๗๐๗. ​อัตลักษณ์.เอกลักษณ์..และสัญลักษณ์ของโรงเรียน...


ดอกพิกุลให้กลิ่นหอมอ่อนๆ..หอมยาวนานตลอดทั้งปี..เปรียบเทียบถึงการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านหนองผือที่ค่อยๆปลูกฝังนักเรียนให้มีพื้นฐานของคุณงามความดี สะสมความดีเหมือนกลิ่นที่หอมอ่อนๆของดอกไม้ที่หอมไม่มากแต่หอมยาวนาน

              ผ่านไปแล้ว..๒ สัปดาห์..สภาพบรรยากาศของโรงเรียน..แม้ว่าจะร้อนอบอ้าว แต่ต้นไม้ก็ยังดูเขียวครึ้มและร่มรื่น..พืชผักสวนครัว ยังดูดีมีผลผลิตทุกวัน..

            คิดคำนึงอยู่ว่า ถ้าฝนตกหนักมาสักครั้ง..คงขับไล่ฝุ่นละอองไปได้เยอะ ขณะเดียวกันก็จะได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โรงเรียนด้วย

            วันนี้..อากาศร้อนอบอ้าวมากมายเป็นพิเศษ ผมจึงต้องหมกตัวอยู่ในอาคาร จัดเก็บเอกสารเข้าที่เข้าทาง..สะสางข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์และสัญลักษณ์โรงเรียน

            ปีการศึกษา ๒๕๖๑..ตั้งใจว่าจะกำหนดตัวชี้วัด ให้นักเรียนเข้าถึงอัตลักษณ์ให้ได้..เพราะอัตลักษณ์ มีนัยที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน

            “สำนึกดีตามวิถีไทย” คืออัตลักษณ์..ที่กำหนดขึ้นมาแล้ว ๒ ปี..พบว่า..ทำได้ดีพอสมควร..ครูและนักเรียนแต่งกายผ้าไทย ยกมือไหว้ทักทายกัน..

          โรงเรียนมีกิจกรรมส่งเสริมดนตรีไทย ร้องเพลงไทยเดิม การละเล่นพื้นบ้าน และศิลปะแม่ไม้มวยไทยและใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ทั้งการอ่านการเขียน..

            ในส่วนของ “เอกลักษณ์”โรงเรียน.. ได้มีการบูรณาการแหล่งเรียนรู้กับกิจกรรมการเรียนการสอน ที่สะท้อนเอกลักษณ์ได้ชัดเจน จึงกำหนดไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

            ผลผลิตจาก..เศรษฐกิจพอเพียง ปีการศึกษาที่ผ่านมา..มองเห็นเป็นรูปธรรม สร้างผลกำไรเล็กๆ ด้านจิตใจ ทั้งไข่เป็ดไข่ไก่ และผักปลา

            ส่วน “สัญลักษณ์ ยังยืนยงคงอยู่สืบไป โดยเฉพาะสีประจำโรงเรียนเป็นที่รู้โดยทั่วกัน คือ สีน้ำเงินกับสีเหลือง..โดดเด่นสะดุดตาและมีความหมาย..

            สีน้ำเงิน หมายถึง..ครูและนักเรียนมีความรักชาติ มีความเข้มแข็งและมีความขยันหมั่นเพียร ใฝ่รู้ใฝ่เรียน..เรียนรู้สู้งาน

            สีเหลือง หมายถึง ครูและนักเรียนมีคุณธรรมนำชีวิต มีความรักความสามัคคีในหมู่คณะ มีจิตอาสา และพัฒนาตนพัฒนางานด้วยความสุขและผ่องใส

            “ต้นไม้” ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของโรงเรียน..ตั้งแต่ผมมาอยู่ก็เห็นการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนมาตลอด นั่นคือ “ต้นพิกุล” ซึ่งมีเกือบ ๓๐ ต้น รอบๆอาคารเรียน

            ผมศึกษาหาข้อมูล “ต้นพิกุล” ก็พบว่า..เป็นไม้ที่มีลำต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8-15 ม. เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีรอยแตกระแหงตามแนวยาว

          ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี รูปไข่กว้าง 2 - 6 ซม. ยาว 7 - 15 ซม.ปลายใบแหลมเป็นติ่งขอบใบเป็นคลื่น

          ดอก เป็นดอกเดี่ยว อยู่รวมกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งหรือที่ซอกใบ กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ดอกสีขาว เมื่อใกล้โรยสีเหลืองอมน้ำตาล ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง มีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี

          ประโยชน์ของต้นพิกุล..ปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงา ลำต้นใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงเรือเดินทะเล เครื่องมือการเกษตร เปลือกต้น ต้มอมกลั้วคอ แก้เหงือกอักเสบ

          ดอก มีกลิ่นหอม จัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งห้า เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ น้ำมันหอมระเหยจากดอกใช้ทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

           โดยรวมๆแล้ว “ต้นพิกุล” ก็จัดเป็นไม้มงคลที่มีเสน่ห์ ชวนให้ปลูกไว้ให้ร่มเงาทั้งที่บ้าน วัด และโรงเรียน..ผมจึงถือเป็น..ต้นไม้แห่งสัญลักษณ์โรงเรียนเป็นที่เรียบร้อย

           คราวนี้..พอเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน..ครูและนักเรียนก็จะต้องเข้าใจและเข้าถึง..ลึกซึ้งและผูกพันให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ..ผมจึงเขียนบันทึกสรุปไว้ดังนี้

           ดอกพิกุล..ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ..หอมยาวนานตลอดทั้งปี..เปรียบเทียบถึงการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านหนองผือที่ค่อยๆปลูกฝังนักเรียนให้มีพื้นฐานของคุณงามความดี สะสมความดีเหมือนกลิ่นที่หอมอ่อนๆของดอกไม้ที่หอมไม่มากแต่หอมยาวนาน

           ทุกส่วนของต้นพิกุลสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ต้น ดอก ใบ ราก....เปรียบเหมือนโรงเรียนบ้านหนองผือ ที่ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่มีในโรงเรียน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน 

            ไม่ว่าจะเป็น การสอนนักเรียนเลี้ยงไก่ไว้กินไข่....ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา เพาะพันธุ์พืช..สมุนไพร...ปลูกพืชสวนครัว...ไว้ให้แม่ครัวทำอาหารกลางวัน..

            วันนี้..จึงมีความรู้สึกว่า อัตลักษณ์ เอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของโรงเรียนที่กล่าวมา..มีความหมายร้อยรัดกันดี..เป็นหนึ่งเดียว..พร้อมที่ยั่งยืนสืบไป

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๔  เมษายน  ๒๕๖๑ 

 

   

          

 





            

หมายเลขบันทึก: 646450เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2018 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2018 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท