มีอะไร ? ในเทา – งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 21


ความหมายในการไปเรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่น การทำงานต่างองค์กร เฝ้ามอง สังเกต จดจำ การทำงานของผู้ร่วมงาน และนำกลับมาสะท้อนตนเอง เสริมในสิ่งที่พร่อง และพัฒนาต่อในสิ่งที่มีอยู่

มีอะไร ?  ในเทา – งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 21

             เทา – งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 21  จัดขึ้น เมื่อวันที่ 23-31 มีนาคม 2561  ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ  และโรงเรียนวัดท้ายยอ  ตำบลท้ายยอ  อำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา  เจ้าภาพโครงการ คือ มหาวิทยาลัยทักษิณ  ทั้งสองวิทยาเขตทั้งวิทยาเขตสงขลา  และวิทยาเขตพัทลุง  เทา – งาม ปีนี้ยังยึดเค้าโครงกิจกรรมจากปีก่อน ๆ หรือปีก่อน ๆ ปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยตามบริบทของพื้นที่  สิ่งนี้ผมเปรียบเทียบจากการได้เข้าร่วมโครงการเทา – งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 20 

          การเดินทางครานี้  เปิดประสบการณ์มากมาย  เป็นครั้งแรกของผู้เขียนที่ได้เดินทางโดยรถบัสมหาวิทยาลัยล่องลงใต้ระยะทางกว่า 1,000  กิโลเมตร  จากดินแดนที่ราบสูงลงสู่ดินแดนทะเล  เกือบใต้สุดของสยาม  นั่งรถจนเหนื่อยเลยทีเดียว  แต่การไปครั้งนี้ก็ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม  ไม่เสียทีที่ตัดสินใจเดินทางข้ามภูมิภาค

การบ้าน  ก่อนออกจากมหาวิทยาลัย

          วันปฐมนิเทศเราได้รับโจทย์จากผู้ใหญ่  ให้เขียนบันทึก  เสมือนการย้อนถาม  ทบทวนตนเองก่อนนอนทุกคืน  โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ความรู้สึกในตอนเช้า/อยากเรียนรู้อะไรในวันนี้ และสรุปตอนก่อนนอน 
  • สิ่งใหม่ที่ได้ทำ
  • รู้สึกยังไงในวันนั้น

        ผู้เขียนรู้สึกดีใจนะ  ที่มีเครื่องมือมาช่วยบันทึกความทรงจำและการเดินทาง  ทบทวนตนเองก่อนนอน  เพราะโดยปกติผู้เขียนจะบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ลงในบอร์ดออนไลน์ส่วนตัวอยู่แล้ว  เพราะถือว่านทุกนาฏการณ์ที่เราประสบพบเจอคือ  การเรียนรู้ และทบทวนตัวเอง  ตัวหนังสือที่พิมพ์หรือเขียนไว้คือบันทึกความทรงจำ  อันทรงคุณค่า  สดใหม่ในแง่ของวันเวลา  แม้แต่ละคำจะไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองมากนักแต่ก็ได้ผ่านการกลั่นจากความคิดในห้วงหนึ่งของสถานการณ์ 

          ดังนั้นเพื่อน ๆ ของผู้เขียนเกือบทุกคนจึงต้องมีสมุดบันทึกกันคนละเล่ม  เพื่อสะท้อนแง่งามทางความคิด  เตรียมส่งก่อนวันกลับ

ประวัติศาสตร์เมืองท่า

          ประมาณ 10 โมงเช้า เราเดินทางถึงโรงเรียนวัดท้ายยอ  เข้าที่พักทำกิจธุระส่วนตัว  พักผ่อนกันนิดหน่อย  จนถึงเวลาประมาณ 4 โมงเย็น  ทางเจ้าภาพก็พาไปท่องเที่ยวรอบจังหวัดสงขลา  ออกจากเกาะยอ  ได้เห็นบรรยากาศของชาวบ้าน  ที่อยู่กับทะเล  มีที่ดักปลาเป็นจำนวนมาก  บางคนยังพายเรืออยู่ก็มี 

          ประเด็นแรกที่สำคัญผมเริ่มตั้งคำถามว่า เหตุใดเขาถึงเรียกเกาะยอ ? จากการสอบถามและสนทนากับพี่ ๆ ทีมงานที่พาเราเที่ยวชมเมืองสงขลา  ก็ได้ความว่า  ที่เรียกเกาะยอ  เพราะเกาะแห่งนี้เต็มไปด้วย ยอหาปลา (ชาวอีสานเรียกสะดุ้ง)  เมื่อผู้คนสัญจรไปมาแล้วพบเจอจึงเรียก  เกาะแห่งนี้ว่าเกาะยอ

          ประเด็นที่สองที่น่าสนใจ   คือการสร้างสะพานติณสูลานนท์  เชื่อมโยงเกาะยอ กับแผ่นดินใหญ่ทำให้ผู้คนเดินทางไปมาสะดวก  และเกิดการท่องเที่ยวส่งเสริมให้เกาะยอเป็นที่รู้จักมากขึ้น

          ประเด็นสุดท้ายและสำคัญอย่างยิ่ง  เป็นเรื่องของเมืองท่า  ในอดีตของเมืองสงขลา  หลังจากที่ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชมหาดสมิหลา   และประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ  ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของจังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่เทศบาลนครสงขลา สรรค์สร้างขึ้นเพื่อ ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณ ชายหาดสมิหลาให้เป็นสถานที่พักผ่อนของ นักท่องเที่ยวและชาวสงขลา โดยนำเอา คติความเชื่อเกี่ยวกับ พญานาคที่เชื่อว่า “พญานาค” เป็นสัญลักษณ์ของการ กำเนิดน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ออกแบบ โดย อาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์

          เมื่อมองไปที่ฝั่งหัวเขาแดงซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดชมวิว  และมองดูปากอ่าวทะเลสาบสงขลา  ทำให้พิจารณาถึงประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรก  ที่น่าจะมาพร้อมการค้าอยู่ภายใต้การปกครองของ เจ้าเมืองและ ปฐมพลเมืองชาวมุสลิม ซึ่งได้อพยพและนำพลพรรคชาวแขกชวา หนีภัยจากโจรสลัดที่คุกคามอย่างหนัก ในแถบหมู่เกาะชวาล่องเรือมาขึ้นฝั่งบริเวณฝั่งหัวเขาแดง โดยปรากฏในเอกสารชาวต่างชาติที่มาค้าขาย เป็นต้นว่าในสำเนาจดหมายของนายแมร์ เทนเฮาท์แมน จากอยุธยา มีไปจนถึงนายเฮนดริก แจนเซน นายพาณิชย์คนที่ 1 ชาวดัตช์ ที่ปัตตานีในปี พ.ศ. 2156 ออกชื่อเจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้นว่า "โมกุล"  แต่ในบันทึกบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในปี พ.ศ. 2165 เรียกชื่อเจ้าเมืองว่า "ดาโต๊ะโกมอลล์"  จึงพอสรุปได้ว่า ผู้สร้างเมืองฝั่งหัวเขาแดงประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นมุสลิมที่ชาวอังกฤษในสมัยอยุธยาเรียกว่า "โมกุล" และ ชาว ดัตช์ เรียกว่า "โมกอล" โดย ดาโต๊ะโมกุล ได้ตั้งเมืองสงขลาบริเวณหัวเขาแดง เขาค่ายม่วงและ เขาน้อย ซึ่งน่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2153 - 2154  ซึ่งตรงกับสมัยพระเอกาทศรถ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรงของสุลต่านสุไลมาน ได้เล่าว่า ประมาณ พ.ศ. 2145 ดาโต๊ะโมกอลซึ่งเคยปกครองเมืองสาเลย์ ที่เป็นเมืองลูก ของจาการ์ตา บนเกาะชวา (อินโดนีเซียในปัจจุบัน) ได้อพยพครอบครัว และบริวารหนีภัย การล่าเมืองขึ้น (ซึ่งใช้ปืนใหญ่จากเรือปืนยิงขึ้นฝั่งที่เรียกว่า Gunship policy) ลงเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่บริเวณบ้านหัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา เข้าใจว่าตระกูลนี้คงเคยเป็นตระกูลปกครองบ้านเมืองมาก่อน เมื่อเจอทำเลเหมาะสมหัวเขาแดง ท่านดะโต๊ะ โมกอล ก็ได้นำบริวารขึ้นบก แล้วช่วยกันสร้างบ้านแปลงเมือง และ ดัดแปลงบริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลาให้เป็นท่าจอดเรือขนาดใหญ่ ที่สามารถรับเรือสำเภา หรือ เรือกำปั่นที่ประกอบธุรกิจการค้าทางทะเล แวะเข้าจอดเทียบท่าได้ จนเมืองหัวเขาแดงในสมัยนั้น กลายเป็นเมืองท่าเรือระหว่างประเทศไป กิติศัพย์นี้โด่งดังไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148 - 2153) จึงได้มีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้ดะโต๊ะ โมกอล เป็นข้าหลวงใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยาม ประจำเมืองพัทลุงอยู่ที่หัวเขาแดง แขวงเมืองสงขลา

          สุรต่านผู้ครองเมืองสงขลาได้ปกครองเมืองแบบรัฐสุรต่าน ของราชวงศ์ ออโตมาน ซึ่งการปกครองแบบนี้แพร่หลายเข้ามายังเกาะสุมาตรา เกาะชวา และรัฐสุรต่านต่าง ๆ ทางปลายแหลมมาลายู โดยสุลต่านผู้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงได้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนี่ จึงดำรงค์ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ส่วนบุตรชาย สามคนคือ มุสตาฟา ฮุสเซน และ ฮัสซัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงทาง กองทัพเรือ ผู้บัญชาการป้อม และ ตำแหน่งการปกครองอื่น ๆ ในระบอบการปกครองแบบสุลต่าน ทายาทผู้สืบเชื้อสายสุลต่าลสุลัยมานมีอยู่ด้วยกันหลายสกุล โดยมี "ณ พัทลุง" เป็นมหาสาขาใหญ่

แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา

          ชุมชนเกาะยอ  มีแหล่งเรียนรู้มากมายที่น่าสนใจ  และค้นคว้า  ชาวบ้านยังสามารถอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตนเองเอาไว้กับวิถีชีวิตอย่างแนบแน่น  เช่น  การทำกะปิ  การทอผ้า  การหาปลา  การทำงาน

          อาจารย์นิตย์ พงศ์พฤกษ์  ปราชญ์ชุมชนเกาะยอ  ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมา  ในการพัฒนาการของชุมชนจนกลายเป็นเกาะยอในปัจจุบัน

วิชาการ : ห้องสมุด

          การเดินทางครานี้ตอนแรกได้อยู่ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม  แต่ด้วยอะไรหลายอย่าง ผมเลยถูกย้ายมาอยู่ฝ่ายวิชาการ ได้ประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ หนังสือประมาณ 2,000 เล่ม และสื่อการเรียนรู้กว่า 20 ชนิด ที่เราต้องบริหารจัดการ รวมถึงออกแบบ คัดเลือก และประมวลสาระสำคัญในหนังสือแต่ละเล่ม เพื่อให้มีความเหมาะต่อวัย  โชคดีอย่างหนึ่ง คือเราได้รับการติดตั้งองค์ความรู้ เกี่ยวกับการจัดหนังสือ จากสำนักวิทยบริการ ทำให้สามารถออกแบบ และรู้ระบบการจัดการหนังสือได้ง่ายขึ้น ในด้านของประสบการณ์ คือการเรียนรู้การจัดระบบงานห้องสมุด การบริหารบุคลากร และการแบ่งหน้าที่ ของแต่ละคน ให้สามารถปรับเปลี่ยนและออกแบบได้ตรงตามหน้างาน แน่นอนว่า การทำงานจะดีได้ต้องคุย และวางแผนร่วมกันให้มาก จะทำให้เราตกผลึกแนวคิดร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้เรายังขาดไปอยู่ และอาจต้องเติมเต็ม ปรับปรุงกันในครั้งหน้า

          แม่นิด(วิสามานยนามสุดท้ายที่ผมเรียกด้วยความเคารพ) เป็นคุณครูที่โรงเรียนวัดท้ายยอ สถานที่ที่ผมได้มีโอกาสไปจัดห้องสมุด แม่นิดเป็นคุณครูสอนภาษาไทย และชื่นชอบวรรณกรรม หนังสือในห้องสมุดของโรงเรียนส่วนมากจึงเต็มไปด้วยวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า และเก่าแก่มากพอควร

          สิ่งที่ทำให้ท่านและผมได้รู้จักกันนั้น เนื่องมาจากปัน (ประธานฝ่ายวิชาการ) และกล้า (ประธานนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในค่าย ฯ) ได้มอบหมายให้ผมเป็นคนคัดเลือกหนังสือในรอบที่สอง เพื่อนำไปเก็บไว้ที่ห้องสมุดอีกครั้ง เพื่อป้องกันการตกหล่นของหนังสือที่ทรงคุณค่า การคัดเลือกหนังสือในครานี้ ผมได้เชิญครูนิด (หรือเเม่นิด) มาช่วยคัดเลือกด้วย เพื่อป้องกันการตกหล่นและคิดให้รอบด้านมากที่สุด

          การคัดเลือกหนังสือในช่วงแรก ผมค่อนข้างอึกอัดเพราะมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยหนังสือ เล่มไหนดีในมุมเรา อาจไม่ดีในมุมท่านก็ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึงสิบนาที ผมก็ไม่เกร็งอันใดอีกเลย เพราะรู้สึกว่าเราสายเดียวกัน สายนั้นคือ "สายชอบวรรณกรรม " ที่เรียกแบบนี้ เพราะวรรณกรรมเป็นประเด็นที่ช่วยชูโรงทำให้ผมกับคุณครู ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน และวิจารณ์นวนิวยาย เรื่องสั้น หลาย ๆ เรื่องไปด้วยกัน เปิดแง่มุมและโลกทัศน์ของผมให้กว้างขึ้นมากโข

          วรรณกรรมชุดหนึ่ง ที่ได้หยิบยกขึ้นมาในวงสนทนา คือชุดรวมเรื่องสั้น "ฟ้าบ่กั้น" ของลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก เป็นวรรณกรรมที่ผมค่อนข้างชอบ เพราะมีเนื้อหาที่กระเเทกกระทั้น กล้าหาญที่จะเสียดสี และเป็นวรรณกรรมดีมีประโยชน์ต่อการสะท้อนบ้านเมือง ทำให้ใจคนอ่านฮึกเหิม และอยากผดุงรักษาความยุติธรรมของคนจน สิ่งที่ผมกล่าวข้างต้นนั้นคือความคิดในช่วงแรกของการรู้จักกับวรรณกรรมเรื่องนี้ แต่จากการสนทนากับคุณครู ทำให้ผมเปิดอีกโลกทัศน์หนึ่ง นั่นคือการอยู่อย่างผู้เสพส่อง แต่มิใช่ผุ้เสพติด สองคำนี้ครูไม่ได้บัญญัติหรอก            แต่ผมบัญญัติเอง ผู้เสพส่องคือหลังจากและส่องกระจกมองตัวเอง ขัดเกลาตัวเองไม่ให้กระทำการอันเป็นภัยต่อคนอื่น ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดุจเช่นวรรณกรรม แต่ผู้เสพติด คือ คนที่เสพวรรณกรรมแล้วอยากเปลี่ยนทุกคนให้เป็นไปตามวรรณกรรม หรือไม่ให้ขัดเเย้งกับวรรณกรรม กับโลกที่สวยงาม ผมคิดว่าประเด็นนี้หละ ผมมองเห็นจากการสนทนากับนักอ่านวรรณกรรมอีกท่านในเกาะยอ

          นอกจากฟ้าบ่กั้น "เมียหลวง" บทประพันธ์ของกฤษณา อโศกศิลป์ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่หยิบมาพุดคุย วรรรณกรรมเรื่องนี้เอาจริง ผมอ่านเพื่อเรียกดราม่า ฮ่า ๆ ใช่ ผมชอบนิยายน้ำเน่า นางเอกโดนทำร้าย ผู้ชายมีเมียเยอะมันคลายเครียดดี ไม่ต้องคิดอะไรมาก ตัวร้ายก็คือตัวร้าย สิ่งที่ได้และประโลมใจของผม ก็คือ อย่านอกใจ คนรักเพราะจะนำความทุกข์มาให้ อะไรประมาณนี้ ประเด็นสำคัญที่เห็นจริง ๆ จากการอ่าน

          หากแต่มองในมุมของนักอ่านอาวุโส ท่านมองว่า "ใจเป็นกลาง ไม่ล้างแค้น " คือประเด็นหลักของนวนิยายชุดนี้ ซึ่งผมคิดไม่ถึง หลาย ๆ ครั้งท่านก็บอกว่าท่านพึ่งจะคิดเอาตอนแก่นี่แหละ สมัยก่อนท่านก็เสพเหมือนผม ฮ่า ๆ สิ่งหนึ่งที่ท่านบอกและย้ำ คล้าย ๆ กันกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของผมสอน ก็คือ วรรณกรรมชิ้นเดียวกัน แต่อ่านต่างวัยกัน มุมมองย่อมต่างกัน เห็นจะเป็นจริง

          ทั้งนี้ผมคิดว่า เราในอายุเพียงนี้ ประสบการณ์เท่านี้ ไม่ต้องรอให้แก่หรอกมั้ง ค่อยเปิดมุมมองให้ตนเอง การสนทนากับผู้ใหญ่ หรือท่านผู้อาวุโสก็เป็นการเปิดมุมมองให้เราได้ย้อนคิดอะไรตั้งมากมาย ไม่ต้อเสียเวลาให้ตนเองแก่ ดังเช่นการสนทนาวรรณกรรมของผมกับแม่นิด

          เขียนมาเสียยาวยืด ผมขอสรุปทิ้งท้ายเอาไว้เพียงว่า การสนทนานี้ ผมได้จับประเด็นเอาเพียงบางช่วงบางตอนเท่านั้น อีกส่วนคงบันทึกไว้ในห้วงแห่งความทรงจำ ว่าได้เคยไปเยือนเยี่ยมยามสนทนากับ "เเม่นิด" ณ สถานที่แห่งนี้ "เกาะยอ"

ทะเลอันดามัน

          ครั้งแรกของชีวิตก็ย่อมได้  สำหรับการเดินทางมาเยือนทะเลอันดามันแห่งนี้  ผมค่อนข้างตื่นเต้นที่ทางเจ้าภาพได้พาเรามาเที่ยวชม  ทะเลที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์  จุดเริ่มจากเกาะยอ  จังหวัดสงขลา  สู่ถ้ำมรกต เกาะกระดาน  จังหวัดตรัง 

          ถ้ามรกต  เป็นอะไรที่ค่อนข้างเสี่ยงและสวยงามไปพร้อมกัน  น้ำทะเลสีเขียวสะอาดหากมองดูดี  จะเห็นว่ามันเป็นสีใส  แต่อาจด้วยความลึกเราไม่สามารถมองเห็นพื้นดินได้  จากการสอบถามคนขับเรือ  เขาเล่าว่าทะเลตรงนี้ลึกมาก  ดังนั้นเราต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

          การเดินทางเข้าถ้ำ  เราต้องจับเสื้อชูชีพของเพื่อนด้านหน้า  และใช้เท้าที่จมอยู่ในน้ำ  ตีน้ำคล้าย ๆ การปั่นจักรยานเพื่อเคลื่อนตัวเข้าไปช้า ๆ เป็นขบวนเข้าไปในถ้ำ   ตลอดการเดินทางเข้าถ้ำ  บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกและเสียงตะโกนอย่างตื่นเต้น  เพื่อให้ทุกคนมีกำลังใจ  ไม่นานนักเราก็เข้าถึงตัวถ้ำ 

          มันสวยมาก  นี่เป็นคำแรกที่นึกขึ้นได้ในใจผม     หลาย ๆ คนตะโกนบรรยายถึงความสวยงามแตกต่างกันไป  แล้วจากนั้นก็แยกย้ายกันไปถ่ายรูปตามหมู่คณะ   ผมมองไปรอบ ๆ พยายามพินิจลักษณะของถ้ำแห่งนี้  บนสุดของถ้ำเป็นปล่องแสงอยู่กลางภูเขาหิน  สีดำทะมึน  มีหาดทรายสีขาวจากปล่องถ้ำที่เราเพิ่งจะออกมา ทอดตัวสูงขึ้นไปสู่แนวป่า  ที่มีต้นไม้หลากชนิดตามชายขอบก่อนถึงหุบเหวที่สูงชันของปล่องภูเขาแห่งนี้  

          เราอยู่ถ้ำนี้ประมาณ 30 นาที  แล้วก็ลอยออกจากถ้ำขึ้นเรือเพื่อเดินทางต่อไป   หลังขึ้นเรือเราก็ทานอาหารเที่ยงกัน  ผมขึ้นมานั่งทานอาหารบนชั้นสองของเรือ  ค่อย ๆ สังเกตน้ำทะเลใต้ท้องเรือ  สิ่งที่สังเกตได้คือน้ำทะเล  ค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเขียวมรกต  กลายเป็นสีครามเมื่อใกล้ถึง เกาะกระดาน

          เกาะกระดาน  เป็นเกาะที่ทอดตัวอยู่ในทะเลอย่างงดงาม  เรือที่ผมนั่งมาได้ถูกจอดลงใกล้ ๆ แนวปะการังของเกาะ  จุดนี้เองได้ทดลองการสวมหน้ากากดำน้ำ  เป็นครั้งของชีวิตผมเหมือนกัน  การเดินทางครั้งนี้  ทำให้ผมนึกถึง  กล่าวของครูท่านหนึ่งที่บอกว่า “กิจกรรมและความตั้งใจ  จะพาเราไปในถิ่นที่ไม่เคยไป  ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ  และเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเรียนรู้” 

          หลังฝึกดำน้ำ  เราก็ได้ลองดำน้ำจริง  ปะการังสวยมากแต่ตอนดำน้ำ  ผมค่อนข้างกลัวเม่นทะเล  ต้องยอมรับว่าเยอะมาก  แนวปะการังทอดตัวอย่างสวยงามไปตลอดแนวเกาะ  เราอยู่ที่นี่กันประมาณ 1 ชั่วโมง  เดินทางกลับถึงฝั่งก็ประมาณ 4 โมงเย็นได้

ทบทวน  ตัวเอง

          วันสุดท้ายของกิจกรรม  เราขึ้นเรากลับบ้าน  ผมพยายามนึกและพิเคราะห์ถึงสิ่งที่ได้มาจากการเดินทาง  ความสำคัญของการเดินทางดังกล่าว  ผมคิดว่ามันมีความหมายในการไปเรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่น  การทำงานต่างองค์กร  เฝ้ามอง สังเกต  จดจำ การทำงานของผู้ร่วมงาน  และนำกลับมาสะท้อนตนเอง  เสริมในสิ่งที่พร่อง  และพัฒนาต่อในสิ่งที่มีอยู่  และนี่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง  ตลอดเวลา 10 กว่าวัน ในกิจกรรมเทา – งาม สัมพันธ์ ครั้งที่ 21 

 

หมายเลขบันทึก: 646342เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2018 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2018 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท