดยนักเรียน..ก็เพื่อนักเรียน เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ผู้ได้รับประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม..ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ..เพราะการศึกษาคือการเจริญเติบโต..ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน..จะต้องเติบโตไปพร้อมๆกัน..

              บรรยากาศในช่วงเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียน..ได้กลิ่นไอ..ของงานผสมผสานกลิ่นดิน..ที่ฝนชะล้างจนชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณโรงเรียน..

            ปรากฎการณ์ต้นไม้ใบหญ้า..เขียวครึ้มและคืบคลานมาเร็วกว่าทุกปี ซึ่งก็มีความหมายสำหรับการต้อนรับนักเรียนและผู้ปกครอง..ด้วยความสงบ ร่มรื่นและคลายร้อน

            ความรู้สึกนึกคิดที่ว่าขาดแคลนอาคารมาโดยตลอด ไม่เคยมีอาคารอลังการงานสร้างกับเขา..ค่อยๆหมดไป เหลือไว้แต่ความรู้สึกดีๆ ที่ไม่เคยคิดตัดต้นไม้ และเอาใจใส่สิ่งแวดล้อม..ให้มั่นคงและยั่งยืน

            วันนี้..สำรวจทุกพื้นที่โดยรอบ..เพื่อจัดโซนแล้วจะมอบหมายให้ครูและนักเรียนร่วมกันดูแลและรับผิดชอบ บำรุงรักษาและพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว ที่เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ..ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากขึ้น

            มีคำถามตามมา..ทำอย่างไร? นักเรียนทุกระดับชั้นจะรู้จักพันธุ์ไม้ ในพื้นที่สีเขียวที่นักเรียนรับผิดชอบ..นอกจากจะยังขาดป้ายชื่อแล้ว สรรพคุณของต้นไม้ เป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนจะต้องสืบค้นได้ด้วยตนเอง

            เท่าที่สังเกต..สวนสมุนไพร..โสมไทยกับว่านหางจระเข้..เจริญเติบโตเต็มพื้นที่ ในจุดนี้..ต้องเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น..เกี่ยวกับการแปรรูป ส่วนนักเรียนก็ต้องคิดให้เชื่อมโยงไปถึง “โครงงาน”

            บริเวณโซนเกษตร..ที่เป็นไร่นาสวนผสม วันนี้..สดใสและหลากหลายด้วยผักสวนครัว..เป็นปีแรก..ที่ไม่แห้งแล้งไปกับกาลเวลา อยู่รอคอยท่าให้นักเรียนกลับมาดูแลและสานต่อ..อย่างพอเพียง

            โซนห้องสมุด..ด้านหน้าเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ด้านหลังเป็นดงกล้วย เป็นโซนที่เป็นเสมือนด่านหน้า คอยต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ..และไม่เคยสร้างความผิดหวังเลย เมื่อต้นไม้กับศาลา..ผสมผสานกันลงตัวพอเหมาะพอดี

            ห้องเรียนธรรมชาติ..จัดให้เป็นโซนของต้นพิกุล “สัญลักษณ์”ของโรงเรียน กำลังโตวันโตคืน..นับเป็นปอดของอาคารเรียนอย่างแท้จริง ช่วยให้อากาศระบายถ่ายเท และส่งผ่านออกซิเจนที่บริสุทธิ์ให้ครูและนักเรียน...ทุกวัน

            อาคารเรียนอนุบาล..โซนปฐมวัย ไม่มีไม้กระถาง แต่มีไม้ยืนต้นให้ร่มเงา กับไม้ประดับที่โคนต้น..เชื่อว่าเด็กระดับก่อนประถมฯ จะชื่นชอบที่จะบำรุงรักษา โดยมีรั้วรอบขอบชิดที่มั่นคงและสวยงาม

            โซนด้านหน้าอาคาร บริเวณเสาธง..ต้นมะพร้าว หูกระจง ต้นขนุนและเหลืองปรีดิยาธร..รายเรียงและสูงใหญ่ขึ้นทุกวัน..เป็นโซนที่โดดเด่น และเหมือนจะแอบซ่อนอาคารเรียนหลังเล็กไว้กึ่งกลาง ในอ้อมกอดของตัวอาคาร..นักเรียนสัมผัสได้เสมอกับลมเย็นที่โชยมา..จากแมกไม้หน้าอาคาร..

            การบริหารจัดการ “พื้นที่สีเขียว” โดยนักเรียน..ก็เพื่อนักเรียน เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ผู้ได้รับประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม..ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ..เพราะการศึกษาคือการเจริญเติบโต..ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน..จะต้องเติบโตไปพร้อมๆกัน..

            การบริหารจัดการศึกษา “คุณภาพ” อยู่ที่ความตั้งใจและเอาใจใส่..โดยไม่ทอดทิ้งสิ่งแวดล้อมไว้ข้างหลัง ด้วยการพัฒนาแบบคู่ขนาน ผมเชื่อว่า..ถ้าครูและนักเรียนให้ใจ..เป็นหัวใจของการจัดการศึกษา..แหล่งเรียนรู้จะพัฒนา..น่าอยู่..น่าเรียน..แน่นอน..

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  พฤษภาคม  ๒๕๖๑       

            

หมายเลขบันทึก: 646923เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท